อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ซะกาตฟิฏเราะฮ์ จะต้องจ่ายให้เฉพาะคนยากจน หรือต้องจ่ายให้แก่ผู้ที่มีสิทธิรับซะกาต 8 จำพวก


ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม
ซะกาตฟิฏเราะฮ์ จะต้องจ่ายให้เฉพาะคนยากจน หรือต้องจ่ายให้แก่ผู้ที่มีสิทธิรับซะกาต 8 จำพวกดังมีระบุในอัล-กุรฺอ่าน ? เพราะผู้รู้บางท่านบอกว่า ให้จ่ายเฉพาะคนยากจน แต่บางท่านบอกว่า ให้จ่ายได้ทั้ง 8 จำพวก ...
ผู้ถาม : คุณรอฟิอีย์ พิพัฒน์คงคา หาดใหญ่

ตอบ
นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่บรรดานักวิชาการ มีทัศนะขัดแย้งกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ...
บ้างก็ว่า ให้จ่ายให้เฉพาะคนยากจน เพราะมีหะดีษระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว....
บ้างก็ว่า ให้จ่ายให้กับ 8 จำพวกของผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตทรัพย์สิน ตามที่มีระบุในอัล-กุรฺอ่าน ...
เมื่อเราพิจารณาดูให้ดี ก็จะพบว่า จุดขัดแย้งดังกล่าว อยู่ที่การบริจาคให้แก่ผู้อื่นจากคนยากจน ...
เพราะสำหรับคนยากจนแล้ว นักวิชาการมีมติเอกฉันท์ว่า เราจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีข้อขัดแย้งใดๆทั้งสิ้น ...

ท่านอิบนุ รุชด์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 595) ได้กล่าวในหนังสือ “บิดายะตุ้ล มุจญตะฮิด” เล่มที่ 1 หน้า 282 ว่า ...
وَأمَّا لِمَنْ تُصْرَفُ ؟ فَأجْمَـعُوْاعَلَى اَنَّـهَا تُصْرَفُ لِفُقَرَاءِ الْمُسْلِمِيْنَ ....
“และอนึ่ง ปัญหาที่ว่าซะกาตฟิฏเราะฮ์ จะต้องจ่ายให้แก่ใคร ? เรื่องนี้ บรรดานักวิชาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ให้มอบให้แก่บรรดาคนมุสลิมที่ยากจน .......”

สำหรับนักวิชาการที่มีทัศนะว่า อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์แก่ผู้มีสิทธิรับทั้ง 8 จำพวกได้นั้น ก็เพราะมีมุมมองว่า ซะกาตฟิฏเราะฮ์ ก็เหมือนกับซะกาตทรัพย์สินอื่นๆ คือ เป็น “ซะกาต” เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นซะกาตอะไรก็ตาม...

พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงดำรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัต-เตาบะฮ์ อายะฮ์ที่ 60 มีข้อความว่า ..
إنَّمَاالصَّدَقَاتُ لِلْفُقَرَاءِ وَاْلمَسَاكِيْنِ وَاْلعَامِلِيْنَ عَلَيْهَا وَالْمُؤَلَّفَةِقُلُوْبُـهُمْ وَفِي الرِّقَابِ وَالْغَارِمِيْنَ وَفِي سَبِيْلِ اللَّـهِ وَابْنِ السَّبِيْلِ فَرِيْضَـةً مِنَ اللَّـهِ وَاللَّـهُ عَلِيْمٌ حَكِيْمٌ ..
“แท้จริง ทานบริจาค (หมายถึงซะกาต) ทั้งหลาย เป็นสิทธิสำหรับบรรดาคนยากจน, และบรรดาคนขัดสน, และบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้รวบรวมมัน, และบรรดาผู้ที่ใจของเขาถูกผูกพัน (คือ โน้มเอียงเข้าหาอิสลาม), และในการไถ่ถอนทาส, และบรรดาผู้มีหนี้สิน, และในหนทางแห่งอัลลอฮ์, และผู้ที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง, ทั้งนี้ เป็นบทบัญญัติที่ถูกกำหนด (บังคับ) จากอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงรอบรู้ และทรงปรีชาญาณยิ่ง”
ข้อความตอนต้นของโองการที่ว่า “ทานบริจาค(ซะกาต)ทั้งหลาย” ถือเป็นข้อความที่มีความหมายกว้างๆ และครอบคลุมต่อทุกสิ่งที่ถือว่า เป็นซะกาต, โดยมิได้จำแนกว่า จะเป็นซะกาตชนิดใด, ไม่ว่าซะกาตทรัพย์สินหรือซะกาตฟิฏเราะฮ์ จึงต้องจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับทั้ง 8 ประเภทที่ถูกระบุไว้นั้น .....
นี่คือ ทัศนะของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ....

แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง อาทิเช่น ท่านอิบนุตัยมียะฮ์, ท่านอิบนุลก็อยยิม, ท่านอัช-เชากานีย์, ท่านอัล-อัลบานีย์เป็นต้น มีทัศนะว่า โดยพื้นฐานที่แท้จริงของโองการข้างต้น เป็นการแจ้งให้ทราบถึงผู้มีสิทธิรับ “ซะกาตทรัพย์สิน” โดยเฉพาะ, ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซะกาตฟิฏเราะฮ์ ... ดังสิ่งที่เข้าใจได้จากโองการก่อนหน้านี้ ...

แม้ว่า สำนวนในอัล-กุรฺอ่านจะมีความหมายกว้างๆและครอบคลุมซะกาตทุกชนิดดังความเข้าใจของนักวิชาการกลุ่มแรกก็จริง แต่ในเมื่อมีหลักฐานจากหะดีษที่ ถูกต้อง มา “จำกัด” ผู้รับซะกาตฟิฏเราะฮ์ว่า หมายถึง “บรรดาคนยากจน” โดยเฉพาะแล้ว ตามหลักการที่ถูกต้อง จึงต้องเป็นไปตามหลักฐานชี้เฉพาะนั้น ...
ในทัศนะส่วนตัวของผม มองว่า --- ทัศนะของนักวิชาการที่กล่าวว่า ซะกาตฟิฏเราะฮ์ จะต้องมอบให้แก่บรรดาคนยากจนโดยเฉพาะ --- น่าจะเป็นทัศนะที่ถูกต้องกว่าในแง่ของความมั่นใจภาคปฏิบัติ, และในแง่ของหลักฐาน ...

ในแง่ของความมั่นใจภาคปฏิบัติ ก็ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ให้แก่คนยากจน เป็นเรื่องถูกต้องโดยไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ .... ต่างกับการจ่ายให้แก่ผู้อื่น ซึ่งนักวิชาการ ยังมีทัศนะขัดแย้งกันว่า จะใช้ได้ ( เศาะฮ์) หรือไม่ ? ....

สำหรับในแง่ของหลักฐานนั้น ก่อนอื่นก็ให้เรามาดูหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องซะกาตฟิฏเราะฮ์ .. โดยเฉพาะ ในประเด็นของสาเหตุที่มีบทบัญญัติของซะกาตนี้, การกำหนดตัวผู้รับซะกาต, การกำหนดเวลาการจ่ายซะกาต และการกำหนดเวลาสิ้นสุดการจ่ายซะกาต .... จากหะดีษบทหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ...
ท่านอิบนุ อับบาส ร.ฎ. ได้กล่าวว่า ....
فَرَضَ رَسُوْلُ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ زَكَاةَ الْفِطْرِ طُهْرَةً لِلصَّائِمِ مِنَ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ، وَطُعْمَةً لِلْمَسَاكِيْنِ، مَنْ اَدَّاهَـاقَبْلَ الصَّلاَةِ فَهِيَ زَكَاةٌ مَقْبُوْلَـةٌ، وَمَنْ اَدَّاهَـابَعْدَالصَّلاَةِ فَهِيَ صَدَقَةٌ مِنَ الصَّدَقَاتِ ..
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำหนด (ฟัรฺฎู) ซะกาตฟิฏเราะฮ์ขึ้น ก็เพื่อ(ชำระ)ให้ผู้ถือศีลอด บริสุทธิ์จากคำพูดที่ไร้สาระและคำพูดที่หยาบคาย(ขณะกำลังถือศีลอด) และเพื่อเป็นอาหารของคนยากจน, ผู้ใดที่บริจาคมันก่อนการนมาซอีด มันก็คือ ซะกาตที่ถูกรับรอง (เป็นซะกาตบังคับอย่างถูกต้อง) และผู้ใดที่บริจาคมันหลังจากนมาซอีดแล้ว มันก็จะเป็นเพียงการบริจาคทานธรรมดา (เศาะดะเกาะฮ์สุนัต) เหมือนๆกับการบริจาคทานทั่วไปเท่านั้น” ...

(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 1609, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1827, ท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ เล่มที่ 2 หน้า 138, ท่านอัล-หากิม หะดีษที่ 1488, และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 4หน้า 163) ...

อธิบาย
หะดีษบทนี้ ให้บทเรียนและความรู้หลายอย่าง คือ ...

(1). นอกจากจะแจ้งให้ทราบว่า ซะกาตฟิฏเราะฮ์เป็นฟัรฺฎู (ข้อบังคับ)แล้ว หะดีษบทนี้ยังแจ้งให้ทราบอีกว่า “เหตุผล” ที่ซะกาตฟิฏเราะฮ์ถูกฟัรฺฎูขึ้นมา ก็เพราะสาเหตุ 2 ประการด้วยกัน คือ ...
ก. เพื่อชดเชยความบกพร่องด้านวจีกรรมของผู้ถือศีลอด
ข. เพื่อเป็นอาหารแก่คนยากจน
... ซึ่งแสดงว่า ถ้าไม่เพราะเหตุผลทั้ง 2 ประการนี้ ซะกาตฟิฏเราะฮ์ก็ไม่จำเป็นต้องถูกฟัรฺฎูขึ้นมา ...
และจากเหตุผลข้อที่ 2 นี้ ท่านอบู-อัฎฎ็อยยิบ อาบาดีย์ จึงได้กล่าวในการอธิบายหนังสือ “สุนัน อัด-ดารุกุฎนีย์” ว่า ....

فِيْهِ دَلِيْلٌ عَلَى اَنَّ الْفِطْرَةَ تُصْرَفُ فِي الْمَسَاكِيْنِ، دُوْنَ غَيْرِهِـمْ مِنْ مَصَارِفِ الزَّكَاةِ
“ในข้อความที่ว่า .. และเพื่อเป็นอาหารแก่คนยากจน ..นี้ เป็นหลักฐานแสดงว่า แท้จริงซะกาตฟิฏเราะฮ์นั้น จะต้องถูกมอบให้แก่คนยากจนเท่านั้น, มิใช่อื่นใดจากบรรดาผู้ที่มีสิทธิรับซะกาตทั้งหลาย” ...
(โปรดดู “สุนัน อัด-ดารุกุฎนีย์” เล่มที่ 2 หน้า 138)

และท่านอิบนุ้ล ก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ ก็ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ซาดุ้ล มะอาด” ว่า ... .
وَكَانَ مِنْ هَدْيِـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسّلَّمَ تَخْصِيْصُ الْمَسَاكِيْنِ بِـهَذِهِ الصَّدَقَةِ، وَلَمْ يَكُنْ يُقَسِّمُهَاعَلَى اْلأصْنَافِ الثَّمَانِيَةِ قَبْضَةً قَبْضَةً، وَلاَ اَمَرَبِذَلِكَ وَلاَ فَعَلَهُ أحَدٌمِنْ اَصْحَابِـهِ، وَلاَ مَنْ بَعْدَهُـمْ، بَلْ اَحَدُالْقَوْلَيْنِ عِنْدَنَا اَنَّهُ لاَيَجُوْزُ اِخْرَاجُهَااِلاَّ عَلَى الْمَسَاكِيْنِ خَـاصَّةً وَهَـذَاالْقَوْلُ اَرْجَحُ مِنَ الْقَوْلِ بِوُجُوْبِ قِسْمَتِهَا عَلَى اْلأصْنَافِ الثَّمَانِيَةِ ......
“และส่วนหนึ่งจากทางนำของท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมก็คือ การ “จำกัดเฉพาะคนยากจน” เกี่ยวกับซะกาตฟิฏเราะฮ์, ท่านไม่เคยเลยที่จะแบ่งมันให้แก่ผู้รับ 8 จำพวก คนละกำ คนละกำ, ท่านไม่เคยสั่งอย่างนี้ และไม่เคยมีเศาะหาบะฮ์ของท่านคนใดกระทำอย่างนี้ รวมทั้งบุคคลยุคหลังๆจากพวกเขา ... ทว่า หนึ่งจาก 2 ทัศนะสำหรับเราก็คือ ไม่อนุญาตให้บริจาคมันแก่ผู้ใดยกเว้นคนยากจนโดยเฉพาะเท่านั้น, ซึ่งทัศนะดังกล่าวนี้ มีน้ำหนักมากกว่าทัศนะที่ว่า จำเป็นจะต้องแบ่งมันให้แก่ผู้รับทั้ง 8 จำพวก ..
(โปรดดูหนังสือ “ซาดุ้ล มะอาด” เล่มที่ 1 หน้า 185)

(2). จากข้อความของหะดีษนี้ที่ว่า ... ผู้ใดบริจาคมันก่อนการนมาซอีด มันก็คือซะกาตที่ถูกรับรอง, และผู้ใดที่บริจาคมันหลังจากนมาซอีดแล้ว มันก็จะเป็นเพียงการบริจาคทานธรรมดา ... แสดงว่า ซะกาตฟิฏเราะฮ์จะคงสภาพความเป็นซะกาต ก็ต่อเมื่อได้บริจาคมันภายในเวลาที่ถูกกำหนด .. คือ ก่อนการนมาซอีดเท่านั้น ...
ท่านอิบนุ้ล ก็อยยิม อัล-ญูซียะฮ์ ได้นำเสนอหะดีษ 2 บทในหนังสือ “ซาดุ้ล มะอาด” เล่มที่ 1 หน้า 185 ... คือ หะดีษของท่านอิบนุ อับบาส ร.ฎ. ข้างต้น, และหะดีษจากการรายงานของท่านอิบนุ อุมัรฺ ร.ฎ. ดังการบันทึกของท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิม ซึ่งมีข้อความว่า ... “ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ใช้พวกเราให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ ก่อนประชาชนออกไปทำการนมาซอีด” ...
แล้วท่านอิบนุ้ล ก็อยยิม ก็กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า ....
وَمُقْتَضَى هَـذَيْنِ الْحَدِيْـثَيْنِ اَنَّـهُ لاَ يَجُوْزُ تَأْخِيْرُهَـاعَنْ صَلاَةِ الْعِيْدِ، وَاَنَّـهَا تَفُوْتُ بِالْفَرَاغِ مِنَ الصَّلاَةِ، وَهَـذَا هُوَالصَّوَابِ .......
“และเป้าหมายของหะดีษทั้ง 2 บทนี้ก็คือ ไม่อนุญาตให้ล่าช้าในการบริจาคซะกาตฟิฏเราะฮ์จนหลังจากนมาซอีด, และแท้จริง ซะกาตฟิฏเราะฮ์ถือว่า สิ้นสภาพของมัน หลังจากเสร็จสิ้นการนมาซอีดแล้ว, นี่คือ (ทัศนะ) ที่ถูกต้อง” ...
ดังนั้น เมื่อเสร็จสิ้นจากการนมาซอีดแล้ว ฟิฏเราะฮ์ก็จะสิ้นสภาพจากการเป็นซะกาตฟัรฺฎู กลับกลายมาเป็นการบริจาคทาน (เศาะดะเกาะฮ์) ธรรมดาทันที คือ จะบริจาคหรือไม่บริจาคก็ได้, มิใช่เป็นข้อบังคับอีกต่อไป และไม่มีหลักฐานว่า วาญิบจะต้องบริจาคชดใช้ (กอฎออ์) หลังจากนั้น ... ทว่า ผู้ที่มิได้บริจาคซะกาตฟิฎเราะฮ์ก่อนการนมาซอีดโดยเจตนา จะมีบาปฐานเจตนาฝ่าฝืนบทบัญญัติของศาสนาในเรื่องนี้ ...
โดยนัยนี้ ซะกาตฟิฏเราะฮ์ จึงมีลักษณะเป็นเพียง “ซะกาตเฉพาะกิจ” ที่มีกำหนดเวลาเท่านั้น, มิใช่เป็น “ซะกาตถาวร” เหมือนซะกาตทรัพย์สินอื่นๆ ....
ท่านอัช-เชากานีย์ได้กล่าวในหนังสือ “นัยลุ้ล เอาฏอรฺ” ว่า ....
وَقَدْ ذَهَبَ الْجُمْهُوْرُ اِلَى اَنَّ اِخْرَاجَهَا قَبْلَ صَلاَةِ الْعِيْدِ اِنَّمَاهُوِ مُسْتَحَبٌّ فَقَطْ، وَجَزَمُوْابِأَنَّـهَا تُجْزِئُ اِلَى آخِرِيَوْمِ الْفِطْرِ، وَالْحَدِيْثُ يَرُدُّ عَلَيْهِمْ ...
“นักวิชาการส่วนใหญ่ (ญุมฮูรฺ) ถือว่า การบริจาคซะกาตฟิฏเราะฮ์ก่อนการนมาซอีด เป็นเพียงสิ่งที่ชอบให้กระทำเท่านั้น และพวกเขายึดถือมั่นว่า อนุญาตให้บริจาคมันได้ จนสิ้นวัน (อีด) นั้น แต่หะดีษบทนี้ คือสิ่งที่หักล้าง (ทัศนะ) ของพวกเขา” ...
(โปรดดู หนังสือ “นัยลุ้ล เอาฏอรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 256) ...

ข้อแตกต่างระหว่างซะกาตฟิฎเราะฮ์กับซะกาตทรัพย์สิน

1. ซะกาตฟิฏเราะฮ์ เป็นซะกาตที่เกี่ยวพันกับ "ตัวคน" ทึี่เป็นมุสลิม ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่, เป็นไทหรือเป็นทาส, รวยหรือจน .. ทุกคนวายิบต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์...
แต่ซะกาตทรัพย์สิน เป็นซะกาตที่เกี่ยวพันกับ "ทรัพย์สิน" ..... โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ...ของคนรวย ...
2. ซะกาตฟิฎเราะฮ์ เป็นเพียงซะกาตเฉพาะกิจ, แต่ซะกาตทรัพย์สิน เป็นซะกาตถาวร ...
3. ซะกาตฟิฎเราะฮ์ มีการกำหนดเวลาสิ้นสุดความเป็นซะกาต .. เมื่อหมดเวลา - คือนมาซอีดเสร็จแล้ว - ก็หมดสภาพความเป็นซะกาตซึ่งเป็นทานภาคบังคับทันที ใครบริจาคหลังจากหมดเวลาก็จะเป็นแค่การบริจาคทานธรรมดา ไม่ใช่ซะกาตอีกต่อไป และไม่มีหลักฐานว่าเมื่อหมดเวลาแล้วก็ให้บริจาคชดใช้ภายหลังอีก ...
แต่ซะกาตทรัพย์สิน ไม่มีการกำหนดเวลาสิ้นสุด! ผู้ที่มิได้จ่ายมันเมื่อครบกำหนด ก็วาญิบให้เขารีบจ่ายมันหลังจากนั้น ไม่ว่าจะนานสักเท่าใดก็ตาม,ไม่มีคำว่า “หมดเวลา” เหมือนซะกาตฟิฎเราะฮ์ ...
ดังนั้น ซะกาตฟิฎเราะฮ์ จึงมี “จุดเหมือน” กับซะกาตทรัพย์สินเพียงเฉพาะ “ชื่อ” (คือคำว่า ซะกาต) อย่างเดียวเท่านั้น, แต่ในด้านข้อเท็จจริง ( حقيقة ) แล้ว จะเห็นได้ว่า แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะต้องนำหลักการเกี่ยวกับซะกาต มาปรับใช้เหมือนกันทั้งหมด, .....
อย่างน้อย ก็ในด้านตัวผู้ที่มีสิทธิรับซะกาต ! ..ที่มี “ตัวบท” จำแนกมาอย่างชัดเจน .. จากหะดีษของท่านอิบนุ อับบาส ร.ฎ. ที่ผ่านมาแล้ว ...

สรุป
สรุปแล้ว ในทัศนะส่วนตัวของผม เห็นว่า การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ให้แก่คนยากจนโดยเฉพาะ เป็นเรื่องถูกต้องกว่าการจ่ายให้กับบุคคล 8 จำพวก ด้วยเหตุผลที่ว่า
1. มีหลักฐานจากหะดีษชี้เฉพาะ, ชัดเจนกว่า ...
2. ไม่มีความขัดแย้งจากนักวิชาการท่านใด, ..หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ นักวิชาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์แก่คนยากจน ถูกต้องแน่นอน!,
... ตรงกันข้ามกับการจ่ายให้แก่ 8 จำพวกซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับซะกาตทรัพย์สิน เพราะมีนักวิชาการบางกลุ่มคัดค้านว่า .. ใชัไม่ได้ .. ดังข้อมูลที่ผ่านมาแล้วนั้น ....

วัลลอฮุ อะอฺลัม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น