อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ข้อผิดพลาดในการละหมาดบางประการ















การละหมาดนั้นคือเสาหลักของศาสนา เป็นรุก่นข้อที่สองจากหลักการอิสลามห้าประการ และยังเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์ทุกคนจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ดังนั้น จึงจำเป็นที่มุสลิมจะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติละหมาดให้เหมือนกับที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยปฏิบัติและชี้แจงแก่ประชาชาติของท่าน

ท่านมาลิก บิน อัลหุวัยริษ เราะฏิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
« صَلُّوا كَمَا رَأَيْتُمُونِي أُصَلِّي » [البخاري برقم 631]
ความว่า: “พวกท่านจงทำการละหมาด ตามที่พวกท่านเห็นฉันละหมาด” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 631)

อัฏ-เฏาะบะรอนียฺได้บันทึกไว้ในหนังสืออัล-เอาสัฏ จากท่านอับดุลลอฮฺ บิน กุรฏฺ เล่าว่า ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
« أَوَّلُ مَا يُحَاسَبُ بِهِ الْعَبْدُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ الصَّلَاةُ ، فَإِنْ صَلَحَتْ صَلَحَ لَهُ سَائِرُ عَمَلِهِ ، وَإِنْ فَسَدَتْ فَسَدَ سَائِرُ عَمَلِهِ » [الطبراني في الأوسط برقم 1859، وصححه الألباني في السلسلة الصحيحة برقم 1358]
ความว่า: “สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ คือการละหมาด หากว่าการละหมาดของเขานั้นถูกต้องสมบูรณ์ การงานอื่นๆก็จะถูกต้องสมบูรณ์ด้วย แต่หากว่าการละหมาดขาดตกบกพร่อง การงานอื่นๆก็จะขาดตกบกพร่องไปด้วย” (อัฏ-เฏาะบะรอนีย์ ใน อัล-เอาสัฏ หะดีษเลขที่: 1859 โดยเชค อัล-อัลบานียฺ วินิจฉัยในหนังสืออัส-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหะฮฺ เลขที่ 1358 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

ทั้งนี้ มีข้อบกพร่องบางประการในการปฏิบัติละหมาดที่เราพบเห็นอยู่บ่อยๆ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตักเตือนกันเพื่ออัลลอฮฺ นั่นก็คือ

ประการที่หนึ่ง: การละหมาดโดยสวมใส่เสื้อผ้าและกางเกงที่รัดรูปรัดทรง นักวิชาการบางท่านได้กล่าวว่า ข้อละเมิดในกรณีดังกล่าวคือ เสื้อผ้าที่รัดรูปนั้นจะเผยให้เห็นรูปทรงลักษณะของเอาเราะฮฺ (อวัยวะพึงสงวน) อย่างชัดเจน ซึ่งการสวมใส่เสื้อผ้าลักษณะดังกล่าวในชีวิตประจำวันทั่วไปก็ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอยู่แล้ว แน่นอนว่าการนำมาสวมใส่ขณะทำการละหมาดย่อมเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างชัดเจนยิ่งกว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า:
﴿ ۞يَٰبَنِيٓ ءَادَمَ خُذُواْ زِينَتَكُمۡ عِندَ كُلِّ مَسۡجِدٖ ٣١ ﴾ [الأعراف : 31]
ความว่า: “ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย! จงสวมใส่อาภรณ์ประดับกายของพวกเจ้า ณ ทุกมัสยิด” (อัล-อะอฺรอฟ: 31)

ประการที่สอง: การละหมาดโดยสวมใส่เสื้อผ้าที่บาง ทั้งนี้ เมื่อการละหมาดโดยสวมเสื้อผ้าที่เข้ารูปเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะเป็นการเผยให้เห็นรูปร่างลักษณะของเอาเราะฮฺอย่างชัดเจนตามที่ได้กล่าวมาแล้ว การละหมาดโดยสวมชุดที่บางเบากระทั่งเปิดเผยสิ่งที่อยู่ภายในก็ถือว่าต้องห้ามเช่นเดียวกัน
นักวิชาการได้ระบุถึงเงื่อนไขข้อหนึ่งของการละหมาดที่ถูกต้องใช้ได้ คือจะต้องปกปิดเอาเราะฮฺ และสิ่งที่นำมาปกปิดนั้นจะต้องมีความหนา สิ่งปกปิดที่บางนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ (อัล-มุฆนียฺ 2/286-287)

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักจะเกิดในช่วงฤดูร้อน โดยเราจะพบว่ามีคนบางกลุ่มทำการละหมาดโดยสวมใส่เสื้อผ้าที่บางพร้อมกับกางเกงขาสั้น

ประการที่สาม: การละหมาดโดยสวมใส่ชุดนอนหรือชุดทำงาน เพราะชุดเหล่านี้อาจมีคราบสกปรกและมีกลิ่นที่น่ารังเกียจรบกวนผู้คนที่มาร่วมละหมาด พฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากความเกียจคร้านที่จะเปลี่ยนชุดก่อนทำการละหมาด ในขณะที่หากเปลี่ยนเป็นการเข้าเยี่ยมคารวะผู้มีอำนาจหรือบุคคลผู้สูงส่ง เรากลับเตรียมพร้อมที่จะพบกับพวกเขาเป็นอย่างดี แล้วกับพระผู้อภิบาลของเราเล่า มิยิ่งต้องแต่งกายให้สวยงามกว่าหรือ? อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า:
﴿ وَمَن يُعَظِّمۡ شَعَٰٓئِرَ ٱللَّهِ فَإِنَّهَا مِن تَقۡوَى ٱلۡقُلُوبِ ٣٢ ﴾  [الحج : 32]
ความว่า: “ฉะนั้น ผู้ใดให้เกียรติแก่พระบัญญัติของอัลลอฮฺ แท้จริงมันเป็นส่วนหนึ่งแห่งการยำเกรงของจิตใจ” (อัล-หัจญ์: 32)
และตรัสอีกว่า:
﴿ ۞يَٰبَنِيٓ ءَادَمَ خُذُواْ زِينَتَكُمۡ عِندَ كُلِّ مَسۡجِدٖ ٣١ ﴾ [الأعراف : 31]
ความว่า: “ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย! จงสวมใส่อาภรณ์ประดับกายของพวกเจ้า ณ ทุกมัสยิด” (อัล-อะอฺรอฟ: 31)

ประการที่สี่: การละหมาดโดยสวมเสื้อผ้าหรือกางเกงที่ยาวเลยตาตุ่ม เสื้อผ้าลักษณะนี้ได้ถูกห้ามอยู่แล้ว (สำหรับบุรุษ)
 โดยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในหะดีษซึ่งรายงานโดยอบีซัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า:
« ثَلَاثَةٌ لَا يُكَلِّمُهُمُ اللَّهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ ، وَلَا يَنْظُرُ إِلَيْهِمْ وَلَا يُزَكِّيهِمْ وَلَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ » قَالَ: فَقَرَأَهَا رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ثَلَاثَ مِرَارًا ، قَالَ أَبُو ذَرٍّ:  خَابُوا وَخَسِرُوا ، مَنْ هُمْ يَا رَسُولَ اللَّهِ ؟ قَال:  «الْمُسْبِلُ ، وَالْمَنَّانُ ، وَالْمُنَفِّقُ سِلْعَتَهُ بِالْحَلِفِ الْكَاذِبِ» [مسلم برقم 106]
ความว่า: "ในวันกิยามะฮฺมีบุคคลอยู่สามจำพวก ที่พระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงพูดกับพวกเขา ไม่ทรงมองไปยังพวกเขา ไม่ทรงทำให้พวกเขาเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ และพวกเขานั้นจะได้รับการลงโทษอันแสนสาหัส” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวเช่นนี้ 3 ครั้ง อบูซัรฺจึงกล่าวว่า “พวกเขาคือผู้ที่พ่ายแพ้และขาดทุนอย่างแน่นอน พวกเขาคือใครกันหรือครับท่านเราะสูลุลลลอฮฺ?” ท่านเราะสูลตอบว่า “ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่ม ผู้ที่บริจาคทรัพย์สินหรือทำความดีแล้วทวงบุญคุณ และผู้ที่ขายสินค้าของเขาด้วยคำสาบานที่เป็นเท็จ” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่: 106)
และหะดีษที่รายงานโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«مَا أَسْفَلَ مِنَ الكَعْبَيْنِ مِنَ الإِزَارِ فَفِي النَّارِ» [البخاري برقم 5787]
ความว่า “ชายผ้าส่วนที่ยาวเลยตาตุ่มนั้นต้องอยู่ในนรก” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 5787)
ถ้าหากบทลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้เป็นกรณีของผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าในลักษณะดังกล่าวโดยทั่วไป การสวมใส่ในละหมาดย่อมสมควรต้องได้รับโทษหนักและรุนแรงยิ่งกว่า ดังมีรายงานจากท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
« مَنْ أَسْبَلَ إِزَارَهُ فِيْ صَلَاتِهِ خُيَلَاءَ ، فَلَيْسَ مِنَ اللهِ فِيْ حِلٍّ وَلَا حَرَامٍ » [أبو داود برقم 637]


ความว่า: “ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้ายาวระพื้นในละหมาดด้วยความโอหังนั้น อัลลอฮฺจะไม่ทรงใส่ใจสิ่งใดในตัวเขาเลย” (บันทึกโดยอบู ดาวูด หะดีษเลขที่: 637)
ประการที่ห้า: การละหมาดสุนัตที่มัสยิดเป็นประจำ การกระทำเช่นนี้ถือว่าขัดกับสุนนะฮฺของท่านนบี เพราะการละหมาดสุนัตที่ดีที่สุดควรละหมาดที่บ้าน ดังปรากฏในหะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ และมุสลิม จากท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«اجعَلُوْا فِي بُيُوْتِكُمْ مِنْ صَلَاتِكُمْ ، وَلَاتَتَّخِذُوْهَا قُبُوْرًا» [البخاري برقم 432، ومسلم برقم 777]
ความว่า: “พวกท่านจงปฏิบัติละหมาดบางส่วนที่บ้านของพวกท่านเถิด และจงอย่าทำให้มันเป็นดั่งสุสาน” (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 432 และมุสลิม หะดีษเลขที่: 777)

และจากท่านญาบิรฺ บิน อับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
«إِذَا قَضَى أَحَدُكُمُ الصَّلَاةَ فِيْ مَسْجِدِهِ ، فَلْيَجْعَلْ لِبَيْتِهِ نَصِيْبًا مِنْ صَلَاتِهِ ، فَإِنَّ اللهَ جَاعِلٌ فِيْ بَيْتِهِ مِنْ صَلَاتِهِ خَيْرًا» [مسلم برقم 778]
ความว่า “เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่ท่านเสร็จสิ้นจากการละหมาด (ฟัรฎู) ที่มัสยิดแล้ว เขาก็จงปฏิบัติละหมาด (สุนัต)บางส่วนที่บ้านของเขาด้วย เพราะแท้จริงแล้ว อัลลอฮฺจะทรงดลบันดาลให้การละหมาดที่บ้านของเขานำมาซึ่งสิ่งที่ดีงาม” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่: 778)

ท่านอับดุลลอฮฺ บิน สะอัด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ฉันได้ถามท่านเราะสูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า: อย่างใดประเสริฐกว่ากันครับ ระหว่างการละหมาดที่บ้านกับการละหมาดที่มัสยิด? ท่านกล่าวตอบว่า:
« أَلَا تَرَى إِلَى بَيْتِيْ مَا أَقْرَبَهُ مِنَ الْمَسْجِدِ؟! فَلَأَنْ أُصَلِّيَ فِيْ بَيْتِيْ أَحَبُّ إِلَّيَ مِنْ أَنْ أُصَلِّيَ فِي اْلمَسْجِدِ ، إِلَّا أَنْ تَكُوْنَ صَلَاتًا مَكْتُوْبَةً » [ابن ماجه برقم 1378]
ความว่า: “ท่านไม่เห็นหรือว่าบ้านของฉันอยู่ใกล้มัสยิดเพียงใด แต่ฉันก็ปรารถนาที่จะละหมาดที่บ้านมากกว่าที่มัสยิด นอกจากจะเป็นการละหมาดฟัรฎู” (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่: 1378)
ทว่าก็มิได้มีข้อห้ามแต่ประการใดที่จะละหมาดสุนัตที่มัสยิดบ้างเป็นบางครั้ง เพียงการละหมาดที่บ้านประเสริฐยิ่งกว่าโดยการยืนยันจากหลักฐานข้างต้น

ประการที่หก: การอ่านเสียงดังในการละหมาดที่กำหนดให้อ่านเสียงค่อย หรือกล่าวอัซการฺต่างๆด้วยเสียงดัง ซึ่งเป็นการรบกวนการละหมาดของผู้อื่น อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ตรัสห้ามไว้ว่า:
﴿ وَلَا تَجۡهَرۡ بِصَلَاتِكَ وَلَا تُخَافِتۡ بِهَا وَٱبۡتَغِ بَيۡنَ ذَٰلِكَ سَبِيلٗا ١١٠ ﴾ [الإسراء : 110]
ความว่า: “และอย่ายกเสียงดังในเวลาละหมาดของเจ้า และอย่าลดให้ค่อยเช่นกัน แต่จงแสวงหาความพอดีระหว่างนั้น" (อัล-อิสรออ์ 110)

ท่านอัล-บัยยาฎียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะสัลลัม ได้ออกมาในขณะที่ผู้คนกำลังทำการละหมาดโดยต่างอ่านเสียงดังมาก ท่านจึงกล่าวว่า:
« إِنَّ اْلُمصَلِّي يُنَاجِيْ رَبَّهُ ، فَلْيَنْظُرْ بِمَا يُنَاجِيْهِ بِهِ ، وَلَايَجْهَرْ بَعْضُكُمْ علَى بَعْضٍ بِاْلقُرْآنِ » [مالك في الموطأ برقم 218]
ความว่า: "ผู้ทำละหมาดนั้นคือผู้ที่กำลังวิงวอนขอพระผู้อภิบาลของเขา ดังนั้น เขาก็จงพินิจไตร่ตรองสิ่งที่เขากำลังวิงวอนขอพระองค์ และคนหนึ่งคนใดในหมู่ท่านอย่าได้อ่านอัลกุรอานด้วยเสียงที่ดังเหนือผู้อื่น" (บันทึกโดยมาลิก ในหนังสืออัล-มุวัฏเฏาะอ์ หะดีษเลขที่: 218)

ประการที่เจ็ด: การนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในมัสยิด โดยมีเสียงเรียกเข้าเป็นเสียงดนตรี ซึ่งเสียงเรียกเข้าประเภทนี้เป็นที่ต้องห้ามแม้แต่ขณะอยู่นอกมัสยิด แล้วถ้าในมัสยิดเล่า? อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า:
﴿ وَمَن يُعَظِّمۡ شَعَٰٓئِرَ ٱللَّهِ فَإِنَّهَا مِن تَقۡوَى ٱلۡقُلُوبِ ٣٢ ﴾ [الحج : 32]
ความว่า: "ฉะนั้น ผู้ใดที่ให้เกียรติแก่พระบัญญัติของอัลลอฮฺ แท้จริงมันเป็นส่วนหนึ่งแห่งการยำเกรงของจิตใจ” (อัลหัจญ์: 32)

ท่านอบูมาลิก อัล-อัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลับฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
« لَيَكُوْنَنَّ مِنْ أُمَّتِيْ أَقْوَامٌ يَسْتَحِلُّوْنَ اْلحِرَ، وَالْحَرِيْرَ، وَاْلخَمْرَ، وَاْلمَعَازِفَ » [ابن ماجه برقم 5590]
ความว่า: "จะมีชนบางกลุ่มจากประชาชาติของฉันกล่าวอ้างว่าการผิดประเวณี ผ้าไหม (สำหรับบุรุษ) สุรายาเมา และดนตรี เป็นที่อนุมัติในศาสนา" (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่: 5590)

ทั้งนี้ ได้มีคำฟัตวาชี้ขาดจากคณะกรรมการถาวรเพื่อการชี้ขาดปัญหาศาสนา (ประเทศซาอุฯ) ระบุว่าเสียงเรียกเข้าที่เป็นเสียงดนตรีนั้นถือว่าหะรอมต้องห้าม (ฟัตวาคณะกรรมการถาวรฯ เล่ม 26 หน้า 261 ฟัตวาเลขที่ 20842) ซึ่งแน่นอนว่าการนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในมัสยิดในลักษณะนี้นั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามอย่างชัดเจน และยังเป็นการรบกวนสมาธิของผู้อื่นที่กำลังทำการละหมาดอีกด้วย อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า:
﴿ وَٱلَّذِينَ يُؤۡذُونَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِ بِغَيۡرِ مَا ٱكۡتَسَبُواْ فَقَدِ ٱحۡتَمَلُواْ بُهۡتَٰنٗا وَإِثۡمٗا مُّبِينٗا ٥٨ ﴾ [الأحزاب : 58]
ความว่า: “และบรรดาผู้กล่าวร้ายสร้างความเดือดร้อนแก่บรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดาผู้ศรัทธาหญิง ในสิ่งที่พวกเขามิได้กระทำ แน่นอนพวกเขาได้แบกการกล่าวร้าย และบาปอันชัดแจ้งไว้" (อัล-อะหฺซาบ: 58)
ประการที่แปด: การละหมาดโดยสวมใส่เสื้อผ้าที่มีรูปภาพ ทั้งนี้รูปภาพ (สิ่งมีวิญญาณ) นั้นเป็นที่ต้องห้ามโดยภาพรวมอยู่แล้ว ในมัสยิดย่อมเป็นที่ต้องห้ามยิ่งกว่า ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:
« إِنَّ البَيْتَ الذِيْ فِيْهِ الصُوَرُ لاَ تَدْخُلُهُ المَلَائِكَةُ » [البخاري برقم 5961، ومسلم برقم 2107]
ความว่า: “แท้จริงมะลาอิกะฮฺจะไม่เข้าบ้านที่มีรูปภาพอยู่”(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 5961 และมุสลิม: 2107)

และมีรายงานซึ่งบันทึกโดยอิมามมุสลิม ว่าท่านอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้กล่าวกับอบุล ฮัยยาจญ์ อัลอะซะดีย์ ว่า:
« أَلاَ أَبْعَثُكَ عَلَى مَا بَعَثَنِيْ رَسُوْلُ اللهِ؟ أَلَا تَدَعَ تِمْثَالًا إِلَّا طَمَسْتَهُ، وَلَا قَبْرًا مُشْرِفًا إِلّاَ سَوَّيْتَهُ، وَلَا صُوْرَةً إِلّاَ طَمَسْتَهَا » [مسلم برقم 969]
ความว่า: “ฉันจะแต่งตั้งท่านดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยแต่งตั้งฉัน คือท่านจะต้องทำลายรูปเคารพเสียอย่าให้หลงเหลืออยู่ ทำให้หลุมศพเรียบเสมอกันไม่ปล่อยให้มีหลุมศพใดทำขึ้นสูง และไม่ปล่อยให้มีรูปภาพใดๆ โดยท่านจะต้องทำให้มันลบเลือนไปให้หมด” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่: 969)

والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وأصحابه أجمعين.

.......................................

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์



แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
อัล-มุลกอฮฺ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น