อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การกู้ยืมในอิสลามเพื่อการช่วยเหลือไม่ใช่เพื่อหากำไร




การกูยืม นั้นคือ ทรัพย์ที่ผู้กู้ยืม เอาไปจากผู้ให้กู้ และสัญญาว่าจะชดใช้คืน ตามจำนวนที่กู้ยืมไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมทรัพย์ใช้สิ้นเปลือง เช่น การยืมน้ำมัน , อาหาร , เครื่องดื่ม เป็นต้น ก็ให้คืนทรัพย์ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ยืมไป การยืมทรัพย์ที่ใช้ไม่สิ้นเปลือง เช่น การยืมรถ , เรือ , ไม้ เป็นต้น ก็ให้คืนทรัพย์ที่ยืมไปนั้นโดยตรง การกู้ยืมเงิน ไม่จำต้องคืนเงิน เป็นเหรียญ หรือฉบับที่กู้ยืมไป แต่ให้คืนเงินตามจำนวนที่กู้ยืม แต่ทรัพย์ที่ให้กู้ยืมต้องเป็นทรัพย์ที่หะล้าล

รายงานจากท่านอบูรอฟิอฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า
"แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺ เคยยืมอูฐรุ่นๆ จากชายผู้หนึ่ง" (บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม เลขที่ 4193 เป็นหะดิษเศาะเฮียะฮฺ)

การกู้ยืมนั้นถือเป็นอะมานะฮฺ หรือความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันไม่ว่าด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือ โดยผู้ให้กู้ส่งทรัพย์ที่กู้ยืม ผู้กู้ก็ต้องคืนทรัพย์ตามชนิด และเวลาที่ตกกันไว้

พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا تَدَايَنتُم بِدَيْنٍ إِلَىٰ أَجَلٍ مُّسَمًّى) อัล-บะเกาะเราะฮ - Ayaa 282

“โอ้ผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย เมื่อสูเจ้าต่างมีหนี้สินกัน จะด้วยหนี้สินใดก็ตาม จนกว่าจะถึงกำหนดเวลา(ใช้หนี้)ที่ถูกระบุไว้” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ 2:282)

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“บรรดามุสลิมอยู่บนเงื่อนไข(ตกลงกัน)ของพวกเขา” (บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม เลขที่ 3596 เป็นหะดิษเศาะเฮียะฮฺ)

เมื่อผู้กู้ยืมได้ยืมแล้วก็มีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ที่กู้ยืม หากกู้ยืมเขาแล้วเป็นหนี้ แล้วไม่ยอมคืนทรัพย์ที่กู้ยืมหรือไม่ยอมจ่ายหนี้ ศาสนาถือว่าเขาผู้นั้นกำลังคดโกง

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"ผู้ที่มีเงิน(ลูกหนี้) แล้วไม่ยอมจ่ายหนี้(หรือล่าช้าในการชดใช้หนี้)ถือว่าฉ้อโกง(อธรรม)แล้ว" (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรีย์ เลขที่ 2287)

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"แท้จริงผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน คือ ผู้ที่ดีที่สุดในการใช้หนี้" (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรีย์ เลขที่ 2305)

แต่กรณีผู้กู้ยืม หรือลูกหนี้มีความประสงค์จะคืนทรัพย์ที่กู้ยืม หรือใช้หนี้ แต่เขาเสียชีวิตก่อนหนี้สินของเขาจะหมด เช่นนี้ถือว่าไม่มีความผิด เพราะเขาทำสุดความสามารถแล้ว

อิสลามห้ามการกู้ยืมที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ ถือเป็นดอกเบี้ย

การให้กู้ยืมนั้น มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากของผู้คน ทำให้มีสะดวกในการดำเนินชีวิตของพวกเขา ถือว่าเป็นสื่อหนึ่งซึ่งทำให้ใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮฺ การกู้ยืมจึงไม่ใช่เพื่อเป็นการแสวงหาผลประโยชน์แต่งอย่างใดทั้งสิ้น

อิสลามส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีฐานะดีช่วยเหลือผู้ที่ฐานะยากจน ซึ่งจะขจัดช่องว่างอันจะทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งเป็นการขจัดทุกข์ให้พ้นไปจากตัวของผู้กู้ยืม

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“บุคคลหนึ่งได้เข้าสวรรค์ ซึ่งเขาเห็นที่หน้าประตูสวรรค์มีข้อความว่า การบริจาค (เศาะดะเกาะฮฺ) ได้ 10 เท่า ส่วนการให้กู้ยืมนั้นได้ 18 เท่า” (บันทึกหะดิษโดยอิมามบัยฮะกีย์ เลขที่ 34๐5 หะดิษอยู่ในสถานะหะซัน)

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“บุคคลใดที่บรรเทาความทุกข์ยากหนึ่งจากความทุกข์ยากต่างๆ ของผู้ศรัทธาขณะอยู่บนโลกดุนยานี้(เช่นนั้น) พระองค์อัลลอฮฺจักทรงบรรเทาความทุกข์ยากหนึ่งจากความทุกยากต่างๆให้แก่เขาในวันกิยามะฮฺ...” (บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม เลขที่ 7028 หะดิษมีสถานะเศาะเฮียะฮฺ)

ศาสนาจึงไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้เรียกร้องจากลูกหนี้เกินกว่าที่กู้ยืมอันทำให้เกิดผลประประโยชน์โดยเด็ดขาด และถือเป็นดอกเบี้ย

เจตนารมณ์ของหลักนิติศาสตร์อิสลามระบุว่า
“ทุกๆ การกู้ยืมที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น” (หนังสือ “ฟิกฮุสสุนนะฮ” เล่ม 3 หน้า 180)

รายงานจากท่านอิบนุ มัสอูดเล่าว่า
" لعن رسول الله صلى الله عليه وسلم آكل الربا وموكله  ความว่า
"ท่านรสูลุลลอฮฺสาปแช่งบุคคลที่กินดอกเบี้ย และบุคคลที่ให้ดอกเบี้ย" (บันทึกโดยมุสลิม)

สำนวนของติรฺมิซีย์เพิ่มอีกว่า " وشاهديه وكاتبه "
 ความว่า
"บุคคลที่เป็นพยาน (เกี่ยวกับดอกเบี้ย) และบุคคลที่บันทึก (เกี่ยวกับดอกเบี้ยก็ถูกสาปแช่งด้วย)

การกู้ยืมอันทำให้เกิดผลประโยชน์นี้เป็นที่ต้องห้ามโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าการกู้ยืมนั้นไปเพื่อช่วยเหลือทางครอบครัว นำไปใช้ในการแสวงหาความรู้ หรือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประการใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นใดก็ตาม เช่น กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ที่ต้องคืนเงินให้แก่ผู้กู้เกินกว่าที่กู้ยืมมา ,ครูมุสลิมที่กู้ยืมจากสหกรณ์ครูซึ่งจะต้องจ่ายดอกเบี้ย , การกู้เงินจากสหกรณ์อิสลามมาจำนวนหนึ่ง ครั้งพอจ่ายคืนต้องจ่ายคืนมากกว่าจำนวนที่ยืม เป็นต้น ถือเป็นการกู้ยืมเกินกว่าที่กู้ยืม ก่อให้เกิดผลประโยชน์เพิ่มขึ้นแก่ผู้ให้กู้ทั้งสิ้น

แต่หากกรณีที่ผู้ให้กู้ยืมและผู้กู้ยืมไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ไม่ได้ตกลงให้จ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมนอกจากทรัพย์ หรือเงินที่ให้กู้ยืม แต่ผู้กู้ยืมยินดีจะมอบเป็นของขวัญให้เอง เช่น ผู้ให้กู้ยืมทำสัญญาให้ผู้กู้ยืมเงิน โดยให้คืนตามที่จำนวนที่กู้ยืมไป โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆอีกนอกจากใช้คืนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ต่อมาผู้กู้ได้คืนเงินที่กู้ยืมให้ผู้ให้กู้ทั้งหมด พร้อมมอบกระเช้าอาหารเสริมให้แก่ผู้ให้กู้ เพื่อตอบแทนที่ช่วยเหลือตนเองพ้นจากความเดือดร้อนนั้นๆ โดยสิ่งดังกล่าวไม่ได้อยู่ในข้อตกลงกัน เช่นนี้ผู้กู้ยืมหรือลูกหนี้ก็สามารถกระทำได้ ส่วนผู้ให้กู้ยืมก็สามารถรับได้โดยไม่มีข้อตำหนิอย่างใดเช่นเดียวกัน

รายงานจากญาบิร บุตรของอับดุลลอฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า
“ปรากฏว่าท่านนบีมุหัมมัดมีหนี้สินอยู่กับฉัน แล้วท่านนบีก็ใช้หนี้ฉัน ซึ่งท่านเพิ่มมาให้ฉันอีก” ( บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม เลขที่ 1689 เป็นหะดิษเศาะเฮียะฮฺ)


والله أعلم بالصواب




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น