อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ความอดทน (ศ๊อบรุน) หนึ่งในคุณสมบัติที่แท้จริงของมุสลิม




ความอดทนคืออะไร ?

ความอดทน หมายถึง ความรู้สึกของจิตใจอันหนักแน่นมั่นคง พร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ อย่างไม่ย่อท้อจนสำเร็จลงได้ด้วยดี ไม่รู้สึกหวั่นไหวพรั่นพรึง หรือพ่ายแพ้ต่อเหตุการณ์นั้น ๆ เช่น อดทนต่อความเจ็บปวด หรือ ป่วยไข้ แม้อาการจะหนักก็หาได้ปริปากบ่น หรือแสดงออกแต่อย่างใดเลย

ความอดทนในกรอบของอัล-กุรอานและอัล-หะดีษ

ความอดทนหรือขันติธรรมจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีศรัทธา เพราะหากไม่มีศรัทธา จิตใจก็จะว่างเปล่า ไร้จุดหมาย เช่น เราศรัทธาว่า การทำงานทำให้เราได้รับค่าตอบแทน เราก็จะอดทนทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทน ผู้มีศรัทธามั่นจะช่วยให้เขาเกิดความอดทนในทุกสภาพการณ์ ไม่ว่าจะประสบปัญหาอันยุ่งยากสักเพียงใดก็จะมุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จ ด้วยหลักศรัทธาที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยการกำหนดของอัลเลาะฮฺทั้งสิ้น ดังท่านบรมศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า : การอดทนเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา

อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานว่า “พวกเจ้าอย่าได้สิ้นหวังในเมตตาธรรมแห่งอัลเลาะฮฺ”

ผู้มีความอดทนย่อมมีพลังใจมหาศาล ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการงาน ต้องอาศัยความอดทนทั้งสิ้น ดังนั้นความอดทนจึงเป็นปัจจัยแรกของภารกิจและการดำรงชีวิต

ความสำเร็จของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น การต่อสู้กับอุปสรรคในการดำเนินชีวิต หน้าที่การงาน การพัฒนาด้านสังคมนอกจากอาศัยสติปัญญาแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้คือความอดทน ความมุ่งมั่น บากบั่น เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีงาม บุคคลที่สามารถอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากที่สุดของชีวิต ผ่านวิกฤติดังกล่าวได้จะกลายเป็นคนเหนือคน

ความอดทนเป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง อดทนเพื่อบรรลุความดีงาม บางครั้งถูกกระทบด้วยสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เป็นลักษณะของกายและใจที่พร้อมจะเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ โดยไม่ยอมแพ้หรืออ่อนแอ คนเราเกิดมาถ้าไม่มีความอดทนแล้วชีวิตดูเหมือนไร้ค่า ไม่มีความหมาย และไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้

ลักษณะของความอดทนมีดังต่อไปนี้

อดทนต่อความยากลำบากกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ความหิวโหย และความทุกข์ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บทำให้เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา เสียการงาน เมื่อเกิดทุกขเวทนา ไม่ควรแสดงอาการทุรนทุราย

อดทนต่อความตรากตรำ ความทุกข์ยากจาการทำงานเพราะคนทุกคนจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จะต้องอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อชีวิต ต้องขยันประกอบอาชีพการงานจึงจะได้มา และในการประกอบอาชีพนั้นในบางครั้งต้องประสบกับปัญหา และอุปสรรค ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไม่มากก็น้อยเป็นธรรมดา ต้องอดทนทำใจกับความล้มเหลว ความผิดหวัง และความขมขื่น ไม่ควรท้อถอย หรือยอมแพ้ ควรใช้ความอดทน มุ่งมั่นการงานที่มุ่งหวังตั้งใจไว้จะสำเร็จได้ด้วยดี

ความอดทนต่อความเจ็บใจ ทุกคนจะอยู่ลำพังเพียงผู้เดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ และการอยู่ร่วมกันบางครั้งอาจมีการกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะวิวาทกันบ้าง เพราะต่างมีกิเลสด้วยกันทั้งนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขาดความอดทนแล้ว เรื่องทะเลาะวิวาทจะแผ่ขยายกว้างออกไป เกิดความแตกแยกและความเสียหาย

อดทนต่อการเชื่อฟัง (ตออัต) กล่าวคือ ปฏิบัติตามในสิ่งที่อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ทรงบัญชาใช้ ดังอัล-กุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะฮฺ ตอฮา โองการที่ 132 ความว่า : และเจ้าจงใช้ครอบครัวของเจ้าทำละหมาด และจงมีความอดทนเพื่อการนั้น

อดทนต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม การอยู่ร่วมกันของประชาคมในองคาพยพของสังคมนั้นจะต้องอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคีด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน บนฐานของความอดทนเป็นที่ตั้ง ดังอัล-กุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะฮฺ อัล-กะฮ์ฟี โองการที่ 28 ความว่า : และเจ้า (มูฮำหมัด) จงบังคับตัวของเจ้าให้อยู่พร้อมกับบรรดาผู้วอนขอ (นมัสการ) ต่อองค์อภิบาลของพวกเขาทั้งในยามเช้าและยามเย็น โดยพวกเขามุ่งหวังต่อพระองค์ (โดยบริสุทธิ์ใจ)

อดทนต่อความชั่วร้ายต่าง ๆ ดังหะดีษของท่านบรมศาสดามูฮำหมัด (ซ.ล.) ได้กว่าวว่า : สรวงสวรรค์ถูกห้อมล้อมไปด้วยบรรดาสิ่งที่อารมณ์ไม่ปรารถนา และนรกนั้นถูกห้อมล้อมด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำ (รายงานโดย มุสลิม)

ความอดทนเส้นทางสู่สวรรค์

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องประสบกับทบทดสอบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น แต่บททดสอบของผู้ศรัทธานั้นใหญ่หลวงกว่า และหนักหนาสาหัสกว่าผู้อื่นหลายเท่า ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม) ได้พูดถึงการทดสอบของมนุษย์ว่า “ดุนยาคือคุกของมุอ์มิน และเป็นสวรรค์ของกาฟิร” (รายงานโดย มุสลิม )

อย่างไรก็ดี การทดสอบที่หนักหน่วงที่สุดต่อมุฮ์มินผู้ศรัทธานั้นมิได้เป็นการทดสอบในเรื่องปัจจัยยังชีพเพียงอย่างเดียว แต่การทดสอบที่จริงแท้ของมุฮฺมินคือ ทดสอบพลังอีหม่านที่หยั่งรากฝังอยู่ในจิตใจของเขา

คำว่า “อีหม่าน” หมายรวมถึงการยอมรับและปฏิบัติตาม ดังนั้นเส้นทางของมุอ์มินที่แท้จริงนั้นคือเส้นทางของการขวนขวายความสมบูรณ์ เป็นเส้นทางของการต่อสู้ดิ้นรน เพื่อค้นหาความโปรดปรานจากพระผู้อภิบาล

ท่านฮาซัน อัลบัศรีย์ ได้กล่าวดังเรื่อง “อีหม่าน” ไว้อย่างน่าสนใจว่า “อีหม่าน”มิใช่เป็นการเพ้อฝัน หรือการตกแต่งให้ดูวิจิตร หากแต่มันคือสิ่งที่หยั่งรากลึกปักอยู่ในใจ และแสดงออกให้เห็นด้วยการปฏิบัติโดยการน้อมรับคำสั่งของอัลเลาะฮ์ แสดงออกตามแบบฉบับของท่านศาสนทูตแห่งอัลเลาะฮ์ ด้วยความเที่ยงตรงและถูกต้อง นอกจากปฏิบัติความดีแล้ว ยังต้องละทิ้งและห่างจากความชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งหลายด้วย

สรุปแล้วทั้งการปฏิบัติความดี และละทิ้งความชั่วล้วนต้องอาศัยความอดทนเป็นที่ตั้งด้วยกันทั้งสิ้น ดังอัล-กุรอานได้ระบุไว้ในซูเราะฮฺ ฮัซซุมัร โองการที่ 10

ความว่า : จงกล่าวต่อปวงบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด สำหรับผู้ทำดีนั้นในโลกนี้นั้นเขาก็จะได้รับความดี แผ่นดินของอัลเลาะฮฺนั้นกว้างขวางนัก แท้จริงผู้อดทนนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่มากมายโดยมิต้องคำนวณ

โองการนี้ได้บอกว่า “ผู้ทำดีจะได้รับผลตอบแทนแม้กระทั่งในโลกนี้ ดังกล่าวนั้นเป็นการบอกให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายทราบว่า “หากมีอุปสรรค์ใด ๆ ขวางกั้นก็จงใช้อดทนเป็นที่ตั้ง

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีปัจจัยร่วมแห่งความสำเร็จอันเดียวกัน นั่นคือต้องอดทน และผลของความอดทนก็คือ ผลตอบแทน และผลตอบแทนที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งอื่นไปเสียไม่ได้นอกจากสวรรค์วิมานอันนิรันดร แน่นอนยิ่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่สุดยอดแห่งความสำเร็จนั้นคือ สวรรค์อันสถาพร และเส้นทางแห่งสวรรค์ก็คือเส้นทางที่ต้องอาศัยความอดทน

ณ วันนี้ ประชาชาติอิสลามมีความมานะอดทนแค่ไหนที่จะยกฐานะตนเองให้เป็นผู้ยำเกรงอย่างสุดซึ้งต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา เราอดทนได้หรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นห่างจากการกระทำบาปทั้งหลายที่ยั่วยวนตัณหา และอารมณ์อยู่ทุกขณะจิต เรามีความอดทน อดกลั้นมากน้อยแค่ไหนที่จะเผชิญกับการท้าทายของกระแสต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา ณ ทุกอณูของโลกใบนี้ อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน โองการที่ 120 ความว่า : หากแม้พวกเจ้าอดทนและตักวา ก็ไม่มีวันที่แผนการของพวกเจ้าจะให้โทษแก่พวกเจ้าได้เลยแม้แต่น้อย

ผลตอบแทนสำหรับผู้ที่มีความอดทน

จากอัล-กุรอาน

ซูเราะฮ์ อัล-บากอเราะฮ์ โองการที่ 155-157 ความว่า : ขอยืนยันเราจะทดสอบพวกเจ้าอย่างแน่นอน ด้วยบางสิ่ง (เพียงเล็กน้อย) จากความหวาดกลัว ความหิวโหย ความขาดแคลนทรัพย์สิน ความขาดแคลนชีวิต (ของผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ) และความขาดแคลนผลไม้ และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด บรรดาผู้ซึ่งเมื่อเหตุร้ายได้มาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงเราเป็นสิทธิ์ของอัลเลาะฮฺ และเราต้องคืนกลับไปสู่พระองค์ พวกเหล่านั้นย่อมได้รับพระเมตตาธรรมจากองค์อภิบาลของพวกเขา และพวกนั้นเป็นพวกที่ได้รับการชี้นำโดยแท้จริง

จากอัล-หะดีษ

เล่าจากอุมมิ้ลอะลาอ์ (นางเป็นหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ให้สัตยาบัน) นางได้กล่าวว่า : ท่านศาสนทูตแห่งอัลเลาะฮฺได้มาเยี่ยมฉัน ขณะที่ฉันยังป่วยอยู่ ท่านได้กล่าวว่า “โอ้อุมมุ้ลอะลาอ์ เอ๋ย ! เธอจงแจ้งข่าวดีเถิดว่า แท้จริงความเจ็บป่วยของมุสลิมนั้นพระองค์อัลเลาะฮ์จะทรงลบล้างความผิดต่าง ๆ ของเขาออกไป เฉกเช่นไฟที่มันได้ขจัดเขม่าของเงินและทองให้ออกไป (รายงานโดย อบูดาวูด)

พฤติกรรมที่ถือว่า ขาดความอดทน

พิรี้พิไร รำพึงรำพัน เมื่อภัยพิบัติหรือการทดสอบใด ๆ มาประสบกับเขา

หวาดกลัวต่อการทดสอบที่อัลเลาะฮฺได้ให้มาประสบกับเขาโดยผ่านมิติของเวลาและสถานที่โดยเหตุนี้เอง จึงมีคำกล่าวว่า : เวลาเปรียบเสมือนคมดาบ หากเขาไม่อดทนกับบททดสอบที่ผ่านมากับกาลเวลาแล้วแน่นอนวันเวลาที่แผ้วผ่านมาใช้ชีวิตของเขา มันจะเผาผลาญตัวเขาเองด้วยกับไฟแห่งความหวาดกลัว

หลีกหนีกับการเผชิญหน้ากับสิ่งที่น่ารักเกียจ และผินหลังให้อำนาจของกิเลสและอารมณ์ใฝ่ต่ำเข้ามาครอบงำ

รำพึงขาดความอดทนต่อสิ่งที่มาประสบกับเขาทั้งในชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติยศและครอบครัว

ขาดความอดทนแท้จริงคือขาดอีหม่าน

อีหม่าน คือ พลังขับเคลื่อนบุคคลสู่ความดีงาม อีหม่านที่เข้มแข็งจะก่อเกิดพฤติกรรมที่ศาสนาเชิดชูยกย่อง เช่น รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีความอดทนเป็นที่ตั้ง รู้จักเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม มีจิตใจต้องการให้เกิดความสงบสุขในชุมชน และรังเกียจสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย ทั้งหมดนั้นจะบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้ จะต้องผ่านกระบวนการของความอดทนเป็นฐาน

คนบางคนถูกทดสอบด้วยสิ่งต่าง ๆ เพียงเล็กน้อย เช่น ความหวาดกลัว ความหิวโหย การขาดแคลนอาหาร สูญเสียทรัพย์สินสมบัติ และชีวิต ดังนั้นหากเขาขาดความอดทน มีความอ่อนแอ รำพึงรำพันในสิ่งต่าง ๆ ที่สูญเสียไปก็แสดงว่าเขาผู้นั้นยังขาดอีหม่าน ดังหะดีษบทหนึ่งระบุว่า : ความอดทนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา

........................................................
Cr. อาจารย์ ปริญญา ประหยัดทรัพย์

Namah Buranapong


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น