อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อิสลามกับการมอบของขวัญและการอวยพร



     อิสลามได้วางรูปแบบ การปฏิบัติไว้สำหรับมุสลิมไว้ครบถ้วนแล้ว ไม่ว่า ในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน การคบค้าสมาคมกับพี่น้องมุสลิม หรือกับคนต่างศาสนิก, การประกอบอาชีพ หรือการศึกษาหาความรู้ก็ตาม โดยเฉพาะในเรื่องการจัดเทศกาลเฉลิมฉลองวันรื่นเริงต่างๆ  วันรื่นเริงในรอบ 1 ปีอิสลามมีวันใดบ้างนั้น อิสลามได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน  นั้นคือ คือวันอีดทั้งสอง (วันอีดิลฟิฏริ (عيد الفطر) หรืออีดิลอัฎฮา عيد الأضحى  ) และได้กำหนดรูปแบบแนวทางไว้ชัดเจนแล้วว่า ในวันนั้นให้มีมุสลิมกระทำกิจกรรมใดบ้าง อันได้แก่ การละหมาดวันอีด การจ่ายซะกาตฟิรเราะฮฺ  , การเชือดเนื้อกุรบาน, การเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง, การอวยพร หรือการขออภัยให้แก่กัน เป็นต้น  

เมื่ออิสลามได้กำหนดรูปแบบหลักปฏิบัติต่างๆไว้สำหรับมุสลิมครบสมบูรณ์แล้ว อิสลามถือว่ากิจกรรมอื่นนอกเหนือจากนี้ ไม่เป็นที่อนุมัติ และยังกำหนดห้ามมิให้มุสลิมไปแสวงหากิจกรรมอื่นๆ มาผสมผสานกับกิจกรรมเดิมที่อิสลามได้วางเอาไว้  ไม่ว่าด้วยการคิดค้นขึ้นใหม่  หรือนำกิจกรรมหลักของกลุ่มชนอื่นมาเลียนให้เป็นของตน แล้วนำการซิกรุลลอฮฺ หรืออ่านอัลกุรอาน การกล่าวดุอาอ์มาไว้ในกิจกรรมนั้นให้เหมือนกับว่าเป็นกิจกรรมที่อิสลามกำหนดเอาไว้ หรือไปร่วมกิจกรรมของกลุ่มชนอื่นที่เขาจัดกัน ตามประเพณี ความเชื่อ ลัทธิ ศาสนา ไม่ว่ากิจกรรมวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่, กิจกรรมวันลอยกระทง,  กิจกรรมวันสงกรานต์, กิจกรรมวันวาเลนไทน์ ก็ตามที มันไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นการอุตริกรรมกิจการศาสนา การลอกเลียนแบบพฤติกรรมของชนกลุ่มอื่น บางกิจกรรมถึงขั้นมีหลักความเชื่อที่ขัดกับบทบัญญัติอิสลาม เป็นความเชื่อและนับถือสิ่งอื่นมาเทียบเคียงกับพระองค์อัลลอฮฺตะอาลาอีกด้วย  ซึ่งถือเป็นที่ต้องห้ามตามหลักการอิสลามทั้งสิ้น

อิสลามมิได้ห้ามมุสลิมที่จะมอบของขวัญฮาดียะฮฺให้แก่กัน  ไม่ได้ห้ามการเขียนบัตรอวยพรความสุข  ตรงกันข้ามอิสลามกลับสนับสนุนที่จะให้กระทำการดังกล่าว เพราะการมอบของขวัญ ของกำนัล ฮาดียะฮฺ  มันเป็นเรื่องสังคม ถือเป็นการถนอมขวัญ หรือเพื่ออัธยาศัยไมตรีระหว่างพี่น้องมุสลิมด้วยกัน อันได้แก่ การมอบของขวัญให้คู่บ่าวสาวในวันแต่งงานเลี้ยงวาลีมะฮฺ , การมอบของขวัญให้ผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์, หรือการมอบของขวัญให้แก่พี่น้องมุสลิมคนหนึ่งเพื่อเป็นขอบคุณ การปลอบใจหรือแสดงความยินดีที่ได้ที่ศึกษาต่อ หรือได้สอบบรรจุราชการได้ เป็นต้น การเขียนบัตรอวยพรก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นการสร้างความผูกพันอัธยาศัยไมตรีให้แก่กัน เช่นในกรณีเพื่อนแต่งงาน  สามารถมอบของขวัญพร้อมเขียนบัตรอวยพรขอให้พระองค์อัลลอฮฺตะอาลาทรงเพิ่มพูนความจำเริญแก่คู่บ่าวสาว แทนการอวยพรโดยตรงแก่คู่บ่าวสาว หรือในกรณีอื่นๆทำนองเดียวกันนี้ 

แต่การอนุญาตให้มอบของขวัญ หรือเขียนบัตรอวยพรกันนี้ ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่กำหนดวันเจาะจงที่จะมอบให้อย่างตายตัวอย่างต่างศาสนิกเขาทำกัน เช่นให้เฉพาะในวันคริสต์มาส หรือวันปีใหม่ อันเป็นธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติกันสำหรับคริสต์ศาสนิกชน หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่ามุสลิมผู้นั้นกำลังเลียนแบบกลุ่มอื่นแล้ว จึงไม่เป็นที่อนุญาตแก่มุสลิม รวมถึงการมอบของขวัญ หรือการเขียนบัตรอวยพรในกิจกรรมที่อุตริขึ้นมาใหม่ในศาสนา อันได้แก่ กิจกรรมเมาลิดนบี กิจกรรมวันปีใหม่ฮิจญเราะห์ศักราช ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ไม่เคยมีขึ้นมาก่อนทั้งในยุคท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยุคเศาะหาบะฮฺ ยุคตาบีอีน หรือยุคตาบีอิต-ตาบีอีน พูดโดยรวมก็คือเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยปรากฏในยุคสลัฟมาก่อนเลย หากกระทำการเช่นนั้น เท่ากับเป็นการสนับสนุนกิจการที่ได้อุตริกรรมขึ้นมาในศาสนา อันเป็นที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม

สำหรับการอวยพรให้แก่กันนั้น มุสลิมสามารถที่จะอวยพร หรือขอดุอาอ์ ให้กันได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องกำหนดเฉาพะวันใดๆ ไม่จำต้องอวยพรกันเฉพาะวันอีด เรานั่งอยู่กับพ่อแม่ของเรา เราก็อวยพรให้แก่ท่านได้เลยขณะนั้น  ไม่จำต้องรอให้ถึงวันสำคัญใดๆ โดยเฉพาะการอวยพร การขอดุอาอ์ให้แก่กันลับหลัง 

จึงสรุปได้ว่าการมอบของขวัญ และการอวยพรให้แก่กันนั้น มุสลิมสามารถกระทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องไม่เป็นการให้ของขวัญ หรืออวยพรกันโดยกำหนดวันเจาะเจาะตายตัวตามธรรมเนียมประเภณี ความเชื่อ ลัทธิ หรือศาสนาอื่นๆ อย่างวันวันคริสต์มาส หรือวันปีใหม่ ที่กล่าวมาข้างต้น และในกิจกรรมที่ได้มีอุตริกรรมขึ้นมาใหม่ในศาสนานั้นด้วย

والله أعلم بالصواب

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น