อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เมืองแบกแดดในสมัยราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ



โดย : อ.บรรจง บินกาซัน
............

อบูญะฟัรฺ อัล มันซูรฺ เคาะลีฟะฮฺคนที่สองของราชวงศ์อับบาซิยะฮฺ ได้สร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นใน คศ.762 โดยเลือกสร้างที่หมู่บ้านการค้าแห่งหนึ่งซึ่งเรียกกันว่าแบกแดด หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำไทกริสและมีคลองเชื่อมต่อไปยังแม่น้ำยูเฟรติส เมืองแบกแดดใช้เวลาก่อสร้างสี่ปีโดยเคาะลีฟะฮฺ ฮารูน อัรฺ-เราะชีด เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างเอง ดังนั้นเมืองนี้จึงเป็นเมืองที่สวยงามที่สุดในโลก เรามีบันทึกหลักฐานภาษาอาหรับและบันทึกของพ่อค้ามากมายที่บรรยายถึงความสวยงามของเมืองนี้

ในเวลานั้นเมืองแบกแดดมีประชากร 1.5 ล้านคน มีขนาดกว้าง 5 ไมล์ มีมัสยิดนับร้อยแห่งและห้องอาบน้ำสาธารณะ 65,000 แห่งนอกจากนี้แล้วยังมีสวน สนามแข่งขันกีฬาและซุ้มต่างฯอีกมากมาย ดังนั้นคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นจึงได้ทิ้งวิถีชีวิตแบบทะเลทรายของอาหรับ หันมากินอาหารบนโต๊ะแทนเสื่อใช้เครื่องภาชนะเคลือบจากเมืองจีน เล่นกีฬาโปโลและหมากรุกจากเมืองจีน

งานวรรณกรรมและบทกวีมีความเจริญรุ่งเรืองในแบกแดด หนังสือเรื่อง “อาหรับราตรี”ก็เริ่มมาจากช่วงเวลานี้ หนังสือเรื่องนี้เป็นการรวบรวมเรื่องราวจากทั่วโลก บางเรื่องก็เขียนขึ้นในแบกแดด โดยนำเอาเรื่องราวของเคาะลีฟะฮฺฮารูนและคนในครอบครัวมาเป็นตัวละคร เรื่องเหล่านี้รวมถึงเรื่องอะลาดิน อะลีบาบา ซินเบดยอดกลาสีและเจ้าหญิงเชราเชดผู้เลอโฉมด้วย ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ได้พยายามวาดภาพให้เห็นว่าเรื่องที่ตนเขียนนั้นเป็นเรื่องโลกของเจ้าชายอาหรับผู้ห้าวหาญขี่ม้าขาวไปตามเมืองต่างฯ ที่มีหอสูงตามมัสยิดและผู้คนกำลังวุ่นวายอยู่กับการค้าขาย ภาพเช่นนี้เคยปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ซึ่งก็มีเรื่องจริงอยู่บ้าง

เมืองแบกแดดถูกสร้างเป็นรูปวงกลม มีความกว้างเกือบสองไมล์ ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงลาดชันขนาดใหญ่สามด้านและมีคูน้ำลึกล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง กำแพงตรงกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด มีความสูงถึง 112 ฟุต ฐานกำแพงมีความหนา 164 ฟุตและด้านบนสุดมีความหนา 46 ฟุต กำแพงนี้จะมีหอคอยสังเกตการณ์เป็นระยะฯ เมืองที่มีรูปร่างกลมนี้ถูกตัดออกเป็นรูปลิ่มสี่ส่วน โดยถนนใหญ่สองสายที่สร้างมาตัดกันตรงกลางเมือง ปลายถนนมาสิ้นสุดที่ประตูเมือง พื้นที่ระหว่างกำแพงด้านนอกและกำแพงส่วนกลางถูกทิ้งว่างไว้สำหรับใช้เป็นเขตป้องกันทางทหาร ระหว่างกำแพงชั้นกลางกับกำแพงชั้นในเป็นเขตที่อยู่อาศัยของข้าราชการบริพารในราชสำนักและนายทหาร หลังกำแพงชั้นในเป็นที่อาศัยของญาติเคาะลีฟะฮฺและเจ้าหน้าที่คนสำคัญ ส่วนประชาชนทั่วไปของเมืองแบกแดดนั้นอาศัยอยู่นอกกำแพง

ขณะนี้ไม่มีซากเมืองหลวงเบแดดของราชวงศ์อับบาสิยะฮฺหลงเหลืออยู่ เพราะเมืองนี้ไม่ได้ถูกสร้างด้วยหิน แต่สร้างจากอิฐที่ทำมาจากดินตากแห้ง ดังนั้นจึงไม่มีความคงทน ผู้รุกราน(กองทัพมองโกล)ได้ทำลายเมืองนี้ส่วนใหญ่ลงจนราบคาบและได้สร้างเมืองแบกแดดสมัยใหม่ขึ้นมาบนซากเมืองเก่า อย่างไรก็ตาม สิ่งปลูกสร้างอย่างหนึ่งของราชวงศ์อับบาสิยะฮฺยังคงหลงเหลือให้เราเห็นอยู่ในปัจจุบันที่เมืองสะมัรฺรอ(Samarra) เมืองนี้ถูกสร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำไทกริสห่างจากเมืองแบกแดด 80 ไมล์และเคยเป็นเมืองสำคัญของราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ จากคศ.833-893 เมืองสะมัรฺรอ มีมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างกันมาซึ่งเรียกว่า .”มัสยิดอันยิ่งใหญ่” (Great Mosque)และมีหอคอยสูงที่มีบันไดวนขึ้นไปบนยอด จากเมืองสะมัรฺรอนี้เองที่ทำให้เราได้เห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองแบกแดดภายใต้ราชวงศ์อับบาสิยะฮฺ

.......................................................................
เครดิต : Moses No-ah และ อ.บรรจง บินกาซัน

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=748798591802490&set=at.335255453156808.105024.100000170692731.100001066547169&type=1&theater

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น