“ได้ยินไหม โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ?” เป็นหนังสือที่เรียบเรียงขึ้นมา โดยการรวบรวมอายะฮฺอัลกุรอานที่อัลลอฮฺทรงเรียกบ่าวของพระองค์ด้วยกับสำนวน “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย” ซึ่งมีทั้งหมด 90 อายะฮฺหรือ 90 คำเรียกร้อง ซึ่งในการเรียบเรียงหนังสือในครั้งนี้ได้มีการนำเสนอเนื้อหาสาระและข้อคิดต่าง ๆ ที่ได้รับจากคำเรียกร้องดังกล่าว ที่ผ่านการศึกษา การวิเคราะห์ และพินิจใคร่ครวญจากตำรับตำราต่าง ๆ รวมถึงจากมุมมองของบรรดานักวิชาการทั้งในอดีตและปัจจุบัน...
(ข้อความส่วนหนึ่งจาก “คำนำของผู้เรียบเรียง” หนังสือ : ได้ยินไหม โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ?”)
//////////////////////////////////////////////////////
**** ได้ยินไหม โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ? ****
...... คำเรียกร้องที่ 26 : จงยืนหยัดในการศรัทธา...
เรียบเรียง โดย : อบูอิบานะฮฺ ฟิตยะตุลฮัก
………………………….
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์เถิด และคัมภีร์ที่พระองค์ได้ประทานลงมาแก่เราะสูลของพระองค์ และคัมภีร์ที่พระองค์ได้ทรงประทานลงมาก่อนนั้น และผู้ใดปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และมลาอิกะฮฺของพระองค์และบรรดาคัมภีร์ของพระองค์และบรรดาเราะสูลของพระองค์ และวันปรโลกแล้วไซร้ แน่นอนเขาก็ได้หลงทางไปแล้วอย่างไกล ” (สูเราะฮฺ อัน – นิสาอ์ : 136)
@@@@ เนื้อหาสาระและข้อคิดที่ได้รับจากคำเรียกร้อง @@@@
**** บรรดาผู้ศรัทธาได้ถูกสั่งใช้ให้เชื่อมั่นในหลักการศรัทธาด้วยความจริงใจ นั่นเป็นเพราะการยอมรับความศรัทธาเป็นแค่เพียงการนำใครบางคนเข้าสู่อิสลาม แต่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของความเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงได้ครบถ้วน ดังนั้น ผู้ที่หันมายอมรับอิสลามจึงได้ถูกเรียกร้องให้มีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจและจริงจังในอิสลามและหล่อหลอมความคิด รสนิยม ทัศนคติ และความประพฤติของตนเองตามความเชื่อของตน รู้จักคบมิตรแยกศัตรูและดิ้นรนต่อสู้ตามความเชื่อของตนอย่างถึงที่สุด
****คำว่า “กุฟร์” ในอายะฮฺนี้มีความหมายสองประการด้วยกันคือ
- คนที่อาจปฏิเสธอิสลามออกมาโดยตรง
- คนที่ปากดีแต่พูดเรื่องอิสลาม แต่ไม่เชื่อในอิสลามอย่างจริงใจหรืออาจจะแสดงความประพฤติของตนออกมาว่าถึงแม้จะเข้ารับอิสลาม แต่ก็ไม่มีความเชื่อในอิสลาม
**** กุฟร์ทั้งสองชนิดไม่สามารถที่จะเคียงคู่ไปกับหลักการศรัทธาของอิสลามได้เลย และจะทำให้คนหลงออกจากสัจธรรมไปสู่หนทางที่เบี่ยงเบน
**** คนที่ไม่ได้ถือว่าเรื่องของความศรัทธาเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะปฏิบัติต่อความศรัทธาเหมือนกับของเล่นเพื่อตอบสนองอารมณ์ของตนเอง คนจำพวกนี้จะรับอิสลามถ้ามีคนชักจูงไป แต่ถ้าหากอีกฝ่ายมาชักจูงไปอีกด้าน พวกเขาก็จะเป็นผู้ปฏิเสธ หรือพวกนี้จะเป็นผู้ศรัทธาก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์ของพวกเขาเรียกร้องให้เป็น แต่ถ้าหากผลประโยชน์ของพวกเขาอยู่กับพวกปฏิเสธ พวกเขาก็จะเป็นผู้ปฏิเสธทันทีโดยไม่รีรอ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าการให้อภัยและทางนำจากอัลลอฮฺจะไม่มีให้แก่คนพวกนี้ พวกเขาจะไม่หยุดการปฏิเสธของพวกเขา แต่จะดึงดันปฏิเสธมากยิ่งขึ้น พวกเขาจะพยายามหันเหผู้ศรัทธาคนอื่น ๆ ให้ออกจากอิสลาม วางแผนต่อต้านอิสลามและคิดทำร้ายอิสลามเพื่อที่ชูธง “กุฟร์” ขึ้นและดึงธงแห่งอิสลามลงมาเนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นที่เพิ่มเติมจากการปฏิเสธ ดังนั้น จึงสมควรได้การลงโทษมากกว่าความผิดของผู้ที่ปฏิเสธอิสลาม แต่ไม่ได้เป็นศัตรูต่ออิสลาม
**** อัลลอฮฺเท่านั้นที่มีอำนาจจะนำทางใครอย่างไรก็ได้ และไม่มีใครสามารถที่จะเลือกเอาทางใดไม่ว่าถูกหรือผิดได้ถ้าหากพระองค์ทรงไม่อนุมัติและไม่ช่วยเหลือ แต่พระองค์จะทรงอนุมัติและทรงช่วยเหลือทุกคนให้เดินทางบนทางที่แต่ละคนเลือกเพื่อตัวเอง ถ้าหากใครรักอัลลอฮฺและเป็นผู้แสวงหาสัจธรรมและตั้งใจที่จะปฏิบัติตามหนทางของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงอนุมัติและช่วยเหลือเขาให้คิดและปฏิบัติในสิ่งที่จะนำไปสู่หนทางที่ถูกต้อง และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพให้เขาในการดำเนินชีวิตบนแนวทางนั้น แต่ถ้าใครเลือกที่จะเดินทางผิดและดึงดันที่จะเดินอยู่บนทางนั้น อัลลอฮฺก็จะปิดประตูแห่งทางนำสำหรับเขาและจะเปิดหนทางแห่งความชั่วให้ตามที่เขาเลือกไว้เพื่อตัวเอง ไม่มีและป้องกันเขาเขาจากการใช้พลังของเขาในหนทางที่ชั่วร้าย
**** คนที่ศรัทธามั่นต่ออัลลอฮฺนั้น คือคนที่อุทิศชีวิตของเขาทั้งหมดเพื่อพระองค์อย่างกระตือรือร้นและยึดมั่นต่อพระองค์แต่เพียงอย่างเดียว คนเช่นนี้จะมอบความจงรักภักดี ผลประโยชน์และจิตใจทั้งหมดให้แก่อัลลออฺแต่เพียงพระองค์เดียว กล่าวโดยสั้น ๆ ก็คือ ความผูกพันของเขากับอัลลอฮฺจะเข้มข้นจนถึงขนาดที่เขาพร้อมจะเสียสละผู้ใดหรือสิ่งใดก็ได้ให้แก่พระองค์
………………………………………………………..
(จากหนังสือ : ได้ยินไหมโอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ? [หนังสือที่รวบรวม 90 คำเรียกร้องสำหรับผู้ศรัทธา] )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น