อัสลามุอะลัยกุมว่ะรฮฺม่ะตุลลอฮฺว่ะบ่ะเราะกาตุฮฺ
ขอความสันติจากผู้ทรงบังเกิดทุกสรรพสิ่งมาอย่างเป็นคู่…จงประสบแด่เธอ และก็เธอ และก็เธอๆ ๆ ๆ
ฉันไม่ประหลาดใจเท่าไหร่กับจำนวนคนคุ้นเคยของหัวใจที่กำลังจะเปลี่ยนสถานะภาพ มันเป็นเรื่องของช่วงวัยที่เข้าใจได้ แต่ก็ยอมรับว่าความมากมายของว่าที่เจ้าสาวทำให้รู้สึกตื้นตัน (มันคือตื้นตันจริงๆ ไม่มีวาระแอบแฝงอื่น) การแต่งงานก็เป็นอิบาดะฮฺประการหนึ่งของชีวิตเราที่กำหนดของมันมาถึงใคร ก็ก้าวไป ใครยังมาไม่ถึงก็ทำงานอื่นไปก่อน มีอีกเยอะแยะกระเพาะแพะให้หยิบจับ แล้วก็แสดงความยินดีปรี่ล้นกับผู้ได้กระทำเช่นเดียวกับยามที่ได้เห็นผู้คนมีโอกาสได้ทำความดีอื่นๆ แต่ใช่แหละ ความดีงามประการนี้มันส่งผลถึงอีกหลายเรื่องของชีวิตเราและประชาชาติเรา อีโมชั่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลยอาจจัดเยอะหน่อย และนั่นทำให้ฉันครุ่นคิดเรื่องราวเกี่ยวกับเธอมากพอสมควร…ก็พอจะทำให้นึกอยากเขียนอะไรบางอย่างถึงเธอนี่แหละ
รู้ล่ะ ว่ามันค่อนข้างเป็นอะไรที่ไม่เจียมเนื้อเจียมตัวอยู่พอสมควร ที่จะเขียนแนะนำนู่นนี่นั่นกับเธอ แต่รู้สึกจริงจังว่ามีอะไรบางอย่างอยากพูดกับพวกเธอ และต้องพูดด้วย ส่วนที่ตัดสินใจเอามันมาแปะในที่นี้เพราะคิดว่าอาจมีว่าที่ฯคนอื่นๆ ที่อัลหะกีมได้กำหนดให้พลัดหลงเข้ามาอ่าน แล้วได้ประโยชน์จากมันไปบ้างแม้เล็กน้อย-บิอิซนิลละฮฺ นั่นก็น่ายินดียิ่งแล้วสำหรับการเก็บสะสมเสบียงของคนที่เต็มไปด้วยบาปหนาหนักอย่างเราๆ
ก่อนจะเข้าเรื่องขอทำท่าเจียมตัวอีกนิดหนึ่งละกันว่า ที่จะบอกเธอต่อไปนี้ อย่าเรียกว่า “คำแนะนำ” หรืออะไรพรรค์นั้นเลย เรียกมันว่า “สิ่งที่ฉันอยากบอกเธอ” แค่นั้นก็แล้วกัน และเธอคงไม่คาดหวังว่าจะได้อ่านอะไรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารชีวิตคู่หรอกนะ เรื่องนั้นเธอไปศึกษาเอาจากคนที่มีโปรไฟล์เหมาะสมจะงดงามกว่า ที่จะได้อ่านต่อไปนี้จึงเกี่ยวข้องกับการจัดการช่วง “รอ” ก่อนจะก้าวขึ้นบันได้ขั้นใหญ่ๆ ขั้นนั้นของชีวิตเป็นหลัก (ก็ตามหัวข้อจดหมายไง…ว่าเรื่องนี้ เขียนถึง ‘ว่าที่’ เจ้าสาว – อินชาอัลลอฮฺ)
๑- คงไม่ต้องพูดเรื่องการสรรหาอะไรกันแล้วเนอะ เพราะเธอตัดสินใจไปแล้ว และเชื่อว่ามันเป็นไปบนการปรึกษาหารืออย่างถี่ถ้วนแล้วกับเจ้าของชีวิตของเธอ ที่อยากพูดคือช่วงระหว่างตัดสินใจแล้วว่าจะก้าวขึ้นบันไดไหน กับจังหวะทีได้ก้าวขึ้นไปจริงๆ มันเป็นอีกช่วงที่สำคัญมากเหมือนกันในชีวิตเรา ก็สั้นบ้าง ยาวบ้าง แล้วแต่อัลลออฺจะจัดให้ใครแบบไหน มันเป็นช่วงของการรอคอยที่เธอจะไม่พบใครเลยจะนำมาซึ่งสิ่งที่เธอรอคอยเว้นแต่อัลลอฮฺ ดังนั้นจงรักที่จะให้พระองค์เห็นเธอมาพบพระองค์เสมอในสภาพของผู้ที่โหยหาความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างเหลือเกิน อย่าให้การตกลงใจแล้วและภารกิจยุ่งขิงมากหลายที่ตามมาหลังการตัดสินใจทำให้เธอหันห่างจากพระองค์ หรือมั่นใจในสิ่งที่อยู่ในมือตัวเองมากเกินไป ฉันค่อนข้างเชื่อด้วยว่า ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่เธออาจได้พบความสับสน-ไม่แน่ใจบางประการ (ตามลักษณะนิสัยของผู้หญิง โดยเฉพาะเวลาถึงจุดเลี้ยวใหญ่ๆ ของชีวิต มันเข้าใจได้นะที่เราจะทำอะไรบางอย่างให้รถข้างๆขมวดคิ้วมองพลางบอกว่า ‘คนขับรถคันนั้นต้องเป็นผู้หญิงแหงแก๋’) แต่กลัวไปไยไพ เธอมีอัลลอฮฺ-ผู้ที่เพียงตรัสว่าจงเป็น ทุกสิ่งก็เป็นขึ้น- เป็นที่มอบหมาย อยู่แล้วนี่นา
๒- แม้จะตกลงใจแล้ว แต่ตราบใดที่ใครคนนั้นยังไม่มานั่งอยู่ต่อหน้าวลีของเธอ แล้วบอก “เกาะบูล” รับ “อิญาบ” ของท่าน เขาก็ยังไม่ได้เป็นอะไรกับเธอทั้งสิ้น ฉะนั้น ในช่วงเวลาก่อนนั้น อย่าได้ทำอะไรที่จะทำให้ขอบเขตระหว่างเธอ กับใครคนนั้นทลายลง มีธุระปะปังอะไรต้องพูดคุยติดต่อ ก็พยายามทำโดยมีมะฮฺรอมของเธออยู่ร่วมด้วยเสมอ แม้กระทั่งในการติดต่อแบบไม่เห็นหน้า (ที่จริง กฎทั่วไป-อย่างที่เราต่างรู้- คือเมื่อคุยธุระ(จริงๆ) เราสามารถคุยกับเพศตรงข้ามได้ แต่ในกรณีแบบนี้ ไม่รู้สิ ฉันอยากให้เธอคุยโดยมีมะฮฺรอมร่วมมันทุกกรณีไปเลย จะพูดโทรศัพท์ก็เปิดสปีค หรือประชุมสาย จะคุยอีเมวก็ให้มะฮฺรอมเป็นผู้ส่งต่อ หรือให้มะฮฺรอมอยู่ร่วมในเอดเดรสผู้รับด้วย ฉันว่ามันปลอดภัยแก่หัวใจเธอมากกว่ามหึมามหาศาล) ไม่รู้สิ สำหรับฉัน ฉันว่าการแต่งงานเป็นก้าวใหญ่ๆก้าวหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญกับชีวิตเรา เราควรทำให้มันสะอาดที่สุดในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่เริ่มต้น บินัศริลละฮฺ
๓- จากประสบการณ์ทางอ้อมผ่านคนใกล้ๆ พบว่าพวกกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งงานมันไม่ใช่เรื่องของคนสองคนเลย โดยเฉพาะในขั้นตอนของพิธีและรายละเอียดต่างๆ ถ้าการตัดสินใจเลือกใครสักคนเป็นเรื่องของประชาชาติ ขั้นตอนต่างๆที่จะตามมาหลังจากที่เลือกแล้วก็เป็นเรื่องของสหประชาชาติเลยเชียวล่ะ เธอจะได้พบคนมากมายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แนะนำ และบอกกล่าวนู่นนี่นี่นั่น ที่สำคัญอันพึงใส่ใจก็คือครอบครัวของทั้งสองฝ่าย แน่นอน บางครั้งความต้องการของตัวคนแต่งกับของผู้ใหญ่มันไม่ค่อยจะสอดคล้องกันเท่าไหร่ พาลให้ดราม่าเล็กน้อย-ปานกลาง ฉันอยากแนะนำให้เธออลุ่มอล่วยที่สุด เท่าที่พอจะทำได้ พยายามบะลานซ์ระหว่างความต้องการของตัวเอง (ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับคำว่า “อุดมการณ์”) กับความประสงค์ของญาติผู้ใหญ่ บางอย่างถ้ามันยอมความกันได้ ก็ยอมๆไป อย่าลืมว่าการรักษาเครือญาติก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากๆในอิสลาม แต่ถ้าบางเรื่องกับบางข้อเสนอแนะ มันเกินรับจริงๆ ก็พยายามอธิบายด้วยเหตุผลที่ดีและมารยาทที่งาม และเชื่อมั่นเสมอว่าดุอาอฺคือทางออกของทุกสรรพสิ่ง
๔- ในช่วงเวลาก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงจะนำเธอออกไปจากสภาวะชีวิตที่เคยอยู่กับมันมานับยี่สิบปี จงให้ความใส่ใจกับงานที่สภาวะแวดล้อมชีวิตใหม่จะทำให้เธอไม่อาจหยิบจับทำมันได้เต็มที่เหมือนเช่นเคย เช่น งานกับคนในครอบครัว งานกับคนในชุมชน งานกับรุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเก่าหรือโรงเรียนเก๋า ฯลฯ โดยพวกงานประเภทต่อเนื่องที่ต้องสานต่อ เช่น สอนหนังสือมุอัลลัฟ จัดฮะละเกาะฮฺกับเด็กๆในชุมชน ฯลฯ ลองหาทางส่งไม้ต่อให้ใครคนที่พอมองหาได้และมองเห็นดู ที่สำคัญยิ่งกว่าอื่นใด คนที่อยากให้เธอใช้เวลาวัยโสดตอนปลายของตัวเองคลุกอยู่กับเขาให้มากที่สุดก็คือคนที่เราเรียกกันว่า “แม่”
๕- และจอมนางผู้นั่นแหละ คือคีย์เวิร์ดที่อยากจะเอามาพูดถึงในเรื่องที่ใครต่อใครชอบบอกว่าผู้หญิงต้องไปฝึกปรือให้คล่องแคล่วก่อนออกเรือน ก็พวกเรื่องงานบ้าน งานครัว และอะไรในหมวดนั้นนั่นแล จะบอกว่า…ไม่ต้องไปหาเรียนที่ไหนเลยเธอเอ๋ย (กรณีที่ไม่เชี่ยวชาญ) พวกวิชาการเรือนตั้งแต่เย็บปักถักร้อยไปจนถึงควงตะหลิว แค่เดินไปคล้องแขนเสด็จแม่ ให้ท่านช่วยบอกสอนให้ ดียิ่งกว่าครูทุกสถาบันเพราะท่านรู้จักเราและห่วงใยเรายิ่งกว่าใคร ไม่ใช่แค่วิชาการหรอกที่จะได้ แต่จะได้เกร็ดชีวิตมากมายก่ายกองจากท่าน แม้แต่ว่าเธอเป็นกระบี่มือเอกในเรื่องแม่ศรีเรือนอยู่แล้ว การไปขลุกอยู่กับแม่ก็ยังจะให้ประโยชน์อลังการ อินชาอัลลอฮฺ
(อีกเรื่องหนึ่งที่อยากเตือนตัวเองและตัวเธอเอาไว้ ในฐานะที่พวกงานการเรือนนี่ก็ควรถูกนับเป็นความรู้อย่าง๑ ฉะนั้น จงบริสุทธิ์ใจในการเรียนรู้มัน ต้องย้ำกับตัวเองเสมอว่าเธอไม่ได้ฝึกปรือตัวเองเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อจะไปทำให้ใครคน๑พอใจ เป็นใครคนที่อัลลอฮฺสั่งใช้มาว่าให้เธอทำตัวให้เขาพอใจ ฉะนั้นปลายทางของงานนี้ก็เหมือนกับทุกงานคือต้องตั้งอยู่ที่ความพอใจของอัลลอฮฺ เธอไม่ได้ต้องการให้ใครมาชื่นชมว่าสาวนี่ทำกับข้าวอร่อยเลิศ หรือทำงานฝีมือได้ราวมีบรรพบุรุษเป็นชาววัง พึงระวังการโอ้อวดในเรื่องนี้ไว้ด้วย…ก็เช่นเดียวกับทุก ๆ เรื่องในชีวิตเราแหละเนอะ)
๖- จงอยู่กับอัลกุรอาน อย่าให้สารพัดภารกิจของว่าที่เจ้าสาวดึงเวลาของเธอไปจากสิ่งที่เป็นชีวิตของหัวใจ เราพูดกันเสมอว่าอยากสร้างครอบครัวแห่งอัลกุรอาน แต่มันจะเริ่มขึ้นได้อย่างไร ถ้าขณะกำลังจะย่าวก้าวแรกตรงนี้ เรายังไม่มีอะไรเลยเป็นต้นทุนสะสม คนจำนวนไม่น้อยคาดหวังว่าเมื่อตัวเองมีครอบครัว ใครคนนั้นจะเข้ามามีส่วนช่วยสร้างโปรแกรมการศึกษาอัลกุรอานที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในชีวิต มันเป็นความใฝ่ฝันที่หอมและชวนชม แต่เข้าขั้นเพ้อเชียวล่ะถ้าเจ้าของความใฝ่ฝันนั้นไม่เริ่มต้นผูกพันกับอัลกุรอานตั้งแต่ขณะยังอยู่ตัวคนเดียว ยิ่งกว่านั้น เชื่อไหมว่าเจ้าของความใฝ่ฝันที่ไม่ยอมเริ่มด้วยตัวเองก่อนเหล่านั้นมักจะได้คนที่มีลักษณะเดียวกัน คือต่างหวังจะมารับจากอีกฝ่าย เลยต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีต้นทุนอะไรมาให้แก่กัน ซึมเลยทีนี้ (ขออัลลอฮฺช่วยเหลือและให้ทางออกกับพวกเขาเหล่านั้น เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็มีความหวังที่จะเข้าใจคัมภีร์ของพระองค์ ซึ่งน่าชื่นชม)
๗- ดูแลตัวเอง – จบประโยค
๘- แต่ก็อย่าหมกหมุ่นอยู่แต่เรื่องตัวเอง อันนี้สำคัญนัก อย่าให้ช่วงเวลาที่มีหลายธุระส่วนตัวให้จัดการกลายเป็นช่วงที่เราถูกตัดขาดจากธุระอื่นๆของพี่น้อง (แม้ความจริงพี่น้องทั้งหลายก็คงและก็ควรจะไม่รบกวนเธอมากนัก) ทั้งพี่น้องใกล้ตัวไปจนถึงคนไกลต่างแดน เมื่อได้พบเห็นธุระหรือความเดือดร้อนของพวกเขา ก็จงเอาธุระด้วย (เท่าที่สามารถ) ที่สำคัญคืออย่างน้อย อย่าลืมดุอาอฺให้พวกเขา เชื่อว่าช่วงชีวิตระยะนี้ของเธอคงมีดุอาอฺยาวเหยียดให้ขอและให้ฝากใครๆช่วยขอ แต่นั่นแลเรื่องน่ารักสุดๆอย่างหนึ่งของชีวิตคือ ที่จริงแล้วการได้ทำอะไรให้คนอื่น กลับกลายเป็นการให้ตัวเราเองในเวลาเดียวกัน เธอก็คงเคยได้ประสบกับตัวอยู่บ้าง…หลายครั้งเชียวใช่ไหมล่ะที่เราขอดุอาอฺให้พี่น้อง แล้วกลายเป็นว่าดุอาอฺนั้นได้กับเราด้วยอย่างไม่ได้คาดคิด (อัลลอฮฺรับดุอาอฺของมลาอิกะฮฺที่ขอให้เราตอนที่เราขอให้พี่น้องไง สุบฮานัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงใจดีที่หนึ่ง)
๙- หาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ในอิสลาม โดยเฉพาะในเชิงบทบัญญัติต่างๆ มีไฟล์เสียงมากมายของเหล่าผู้รู้ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศให้เลือกรับฟัง ส่วนที่อยากแนะนำคือหนังสือบางเล่มทีเกี่ยวข้อง ซึ่งอันที่จริงก็หาซื้อได้เกลื่อนแผงหนังสือ แต่ฉันอยากยกเล่มคลาสสิคๆทางวิชาการมาให้ดูชม เผื่อเธอจะสนใจนะ
- ฟิกฮุสสุนนะฮฺ (เล่ม๓) | สัยยิด สาบิก แปลไทยโดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ…เธอมีซีรีย์หนังสือนี้ (๕ เล่ม สาว่า) เก็บไว้ที่บ้านหรือเปล่า ควรมีอยู่นะ ฉันขอแนะนำ เล่ม๓ที่บอก คือเล่มที่ว่าด้วยทั้งหมดทั้งปวงเกี่ยวกับการแต่งงาน ตั้งแต่ความประเสริฐ การเลือกคู่ครอง การสู่ขอ การจัดพิธี ไปจนถึงการใช้ชีวิตคู่ การเลี้ยงลูก และกระทั่งการหย่า เธอจะได้พบสารพัดตัวบท และสารพันทัศนะของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในหมวดนี้ ชนิดที่บางทีก็ชวนตื่นตะลึงว่ามีงี้ด้วยหรอ (เรื่องจริงก็คือยิ่งศึกษาเรียนรู้ก็จะยิ่งรู้ในความไม่รู้ของตัวเอง) อืมม แต่ฉันควรบอกเธอไว้ก่อนด้วยไหม ว่าหนังสือเล่มนี้ (ที่จริงคือทั้งซีรี่ย์มันนั้นแหละ) เค้าใช้ภาษาแปลแบบที่ฉันเรียกขานในใจว่า “ภาษาไทยกลิ่นทะเลทราย” แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสที อาจแค่งงๆกับบางจุด และขำกิ๊กกับอีกบางจุด
- “ครองรักครองเรือน” | ชัยค์อัลอัลบานี สำนักพิมพ์อิสลามิคอเคเดมี…ตามจริงจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้-สำหรับฉันนะ-ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องเนื้อหาว่าด้วยการแต่งงานของหนังสือสักเท่าไหร่ เพราะหลักๆแล้วมันก็คือการเอาตัวบทที่เกี่ยวข้องมาวาง ไม่ต่างกับเล่มอื่นๆ ในท้องตลาดมากนัก แต่ที่ฉันประทับใจเล่มนี้คือส่วนของเชิงอรรถ มันเป็นหนังสือที่มีเชิงอรรถพอๆกับหรืออาจมากกว่าเนื้อหาของหนังสือล่ะมั้งนั้น ฉันนึกไม่ออกว่ามีงานแปลของช.อัลบานีเป็นภาษาไทยเล่มอื่นอีกมั้ย แต่แค่เล่มบาง ๆ เล่มนี้ มันแสดงให้เห็นเลยว่า หนังสือของมุหัดดิษตัวจริงมันเป็นเยี่ยงไร (สำนวนการตัดสินสถานะของหะดีษบางบทของช.อัลบานีในเล่มนี้ช่วยตอบปัญหาคาใจฉันเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาในอิสลามกับการถกอภิปรายได้กระจ่างแจ่ม)
- หนังสือชุด “Muslim Family” | ชัยค์มุฮัมมัด มุศฏอฟา อัลญิบาลี (เป็นภาษาอังกฤษ-มีขายที่ศูนย์หนังสือศูนย์กลางฯ) มันจะมีทั้งหมด ๔ เล่ม ไล่ไปตั้งแต่ เรื่องราวก่อนแต่ง ระหว่างแต่ง หลังแต่ง และการเลี้ยงลูก ไม่รู้ทำไมนะ ฉันประทับใจหนังสือชุดนี้มาก (ยังอ่านไม่ครบทุกเล่ม) ทั้งที่เคยเข้าใจว่าหนังสือแนวนี้ อ่านกี่เล่มๆกี่เล่มก็คล้ายๆกันหมด แต่ชุดนี้ตอนอ่านมันให้ความรู้สึกต่างไปจากเล่มอื่นๆ พูดไม่ถูกเหมือนกัน เค้าใส่หลักฐานต่างๆโดยมีตัวบทภาษาอาหรับประกอบ พร้อมสายรายงานและทัศนะของมุหัดดิษเกี่ยวกับความแข็งแรงของตัวบทนั้นๆประกอบ(เกือบทั้งหมดอ้างอิงทัศนะช.อัลบานี) กับมีการอ้างอิงถึงตัวอย่างในประวัติศาสตร์อยู่ทุกบ่อย…มันมีประโยชน์มากเลยนะเรื่องนี้ ให้ทั้งความรู้และความรู้สึก มาชาอัลลอฮฺ เอาเป็นว่า ฉันแนะนำมากๆเลย สำหรับหนังสือชุดนี้…หากว่าเธอพอจะอ่านภาษาอังกฤษได้
๑๐- ดุอาอฺคือยาวิเศษ…ข้อนี้ค่อนข้างเชื่อมั่นมากเลยว่าเธอหยิบจับมันอย่างคุ้นและคงมือเสมอ มันเป็นไปไมได้เลย ที่ผู้ศรัทธาจะวางมือจากการวอนขอต่ออัรเราะหฺมานในยามที่ชีวิตเดินทางมาถึงหัวเลี้ยวสำคัญ ฉะนั้น ที่จะเพิ่มเติมจึงเป็นแนะนำดุอาอฺดีๆ ดีกว่าเนอะ (ทำเป็นเล่นไป บางทีแค่เนื้อหาดุอาอฺภาษาไทยที่ขอตามอัธยาศัยนี่แหละ พอลองได้ฟังของที่ชาวบ้านเค้าขอ ถึงได้รู้ตัวว่าบางที…เราก็ตกหล่นบางประเด็นไปได้อย่างน่าฉุนใจ) แต่ยังไง ณ ที่นี้ขอเน้นเป็นดุอาอฺตัวบทภาษาอาหรับละกัน ซึ่งอันที่จริงพวกดุอาอฺเกี่ยวกับหัวใจทั้งหลาย สามารถใช้ในกรณีได้หมดอยู่แล้วเนอะ แต่ที่อยากแนะนำเธอ-ผู้อยู่ในช่วงเวลาแห่งการรอคอย-จริงจัง คือดุอาอฺที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดของอัลลอฮฺ (ฉันขอละดุอาอฺจากอายะฮฺที่ ๗๔ ของซูเราะฮฺอัลฟุรกอนไว้ก็แล้วกันนะ ในฐานะตัวบทที่เชื่อว่าเราทุกคนตั้งแต่ยังไม่มีเค้าแววใดในเรื่องนี้ไปจนถึงมีลูกโตเต็มบ้านแล้วก็คงท่องจำกันขึ้นใจทั้งนั้น)
اَللَّهُمَّ إِنِّيْ أَسْأَلُكَ الرِّضَا بَعْدَ الْقَضَاءِ
อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุ กัรริฎอ บะอฺดัล เกาะฎออฺ
“โอ้อัลลอฮฺ ข้าพระองค์วอนขอต่อพระองค์ ซึ่งความพอใจในกำหนดของพระองค์”
(จากหะดีษ บันทึกโดยอะหฺหมัด ชัยค์อัลอัลบานีกล่าวว่าศอฮีฮฺ)
اللَّهُمَّ إِنِّى أَسْأَلُكَ أَنْ تَجْعَلَ كُلَّ قَضَاءٍ قَضَيْتَهُ لِى خَيْرًا
อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกะ อันตัจญฺอะละ กุลละ เกาะฏออิน เกาะฎ็อยตะฮู ลี ค็อยร็อน
“โอ้อัลลอฮข้าพระองค์วอนขอต่อพระองค์ ให้ทุกกำหนดที่พระองค์กำหนดแก่ข้าพระองค์นั้นเป็นความดีงาม”
(จากหะดีษ บันทึกโดยอะหฺหมัดและอิบนุมาญะฮฺ ชัยค์อัลอัลบานี กล่าวว่า เศาะฮีฮฺ)
رَبِّ إِنِّي لِمَا أَنْزَلْتَ إِلَيَّ مِنْ خَيْرٍ فَقِيْرٌ
ร็อบบิ อินนี ลิมา อันซัลตะ อิลัยยะ มิน ค็อยริน ฟะกีร
“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์อยากได้ในความดีที่พระองค์ทรงประทานลงมาให้แก่ข้าพระองค์”
(ดุอาอฺของนบีมูซา จากอัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลเกาะศ็อศ อายะฮฺที่๒๔ – จริงๆดุอาอฺบทนี้มีบริบทที่น่ารักเกี่ยวข้อง คือพอนบีมูซาอ่านดุอาอฺนี้ปึ้บ อายะฮฺต่อไปของอัลกุรอานบอกว่า หญิงสาว(ลูกของนบีชุอัยบ์)ได้เดินเข้ามาหา ซึ่งผู้หญิงคนนี้คือว่าที่คู่ครองของนบีมูซานั่นเอง เลยมีคนเข้าใจว่านี่คือดุอาอฺเจาะจงเรื่องคู่ครอง แต่ที่จริงแล้วใช้ได้ทุกเรื่องเชียว เพราะนบีมูซาขอดุอาอฺบทนี้ในขณะที่ “ฟะกีร-ขัดสน” ในทุกสิ่ง ไม่มีอาหาร ไม่มีที่พัก ไม่มีครอบครัว ไม่มีความปลอดภัย ฯลฯ แล้วอัลลออฺก็ให้ทุกสิ่งแก่ท่าน ซุบฮานัลลอฮฺ…ลองฟังชัยค์มุฮัมมัด ฮัซซานพูดถึงดุอาอฺบทนี้ www.youtube.com/watch?v=aKfNZw6H6XE)
๑๐ ข้อ!…คิดว่าฉันควรจบจดหมายฉบับสู่รู้นี้ได้แล้ว ก่อนที่เธอจะตาลายมากไปกว่านี้…แต่ก่อนจบ อยากบอกว่า…ฉันอาจได้ไปหรือไม่ได้ไปงานสำคัญของเธอ แต่ก็ยินดีด้วยจริงๆ ยินดีด้วยมากๆ มันเป็นเรื่องน่ายินดีที่สุดที่คนที่เรารักจะได้สนองบัญชาใช้ของอัรเราะฮฺมาน และเดินตามรอยทางของอัลมุศเฏาะฟา มันยิ่งใหญ่นะ-เอาจริงๆแล้ว-สำหรับภารกิจที่เธอกำลังจะทำ ยิ่งใหญ่จนเชื่อว่าคงมีบ้างบางวินาทีที่เธอกังวลว่าจะผ่านมันไปไม่ได้ แต่จำไว้อย่างเถอะว่า…เราทุกคนไม่มีความสามารถที่จะผ่านเรื่องราวยิ่งใหญ่หนักหน่วงใดไปได้เลย นอกจากคุณสมบัติเดียว นั่นคือการที่เราเป็นบ่าวของผู้ทรงใจดีที่สุด ผู้ทรงเพียงตรัสว่า ‘จงเป็น’-ทุกอย่างก็จะเป็นขึ้น ผู้ทรง “ก็อดดะเราะ ฟะฮะดา – กำหนด แล้วก็แนะทางให้” และไม่ทรงจากไปไหนเลย
ฉันเชื่อว่าเธอจะทำงานนี้ได้ และก็ได้อย่างดีๆ – อินชาอัลลอฮฺ ไม่ใช่เพราะเชื่อมั่นในตัวเธอ แต่เป็นในตัวของผู้ที่เธอมอบวางกิจการของเธอไว้ ฉะนั้น ขอเธอจงอยู่กับพระองค์ ฝากวางทุกเรื่องราว ทุกกิจการ ทุกสิ่งทุกอย่างของหัวใจและของชีวิตไว้ ณ ที่พระองค์ จากนั้น…ไม่ว่าที่รออยู่จะเป็นสิ่งใด มันก็ไม่มีอะไรจะต้องกลัว !
ดูแลอีมานตัวเองดีๆนะ เพราะเธอยังต้องช่วยดูแลใครอีกหลายคน
ขอผู้ทรงบังเกิดทุกสรรพสิ่งมาเป็นคู่ๆ โปรดช่วยเหลือเธอทุก ๆ เรื่อง
วัสลามุอะลัยกุมว่ะเราะฮฺม่ะตุลลอฮฺว่ะบ่ะเรากาตุฮฺ
............................................
http://peenud.wordpress.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น