อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

การแสดงความรักและให้เกียรติท่านนบีคือการฏิบัติตามและฟื้นฟูซุนนะฮ์ของท่านอย่างเคร่งครัด



การแสดงออกถึงความรักและการให้เกียรติท่านศาสดาตามแบบฉบับที่ถูกต้องของบรรดาเศาะหาบะฮ์นั้น  หลักใหญ่ของมันก็คือ การ  ปฏิบัติตามและฟื้นฟูซุนนะฮ์ของท่าน”  อย่างเคร่งครัดเท่าที่สามารถและโอกาสอำนวยให้  โดยพวกท่านจะไม่เคยไปกำหนดเวลา,   กำหนดสถานที่,  หรือกำหนดรูปแบบใดๆเพื่อแสดงความรักท่านศาสดาขึ้นมาเองโดยพลการอย่างพวกเราเลย 

ท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศ  ได้กล่าวไว้ในหนังสือ  อัล-อิบดาอฺ ฟี มะฎอรฺ อัล-อิบติดาอฺ  ของท่าน   หน้าที่  281  ว่า ...

     فَإِنَّ السَّلَفَ الصَّالِحَ  لَمْ يَكُنْ لَهُمْ عَادَةً بِتَخْصِيْصِ يَوْمٍ أَوْ لَيْلَةٍ بِالْعِبَادَاتِ  إِلاَّ إِذَا ثَبَتَ ذَلِكَ عَنِ النَّبِىِّ عَلَيْهِ الصَّلاَةُ وَالسَّلاَمَ وَصَحَابَتِهِ الْكِرَامِ  فَجَاءَ بَعْدَهُمْ هَؤُلاَءِ وَعَكَسُواالْحَالَ ....

            บรรดาบรรพชนผู้ทรงคุณธรรมยุคแรกๆนั้น  ปกติแล้วพวกเขาจะไม่เคยไป  กำหนด  วันไหนหรือคืนไหนเพื่อทำอิบาดะฮ์ใดๆเป็นพิเศษเลย   นอกจากจะมีหลักฐาน  กำหนด  ชัดเจนมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมหรือจากเศาะหาบะฮ์ผู้ทรงเกียรติของท่านเท่านั้น    แล้วต่อมา ชนยุคหลังจากพวกท่านก็ได้มาเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ดังกล่าว (โดยการกำหนดวันเวลา,  สถานที่  หรือรูปแบบในการทำอิบาดะฮ์หรือทำความดีใดๆกันเองโดยพลการ) 

            สรุปแล้ว   การทำ  สิ่งดี  ตามหลักการศาสนา   จึงตั้งอยู่บนพื้นฐาน  2  ประการคือ

            1.  ทำสิ่งดีนั้นให้ถูกกาลเทศะของมัน 

            2.  อย่าไปกำหนดเวลา,  สถานที่,  หรือรูปแบบการทำความดีใดๆเอาเองโดยพลการ  หากศาสนามิได้กำหนดสิ่งดังกล่าวเอาไว้ในการทำความดีนั้นๆ 


            หากขาดพื้นฐานประการใดประการหนึ่งจาก  2  ประการนี้   การกระทำสิ่งดีนั้นก็อาจจะส่ง  ผลลัพธ์  ในด้านตรงข้ามไปก็ได้ 

ยกตัวอย่าง เช่น
1.  วันศุกร์ คือวันที่ประเสริฐที่สุดในรอบสัปดาห์,   การถือศีลอด ก็เป็นอิบาดะฮ์ที่สำคัญและเป็นหนึ่งจากรุก่นอิสลามทั้งห้า 
แต่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม   กลับ  ห้าม  จากการ กำหนด  เอาวันศุกร์ โดยเฉพาะ เป็นวันถือศีลอด ? 
การทำสิ่งดี   ในเวลาที่ดี   ทำไมจึงเป็นเรื่องต้องห้ามด้วย ? 

2.  การอ่านอัล-กุรฺอ่าน เป็นงานที่ดีที่สุด,   การรุกั๊วะอฺและการสุญูดในการละหมาด ก็เป็นอิริยาบถที่ดีที่สุดในขณะละหมาด
แต่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม  กลับ  ห้าม  จากการอ่านอัล-กุรฺอ่าน  ไม่ว่าซูเราะฮ์ใด .. ในขณะรุกั๊วะอฺและขณะสุญูด ? 

การทำสิ่งดี ..  ในเวลาที่ดี .. ในอิริยาบถที่ดี  ทำไมจึงเป็นเรื่องต้องห้ามด้วย ? 

3.  มัสญิดทุกๆมัสญิดในโลกนี้ เป็นสถานที่ดีเลิศที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำอิบาดะฮ์ต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ศุบฮานะฮูวะตะอาลา) และการทำอิบาดะฮ์ก็เป็นเรื่องดีที่ไม่มีข้อขัดแย้ง

แต่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม   กลับ  ห้าม  เดินทางโดยมี  เป้าหมาย  เพื่อไปทำอิบาดะฮ์ในมัสญิดใดๆเป็นการเฉพาะ    ยกเว้น  3  มัสญิด  คือมัสญิดหะรอมที่มักกะฮ์,  มัสญิดนะบะวีย์ที่มะดีนะฮ์,  และมัสญิดอัล-อักซอที่เยรูซาเล็ม ? 

การทำสิ่งดี  คือไปละหมาดในมัสญิด   ทำไมจึงเป็นเรื่องต้องห้ามด้วย ? 

4.  การกล่าวสล่ามให้แก่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เป็นบทบัญญัติที่มุสลิมทุกคนพึงปฏิบัติเสมอเท่าที่โอกาสจะอำนวยให้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่

แล้วเหตุใด  ท่านอิบนุ อุมัรฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา  จึงกล่าวห้ามปรามชายผู้หนึ่งที่กล่าวสล่ามให้แก่ท่านนบีย์   เพียงเพราะเขาไป  กำหนด  การให้สล่ามดังกล่าวร่วมกับการกล่าวสรรเสริญพระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา หลังจากการจาม ...
ชายผู้นั้น  มิได้ละทิ้งการกล่าว   اَلْحَمْدُ لِلَّـهِ   หลังจากการจามแต่อย่างใด  เขาเพียงแต่เพิ่ม  สิ่งดี  คือ การกล่าวสล่ามให้แก่ท่านนบีย์เข้าไปด้วยเท่านั้น 

การกล่าวสล่ามแก่ท่านนบีย์  เป็นสิ่งต้องห้ามด้วยหรือ ? 

5.  การร่วมกันกล่าว  ซิกรุ้ลลอฮ์”  ในมัสญิดหรือในสถานที่เหมาะสมใดๆ เป็นสิ่งดีที่ท่านศาสดากล่าวสนับสนุน    และท่านกล่าวรับรองว่า  ผู้ที่ร่วมกันซิกรุ้ลลอฮ์ดังกล่าวจะได้รับความเมตตาจากพระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา
    
            แต่ทำไม  ท่านอิบนุ มัสอูด ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม  จึงได้กล่าว  ตำหนิ  และประณามกลุ่มชนที่ ร่วมกัน   กล่าวซิกรุ้ลลอฮ์ในมัสญิดแห่งหนึ่ง ว่า เป็นพวกที่ทำอุตริกรรมของศาสนา  ดังการบันทึกของท่าน อัด-ดาริมีย์ในหนังสือ  อัส-สุนัน  ของท่าน  เล่มที่  1  หน้า  79  หรือหะดีษที่  204, 

        กลุ่มชนเหล่านั้น  ทำผิดอะไรหรือในเมื่อสิ่งที่พวกเขากระทำก็เป็นสิ่งดี คือ     การร่วมกันซิกรุลลอฮ์ในมัสญิด  ตามที่ท่านนบีย์ส่งเสริมให้ทำ,   เพียงแต่พวกเขาได้  กำหนด  รูปแบบการซิกรุ้ลลอฮ์ของพวกเขาให้แตกต่างจากผู้อื่นไปบ้างเท่านั้น ? 

            ตัวอย่างต่างๆที่กล่าวมานี้  แสดงให้เห็นว่า   การทำ  สิ่งดี  ที่ศาสนาอนุญาตให้เราทำได้โดยทั่วๆไปนั้น   ถ้าเรามา  กำหนด  เวลา,  สถานที่,  หรือรูปแบบการทำสิ่งดีเหล่านั้นเอาเองโดยพลการก็ดี,    หรือทำสิ่งดีผิดกาลเทศะก็ดี   ถือว่า เป็นเรื่องต้องห้ามหรืออย่างน้อยก็เป็นเรื่อง  ไม่สมควร  ในมุมมองของเศาะหาบะฮ์และบรรพชนยุคแรกของอิสลาม 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น