สถานภาพผู้หญิงที่กำหนดโดยอิสลามนั้นมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานภาพผู้หญิงอาหรับก่อนสมัยอิสลาม สถานภาพผู้หญิงในอิสลามเป็นสถานภาพที่กำหนดโดยอัลลอฮฺ ด้วยการบัญญัติหลักการในอัลกรุอานและท่านศาสดาจึงมีบทบาทที่สูงยิ่งต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาและการปฏิบัติอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมและวิถีของมุสลิมที่มีต่อผู้หญิงครั้งยิ่งใหญ่ สถานภาพของผู้หญิงในอิสลามจึงเป็นสถานภาพที่สังคมไม่อาจเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสถานะความเป็นอยู่ของผู้หญิงได้ เป็นสถานภาพที่สังคมอิสลามจะต้องน้อมรับและปฏิบัติตามอย่างที่สุด การเพิกเฉยหรือการปฏิเสธสถานภาพผู้หญิงในอิสลามที่จะกล่าวในส่วนนี้มีห้าประการที่สำคัญคือ สถานภาพผู้หญิงในอิสลามด้านศาสนา สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการศึกษา
สถานภาพทางด้านศาสนา(Religious Status)
อิสลามเป็นศาสนาที่ไม่มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อนจะไม่มีบุคลากรพิเศษทางด้านศาสนาอย่างเช่น พระหรือนักบวช และอิสลามมิได้เป็นศาสนาที่แยกกิจกรรมทางศาสนาและโลกออกจากกัน อย่างไรก็ตามนักวิชาการทางด้านกฏหมายอิสลามได้กำหนดกรอบกิจกรรมที่เป็นศาสนา อย่างบริสุทธิ์คือหลักการอิสลามห้าประการ(หะดีษบันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)คือการกล่าวคำปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจาก อัลลอฮฺ ละหมาดวันละห้าเวลา ถือศีลอดในเดือนเราะมาฎอน จ่ายทานซะกาตและประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองมักกะฮฺ ซึ่งหลักการทั้งห้าได้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่และพันธะทางศาสนาของมุสลิมที่เป็นชายและหญิงโดยเท่าเทียมกัน(อัลกรุอาน2:43,20:132,2:183,2:43,3:96-97,23:1-5,9:71)
อิสลามเป็นศาสนาที่เรียบง่ายที่มุสลิมทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สานภาพของมุสลิมในด้านศาสนาทุกคนจะอยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมด(อัลกรุอาน33:36,8:2-4,2:24,2:112,9:71)โดยจะไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศ เชื้อชาติและสีผิว เพราะมุสลิมที่ดีในทัศนะของอิสลามคือผู้ที่ตักวาหรือยำเกรงต่ออัลลอฮฺ(อัลกรุอาน49:13)มิใช่มุสลิมที่เป็นชายหรือเป็นหญิง สถานภาพของผู้หญิงทางด้านศาสนาในอิสลามนั้นจะเท่าเทียมกับชายทุกประการเริ่มต้นจากการยึดมั่นหรือการศรัทธาในหลักการศาสนา การประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนา การดุอาหรือการขอพรเพื่อความโปรดปรานและอภัยโทษจากอัลลอฮฺและผลตอบแทนที่จะได้รับในการปฏิบัติตามศาสนกิจ คือ โดยสรุปกิจกรรมทางศาสนาทั้งหมดได้ถูกกำหนดในสถานภาพที่เท่าเทียมกัน(อัลกรุอาน9:17,3:195,9:68)
สถานภาพทางด้านสังคม(Social Status)
หลักคำสอนอิสลามที่ศาสดามุฮัมหมัดได้นำมาเผยแผ่แก่สังคมเป็นคำสอนที่ยอมรับในสถานภาพ เกียรติและศักดิ์ศรีของผู้หญิงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ จึงเป็นที่มาคำกล่าวของนักปราชญ์มุสลิมอาหรับว่า “หญิงคือเสาหลักของประเทศชาติ หากว่านางดีประเทศชาติจะเจริญ หากว่านางเลวประเทศชาติก็จะล่มจม ” เป็นคำกล่าวที่ยอมรับและให้ความคาดหวังต่อพลังแห่งการสร้างสรรค์ของผู้หญิงในสังคมอิสลามที่สูงยิ่ง โดยประหนึ่งว่าคุณภาพและประสิทธิภาพของผู้หญิงคือหลักประกันคุณภาพและประสิทธิภาพของเยาวชนมุสลิมในอนาคต
สถานภาพของผู้หญิงในสังคมอิสลามนั้นจะได้รับการยอมรับในทุกสถานะที่ผู้หญิงเป็น เช่น ลูกสาว ภรรยา แม่ พี่หรือน้องสาวดังภาพที่ปรากฏในสมัยศาสดาว่าสถานภาพของผู้หญิงในสถานะต่างๆในสังคมมุสลิมนั้นจะได้รับการยอมรับในระดับที่สูงอย่างเช่น ลูกสาวในสังคมอิสลามจะต้องได้รับความรักและการยอมรับจากบิดา มารดาเหมือนกับลูกชาย ท่านศาสดาได้กำชับให้มุสลิมมอบความรักต่อลูกสาว โดยที่ท่านได้กล่าวไว้ความว่า เจ้าอย่าบังคับบุตรสาวของท่านเพราะหล่อนคือมุนีซะฮฺที่มีราคายิ่ง (หะดีษบันทึกโดยอะหมัดและฏอบารอนีจากอุกบะฮฺ บินอามิรฺ) ด้วยเพราะความรักและความห่วงใยที่พ่อและแม่มีต่อลูกสาวนั้นผลที่เขาจะได้รับในโลกอะคีเราะฮฺคือ สวรรค์(หะดีษบันทึกโดยอะบูดะวูด อะหมัดอละอัลฮากิมจากอิบนุอับาส)และในอีกบทหนึ่งของหะดีษท่านศาสดากล่าวว่า ใครที่มีบุตรสาวสามคนโดยที่เขาอดทนต่อการเลี้ยงดูในทุกสภาวการณ์ไม่ว่าจะยากเข็ญหรือสะดวกสบาย เขา(บิดาและมารดา)จะได้เข้าสวรรค์ด้วยเพราะเราะห์มัต(โปรดปราน)ของอัลลอฮฺที่มีต่อบุตรสาวเหล่านั้น ต่อมาได้มีชายคนหนึ่งถามว่า “โอ้ท่านศาสดาหาว่ามีบุตรสาวเพียงสองคนจะเป็นเช่นไร ” ท่านศาสดาตอบว่ามีสองคนก็เช่นเดียวกัน ชายคนหนึ่งถามต่ออีกว่า “โอ้ท่านศาสดาหากว่ามีบุตรสาวเพียงคนเดียวจะเป็นอย่างไร”ท่านศาสดาตอบว่าแม้นว่าคนเดียวก็เช่นกัน(หะดีษที่บันทึกโดยอัลฮากิม จากอบูฮุรอยเราะฮฺ)
สถานภาพของภรรยาในอิสลามจะมีสถานะเท่าเทียมกันกับสามี ดังปรากฏหลักฐานที่อัลลอฮฺได้ตรังไว้ว่าภรรยานั้นมีสถานะเป็น “คู่ครอง” ของสามี จุดประสงค์ที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นเพศชายและเพศหญิงนั้นเพื่อให้ทั้งสองเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน ดังนั้นภารกิจหลักของสามีและภรรยาในอิสลามจะต้องเอาใจใส่ ถนอมน้ำใจ สร้างความรักความเข้าใจระหว่างกัน มิใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องปรนนิบัติเอาอกเอาใจอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ สามีในอิสลามมิได้มีสถานภาพเหนือกว่าภรรยาอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน อัลลอฮฺได้อุปมาเรื่องดังกล่าวไว้ในอักรุอานว่าภรรยานั้นเสมือนหนึ่งเป็นอาภรณ์ของสามีและสามีเป็นอาภรณ์ของภรรยา(อัลกรุอาน2:187) ด้วยความรัก ความเข้าใจที่มานีและภรรยาให้ต่อกันคือความสงบและความสุขที่แท้จริงที่เขาทั้งสองต่างจะได้รับ(อัลกรุอาน30:21) ภรรยาในอิสลามเป็นผู้ที่มีเกียรติ เพราะภรรยาเป็นทั้งกำลังใจ เป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้ปกป้องเกียรติศักดิ์ศรีและทรัพย์สินของผู้เป็นสามี ดังที่ศาสดาได้กล่าวความว่า “สิ่งที่ดีที่สุดในโลกคือคู่ครอง(ภรรยา) ศอลีฮะ เมื่อเจ้ามอง(นาง)เจ้าจะสบายใจและเมื่อเจ้าจาก(นาง)จะช่วยปกป้องและรักษา(เกียรติยศและทรัพย์สมบัติของเจ้า)” (หะดีษบันทึกโดยมุสลิมและอิบนุมาญะฮฺ) ดังนั้นท่านจึงได้กำชับให้มุสลิมปฏิบัติต่อภรรยาด้วยดีเพราะนางนั้นเป็นอามานะที่อัลลอฮฺทรงมอบให้และเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดในสิ่งที่หะรอมให้หะลาล(หะดีษบันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
“แม่” เป็นอีกสถานภาพหนึ่งที่อิสลามให้ความหมายที่สูงยิ่ง แม่เป็นบุคคลที่มีความดีงามและความประเสริฐ เป็นบุคคลที่อัลลอฮฺได้สร้างขึ้นเพื่อให้บุคคลอื่นทำความดีและเคารพ พระองค์ได้สั่งเสียว่ามนุษย์ต้องทำดีต่อพ่อและแม่ โดยเฉพาะแม่ซึ่งเป็นผู้ที่ได้เสียสละด้วยการอุ้มครรภ์และคลอดลูกตลอดจนเลี้ยงดูด้วยการให้น้ำนมมากกว่าสามสิบเดือน(อัลกรุอาน46:15) ดังนั้นมิใช่เป็นเรื่องเหนือกว่าเหตุผลที่ท่านศาสดาได้กล่าวประกาศไว้ว่า “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา” (หะดีษบันทึกโดยอัฏฏอบารอนี) แม่มีสถานภาพในระดับที่สูงยิ่ง อัลลอฺฮฺได้ตรัสในเรื่องเดี่ยวกันความว่า “และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดาเมื่อผู้ใดในทั้งสองหรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้าดังนั้นอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า “อุฟ” และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสองและจงพูดด้วยท่านทั้งสองถ้อยคำที่อ่อนโยน”(อัลกรุอาน17:23) ท่านศาสดาได้กล่าวถึงสถานะของแม่เมื่อเศาะหาบะฮฺได้ถามเขาว่าใครคือบุคคลที่ควรทำดีมากที่สุด ท่านได้ตอบว่า แม่ แม่ และ แม่แล้วจึงเป็นพ่อ (หะดีษรายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
ความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อมุสลิมอยู่บนพื้นฐานความพึงพอใจของบิดามารดาเป็นหลัก ดังนั้นการทำดีต่อผู้บังเกิดเกล้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ในอิสลามนั้นเป็นกุศลบุญที่ยิ่งใหญ่ที่เราจำได้รับจากอัลลอฮฺ(อัลกรุอาน46:15)
พี่สาวและน้องสาวเป็นอีกสถานภาพหนึ่งที่อิสลามให้ความสำคัญ ท่านศาสดาได้กำชับให้มุสลิม(ชาย)สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและให้ความเคารพรักต่อพี่สาวและน้องสาวด้วยการดูแลเอาใจใส่ในความทุกข์สุข การปฏิบัติดีต่อทั้งสองเป็นสิ่งที่ประเสริฐ การใช้จ่ายเลี้ยงดูต่อพี่หรือน้องสาวให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขจะเป็นม่านป้องกันเขา(ชาย)จากไฟนรก(หะดีษบันทึกโดยอิบนุอะสากัร)และการสมาคมที่ดีต่อกันจะได้รับผลตอบแทนสวรรค์จากอัลลอฮฺ(หะดีษบันทึกโดยอิมามอะหมัด จากอิบนุอับบาส) ดังภาพที่ปรากฏเมื่อท่านได้ปฏิบัติต่อพี่สาวร่วมแม่นมของท่าน(ลูกสาวของนางฮาลีมะฮฺ) เมื่อครั้งที่กองทัพมุสลิมได้จับเฉลยศึกในสงครามฮุนัยนฺและหนึ่งในจำนวนนั้นมีพี่สาวร่วมแม่นมของท่านด้วย เมื่อได้ทราบข่าวท่านศาสดาได้ไปเยี่ยมนางด้วยตัวของท่านเองและเมื่อได้พบหน้าท่านศาสดาได้ทอดเสื้อคลุมของท่านปูบนพื้นพร้อมเชื้อเชิญให้พี่สาวร่วมแม่นมของท่านนั่งเพื่อเป็นการแสดงถึงความรักและการให้เกียรติที่มีต่อพี่สาวร่วมแม่นม
สถานภาพทางด้านการเมือง
การเมืองการปกครองในอิสลามเป็นประเด็นที่นักวิชาการและนักสตรีนิยม(Feminism) ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขว้าง ทั้งที่ความเป็นจริงผู้หญิงในอิสลามนั้นจะมีสถานภาพทางด้านการเมืองในหลักการที่เท่าเทียมกันและจะได้รับการยอมรับในสิทธิและบทบาทขั้นพื้นฐานในด้านการเมืองและการปกครองอย่างสมบูรณ์ที่เท่าเทียมกับผู้ชายทุกประการ หลักการอิสลามได้เน้นหนักในเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นพันธะกิจที่คนทั้งสองเพศจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันคือ การให้ความร่วมมือในการประกอบความดีและการปกป้องปราบปรามในอันที่จะนำมาซึ่งความชั่วร้าย ดังที่อัลลอฮฺได้บัญญัติไว้ในอัลกรุอานไว้ความว่า “และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในเรื่องคุณธรรมและความยำเกรงแต่พวกเจ้าอย่าได้ช่วยเหลือกันในเรื่องบาปและความเป็นศัตรูกัน” (อัลกรุอาน5:2)กิจกรรมทางด้านการเมืองเป็นบทบาทของมุสลิมทุกคน(ชายและหญิง) ต้องร่วมกันรับผิดชอบในฐานะที่ทั้งสองเพศต่างได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเคาะลีฟะฮฺของพระองค์บนพื้นพิภพ สถานภาพของผู้หญิงในอิสลามด้านการเมืองการปกครองคือสถานะเดียวกันกับเพศชายโดยที่อิสลามได้กำหนดให้ทั้งสองเพศมีความรับผิดชอบร่วมกันโดยเฉพาะการธำรงไว้ซึ่งระบบการปกครองที่มีอัลกรุอานเป็นธรรมนูญและสุนนะฮฺของท่านศาสดาเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติในเรื่องนี้อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกรุอานความว่า “และบรรดาผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงต่างคนต่างเป็นมิตรของกันและกันพวกเขาใช้แต่การดีห้ามสิ่งต้องห้าม พวกเขาดำรงละหมาด บริจาค ซะกาต ภักดีต่ออัลลอฮฺและศาสนฑูตของพระองค์พวกเขาเหล่านนั้นอัลลอฮฺจะทรงเมตตาเขาแน่นอนแท้จริงอัลลอฮฺทรงอำนาจอีกทั้งปรีชาญาณยิ่ง” อัลกรุอาน9:17
สถานภาพทางด้านเศรษฐกิจ(Economics Status)
เศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ปัจเจกบุคคล ครอบครัวและสังคมให้ความสำคัญในระดับต้นๆ การแก่งแย่งเพื่อที่จะครอบครองและมีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อกลุ่มและพวกพ้องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเรื่องปกติ จากจุดนี่เองทำให้ที่อ่อนหรือไม่มีอำนาจที่เข้มแข็งพอเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมและไม่มีสถานภาพในการที่จะครอบครองปัจจัยต่างๆทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นโดยส่วนมากสังคมตะวันตกหรือตะวันออกต่างไม่เปิดโอกาสและลิดรอนสถานภาพของผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ศาสนาอิสลามได้เปิดมิติใหม่ในสิ่งที่สังคมอื่นส่วนมากไม่ค่อยปฏิบัติกันนั้นคือ การให้โอกาสและกำหนดสถานภาพให้สตรีมีสิทธิในด้านต่างๆทางด้านเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์เหมือนกับชายโดยครอบคลุม ในสามประเด็นหลักทางด้านเศรษฐกิจคือ การครอบครองทรัพย์สิน การใช้จ่ายในทรัพย์สินและการรับมรดก อิสลามได้ยอมรับและกำหนดสถานภาพของผู้หญิง โดยครอบคลุมในสิทธิต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างสมบูรณ์ อาทิเช่น สถานภาพและสิทธิในด้านการซื้อขาย การเช่า การโอนหรือมอบฉันทะ การทำพินัยกรรม เป็นต้น ในเรื่องดังกล่าวอัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกรุอานว่า “สำหรับผู้ชายนั้นมีส่วนได้รับจากสิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้และสำหรับผู้หญิงนั้นก็มีส่วนได้รับจากสิ่งที่พวกนางขวนขวายไว้และพวกเจ้าจงขอต่ออัลลอฮฺเถิดจากความกรุณาของพระองค์ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง” (อัลกรุอาน4:32)
สถานภาพทางด้านมรดกของผู้หญิงในอิสลามนั้นเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดโดยอัลลอฮฺในอัลกรุอานอย่างชัดเจนคือ “สำหรับบุรุษนั้นพวกเขาได้รับสิทธิจากส่วนหนึ่งของทรัพย์สินอันเป็นมรดกตกทอดของพ่อแม่และบรรดาญาติและสำหรับสตรีก็มีสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นมรดกตกทอดของพ่อแม่และบรรดาญาติไม่ว่าจะมีจำนวนมากหรือน้อยก็ตามทั้งนี้ต้องเป็นไปตามส่วนแบ่งที่ได้กำหนดไว้” (อัลกรุอาน4:176)
สถานภาพทางด้านการศึกษา
อิสลามได้ให้ความสำคัญในด้านการศึกษาในระดับที่สูงมาก โดยสังเกตโองการแรกของอัลกรุอานที่ที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมาต่อท่านศาสดามุหัมมัดเป็นโองการที่เกี่ยวกับกระบวนการการศึกษา(อัลกรุอาน96:1-5) การศึกษาในอิสลามได้ถูกกำหนดให้เป็นเรื่องความจำเป็นหลัก สำหรับมุสลิมทั้งหมดดังที่ท่านศาสดาได้กล่าวว่า “การศึกษาเป็นฟัรฎู(ความจำเป็น)ต่อมุสลิมทั้งมวล” (หะดีษบันทึกโดยบัยฮะกีย์)
การศึกษาในความหมายของอิสลามคือ การยกระดับสถานภาพของหญิงและชายให้ดีขึ้น(อัลกรุอาน2;269) ความสำคัญของการศึกษาอัลลอฮฺได้สอนให้มุสลิมทั้งชายและหญิงเพียรขอพรจากพระองค์เพื่อความโปรดปรานในการเพิ่มพูนในความรู้(อัลกรุอาน20:114)
สถานภาพด้านการศึกษาของผู้หญิงในอิสลามนั้นได้ถูกกำหนดสถานภาพและมีระดับความสำคัญที่เท่าเทียมกับชายทุกประการ ท่านศาสดาได้กล่าวถึงผู้ปกครองที่ดูแลและส่งเสริมให้บุตรีได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีนั้นจะเป็นม่านป้องกันระหว่างผู้ปกครองกับไฟในนรก(หะดีษบันทึกโดยบุคอรีย์) และในอีกบทหนึ่งของหะดีษท่านศาสดาได้กล่าวว่า “ผู้ใดได้เลี้ยงดูลูกสาวสามคน โดยให้การศึกษาและอบรมมารยาทที่ดีให้พวกเขา จัดการแต่งงานให้พวกเขาและเลี้ยงดูพวกเขาเป็นอย่างดีสำหรับเขา(บิดามารดา)คือ สวรรค์” หะดีษรายงานโดยอบูดาวูด
............................
เพื่อนอิสลาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น