อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

พิธีลงเปล และพิธีโกนผมไฟเด็กแรกเกิดมีหรือไม่ในอิสลาม?


อิสลาม สำหรับเด็กแรกเกิด ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้สั่งใช้ให้ทำอากีเกาะฮ์ให้แก่ทารกภายหลังคลอดครบ 7 วัน

ประกอบไปด้วย
1.การเชือดแพะ หรือแกะ
2.การตั้งชื่อเด็กแรกเกิด
3.การโกนศีรษะของเด็กแรกเกิดทั้งศีรษะ
4.การทำตะหฺนีก (การนำน้ำผึ้ง หรืออินทผลัมบดป้ายที่เพดานปากของทารก)
5.การขอดุอาอ์ให้แก่ทารกแรกเกิด


ดังนั้นการทำอากีเกาะฮฺจึงไม่มีการทำพิธีกรรมใดๆ อีกแล้ว ภายหลังที่ได้ทำที่กล่าวมาข้างต้น

การโกนผมขอทารก โดยการผมทั้งหมด แล้วนำมาชั่ง และนำเงินไปบริจาคตามน้ำหนักของเส้นผมให้กับคนจน คนขัดสน (ตามหลักฐานหะดิษ) ไม่ใช่เป็นการตัดบางส่วนแล้วห่อด้วยใบบอนซ้อนกัน 3 ใบ หรือใส่ในผลมะพร้าวอ่อนหรือน้ำเต้าที่สลักลวดลายสวยงามแล้วนำไปฝังอย่างที่ทำๆกันอยู่   และการโกนผมนี้เป็นส่วนหนึ่งของอากีเกาะฮ์ ไม่ใช่พิธีโกนผมไฟตามที่เข้าใจกัน และส่วนพิธีกรรมการลงเปลเด็กทารก ยิ่งไม่มีในคำสอนอิสลามกันไปใหญ่ แต่พิธีเหล่านี้กลับพบในหลักความเชื่อของพราหมณ์ และพุทธศาสนา


แต่มุสลิมบ้าเราบางพื้นที่กลับทำผิดแผกแปลกออกไปจากสุนนะฮฺอย่างมาก ได้แก่ ได้การทำพิธีขึ้นเปล มีการนำเกลือ มะนาว และ แหวน ผู้ทำพิธีจะนำแหวนไปแตะที่ริมฝีปากเด็ก มีการจัดเปลเด็กจะใช้เปลที่มีเชือกผูกโยงกับขื่อ   แล้วผูกขนมเป็นห่อๆไว้ข้างเปล ยิ่งเยอะยิ่งดีใต้เบาะจะเอาสมุด   ดินสอ  ไปใส่ไว้  เป็นเคล็ดให้เรียนหนังสือเก่ง ๆ มีการนำแป้งหอมที่เข้าพิธีมาแจกกัน   แล้วผู้ใหญ่ก็จะบอกให้เด็กไปแย่งขนมที่ผูกติดกับเปล  การโกนผมไฟทำขึ้นเพื่อเสี่ยงทายว่าภายหน้าเด็กจะร่ำรวยหรือไม่ มีอนาคตอย่างไร เชื่อว่าเด็กจะได้ดีเป็นที่พึ่งพาอาศัยของพ่อแม่ในภายหน้าได้หรือไม่มีจิตใจหนักแน่นเข้มแข็ง เลี้ยงง่ายหรือเลี้ยงยาก มีการนำเด็กคว่ำน้ำเงินน้ำทอง คือน้ำในขันโดยมีเครื่องเงินเครื่องทองแช่อยู่ เชื่อกันว่าภายหน้าเด็กจะร่ำรวย เสร็จแล้วให้เด็กเหยียบก้อนหิน ถือว่าเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นคนที่มีฐานะมั่นคง และมีจิตใจเข้มแข็ง จากนั้นก็ให้เด็กขึ้นบันไดทีละขั้น เชื่อว่าภายภาคหน้าเด็กจะได้มีความเจริญในหน้าที่การงานขึ้น ตามลำดับเช่นเดียวกับขั้นบันได เสร็จแล้วหมอตำแยจะนำเด็กมาผัดหน้าทาแป้ง แล้วนำผ้าที่เตรียมไว้มาห่อหุ้มตัวเด็ก เตรียมมอบให้พ่อพาเข้าพิธีขึ้นเปล การนำเด็กขึ้นเปล เริ่มด้วยพ่อเด็กนำเด็กไปวางลงในเปล โต๊ะอิหม่าม เป็นผู้ทำพิธีและญาติพี่น้องของพ่อแม่ ที่ยืนล้อมเปลอยู่ ก็จะสวดพรจากองค์อัลเลาะห์ ขณะที่อิหม่ามสวดอยู่นั้น พ่อเด็กจะจับเด็กอุปลักษณ์เห่กล่อม ประทักษิณแปล ๓ รอบ จบลงพร้อมคำสวดของโต๊ะอิหม่าม แล้ววางกลับลงบนเปลอีกครั้ง จากนั้นทุกคนนั่งสวดขอพรอีกครั้ง
(http://www.prapayneethai.com/)

จากพิธีกรรมกรณีเด็กแรกเกิด ที่มีการกระทำกันอันผิดแผกแปลกไปจากอิสลาม รวมถึงการมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีดังกล่าวนั้นด้วย เช่น เอาสมุด   ดินสอ  ไปใส่ไว้  เป็นเคล็ดให้เรียนหนังสือเก่ง ๆ  การนำเด็กคว่ำน้ำเงินน้ำทอง คือน้ำในขันโดยมีเครื่องเงินเครื่องทองแช่อยู่ เชื่อกันว่าภายหน้าเด็กจะร่ำรวย การให้เด็กเหยียบก้อนหิน ถือว่าเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นคนที่มีฐานะมั่นคง และมีจิตใจเข้มแข็ง เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้เป็นการเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมีผลต่อการกำหนดชะตาชีวิตของเด็กต่อไปในอนาคต เป็นการเชื่อว่าสิ่งอื่นให้คุณให้โทษและมอบหมายต่่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ ซึ่งถือเป็นที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม


ต่อไปนี้ขอยกพิธีโกนผมไฟและพิธีลงเปลตามความเชื่อของคนต่างศาสนิกให้เป็นตัวอย่างดังนี้

พิธีมงคลโกนผมไฟ (ทำขวัญเดือน)

พิธีมงคลโกนผมไฟ ทำเมื่อเด็กมีอายุครบ 1 เดือน ส่วนมากมักทำรวมกันกับพิธีมงคลทำขวัญเดือน เป็นพิธีที่เอิกเกริกขึ้น เพราะมีการประกอบพิธีทั้งทางพราหมณ์และทางพิธีสงฆ์ การเตรียมการก็มีการบอกกล่าวไปยังญาติพี่น้อง และผู้ที่เคารพนับถือจะทำพิธีมงคลโกนผมไฟเด็ก ตกแต่งบ้านเรือนที่จะใช้ประกอบพิธี นิมนต์พระสงฆ์ไว้ให้พร้อม และเชิญพราหมณ์มาประกอบพิธี กับเตรียมเครื่องบายศรี เครื่องกระยาบวด และแป้งกระแจะ ตลอดจนเครื่องใช้อื่น ๆ ตามที่พราหมณ์จะกำหนดให้เตรียมไว้ เมื่อถึงเวลาก็นำเด็กมานานหันหัวไป ตามที่ที่โหรกำหนด ให้ผู้เป็นประธานกล่าวจุดธูปเทียนและกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และกล่าวคำอัญเชิญเทวดา เมื่อได้ฤกษ์ที่กำหนดไว้โหรก็ลั่นฆ้องชัย ผู้เป็นประธานหลั่งน้ำสังข์ลงบนศีรษะเด็ก และเอามีดโกนมาแตะผมเด็กพอเป็นพิธี ในระหว่างนี้พระสงฆ์สวดชยันโต พราหมณ์เป่าสังข์และดีดบัณเฑาะว์ พิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย มีการให้ศีลให้พรแล้วให้ช่างมาโกนผมไฟออกให้หมด นำเด็กไปอาบน้ำในอ่างน้ำอุ่นที่เจือน้ำพระพุทธมนต์ แล้วนำมาวางไว้บนเบาะข้างเครื่องบายศรี ในตอนนี้มีการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ พระท่านอนุโมทนาแล้วลากกลับ ต่อจากนั้นก็เอาเด็กไปประกอบพิธีลงเปล ก็เป็นอันเสร็จพิธี

พิธีเอาเด็กลงเปล

พิธีเอาเด็กลงเปล ทำสืบต่อมาจากทำพิธีมงคลโกนผมไฟ การประกอบพิธีเอาเด็กลงเปล ต้องเตรียมข้าวตอก ข้าวเปลือก ถั่วเขียว งา เมล็ดฝ้าย อย่างละกำมือใส่ถุงแพรไว้ นอกจากนั้นยังมีหินบด ฟักเขียว 1 ผล มะพร้าวงอก 2 ผล ฟักเขียวทาแป้วขาวทั้งผล ส่วนมะพร้าวทาสีขาวผลหนึ่ง สมมติเป็นมะพร้าวเงิน อีกลูกทาสีทอง สมมติเป็นมะพร้าวทอง เมื่อถึงเวลาทำพิธี ให้เอาถุงต่าง ๆ ที่เตรียมไว้นั้นวางลงในเปลก่อน แล้วเอาบายศรีปากชามใส่ในขันข้าว ปักแว่นเวียนเทียน และเครื่องกระยาบวด 1 สำรับ ให้ญาติพี่น้องนั่งล้อมเด็กเป็นวง ทำพิธีเวียนเทียน เอาด้ายสายสิญจน์ปัดขา และแขนเด็ก แล้วเผาด้ายนั้นเสีย เอาด้ายสายสิญจน์อีกเส้นมาผูกข้อมือและข้อเท้า เจิมหน้าด้วยแป้งกระแจะ ตักน้ำมะพร้าวอ่อนให้เด็กดื่มพอเป็นพิธี จุดเทียนในแว่น 3 แว่น ยกขึ้นอวยพรชัยให้แก่เด็ก 3 หน ทำพิธีเวียนเทียนอวยพรให้มีความสุขแล้วยกเด็กลงเปลต่อไป ก่อนยกตัวเด็กลงเปล ต้องทำพิธีปูเปลเสียก่อน คือเอาน้ำมนต์พรมเปลให้ทั่ว เอาใบตูมรองในเปล 2-3 ใบ เจิมหัวนอนเปลด้วยแป้งกระแจะ เอาเครื่องต่าง ๆ มีถั่วงาเป็นต้น วางในเปล เอาแมวสวย ๆ มีสายสร้อยคล้องคอวางลงในเปลก่อน แล้วยกแมวออก เอาเด็กวางลงไปแทน เห่กล่อมให้นอน เป็นอันเสร็จพิธี


ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามุสลิมบ้านเราตั้งใจจะเอาพิธีของต่างศาสนิกมาเป็นของตน แต่เนื่องด้วยสมัยก่อนชาวมุสลิมและไทยพุทธได้อยู่ร่วมกันและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกิดการกลมกลืนจนแยกไม่ออกว่าประเพณีหรือพิธีเหล่านั้นมีอยู่ในอิสลามหรือไม่ และมีการสืบทอดต่อกันมาจากลูกสู่หลานเรื่อยมาจนเข้าใจว่าเป็นที่ตามบทบัญญัติอิสลาม และเมื่อรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมิใช้ที่มาหรือตามที่อิสลามบัญญัติไว้ก็ต้องละทิ้งมันเสีย


والله أعلم بالصواب


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น