อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ซะกาตฟิฏเราะฮ์ หากเราจะจ่ายเป็นเงินตรา (ธนบัตร) แทนการจ่ายเป็นอาหาร (ข้าวสาร) จะได้หรือไม่ ?

ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ผู้ถาม : นักศีกษาจากศูนย์ฯ สถานี 2 หาดใหญ่
ตอบ
เรื่องนี้ เป็นปัญหาที่นักวิชาการมีทัศนะขัดแย้งกันอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การจะให้ผม --- ซึ่งมีความรู้แค่หางอึ่ง --- ตอบคำถามนี้ในลักษณะ “ฟันธง” จึงย่อมเป็นไปไม่ได้ ! ...

สิ่งเดียวที่ผมพอจะกระทำได้ในกรณีนี้ก็คือ การให้คำแนะนำได้เพียงว่า เราควรจะปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างไร จึงจะปลอดภัยที่สุด, ดีที่สุด, และเสี่ยงน้อยที่สุด ..
.
ซึ่งนั่นก็หมายถึง การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็นอาหาร (ข้าวสาร), มิใช่เป็นธนบัตรหรือเงินตรา ...
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามนัยของหะดีษบทหนึ่ง ซึ่งได้แจ้งเหตุผลแห่งการวาญิบซะกาตฟิฏเราะฮ์ไว้ 2 ประการด้วยกัน, เหตุผลข้อแรก เพื่อชดเชยความบกพร่องของผู้ที่ถือศีลอดจากคำพูดที่ไร้สาระและคำพูดที่หยาบคาย, ส่วนเหตุผลข้อที่สองก็คือ طُعْمَةً لِلْمَسَاكِيْنِ หรือ “เพื่อเป็นอาหาร” สำหรับคนยากจน ซึ่งก็ถือว่าข้อความดังกล่าวของหะดีษบทนี้ เป็นเรื่องชัดเจนถึงจุดประสงค์อยู่แล้ว .. และท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ก็ยังได้ “ตอกย้ำ” จุดประสงค์ข้อนี้ ด้วยการกำหนดสิ่งที่ต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็น “อาหารหลัก” ทั้งสิ้น ดังจะได้กล่าวต่อไป ...

นอกจากนั้น นักวิชาการอีกจำนวนมากที่มีทัศนะว่า การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็นธนบัตรหรือเงินตรานั้น ใช้ไม่ได้ .......

ท่านเช็คมะห์มูดมุหัมมัดค็อฏฏ็อบอัซ-ซุบกีย์ได้กล่าวในหนังสือ“อัล-มันฮัลฯ”อันเป็นหนังสืออธิบายหะดีษของท่านอบูดาวูดเล่มที่ 4 หน้า 235 ว่า ...

لَمْ يُجِزْ أَكْثَرُالْعُلَمَاءِ إخْرَاجَ الْقِيْمَةِ فِيْ زَكَاةِ الْفِطْرِ، وَاَجَازَهُ أبُوْحَنِيْفَةَ، وَكَذَا الْمَالِكِيَّةُ مَعَ الْكَرَاهَةِ
“นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้จ่ายเป็นราคาอาหารในซะกาตฟิฏเราะฮ์, แต่ท่านอิหม่ามอบู หะนีฟะฮ์อนุญาตให้จ่ายเป็นราคาแทนได้, บรรดานักวิชาการมัสฮับมาลิกีย์ก็ถือว่า ใช้ราคาแทนได้ แต่เป็นเรื่องน่ารังเกียจ” ...

ท่านอิหม่ามอัช-เชากานีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 1255) ได้กล่าวในหนังสือ “นัยลุ้ล เอาฏอรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 216 ว่า ...
فَالْحَقُّ أنَّ الزَّكَاةَ وَاجِـبَةٌ مِنَ الْعَيْنِ،وَلاَ يُعْدَلُ عَنْهَا اِلَى الْقِيْمَةِ إلاَّ لِعُذْرٍ
“ที่ถูกต้องนั้น เรื่องซะกาตเป็นสิ่งจำเป็นต้องจ่ายเป็นตัวตนของสิ่งของ(ที่ถูกกำหนด)จะเบี่ยงเบนไปจ่ายเป็นราคาของมันแทนไม่ได้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นเท่านั้น”
ท่านอับดุลลอฮ์ บุตรชายของท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุหัมบัล ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มะซาอิล” อันเป็นหนังสือที่ท่านได้รวบรวมคำฟัตวา (ชี้แจง) ของบิดาของท่านในปัญหาต่างๆ หน้า 171 มีข้อความว่า ...
َسَمِعْتُ أَبِيْ يَكْرَهُ أنْ يُعْطِيَ الْقِيْمَةَ فِيْ زَكَاةِ الْفِطْرِ، يَقُوْلُ : أَخْشَى إنْ اَعْطَي الْقِيْمَةَ ألاَّ يُجْزِئَـهُ ذَلِكَ
“ฉันเคยได้ยินบิดาของฉัน ( ท่านอิหม่ามอะห์มัด) แสดงความรังเกียจ (คือ ไม่เห็นด้วย) ต่อการที่บุคคลใดจะจ่ายเป็นราคาในซะกาตฟิฏเราะฮ์, โดยท่านกล่าวว่า : ฉันกลัวว่า หากเขาจ่ายเป็นราคาแล้ว มันจะใช้ไม่ได้นะซิ” ...

และบุตรชายอีกคนของท่านอิหม่ามอะห์มัด คือท่านศอลิห์ (ซอและห์)ก็ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัล-มะซาอิล” อีกเล่มหนึ่ง หน้า 276 (หมายเลข 978) มีข้อความว่า .
قَالَ : تُوْضَعُ السُّـنَنُ عَلَى مَوَاضِعِهَا ! قَالَ اللُّـهُ : فَإطْعَامُ سِـتِّيْنَ مِسْكِيْن (سورة المجادلة، أيـة 4) وَلَمْ يَأْمُرْنَابِالْقِيمْةَ! وَلاَ بِالشَّـْئِ، نُعْطِيْ مَااُمِرْنَاَ.....
ท่านอิหม่ามอะห์มัดกล่าวว่า ... “ซุนนะฮ์ต่างๆของท่านรอซู้ลฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะต้องถูกวางไว้ ณ ตำแหน่งของมัน ! พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสว่า .. ]และบรรดาผู้ที่ศิฮารฺ ( คือกล่าวเปรียบเทียบภรรยาของตนเองว่าเป็นแม่ของตน ซึ่งถือเป็นการหย่าร้างอีกรูปแบบหนึ่ง) แล้วหลังจากนั้น พวกเขาจะคืนกลับถ้อยคำที่พวกเขาได้กล่าวไว้ (คือ ต้องการจะกลับมาอยู่ร่วมกับนางอีก) ดังนั้น (สิ่งที่พวกเขาจำเป็นจะต้องปฏิบัติก็คือ) การปล่อยทาสหนึ่งคนก่อนที่เขาทั้งสองจะแตะต้อง (มีเพศสัมพันธ์) กัน นั่น คือสิ่งซึ่งพวกเจ้าถูกตักเตือนไว้ และอัลลอฮ์ทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ, ส่วนผู้ที่ไม่สามารถหาทาสได้ ก็ให้เขาถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันก่อนที่เขาทั้งสองจะแตะต้อง (ร่วมหลับนอน) กัน,... สำหรับผู้ไม่สามารถจะถือศีลอดได้[ ก็ต้องให้อาหารคนยากจน หกสิบคน ..(ซูเราะฮ์ อัล-มุญาดะละฮ์, อายะฮ์ที่ 4) .. พระองค์อัลลอฮ์มิได้ใช้เราให้จ่ายเป็นราคาหรือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ดังนั้น เราก็ต้องบริจาคในสิ่งที่เราถูกใช้เท่านั้น (คือ เลี้ยงอาหารคนยากจนหกสิบคน, มิใช่ให้เงินพวกเขาแทนการเลี้ยงอาหารเพื่อให้พวกเขานำไปซื้ออะไรก็ได้ที่พวกเขาประสงค์) ...

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราหันกลับไปดูหลักฐานต่างๆที่รายงานมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักเรื่องการบริจาคซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็นอาหารมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจากหะดีษที่เป็นคำสั่งของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมก็ดี, หรือหะดีษที่เป็นรายงานการกระทำของเศาะหาบะฮ์ก็ดี, ล้วนรายงานมาตรงกันว่า เป็นคำสั่งและภาคปฏิบัติด้วยการบริจาคซะกาตฟิฏเราะฮ์ เป็นอาหารทั้งสิ้น ..

ที่เป็นรายงานจากคำสั่งของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมก็คือ หะดีษซึ่งรายงานมาจากท่านอิบนุ อุมัรฺ ร.ฎ. มีข้อความว่า ...
فَرَضَ رَسُوْلُ اللُّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ زَكَاةَ الْفِطْرِمِنْ رَمَضَانَ صَاعًا مِنْ تَمْرٍ اَوْصَاعًا مِنْ شَعِـْيٍر عَلَى الْعَبْدِ وَالْحُرِّ وَالذَّكَرِ وَالاْنُثْىَ وَالصَّغِيْرِ وَالْكَبِيْرِ مِنَ الْمُسْلِمِيْنَ ...
“ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำหนดซะกาตฟิฏเราะฮ์จากเดือนรอมะฎอน, หนึ่งศออฺจากอินทผาลัมแห้ง หรือหนึ่งศออฺจากข้าวบาร์เลย์ ต่อผู้เป็นทาส, ผู้เป็นไท, ผู้ชาย, ผู้หญิง, เด็ก และผู้ใหญ่ ที่เป็นมุสลิม” ...

(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์, หะดีษที่ 1504, ท่านมาลิกใน “อัล-มุวัฏเฏาะอ์” หะดีษที่ 632, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 12 /984, ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 1611, ท่านอัน-นซาอีย์ หะดีษที่ 2499, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 676, ท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 1661, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1826, และผู้บันทึกหะดีษท่านอื่นๆอีก) ...

ส่วนรายงานที่เป็นการกระทำของเศาะหาบะฮ์นั้น ก็คือ คำพูดของท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. ซึ่งกล่าวว่า ...
كُنَّا نُخْـِرجُ فِيْ عَهْدِ رَسُوْلِ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَوْمَ الْفِطْرِ صَاعًا مِنْ طَعَامٍ، وَقَالَ اَبُوْ سَعِيْدٍ : وَكَانَ طَعَامُنَا الشَّعِيْرَ وَالزَّبِيْبَ وَالإْقْطَ وَالتَّمْرَ ....
“พวกเรา (หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮ์) ได้บริจาคซะกาตฟิฏเราะฮ์ในสมัยของท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เป็น "อาหารปริมาณ 1 ศออฺ” ท่านอบูสะอีด กล่าวต่อไปว่า “และอาหารของพวกเราก็คือ ข้าวบาร์เลย์, ลูกเกด, เนยแข็ง, และอินทผาลัมแห้ง” ...
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์, หะดีษที่ 1510)

ส่วนแนวคิดของท่านอิหม่ามอบูหะนีฟะฮ์ และผู้ที่มีทัศนะตรงกันกับท่าน ที่อนุญาตให้จ่ายเป็นราคาหรือเงินตรา แทนการบริจาคเป็นอาหารในซะกาตฟิฏเราะฮ์ได้นั้น แนวคิดดังกล่าว มิได้มาจากหลักฐานหรืออ้างอิงหลักฐานใดๆ แต่เป็นเรื่องของการใช้เหตุผล ...

เหตุผลดังกล่าวก็คือ มุมมองที่ว่า การบริจาคซะกาตฟิฏเราะฮ์ด้วยราคาของอาหารหรือเงิน จะสอดคล้องและสนองความต้องการของคนยากจนได้ดีกว่าการให้เป็นอาหารจริงๆ เพราะคนยากจนสามารถนำเงินดังกล่าว ไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นอื่นๆได้หลากหลายตามความประสงค์ ซึ่งแตกต่างกับการบริจาคเป็นอาหาร ที่ผู้รับไม่อาจจะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของอย่างอื่นได้โดยสะดวก นอกจากต้องนำไปขายเสียก่อน ...
พูดง่ายๆก็คือ คนยากจนในยุคหลังๆ ต้องการรับบริจาคเป็นเงิน มากกว่าการรับบริจาคเป็นอาหาร เพราะเงิน จะมีความสะดวกและสอดคล้องกับความต้องการมากกว่า,

แต่เหตุผลดังกล่าว ก็มีข้อโต้แย้งได้ดังนี้ ...
1. สมมุติหากความสะดวกและการสอดคล้องกับความต้องการ คือ "เหตุผล" ในการอนุญาตให้เปลี่ยนจากบริจาคอาหารตามคำสั่งของท่านรอซู้ลฯศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะซัลลัม มาเป็นบริจาคเงินตราแทนได้ในเรื่องซะกาตฟิฏเราะฮ์ ...
เราจะอธิบายอย่างไรในอายะฮ์ที่ 4 ของซูเราะฮ์ อัล-มุญาดะละฮ์ที่ผ่านมาข้างต้น ?...
เพราะหากผู้ซึ่งตกอยู่ในภาวะดังกล่าวไม่สามารถจะปลดปล่อยทาส 1 คนได้, และไม่สามารถจะถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันได้ เขาจะอ้าง "เหตุผล" อย่างเดียวกันนี้ จ่ายเงินให้คนยากจน 60 คน แทนการบริจาคอาหารตามที่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงสั่งไว้ในอัล-กุรฺอ่าน จะได้หรือไม่ ? ...

2. ไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า ในยุคสมัยแห่งการประทานบทบัญญัติต่างๆ คือ ยุคสมัยของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมนั้น ก็ปรากฏว่า มีเงินตราสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยน --- คือเงินดีนารฺและเงินดิรฺฮัม --- เช่นเดียวกับการใช้เงินตราหรือธนบัตรในยุคปัจจุบันทุกประการ มิได้แตกต่างกันเลย ...
แต่ทั้งๆที่มีเงินตราใช้อยู่แล้ว เหตุใด ท่านรอซู้ล ฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้กำหนดซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็นอาหาร, มิได้กำหนดเป็นเงินตรา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนยากจนในสมัยของท่านที่ต้องการเงิน เพื่อนำไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นอื่นๆเหมือนคนยากจนในสมัยนี้ ดังข้ออ้างของพวกเรา ? ...

3. ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ใครๆก็ปฏิเสธมิได้ นั่นคือ ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน คนยากจน ย่อมมีความต้องการในเรื่องปัจจัยยังชีพที่จำเป็น – ไม่ว่าในเรื่องอาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, ที่อยู่อาศัย ฯลฯ -- เหมือนๆกันทั้งสิ้น ...
เรามีหลักฐานที่ไหนมายืนยันหรือว่า .. คนยากจนในยุคสมัยของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ต้องการ “เงินตรา” เพื่อใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นอื่นๆ น้อยกว่าคนยากจนในสมัยของเรา ? ...

สรุปแล้ว ไม่ว่าจะมองกันในแง่ไหนมุมไหน ผมก็ยังเห็นว่า สิ่งที่ดีสุด, มั่นใจที่สุด, และไม่มีการเสี่ยงใดๆในการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ ก็คือ การบริจาคเป็นอาหาร (ข้าวสาร), ทั้งนี้ ก็เพราะไม่มีความขัดแย้งใดๆในเรื่องนี้จากนักวิชาการตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ...

ซึ่งต่างกับการบริจาคเป็นเงินตรา .. เพราะนอกจากจะเป็นเพียงเหตุผลล้วนๆที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนแล้ว นักวิชาการจำนวนมากยังถือว่า ไม่เป็นที่อนุญาต .. ดังข้อมูลที่อธิบายผ่านมาแล้ว ...


วัลลอฮุ อะอฺลัม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น