อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เล่ห์มาร ช่องทางของชัยฏอนในการล่อลวงคนดี



ธาตุแท้ชัยฏอน

เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักในหลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ)

ชัยฏอนคืออะไร?!
ชัยฏอนมีรูปร่างตัวตนจริงๆ หรือเป็นแค่นามธรรม?!
หรือคือความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดีและการกระซิบกระซาบของหัวใจ ดังที่บางคนเข้าใจ?!
หรือมันคือเชื้อโรคดังที่บางคนกล่าวอ้าง?!
หรือชัยฏอนคือสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย เราวาดมันเพื่อเป็นแค่สัญลักษณ์ เพื่อเราจะได้พูดถึง?!

แล้วอะไรคือหลักความเชื่อของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺเกี่ยวกับเรื่องนี้?
หลักความเชื่อของเราคือ ชัยฏอนนั้นมาจากญิน
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ตรัสว่า:

ความว่า: “และเมื่อเราได้กล่าวแก่มลาอิกะฮฺว่า จงสุญูดคารวะต่ออาดัม พวกเขาก็แสดงคารวะเว้นแต่อิบลีส มันอยู่ในจำพวกญิน”(อัล-กะฮฺฟฺ, 18 : 50)

เราศรัทธาต่อการมีอยู่จริงของญินและมนุษย์ และชัยฏอนนั้นก็มาจากญิน และมันก็อยู่กับมนุษย์ทุกๆ คน ทุกคนจะมีชัยฏอนติดตัวอยู่ และหลักฐานเรื่องดังกล่าวนี้คือ คำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ในหะดีษบทหนึ่งที่บันทึกโดยมุสลิม จากท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

ความว่า: “ไม่มีใครคนใดจากหมู่พวกท่านนอกเสียจากว่าจะมีสหายติดตามตัวจากญินและจากมลาอิกะฮฺ เศาะหาบะฮฺถามว่า: แล้วท่านล่ะท่านเราะสูลุลลอฮฺ? ท่านตอบว่า: ฉันก็เช่นเดียวกัน แต่ทว่าอัลลอฮฺ อัซซะวะญัล ทรงคุ้มครองฉันจากมัน ดังนั้น มันจะไม่สั่งใช้ฉันนอกจากในเรื่องที่ดีเท่านั้น” (บันทึกโดยมุสลิม, บท: สัญลักษณ์ต่างๆ ของพวกมุนาฟิก, บรรพ: การยุยงของชัยฏอน, เลขที่: 2814)

ดังนั้น ทุกๆ คนจะมีสหายติดตามตัวจากญิน แม้กระทั่งท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เองก็ตาม แต่ทว่าญินที่ติดตามตัวท่านนั้น อัลลอฮฺได้คุ้มครองท่านจากมัน ดังนั้น มันจะไม่สั่งใช้ท่านนอกจากแต่ความดีเท่านั้น

อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ตรัสว่า:

ความว่า: “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ พระราชาแห่งมนุษย์ชาติ พระเจ้าแห่งมนุษย์ชาติ ให้พ้นจากความชั่วร้ายของผู้กระซิบกระซาบที่หลอกล่อ ที่กระซิบกระซาบในหัวอกของมนุษย์ จากหมู่ญินและมนุษย์” (อัน-นาส, 114 : 1-6)

และชัยฏอนก็มีลูกหลานสืบตระกูล และมีการสืบพันธุ์ เพื่อเพิ่มจำนวน

อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ตรัสว่า:

ความว่า: “แล้วพวกเจ้าจะยึดเอามันและวงศ์วานของมันเป็นผู้คุ้มครองอื่นจากข้ากระนั้นหรือ” (อัล-กะฮฺฟฺ, 18 : 50)

ลูกหลานของชัยฏอนและบริวารของมันพยายามที่จะทำให้มนุษย์หลงทางในชีวิตบนโลกนี้

แผนปฏิบัติการของชัยฏอน

ชัยฏอนใช้วิธีการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการหลอกล่อมนุษย์ ท่านอิบนุ ก็อยยิม อัล-เญาซียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้ระบุหกลำดับวิธีการของชัยฏอนในการหลอกล่อมนุษย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

ลำดับแรก: “กุฟรฺ” หรือ “ชิรกฺ”
พยายามที่จะให้มนุษย์ปฏิเสธศรัทธา (กุฟรฺ) หรือไม่ก็ตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ (ชิรกฺ) แต่ถ้าหากเป้าหมายนั้นเป็นมุสลิมอยู่แล้ว มันจะใช้กลยุทธลำดับต่อๆ ไป

ลำดับที่สอง: “บิดอะฮฺ”
คือลำดับ “อุตริกรรม” หรือ “บิดอะฮฺ” กล่าวคือชัยฏอนจะพยายามให้มุสลิมอุตริกิจการงานต่างๆ ขึ้นมาในศาสนา และให้ปฏิบัติอุตริกรรมนั้นๆ แต่ถ้าหากเป้าหมายเป็นชาวสุนนะฮฺที่ไม่ทำบิดอะฮฺ ชัยฏอนก็จะใช้แผนลำดับขั้นที่สาม

ลำดับที่สาม: “บาปใหญ่”
คือลำดับความผิดที่เป็นบาปใหญ่ แต่ถ้าหากคนนั้น อัลลอฮฺได้คุ้มครอง ให้เขารอดพ้นจากบาปใหญ่ ชัยฏอนก็ยังไม่หมดหวัง แต่มันจะเริ่มแผนการในขั้นตอนต่อไปคือ ...

ลำดับที่สี่: “บาปเล็ก”
และหากอัลลอฮฺให้คนนั้นรอดพ้นจากบาปเล็ก ชัยฏอนก็จะเริ่มใช้แผนปฏิบัติการอื่น นั่นคือ

ลำดับที่ห้า: “หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นมุบาหฺ (หมายถึงสิ่งที่เราปฏิบัติหรือละทิ้ง ก็จะไม่ได้รับผลบุญและบาปใดๆ ทั้งสิ้น)”
คือการที่ชัยฏอนให้มุสลิมหมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นมุบาหฺต่างๆ และหมดเวลาไปกับมัน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่ใช้เวลากับสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า และสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ให้เราปฏิบัติ

ลำดับที่หก: “หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่ประเสริฐน้อยกว่า”
คือ การที่ชัยฏอนจะให้มุสลิมหมกหมุ่นปฏิบัติในสิ่งที่ประเสริฐหรือดีน้อยกว่า และทิ้งการปฏิบัติสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่เขาได้ปฏิบัติคือการงานที่ดี แต่การงานที่เขาละทิ้งนั้นดีกว่า และประเสริฐกว่า เช่น หมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นสุนัต และละทิ้งสิ่งที่เป็นฟัรฎู เป็นต้น !? จะเห็นได้ว่า ชัยฏอนมีความอุตสาหะในการเชิญชวนและล่อลวงของมัน และปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้น โดยใช้วิธีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้ตรัสว่า:

ความว่า: “จงบริโภคจากสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงให้เป็นปัจจัยยังชีพ แก่พวกเจ้าเถิด และจงอย่าตามก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริง มันคือศัตรูอันชัดแจ้งของพวกเจ้า” (อัล-อันอาม, 6 : 142)

ชัยฏอนจะพยายามล่อลวงมนุษย์ทีละนิดละหน่อย และค่อยเป็นค่อยไปจนถึงเป้าหมายของมัน และมันจะเข้าหามนุษย์ทุกประเภทด้วยวิธีเฉพาะที่เหมาะสมกับคนนั้นๆ

เข้าหาผู้ที่มีความสมถะ ด้วยรูปแบบสมถะ
เข้าหานักวิชาการผ่านประตูความรู้
และเข้าหาคนโง่อวิชาผ่านประตูความขลาดเขลา

เส้นทางชัยฏอน เส้นทางของชัยฏอนมีมากมายและหลากหลาย ซึ่งยากนักที่จะจำกัดได้ทั้งหมด และเราขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้เพียงบางส่วน ดังนี้:

1. สร้างความแตกแยกและคิดไม่ดีต่อพี่น้องมุสลิม

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ในหะดีษบทหนึ่งที่บันทึกโดยมุสลิมว่า:

ความว่า: “แท้จริงชัยฏอนได้หมดหวังที่จะให้คนที่ทำการละหมาดสักการะบูชาต่อมันในคาบสมุทรอาหรับ แต่ทว่า มันพยายามยุแหย่ (ให้เป็นศัตรูและก่อฟิตนะฮฺ) ระหว่างพวกเขา” (บันทึกโดยมุสลิม, บท: ลักษณะต่างๆ ของพวกมุนาฟิก, บรรพ: การยุแหย่ของชัยฏอน, เลขที่: 7281. และอัต-ติรฺมีซียฺ นอกจากสำนวน “ในคาบสมุทรอาหรับ” บท: การทำดีและการเชื่อมสัมพัมธ์, บรรพ: การโกรธเคืองต่อกัน, เลขที่: 1938)

นั่นคือ พยายามให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง โกรธแค้นเคือง สร้างฟิตนะฮฺ และมุ่งโจมตีกัน การคิดร้าย หรือไม่ดีนั้น ส่วนใหญ่มาจากชัยฏอน ดังที่มีรายงานจากอุมมุลมุอ์มินีน เศาะฟิยฺยะฮฺ บินติ หุยัยฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา นางได้เล่าว่า:

ความว่า: ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟ (ในมัสญิด) และฉันก็ได้ไปเยี่ยมท่านในเวลากลางคืน ฉันได้พูดคุยกับท่าน ต่อมา ฉันก็ได้ลุกขึ้นยืนเพื่อเดินกลับบ้าน แล้วท่านก็ลุกขึ้นด้วยเพื่อจะส่งฉัน และบ้านของนางนั้นอยู่ที่ดารฺอุสามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ ในขณะเดียวกัน ก็มีชายสองคนจากชาวอันศอรฺเดินผ่าน เมื่อทั้งสองเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พวกเขาก็เร่งฝีเท้าเดิน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เลยทักพวกเขาไปว่า ท่านทั้งสองไม่ต้องรีบหรอก แท้จริง นางคือเศาะฟิยฺยะฮฺ บินติ หุยัยย์, ชายทั้งสองกล่าวว่า: “สุบหานัลลอฮฺ โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ” (คือเขาทั้งสองมิได้คิดว่าจะเป็นผู้หญิงอื่นที่มิใช่ภริยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม-ผู้แปล) และท่านก็กล่าวว่า “แท้จริง ชัยฏอนจะไหลเวียนอยู่ในตัวมนุษย์ผ่านเส้นเลือด และแท้จริง ฉันเกรงว่ามันจะใส่ความในหัวใจของท่านทั้งสองด้วยความชั่วร้าย” หรือท่านกล่าวว่า “บางอย่าง” (มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ, 4/240 บท: อัล-อิอฺติกาฟ, บรรพ: ผู้ที่อิอฺติกาฟสามารถออกจากมัสญิดเนื่องด้วยเหตุจำเป็นได้หรือไม่ และมุสลิม ในบทอัส-สลาม เลขที่ 2174 - 2175)

ชายคนหนึ่งเดินอยู่กับหญิงสาวในยามวิกาล ย่อมเป็นจุดให้เกิดความสงสัยคลางแคลงใจและคิดอคติได้ ดังนั้น ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงต้องการที่จะตัดความคิดอคตินี้ออกไป ท่านเลยบอกกับชายสองคนนั้นว่า

“ท่านทั้งสองไม่ต้องรีบหรอก แท้จริง นางคือเศาะฟิยฺยะฮฺ”

จากจุดนี้ เราสามารถเอาสาระประโยชน์จากหะดีษบทนี้ได้ว่า เมื่อท่านยืนอยู่ภายใต้ภาวการณ์ ที่คนอื่นอาจคิดไม่ดีต่อท่าน ท่านต้องชี้แจง และอธิบายให้คนที่ได้เห็น หรือได้ฟังเข้าใจ และรับรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อปิดกั้นการคิดไม่ดี การคิดไม่ดีคือ แนวทางของชัยฏอน ทุกครั้งที่ท่านได้ฟังคำพูดหนึ่ง มันจะพยายามให้ท่านตีความในแง่ที่ไม่ดีเสมอ และเช่นเดียวกัน ชัยฏอนจะสร้างความแตกแยกในหมู่มนุษย์ ดังหะดีษที่รายงานโดยสุลัยมาน อิบนุ ศุร็อด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านได้เล่าว่า:

ความว่า: ฉันได้นั่งร่วมอยู่กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วมีชายสองคนกำลังด่าทอกันอยู่ หนึ่งในสองคนนั้นมีใบหน้าแดงกล่ำ และเส้นเลือดที่คอได้ผุดเผยออกมา แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวว่า: “แท้จริง ฉันรู้ประโยคหนึ่ง หากใครได้กล่าวแล้ว สิ่งที่เขาประสบ (จากความโกรธเคือง) จะหายไป นั่นคือ หากเขากล่าวว่า อะอูซุบิลลาฮฺมินัชชัยฏอน (แปลว่า ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากชัยฏอน) สิ่งที่เขาประสบจะหายไป” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ, (10/431), บท: มารยาท, บรรพ: ระวังจากความโกรธ)

2. อุตริกรรม

ชัยฏอนจะหลอกล่อด้วยกับสิ่งที่เป็นอุตริกรรมหรือ “บิดอะฮฺ” โดยกล่าวว่า “มนุษย์สมัยนี้ละเลยศาสนา และเป็นการยากยิ่งที่จะนำพวกเขา กลับมาสู่แนวทางของอิสลาม ดังนั้น เราควรทำอิบาดะฮฺบางอย่าง ตามแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเราก็อุตริอิบาดะฮฺบางอย่างเพิ่มเข้าไป เผื่อว่ามนุษย์จะกลับมาสู่แนวทางของศาสนา” และบางครั้ง อาจอุตริอิบาดะฮฺ ที่มีเค้ามาจากแบบอย่างสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และชัยฏอนก็กระซิบกระซาบว่า “การอุตริในเรื่องความดีย่อมถือเป็นความดี ดังนั้น ท่านจงอุตริเถิด” และสิ่งที่อุตริขึ้นมาใหม่นั้น ก็ออกมาในรูปเชิงของอิบาดะฮฺ หรืออาจอุตริเพิ่มอิบาดะฮฺขึ้นมาใหม่ในอิสลาม และบางทีบางคนอาจพูดว่า “ผู้คนห่างไกลจากศาสนาเหลือเกิน เรามาแต่งหะดีษ เพื่อให้พวกเขาจะได้เกรงกลัว และตักวาต่ออัลลอฮฺดีกว่า” แล้วพวกเขาก็อุปโลกน์หะดีษขึ้นมา และกล่าวเท็จต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และกล่าวว่า “พวกเราโกหก แต่เราไม่ได้โกหกใส่ร้ายท่าน แต่เราโกหกเพื่อท่าน!!” โกหกเพื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม !! แล้วอุปโลกน์หะดีษเพื่อให้ผู้คนกลัวไฟนรก!! พวกเขาสร้างจินตนาการเกี่ยวกับมนุษย์ในมุมมองที่แปลก และวาดภาพสวรรค์ในมุมมองที่ประหลาดยิ่งกว่า!! เป็นที่ทราบกันดีว่า การอิบาดะฮฺนั้นเป็บแบบ เตากีฟียฺกล่าวคือ เรายึดปฏิบัติตามหลักฐาน ที่ปรากฏในแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังที่อัลลอฮฺได้บัญชาให้แก่ท่านเท่านั้น และไม่ใช่เอกสิทธิ์ของใคร ที่จะอุตริเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจ มันไม่ใช่อื่นใดเว้นแต่คือบิดอะฮฺจากการประดิษฐ์ตกแต่งของชัยฏอน
3. ให้ความสำคัญกับเรื่องหนึ่ง โดยละเลยอีกเรื่องหนึ่ง

1. ระดับปัจเจกบุคคล

บางคนทำความผิดและบาปต่างๆ อย่างมากมาย แต่ว่าเขาดำรงการละหมาด และกล่าวอ้างว่า การละหมาดคือเสาหลักของศาสนา และคือการงานแรกที่จะถูกนำมาตัดสินในวันแห่งการคิดบัญชี ดังนั้น ไม่เป็นไรหรอกหากจะทำความผิดบางอย่าง!! เขาทำให้การละหมาดเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ เพื่อนำมาเป็นข้ออ้างในการละเลยต่ออิบาดะฮฺอื่นๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องละหมาด และละเลยเรื่องอื่นๆ !! ใช่! การละหมาดคือเสาหลักของศาสนา แต่มันไม่ใช่ศาสนาทั้งหมด แล้วชัยฏอน ก็นำมันมาเป็นข้ออ้างสำหรับการละเลยความดีอื่นๆ และบางคนกล่าวว่า “ศาสนาคือการปฏิสัมพันธ์” สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่ท่านทำดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่โกหก ไม่คดโกง ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ละหมาดก็ไม่เป็นไร เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความว่า “ศาสนานั้นคือการปฏิสัมพันธ์” และบางคนก็กล่าวว่า: สิ่งสำคัญที่สุดคือ เจตนาที่ดี! ฉันหลับตานอนในขณะที่หัวใจของฉัน ปราศจากการอิจฉาริษยาและโกรธเคือง ในขณะเดียวกัน เขาก็ละเลยความดีอื่นๆ และพอเพียงกับเจตนาที่ดีเท่านั้น! และอีกบางคน ก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาอัลกุรอาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการอ่านและตัจญ์วีด และให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แล้วก็ละเลยความดีอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า มันไม่ใช่เรื่องเดียวในศาสนาอิสลาม ความผิดตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ที่การให้ความสำคัญ แต่คือการละเลยและละทิ้งเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญในศาสนาอิสลามเช่นกัน

2. ระดับกลุ่ม (ญะมาอะฮฺ) 

ประเด็นนี้ มีให้เห็นในระดับกลุ่มพวกเช่นเดียวกันด้วย จะเห็นได้ว่าบางแนวคิดกล่าวว่า: “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรู้สภาพความเป็นไปของมุสลิมในภาวะปัจจุบัน สภาพของศัตรู สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเมือง เพราะเราอยู่ในยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่ยุคหิน” เช่นนี้แหละ เราจะเห็นได้ว่าผู้ที่มีแนวคิดนี้จะเชี่ยวชาญในเรื่องคอมมิวนิสต์ เซคิวล่าร์ ฟรีเมสัน บาไฮ และก็อดยานียฺ แต่ถ้าหากท่านถามเกี่ยวกับเรื่องอิสลามแล้ว เขาไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับอิสลาม!! ในทางตรงกันข้าม บางกลุ่มให้ความสำคัญกับเรื่องอิบาดะฮฺ และกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ของท่านกับอัลลอฮฺ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การละหมาด การที่ท่านเป็นคนสมถะ มีความยำเกรง แต่เขากลับละเลยเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด และให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณและอีกหลายๆ คน –ซึ่งมีอยู่จริงในกลุ่มแนวคิด- กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “เอกภาพ” ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า

ความว่า: “และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺโดยพร้อมกันทั้งหมด และจงอย่าแตกแยกกัน” (อาล อิมรอน, 3 : 103)

และพวกเขาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มากกว่าเรื่องหลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) ! ร่วมวงเสวนากับผู้คนหลากหลาย ถึงแม้จะมีหลักความเชื่อที่ต่างกัน โดยกล่าวอ้างว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่พวกเรารวมตัวกัน ในสมัยที่ศัตรูอิสลามรวมตัวโจมตีพวกเรา แต่ที่ถูกต้องแล้ว เรารวมตัวกันบนหลักพื้นฐาน รวมตัวกันบนหลักศาสนา ไม่ใช่รวมตัวสะเปะสะปะ และมีหลักความเชื่อที่แตกต่างกัน ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องให้ความเสมอเท่าเทียมกันทั้งในเรื่องนี้ และเรื่องอื่นๆ เพราะแนวทางของชัยฏอนส่วนมากแล้ว คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องหนึ่ง และละเลยเรื่องอื่นๆ

4. ผัดวันประกันพรุ่ง 

และอีกหนึ่งในแนวทางของชัยฏอนคือ การผัดวันประกันพรุ่งและหวังเรื่อยเปื่อยไปไกล หรือที่บางคนขนานกันว่า “ตัวอุปสรรคอันยิ่งใหญ่” บางคนได้วางเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ข้างหน้าเสมือนเป็นอุปสรรค เขากล่าวว่า “หากฉันเรียนจบ ฉันจะกลับตัว” คือทำการเรียนให้เป็นอุปสรรคในการกลับตัวจากบาป และเมื่อเขาเรียนจบ เขาก็กล่าวว่า “เมื่อฉันได้งานแล้ว ฉันจะกลับตัว” แล้วเขาก็ได้งาน แต่ก็ยังไม่กลับตัว และก็เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ...เมื่อฉันทำหัจญ์...เมื่อฉันแต่งงาน...เมื่อ...เมื่อ...

เขามักวางอุปสรรคไว้ข้างหน้าตลอด ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ และใช้ชีวิตอยู่กับการหวังลมๆ แล้งๆ และเช่นนี้แหละที่เขาใช้ชีวิตและจบชีวิตลงโดยไม่ได้เริ่มชีวิตใหม่เสียจริงๆ

เป้าหมายสูงสุดของชัยฏอนคือ เหนี่ยวรั้งท่านจากการประกอบคุณงามความดีต่างๆ หรือผัดวันประกันพรุ่ง และนี่คือ แนวทางของชัยฏอนที่น่ากลัวยิ่งสำหรับคนดีๆ ทั้งหลาย

ชัยฏอนมาหาท่านแล้วกระซิบกระซาบว่า: “ตอนนี้ท่านยังไม่พร้อมหรอก ที่จะสอนผู้คน หรือดะอฺวะฮฺพวกเขา รอก่อน จนกว่าท่านจะเรียน...” ทั้งๆ ที่เราถูกสั่งใช้ให้ทำการเผยแพร่ ถึงแม้จะมีความรู้เพียงอายะฮฺเดียวก็ตาม

ท่านอิบนุลเญาซียฺได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ตัลบีส อัล-อิบลีส” ว่า: “กี่มากน้อยแล้ว ที่ผู้ที่ปฏิญานตนแน่วแน่ว่าจะทำงาน หรือจะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง แล้วเขาก็ประวิงเวลาไป กล่าวคือชัยฏอนได้ล่อให้เขาประวิงเวลา โดยให้เขานึกว่า กี่มากน้อยแล้วที่ผู้ที่เพียรพยายามสู่ความดีงาม แล้วชัยฏอนก็ประวิงเวลาเขาไว้ และบางครั้ง นักฟะกีฮฺ (ปราชญ์ที่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์อิสลาม) ก็ตั้งใจว่าจะทวนการสอนอีกครั้ง แล้วชัยฏอนก็กระซิบกระซาบว่า “พักก่อนสักระยะหนึ่ง” และชัยฏอนมักให้ท่านชอบความเกียจคร้าน และผัดวันประกันพรุ่ง บางที ชัยฏอนอาจเข้ามาหาผู้ที่ปฏิบัติการละหมาด ในยามค่ำคืนและกล่าวว่า เวลากลางคืนยังอีกยาวนาน สุดท้ายก็ถึงเวลาเช้า และเขาก็ไม่ได้ละหมาด”

5. ความสมบูรณ์แบบจอมปลอม 

ชัยฏอนอาจกระซิบกระซาบ แล้วให้มนุษย์รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่สมบูรณ์แบบแล้ว และมันจะกล่าวกับเขาว่า: ท่านดีกว่าคนอื่นๆ ท่านละหมาด แต่คนอื่นๆ อีกหลายต่อหลายคนไม่ละหมาด ท่านถือศีลอด แต่คนอื่นๆ อีกหลายคนไม่ได้ถือศีลอด กล่าวคือ ชัยฏอนจะทำให้ท่านดูคนที่ด้อยกว่าในการปฏิบัติคุณงามความดี ทั้งนี้และทั้งนั้นก็มิใช่เพราะอื่นใด แต่เพื่อประวิงเวลาในการประกอบความดีของท่าน

ชัยฏอนอาจกระซิบกระซาบว่า: “การงานของท่านจะช่วยท่าน” แล้วมันก็ให้ท่านหมกมุ่นอยู่กับการงานที่เป็นมุบาหฺ
“พักก่อน”
“ท่านยุ่ง”
“ท่านดีกว่าคนอื่นๆ”
และเช่นนี้แหละ เพื่อให้ท่านได้หยุดหย่อนและไม่มุ่งมั่นในการทำงาน

สิ่งที่พึงประสงค์ คือตรงกันข้าม กล่าวคือ ให้ท่านดูคนที่ถือศีลอดทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ในขณะที่ท่านไม่ได้ถือศีลอด ให้ดูคนที่ปฏิบัติละหมาดที่เป็นสุนัต แต่ท่านไม่เคยปฏิบัติ...นี่แหละ คือการมองที่ถูกต้องและพึงประสงค์

6. ไม่เชื่อมั่นในตัวเองและความสามารถ 

ชัยฏอนมีสองวิธีในการล่อลวงให้มนุษย์พิจารณาตัวเอง คือ

1. มองตัวเองอย่างลำพองและหลงตัวเอง คือ การที่ชัยฏอนผลักดันให้คนหนึ่ง มองตัวเองอย่างลำพอง ต่อมาเขาก็หลงตัวเองและหยิ่งผยอง แล้วชัยฏอนก็กระซิบเขาว่า “ท่านได้ทำ...ทำ... จงดูตัวท่านเถิด ท่านได้ทำอะไรมากมาย และผู้คนก็เปลี่ยนแปลงเพราะท่าน แล้วเขาก็หยิ่งผยอง หลงตัวเอง ดูแคลนคนอื่น ปฏิเสธสัจธรรม เมื่อผิดก็ไม่ยอมกลับตัว และไม่ยอมร่วมนั่งศึกษาความรู้จากบุคคลอื่น” ฉันสังเกตเห็นวงหะละเกาะฮฺ อ่านอัลกุรอาน บางคนเมื่อมีคนทักว่าอ่านผิด แทนที่เขาจะยังคงเรียนอยู่ในวงหะละเกาะฮฺเพื่อที่คนอื่นจะได้แก้ไขการอ่านให้ถูกต้อง แต่เขากลับทิ้งหะละเกาะฮฺ การเรียนอัลกุรอาน ทั้งนี้เพราะกลัวที่จะต้องถูกติท่ามกลางคนส่วนใหญ่ และแล้วเขาก็ไม่ได้เรียนตลอดทั้งชีวิต หากเขาฉุกคิดสักนิด เขาจะรู้ว่าคนที่อ่านคล่อง ก่อนหน้านี้ก็มีสภาพเหมือนกับเขา แต่คนอื่นก็ศึกษาต่อเนื่องโดยไม่ย่อท้อ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องพยายาม และฝึกปรือตัวเอง ให้หายจากข้อบกพร่องของตัวเองไม่ใช่ปกปิดมัน

2. มองตัวเองอย่างถูกดูและดูแคลน ชัยฏอนจะกระซิบกระซาบท่านว่า “ท่านต้องถ่อมตัว ใครก็ตามที่ถ่อมตัวเพื่ออัลลอฮฺ พระองค์จะยกระดับเขา ... งานนี้ไม่เหมาะกับท่านหรอก! มันเหมาะกับคนที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเท่านั้น” จุดมุ่งหมายตรงนี้คือ ชัยฏอนประสงค์ให้ท่านห่างออกจากสาสน์ของท่าน ด้วยวิธีการถ่อมตัว กล่าวคือ ให้ท่านดูถูกความสามารถของตัวเอง จนไม่สามารถนำความสามารถที่มีท่านมีอยู่ มาใช้เป็นประโยชน์ได้ พวกเราจะถูกสอบสวน ในความสามารถที่เรามีอยู่ ที่เราจำเป็นต้องนำเสนอ และในเมื่อเราไม่นำมาเสนอเราก็จะถูกสอบสวน ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่การถ่อมตัวแต่ประการใด แต่คือการเลี่ยงหน้าที่ความรับผิดชอบ ชัยฏอนจะคอยกระซิบกระซาบเขาว่า “ปล่อยโอกาสให้คนที่ดีกว่าท่านดีกว่า การดะอฺวะฮฺคือการงานที่ประเสริฐ คืองานของชายชาตรีที่โดดเด่น” และบางทีชัยฏอนอาจมาในรูปแบบของการช่วยเหลือ และบางทีอาจจะเกิดข้อผิดพลาดบางประการ ในการทำงานของเขา แต่เขาก็พาลคิดว่าผิดเสียทั้งหมด การเหมารวมว่าผิดนั้นคือแนวทางหนึ่งของชัยฏอน และ บางที ชัยฏอนอาจหลอกล่อมนุษย์โดยการให้ดูแคลนตัวเอง แล้วเขาก็ไม่เคยที่จะใช้สติปัญญาในการคิด โดยชัยฏอนจะตั้งคำถามว่า:
“ฉันอยู่ในระดับไหนจากเชคคนนนั้น?”
“ฉันอยู่ในระดับไหนจากผู้รู้คนนั้น”

ยกเลิกการใช้สติปัญญา และไม่คิดนอกจากตามความคิดอาจารย์ของเขา ไม่ปฏิบัตินอกจากคำแนะนำอาจารย์ของเขา อาจารย์ของเขาเท่านั้นที่ถูก นอกเหนือจากนั้นผิด และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “การเทิดทูนมนุษย์” หลักการของเราคือ การกลับไปหาบทบัญญัติศาสนา มนุษย์คนนี้ที่อยู่ต่อหน้าเรา เป็นไปได้ที่อาจจะผิด ให้เอาคำพูดของมนุษย์ทั้งมวล มาเทียบเคียงกับคำตรัสของอัลลอฮฺและคำพูดของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หากเห็นพ้องสอดคล้องตรงกัน เราก็รับ แต่หากค้านกัน เราก็ละทิ้งคำพูดของมนุษย์คนนั้น

7. สร้างความสงสัย 

การสร้างความสงสัยคือ หนึ่งในแนวทางของชัยฏอนที่อันตรายนัก...แต่ทว่า มันเกิดชึ้นได้อย่างไร? เช่น บางทีชัยฏอนอาจเข้ากระซิบกระซาบผู้ที่คอยอบรมสั่งสอนผู้คน ปฏิบัติตนอยู่ในครรลองของอิสลาม และห่างไกลจากข้อห้ามต่างๆ มันเข้ามาสร้างความสงสัยในแนวทางที่ตนเองดำเนินอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้คลุกคลีกับผู้คนที่ไม่ดี ประพฤติตัวนอกลู่อิสลาม ชัยฏอนเข้ามา แล้วกระซิบว่า “ทุกคนเหล่านั้นอยู่ในไฟนรก แล้วท่านเพียงผู้เดียวอยู่ในสวรรค์กระนั้นหรือ?!”

ที่ถูกต้องแล้ว ท่านอย่าเอาจำนวนคนมากหรือน้อย มาเป็นมาตรวัด เพราะสัจธรรมคือ สิ่งที่สอดคล้องกับพระดำรัสของอัลลอฮฺและคำพูดของเราะสูลของพระองค์. ดังนั้น มาตรวัดของญะมาอะฮฺไม่ใช่คนส่วนมาก แต่ญะมาอะฮฺคือ สิ่งที่สอดคล้องกับสัจธรรม ถึงแม้ท่านจะอยู่เพียงคนเดียว อัลลอฮฺตรัสว่า

ความว่า: “และส่วนใหญ่ของมนุษย์จะไม่ศรัทธาต่อเจ้า ถึงแม้เจ้าปรารถนาอย่างยิ่งก็ตาม” (ยูสุฟ : 12 : 103)

นุอัยมฺ อิบนุ หัมมาด ผู้ซึ่งเป็นตาบิอียฺได้กล่าวว่า: “แท้จริงญะมาอะฮฺนั้นคือ สิ่งที่สอดคล้องกับการการภักดีต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา และเมื่อญะมาอะฮฺเสื่อมเสีย ท่านก็จงยืนหยัดอยู่บนญะมาอะฮฺก่อนที่

............................
สุวัฒน์ อิสมาแอล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น