รุ่นพี่นักทำงานคนหนึ่งบอกว่า บางทีสังคมเราเกิดการแย่งชิงผลบุญเพื่อตัวเอง แต่ละเลยต่อคนรอบข้าง อย่างง่ายๆคือแย่งแถวหน้าเพื่อละหมาดจะได้บุญเยอะๆ แต่แทบไม่เคยช่วยเหลือคนยากจนอะไรเลย ... ไปจนถึงเรื่องการทำฮัจญซ้ำๆซากๆ เพื่อเอาบุญเยอะๆ แต่ไม่สนใจต่อการช่วยเหลือดูแลการสอนอัลกุรอานเด็กๆ ในหมู่บ้านเอาเลย ... แล้วเขาก็เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า .... ความเห็นแก่ตัวในการทำความดี
ไม่กี่วันก่อนผมดูคลิปที่มีการโต้แย้งกันในวงการของศาสนาของคนไม่ใช่มุสลิม มีคำวิจารณ์ของนักวิชาการท่านหนึ่ง ท่านมองว่า คนกำลังถูกชักจูงให้ทำบุญโดยความโลภ โลภต่อผลบุญที่จะได้รับ จนเบียดเบียนชีวิตอื่น ๆ ... เขาเรียกว่า อยากได้บุญแบบมีกิเลสอยู่
ทำให้ผมนึกถึงงานของเชค สัลมาน อัลเอาดะฮฺ ท่านพูดถึงคนหนุ่มสาวที่มุ่งจะทำความดีที่คนจ้องมอง หรือพูดง่ายๆคือ เลือกทำความดีที่ได้ดัง หรือ “ได้หรอย” ว่างั้นแหละ ... ท่านยกตัวอย่าง เด็กหนุ่มในประเทศท่าน ที่ออกไปทำญิฮาด แถมบางคนกลับมาโชว์แผลที่ได้จากสงครามอีก ... หลายคนจึงมองเห็นการทำดีต่อพ่อแม่ เป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป(เพราะไม่ดัง แถมเป็นความดีที่ดูเชยๆ ) ทั้งที่สมัยท่านนบีได้ให้เด็กหนุ่มบางคนยุติการออกไปร่วมสมรภูมิรบ โดยท่านนบีสั่งว่า ไปญิฮาด(ด้วยการทำความดี)ต่อพ่อแม่ของเจ้า !
ไม่ว่าการทำดีอย่างเห็นแก่ตัว หรือโลภในบุญ หรือเลือกทำดีที่ได้ดัง ... ล้วนแต่มีปัญหา เพราะเป็นการทำดีที่มองเห็นตัวเองเป็นเป้า มากกว่าจะมองเห็นผู้เป็นเจ้า ... เรื่องศาสนิกอื่น ผมไม่ได้แปลกใจ แต่การเป็นมุสลิม เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะการสอนเน้นเป้านั้นชัดเจนมาก คือ “เพื่ออัลลอฮฺ” เท่านั้น
สิ่งนี้สำคัญมาก จนกระทั่งอิม่ามอันนะวาวียฺ ได้วางหะดีษเรื่อง “เหนียต” คือการกระทำต่างๆ ขึ้นอยู่กับเจตนา ไว้เป็นหะดีษแรกในงานสิสีบหะดีษอันโด่งดังของท่าน
แต่นั่นแหละ มันไม่ได้ง่ายเลย ถึงจะเป็นผู้ที่เชื่อในอัลลอฮฺ และกำหนดอัลลอฮฺเป็นเป้าเสมอ เพราะอย่างไรมนุษย์ก็อยู่กับตัวเอง มองเห็นตัวเองได้มากกว่าคนอื่นหรือสิ่งอื่นเสมอ... จนกว่าชีวิตจะตระหนักได้ว่า ชีวิตคืออะไร? ชีวิตของใคร? ชีวิตใครสร้าง? ชีวิตนี้ต้องเดินไปสู่โลกที่เป็นแบบไหน? ชีวิตนี้ดำรงอยู่แบบไหน? ชีวิตนี้อยู่เพื่อสิ่งใดกันแน่?
คำถามพวกนี้ ผมบอกตรงๆ แบบวัยรุ่นว่า โคตรยาก ! เท่าที่เคยเจอมาในชีวิต เรื่องนี้ยากที่สุด ... เหมือนจะง่าย เพราะมีคำตอบจากที่ได้เรียนรู้อยู่แล้ว จึงสบายมาก ตอนที่พูด ตอนที่เขียน แต่เอาเข้าจริงมันยากมากที่จะเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดให้เป็นไปตามคำตอบพวกนี้
จนบางครั้งเคยคิดว่าชีวิตนี้จะทำให้มันนิ่งจริงๆ กับคำตอบพวกนี้ได้หรือป่าวก็ไม่รู้ ... แต่ก็ได้นึกถึงว่า ชาวสลัฟก็เคยโอดครวญอย่างนี้ ตั้งแต่ท่านสุฟยานอัษเษารียฺ มาจนถึงยุคหลังๆ อย่างท่านอิบนุ กอยยิม ต่างก็แสดงให้เห็นว่า ภาวะอารมณ์ที่ให้นิ่งกับเรื่องอัลลอฮฺนั้น มันยากกว่าทุกเรื่อง ... ท่านอิบนุ กอยยิมถึงกับบอกว่า เหมือนไปอยู่ในทะเลกว้างที่หาฝั่งไม่เจอ
การทำความดีด้วยความเห็นแก่ตัว ทำบุญด้วยความโลภ เอาความดีแต่เบียดเบียนคนอื่น ... ล้วนแต่การมองเห็นความดีที่มองไม่เห็นเป้าหมาย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การมองเห็นผลบุญของความดี และการมองเห็นการลงโทษในนรก จะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง มันต้องคิดถึงตัวเองด้วยแนวคิดเรื่องบาปเรื่องบุญอยู่แล้ว ... แต่ประเด็นคือ การมองเห็นแค่สิ่งเหล่านี้ โดยละเลยต่อเป้าหมายของชีวิตว่า ทำดีจริงๆ ไปเพื่อสถานะการเป็นบ่าวที่ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ ... อัลลอฮฺคือเป้าหมายที่แท้จริงของความดีต่างหาก
การมองที่ขาดเป้าที่ชัดเจน ทำให้เกิดการตีความความดีเข้าหา(ประโยชน์)ตัวเองอยู่างเดียว โดยมองไม่เห็นว่า ความดีมีการกระจายออกไปสู่คนอื่นๆ เป็นความสมดุลที่แสดงถึงความเผื่อแผ่ต่อชีวิตอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ... มันจึงกลายเป็นความดีทีเห็นแก่ตัวเอง หรือแค่โชว์ชีวิตตัวเองไป
ผมว่าไม่เป็นการเสียเวลาเลย ที่จะหาเวลาเงียบๆ ไปนั่งคิดให้มากๆว่า ... ชีวิตนี้ดำรงอยู่ เพื่ออะไรกัน? เพราะไม่เพียงแต่ทำให้เราตอกย้ำว่าชีวิตจริงๆแล้วคืออะไรกัน ? ดำรงอยู่เพื่ออะไร? มันยังช่วยให้เรามองเห็นความหมายที่แท้จริงของการทำความดีในชีวิตอีกด้วย
........
al akh
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น