อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณลักษณะของอัลลอฮ





    มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ และการสถาพรและความศานติมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮ และแด่ครอบครัวของท่าน และเศาะหาบะฮฺของท่าน และบรรดาผู้ปฏิบัติตามด้วยดี ตลอดจวบจนถึงวันอาคิเราะฮฺ

    ณ เวลานี้ อัลหัมดุลิลลาฮ การดะอฺวะฮฺเริ่มแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก เว็ปไซต์เพื่อการดะอฺวะฮฺก็เพิ่มมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ควรชุกูรอย่างมาก แต่ในขณะเดียวนั้น การเรียกร้องไปสู่ความเชื่อ-ความเข้าใจที่เบี่ยงเบนก็แพร่กระจายมากเช่นกัน จนนำมาซึ่งความปวดร้าวในตอนท้าย คนเอาวามที่ธรรมชาติของเขาบริสุทธิ์ ก็ต้องแปดเปื้อนชุบฮาตต่างๆที่ทำให้หัวใจของพวกเขาบอดไป ส่วนหนึ่ง ก็คือ ชุบฮาตต่างๆที่เผยแพร่โดยบรรดาบล็อกเกอร์ที่ต่อต้านสะละฟีย์ ซึ่งตั้งชื่อบล็อกตัวเองว่า “อบูสะละฟีย์”(เป็นบล็อกแอนตี้สะละฟีย์ในอินโดนีเซีย-ผู้แปล)
     ชุบฮาตที่มีและแข็งกร้าวมาก ก็คือ เกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขาที่ว่า อัลลอฮมีอยู่โดยปราศจากที่พำนัก-สถานที่(คือ อัลลอฮอยู่ทุกที่ ไม่ได้อยู่บนอรัช(บัลลังก์) ตามที่มีระบุอยู่ในอัล-กุรอาน-ผู้แปล) นี่คือการต่อต้านของพวกเขาต่ออะกีดะฮฺอะฮฺลุสสุนนะฮฺที่เชื่อว่า อัลลอฮทรงอยู่เหนือชั้นฟ้า และประทับสูงเหนืออรัชของพระองค์ หวังว่า ด้วยความเชื่อเหลือและเตาฟีกจากอัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา เราจะสามารถเปิดเผยความจริงที่มีอยู่ได้ โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โปรดช่วยเหลือฉันให้ได้รับความพอพระทัยจากพระองค์ด้วยเถิด

ความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮ

    มีความเชื่อบางประการที่จำเป็นต้องยึดถือและเชื่อมันสำหรับมุสลิมคนหนึ่งเกี่ยวกับพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮ ดังที่ท่านอะหฺมัด บิน อับดุลหะลีม อัล-หะรอนีย์ เราะหิมะฮุลลอฮ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อะกีดะฮฺ อัล-วะสิฏียะฮฺ ท่านกล่าวเอาไว้ว่า :

ومن الإيمان بالله الإيمان بما وصف به نفسه في كتابه وبما وصفه به رسوله محمد صلى الله عليه و سلم من غير تحريف ولا تعطيل ومن غير تكييف ولا تمثيل بل يؤمنون بأن الله سبحانه ليس كمثله شيء وهو السميع البصير

“และส่วนหนึ่งจากการศรัทธาต่ออัลลอฮ ก็คือ การศรัทธาต่อสิ่งที่อัลลอฮได้กำหนดคุณลักษณะไว้ให้แก่พระองค์เองในอัล-กุรอาน และต่อสิ่งที่เราะสูลของพระองค์ได้ระบุคุณลักษณะเอาไว้โดยมิได้ตะหฺรีฟ ตะอ์ฏีล ตักยีฟ และตัมษีล(ความหมายของคำเหล่านี้ เราจะอธิบายไว้ข้างล่างต่อไป) แต่พวกเขา(อะฮฺลิสสุนนะฮฺ)จะศรัทธาว่า ไม่มีสิ่งใดเสมือเหมือนกับอัลลอฮ และอัลลอฮทรงได้ยิน และทรงมองเห็น”[1]

    เกี่ยวกับการอธิบายของท่านอะหฺมัด บิน อับดุลหะลีม อัล-หะรอนีย์ข้างต้นนี้ ปรากฏในคำกล่าวของอุละมาอ์คนอื่นๆด้วยเช่นกัน อิมามอะหฺมัด บิน หัมบัล เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า

لَا يُوصَفُ اللَّهُ إِلَّا بِمَا وَصَفَ بِهِ نَفْسَهُ ، أَوْ وَصَفَهُ بِهِ رَسُولُهُ ، لَا يُتَجَاوَزُ الْقُرْآنُ وَالْحَدِيثُ

“อัลลอฮจะไม่ถูกกำหนดคุณลักษณะ เว้นแต่ด้วยสิ่งที่อัลลอฮทรงกำหนดคุณลักษณะแก่พระองค์เอง หรือที่ท่านนบีได้ระบุคุณลักษณะของพระองค์เอาไว้ (ดังนั้น)อย่าได้กำหนดคุณลักษณะของอัลลอฮด้วยสิ่งอื่นจากอัล-กุรอานและอัล-หะดีษ”[2]

    ในคำอธิบายข้างต้นนี้ เป็นผลที่ได้จากการวิเคราะห์และพิจารณาอัล-กุรอานและอัส-สุนนะฮฺ ซึ่งเราสามารถกล่าวได้ว่า ความเชื่อที่มุสลิมคนหนึ่งจำเป็นต้องเชื่อถือนั้น เป็นดังนี้

    หนึ่ง   มุสลิมจะต้องเรียก(หรือเชื่อใน)พระนามของอัลลอฮอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับที่อัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลาได้ทรงตั้งหรือเรียก(พระนามของพระองค์เอง)ไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ และตามที่ท่านเราะสูลุลลอฮได้ตั้งหรือเรียกไว้ด้วยคำพูดของท่าน
    สอง   พระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮนั้น จะต้องปราศจากการตะหฺรีฟ และตะอ์ฏีล และการตักยีฟและตัมษีลด้วย

    ตะหฺรีฟ คือ การเบี่ยงเบนความหมายของพระนามหรือคุณลักษณะของอัลลอฮจากความที่แท้จริงโดยปราศจากความชอบธรรม เช่น การเบี่ยงเบนความหมายของคุณลักษณะ มะหับบะฮฺ(ความรัก)สำหรับอัลลอฮ ให้กลายเป็น อิรอดะตุล ค็อยรฺ(การประสงค์ดี)
    ตะอ์ฏีล คือ การปฏิเสธพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮ เช่น การปฏิเสธการมีพระหัตถ์ของอัลลอฮ
    ตักยีฟ คือ การระบุสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างชัดเจน เช่น การกล่าวว่า ความยาวของแขนเท่ากับ 50 เซนติเมตร การตักยีฟนั้นไม่อนุญาตให้กระทำต่อคุณลักษณะของอัลลอฮได้ เพราะอัลลอฮมิได้ทรงระบุคุณลักษณะของพระองค์ด้วยการระบุอย่างชัดเจน(เป๊ะๆ-ผู้แปล)
    ตัมษีล คือ การเปรียบเทียบคุณลักษณะของอัลลอฮกับคุณลักษณะของสิ่งถูกสร้าง เช่น การกล่าวว่า อัลลอฮทรงมีพระหัตถ์และเหมือนกับมือของเรา(ของมนุษย์หรือสิ่งอื่นๆ)

    ทั้งสี่ประการนี้เป็นที่ต้องห้ามในการเชื่อถือศรัทธาต่อพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮ เพราะอัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงตรัสว่า

لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْءٌ وَهُوَ السَّمِيعُ الْبَصِيرُ

ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น
(สูเราะฮฺอัช-ชูรอ 42 : 11)

    อายะฮฺ

لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْءٌ

    “ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์” คือ คำตอบโต้ต่อพวกที่ทำการตักยีฟและตัมษีล คือ ที่เทียบคุณลักษณะของอัลลอฮด้วยคุณลักษณะของมนุษย์ คือ ด้วยการระบุคุณลักษณะของอัลลอฮอย่างชัดเจน ทั้งที่ผู้ที่รู้ดีที่สุดในสิ่งนั้น มีเพียงอัลลอฮ ผู้เดียวเท่านั้น

    ส่วนอายะฮฺ

وَهُوَ السَّمِيعُ الْبَصِيرُ

    “และพระองค์ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” เป็นคำตอบโต้แก่พวกที่ทำการตะหฺรีฟและตะอ์ฏีล เพราะในอายะฮฺนี้ อัลลอฮตรัสว่า พระองค์ทรงมีคุณลักษณะแห่งการได้ยินและมองเห็น สิ่งถูกสร้างก็มีคุณลักษณะของการได้ยินและมองเห็นเช่นกัน แต่แน่นอนที่สุด ทั้งสองคุณลักษณะนี้สำหรับอัลลอฮ ย่อมแตกต่างจากสิ่งถูกสร้าง ดังนั้น ทั้งสองคุณลักษณะข้างต้นจึงมิอาจถูกตะหฺรีฟ(เบี่ยงเบน)ความหมาย และมิอาจถูกตะอ์ฏีล(ปฏิเสธความหมายของมัน)ด้วย และสิ่งนี้(การตะหฺรีฟและตะอ์ฏีล) ก็มิอาจกระทำกับคุณลักษณะอื่นๆของอัลลอฮด้วย

 จงเข้าใจอายะฮฺศิฟาต(อายะฮฺที่กล่าวถึงคุณลักษณะของอัลลอฮ)อย่างตรงไปตรง โดยไม่ตีความ

    เจ้าของบล๊อกอบูสะละฟีย์นั้น ครั้นทำการโต้แย้งหลักฐานของอุซตาซ อบุลเญาซาอ์ หะฟิเซาะฮุลลอฮ เกี่ยวกับการประทับของอัลลอฮเหนืออรัชของพระองค์นั้น เขากล่าวว่า

    “ลักษณะที่พบเห็นจากหลักฐานที่กล่าวถึงอย่างตรงไปตรงมาว่า อัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงอยู่บนชั้นฟ้านั้น แน่นอนว่านั่นมิใช่ความหมายที่แท้จริง มันจำเป็นต้องถูกตีความ เพราะอัลลอฮไม่ควรถูกถามด้วยคำถามว่า : พระองค์อยู่ที่ไหน? ทรงตรัสที่ไหน? ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่เคยกล่าว(ถึงสิ่งนี้)เลย ดังที่เราได้นำเสนอหลักฐานไปแล้ว”

    เราอยากให้ผู้อ่านได้พิจารณาคำพูดที่เราได้ขีดเส้นข้างล่างเอาไว้

    นี่คือ ฐานความเข้าใจของอบูสะละฟีย์ เมื่อต้องการตอบโต้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประทับของอัลลอฮเหนืออรัชของพระองค์ เขาเชื่อว่า หลักฐานต่างๆที่ระบุเช่นนั้น จำเป็นต้องตีความทั้งหมด คือ จะต้องเปลี่ยนความหมาย(ที่ระบุชัดเจนนั้น)ด้วยกับความหมายอื่น และอย่าได้เข้าใจอย่างตรงไปตรงมา(ตามที่ได้ระบุไว้ในอายะฮฺ) นี่คือความสับสน(และการเบี่ยงเบน)ของอบูสะละฟีย์ในการทำความเข้าใจพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮ
    ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ ควาหมายของการเข้าใจอย่างตรงไปตรงมานั้น คือ การเข้าใจความหมายที่นึกคิดได้(ทันที)ในห้วงความคิด เช่น เมื่อเราพูดว่า “อลีมองเห็นสิงโต” ความหมายที่เรานึกขึ้นได้เลย ก็คือ อลีมองเห็นสัตว์ดุที่มีชื่อว่าสิงโต (คือมองเห็นตัวสิงโตจริงๆ) นี่คือความหมายของการเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา
    แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ว่า สิงโต ณ ที่นั้นอาจมีความหมายเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่น หมายความ ผู้กล้าหาญ เช่น เรากล่าวว่า “อลี สิงโตผู้พิชิตศัตรู” ความหมายตรงนี้ ก็จะไม่ใช่ ราชสีย์หรือสิงโตที่เป็นสัตว์ร้าย แต่หมายผู้กล้าหาญ เนื่องจากถูกทำให้เข้าใจได้ด้วยประโยคของมัน ดังนั้น หาเราได้ยินคำว่าสิงโตเพียงคำเดียว แน่นอนว่า ความคิดเราจะต้องนึกคิดขึ้นมาในทันทีว่า หมายความ สิงโตที่เป็นสัตว์ร้าย
    ในการเข้าใจคุณลักษณะของอัลลอฮก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา สอดคล้องเหมาะสมกับความหมายที่ผุกขึ้นมาในห้วงความคิดของเรา โดยปราศจากการตีความไปยังความหมายอื่นอย่างไม่มีหลักฐาน(คือ หากไม่มีหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ก็มิอาจตีความคุณลักษณะของอัลลอฮเป็นอื่นจากความหมายที่แสดงอย่างตรงไปตรงมาในอายะฮฺหรือหะดีษได้) นี่คือสิ่งที่อัลลอฮได้สั่งใช้เราเมื่อต้องการเข้าใจความหมายในอายะฮฺอัล-กุรอาน

    เราลองพิจารณาอายะฮฺต่อไปนี้ให้ดี อัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงตรัสว่า

وَإِنَّهُ لَتَنْزِيلُ رَبِّ الْعَالَمِينَ (192) نَزَلَ بِهِ الرُّوحُ الْأَمِينُ (193) عَلَى قَلْبِكَ لِتَكُونَ مِنَ الْمُنْذِرِينَ (194) بِلِسَانٍ عَرَبِيٍّ مُبِينٍ (195)

และแท้จริงมัน เป็นการประทานลงมาของพระเจ้าแห่งสากลโลก อัรรูห์ ผู้ซื่อสัตย์ ได้นำมันลงมา ยังหัวใจของเจ้าเพื่อเจ้าจักได้เป็นผู้ตักเตือนคนหนึ่ง เป็นภาษาอรับอันชัดแจ้ง
(สูเราะฮฺอัช-ชุอะรออ์ 26 : 192-195)

    ดูสิ อายะฮฺเหล่านี้ยืนยันว่า อัล-กุรอานถูกประทานลงด้วยเป็นภาษาอรับอย่างชัดแจ้ง เข้าใจมันได้ในทันที

    ในอายะฮฺอื่น อัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงตรัสว่า

إِنَّا جَعَلْنَاهُ قُرْآَنًا عَرَبِيًّا لَعَلَّكُمْ تَعْقِلُونَ

แท้จริงเราได้ทำให้คัมภีร์เป็นกุรอานภาษาอรับ เพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้สติปัญญา
(สูเราะฮฺอัซ-ซุครุฟ 43 : 3)

    อายะฮฺนี้ก็เช่นกัน คือ อายะฮฺได้อธิบายว่า อัล-กุรอานนั้นถูกประทานลงด้วยเป็นภาษาอรับ ที่เข้าใจได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องการการตีความไปยังความหมายอื่น
    และอัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ยังสั่งใช้ให้เราปฏิบัติสิ่งที่อัลลอฮได้ทรงประทานลงมา หมายความว่า ให้สอดคล้องกับที่เราเข้าใจได้ในห้วงความคิดของตนเอง อัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงตรัสว่า

اتَّبِعُوا مَا أُنْزِلَ إِلَيْكُمْ مِنْ رَبِّكُمْ وَلَا تَتَّبِعُوا مِنْ دُونِهِ أَوْلِيَاءَ

พวกเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่พวกเจ้าจากพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด
(สูเราะฮฺ อัล-อะอฺร็อฟ 7 : 3)

    เมื่ออัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงประทานอัล-กุรอานเป็นภาษาอรับเพื่อให้ง่ายต่อการใคร่ครวญและเข้าใจ แล้วอัลลอฮก็สั่งใช้ให้ปฏิบัติตามมั้ง ดังนั้น จำเป็นสำหรับเราที่จะต้องเข้าใจอายะฮฺต่างๆที่มีอย่างตรงไปตรงมา ให้สอดคล้องเหมาะสมกับความหมายในภาษาอรับ เว้นแต่ชะรีอะฮฺจะมีประสงค์เป็นอื่นไป(คือ ยกเว้นจะมีหลักฐานมาสนับสนุน-ยืนยันให้ตีความเป็นอื่นได้) เรื่องนี้ก็จะถูกนำไปใช้กับอายะฮฺอื่นๆที่กล่าวถึงคุณลักษณะของอัลลอฮเช่นกัน(เช่น เกี่ยวกับพระหัตถ์ , พระพักตร์ , การประทับเหนือบังลังก์ และอื่นๆ)
    การยึดมั่นอย่างตรงไปตรงมากับหลักฐานที่กล่าวถึงคุณลักษณะของอัลลอฮนั้น คือสิ่งสำคัญที่เราต้องปฏิบัติ เพราะการชี้ไปยัง(หมายถึง การสรุป)คุณลักษณะของอัลลอฮนั้น จำเป็นต้องมีหลักฐาน ไม่มีช่องว่าง(โอกาส)สำหรับความคิดที่จะทำการอธิบายหรือระบุรายละเอียดของคุณลักษณะของอัลลอฮได้
    หากมีใครกล่าวว่า “อย่าเข้าใจอายะฮฺที่พูดถึงคุณลักษณะของอัลลอฮอย่างตรงไปตรงมา เพราะมันมิใช่ความหมายที่แท้จริง?” เราตอบว่า “แล้วความหมายที่แท้จริงที่พวกท่านหมายถึงนั้น คืออะไรล่ะ?”

    หนึ่ง   หากพวกท่านหมายถึง การเข้าใจความหมายที่ระบุไว้ในหลักฐาน ด้วยการเข้าใจคุณลักษณะดังกล่าวของอัลลอฮอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับพระองค์ โดยปราศจากการตัมษีลแล้วละก็ นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งนี้จำเป็นที่บ่าวทุกคนจะต้องน้อมรับและศรัทธา เพราะเป็นไปไม่ได้ที่อัลลอฮจะอธิบายถึงคุณลักษณะต่างๆของพระองค์ แล้วสิ่งนั้นกลับมิใช่สิ่งที่พระองค์ประสงค์ และไม่ได้อธิบายมันแก่ปวงบ่าวของพระองค์
    สอง   หากความหมายที่แท้จริงที่หมายถึงนั้น คือ การเข้าใจคุณลักษณะของอัลลอฮด้วยการตัมษีล นี่ไม่ใช่ความหมายที่ถูกต้อง และแท้จริงแล้ว นี่ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงจากอัล-กิตาบและอัส-สุนนะฮฺที่ได้อธิบายถึงคุณลักษณะของอัลลอฮ เพราะการเข้าใจเช่นนี้นั่น คือ ความเข้าใจแห่งการปฏิเสธและเป็นโมฆะ อีกทั้งยังค้านกับหลักฐานและอิจญ์มาอ์(มติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอ์)ด้ว�“คุณลักษณะของอัลลอฮจำเป็นต้องถูกตีความ” สิ แท้จริงแล้ว มันเป็นคำชี้แจ้งที่ผิดไปจากอิจญ์มาอ์ โปรดพิจารณามติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอ์ ต่อไปนี้ให้ดีเถิด

การเข้าใจคุณลักษณะของออัลลอฮอย่างตรงไปตรงมานั้น คือ อิจญ์มาอ์(มติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอ์)

อัล-อิมาม อัล-ค็อฏฏอบีย์ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า “แนวทางการศรัทธาของสะลัฟต่อคุณลักษณะของอัลลอฮ คือ การยืนยันและเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา พวกเขาปฏิเสธการระบุรูปแบบ(กัยฟิยะฮฺ)ของคุณลักษณะดังกล่าว และพวกเขาจะไม่ทำการตัชบิฮฺ(การเปรียบเทียบคุณลักษณะของอัลลอฮกับคุณลักษณะของสิ่งถูกสร้าง)”[/color][4]

อัล-หาฟิซ อิบนุ อับดิลบัรรฺ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า “อะฮฺลุสสุนนะฮฺมีมติเอกฉันท์กในการยืนยันคุณลักษณะของอัลลอฮตามที่มีอยู่ในอัล-กิตาบและอัส-สุนนะฮฺ พวกเขาเข้าใจมันตามความเป็นจริงของมัน และไม่เข้าใจมันด้วยการอุปมา-เปรียบเทียบ แต่พึงทราบเถิดว่า พวกเขาจะไม่กล่าวถึงรูปแบบของคุณลักษณะดังกล่าว(เช่น การจินตนาการภาพว่า พระหัตถ์ และพระพักตร์ หรือคุณลักษณะอื่นๆของอัลลอฮนั้นเป็นแบบไหน? อย่างไร?)
แตกต่างจากพวกญะฮฺมียะฮฺ , มุอฺตะซิละฮฺ และเคาะวาริจญ์ พวกเขาปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮ พวกเขาจะไม่เข้าใจไปตามความหมายที่แท้จริงของมัน พวกเขาเชื่อว่า พวกเขาที่ยืนยันในคุณลักษณะของอัลลอฮนั้นคือ มุตะชาบิหะฮฺ (พวกที่เปรียบเทียบอัลลอฮกับสิ่งถูกสร้าง)
แต่สำหรับพวกที่ยืนยันในคุณลักษณะของอัลลอฮ(หมายถึง อะฮฺลุสสุนนะฮฺ)นั้น จะถือว่า พวกเขามุอฺตะซิละฮฺ(และอื่นๆ)นั่นแหล่ะที่ปฏิเสธอัลลอฮในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า”[5]

ชัยคฺ มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า “บรรดาชนรุ่นแรกของอุมมะฮฺ(สะละฟุล อุมมะฮฺ)และอิมามทั้งหลายได้มีมติเอกฉันท์ว่า หลักฐานต่างๆที่กล่าวถึงคุณลักษณะของอัลลอฮนั้น จำเป็นต้องเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา ด้วยคุณลักษณะที่คู่ควรสำหรับพระองค์ โดยปราศจากการตะหฺรีฟ และพึงทราบไว้ว่า การเข้าใจคุณลักษณะของอัลลอฮอย่างตรงไปตรงมานั้น มิได้หมายความว่า เราได้ทำการเทียบเคียงอัลลอฮกับสิ่งถูกสร้างแต่อย่างใด”[6]

แล้วทำไมเราถึงต้องเข้าใจหลักฐานต่างๆที่พูดถึงคุณลักษณะของอัลลอฮ(เช่น พระหัตถ์ , พระพักตร์ , ความโกรธกริ้ว , การประทับเหนืออรัช และอื่นๆ)อย่างตรงไปตรงมาด้วย

คำตอบ :

เป็นไปไม่ได้สำหรับอัลลอฮที่จะกล่าวถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วสิ่งนั้นกลับไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ หรือมันกลับสวนทางกับความจริงของมัน โดยปราศจากคำอธิบาย(หรือคำชี้แจง)
การระบุคุณลักษณะสำหรับอัลลอฮนั้น ต้องมีหลักฐาน และการเบนความหมายของคุณลักษณะของพระองค์จากความหมายที่ปรากฏชัด(ในอายะฮฺหรือหะดีษ)นั้น ก็จำเป็นต้องมีหลักฐานเช่นกัน นี่คือมติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอ์อะฮฺลุสสุนนะฮฺ

คำใส่ไคล้ : การกำหนดคุณลักษณะของอัลลอฮ ถือเป็นการตัชบิฮฺ(การเปรียบเทียบอัลลอฮกับสิ่งถูกสร้าง)

นี่คือคำใส่ไคล้อื่นอีกประการหนึ่งจากอบูสะละฟีย์ในบทความบางบทของเขาต่อผู้ที่เชื่อว่า อัลลอฮทรงประทับอยู่เหนือชั้นฟ้า เขากล่าวว่า พวกที่เชื่อในคุณลักษณะเช่นนั้น ถือเป็น มุญัสสิมะฮฺ หรือ มุชับบิหะฮฺ หมายถึง พวกเขาที่เปรียบเทียบอัลลอฮกับสิ่งถูกสร้าง

และนี่คือสิ่งที่ท่านอะหฺมัด บิน อับดุลหะลีม อัล-หะรอนีย์ได้กำหนดเกณฑ์(คุณลักษณะของพวกเขามุอฺตะซิละฮฺและญะฮฺมิยะฮฺ)เอาไว้ โดยท่านได้กล่าวว่า “พวกมุอฺตะซิละฮฺ , ญะฮฺมิยะฮฺ และพวกที่คล้ายคลึงพวกเขาที่ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮนั้น พวกเขากล่าวว่า ทุกคนที่กำหนด(เชื่อใน)คุณลักษณะสำหรับอัลลอฮนั้น ถือเป็นมุญัสสิมะฮฺ หรือมุชับบิหะฮฺ ใช่เพียงแค่นั้น บางคนในหมู่พวกเขายังกล่าวว่า บรรดาอิมามคนสำคัญที่มีชื่อเสียง(เช่น อิมามมาลิก , อิมามชาฟิอีย์ , อิมามอะหฺมัด และผู้เจริญรอยตามพวกท่าน)เป็นมุญัสสิมะฮฺหรือมุชับบิหะฮฺ”
นี่คือเจ้าของบล๊อกอบูสะละฟีย์ผู้เจริญรอยตามแนวทางมุอฺตะซิละฮฺและญะฮฺมิยะฮฺ ไม่แตกต่างอะไรเลยระหว่างเขากับคนกลุ่มนั้น แต่สบายใจเถิด อัลหัมดุลิลลาฮ คำใส่ไคล้เช่นนี้ ถูกตอบโต้จากบรรดาอุละมาอ์รุ่นก่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น พิจารณาคำกล่าวของพวกเขาต่อไปนี้ให้ดีเถิด

ท่านนุอัยมฺ บิน หัมมาด อัล-หาฟิซ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า “ผู้ใดเปรียบเทียบอัลลอฮกับสิ่งถูกสร้าง เขาเป็นกาฟิร ผู้ใดปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮที่พระองค์ทรงกำหนดให้แก่พระองค์เอง เขาเป็นกาฟิร แต่ทว่า การกำหนดคุณลักษณะตามที่พระองค์ทรงกำหนดให้แก่พระองค์เอง หรือที่เราะสูลของพระองค์ได้ทรงกำหนด(แจ้ง)ไว้นั้น ไม่ใช่การตัชบิฮฺ”

ท่านอิสหาก บิน เราะหุวะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า “ที่เรียกว่าตัชบิฮฺ คือ เมื่อเรากล่าวว่า ‘พระหัตถ์ของอัลลอฮเหมือนกับมือของเรา หรือการได้ยินของพระองค์เหมือนกับการได้ยินของเรา’ นี่แหล่ะที่เรียกว่า ตัชบิฮฺ แต่ทว่า หากเรากล่าวตามสิ่งที่อัลลอฮทรงตรัสเอาไว้ คือ กล่าวว่า อัลลอฮทรงมีพระหัตถ์ การได้ยิน และการมองเห็น และเราไม่กล่าวว่า ‘ลักษณะพระหัตถ์ของพระองค์เป็นอย่างไร?’ และไม่กล่าวว่า ‘คุณลักษณะของอัลลอฮนั้นเหมือนกับคุณลักษณะของเรา’ เช่นนี้ ไม่ใช้การตัชบิฮฺ เพราะพึงทราบเถิดว่า อัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทรงตรัสว่า

لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْءٌ وَهُوَ السَّمِيعُ الْبَصِيرُ

ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น
(สูเราะฮฺอัช-ชูรอ 42 : 11)

ชัยคฺ อัล-อัลบานีย์ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า “หากการเชื่อในการอยู่เหนือ(สิ่งถูกสร้างทั้งมวล)สำหรับอัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา หมายถึงการตัชบิฮฺ ทุกคนที่เชื่อในคุณลักษณะอื่นๆสำหรับอัลลอฮ เช่น การเชื่อว่าอัลลอฮทรงอำนาจ , อัลลอฮทรงได้ยิน หรืออัลลอฮทรงมองเห็น คนที่เชื่อเช่นนี้ ก็จะต้องถูกเรียกว่าเป็นมุชับบิหะฮฺด้วย แต่ทว่า ไม่มีมุสลิมคนใดในวันนี้ที่อ้างตนเป็นอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ กล่าวว่า ผู้ที่เชื่อในคุณลักษณะดังกล่าวสำหรับอัลลอฮนั้น เป็นมุชับบิหะฮฺ ซึ่งต่างจากพวกที่ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮ นั่นคือ พวกมุอฺตะซิละฮฺ”[7]

สรปแล้ว หากเราที่กล่าวว่า อัลลอฮทรงประทับอยู่เหนือชั้นฟ้า เป็นพวกมุชับบิหะฮฺ ดังนั้นท่านก็จะต้องกล่าวแก่คนที่เชื่อในคุณลักษณะแห่งการได้ยิน การมองเห็น และการมีอยู่ของอัลลอฮ ว่าเป็นมุชับบิหะฮฺด้วย เพราะคุณลักษณะเหล่านี้ ก็มีอยู่กับสิ่งถูกสร้างเช่นกัน แต่ว่า แน่นอน ท่านจะหลีกหนี และไม่กล่าวเช่นนั้น

ดังนั้น การที่เรากล่าวว่า อัลลอฮทรงอยู่เหนือชั้นฟ้า เหนือสิ่งถูกสร้างทั้งมวล นั่นมิได้หมายความว่า อัลลอฮทรงเหมือนกับสิ่งถูกสร้าง ดังนั้นเราจึงไม่ใช่มุชับบิหะฮฺ ดังที่ท่านอ้าง(ใส่ร้าย)

คนที่ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮ หรือกล่าวว่า ‘อัลลอฮมิได้อยู่เหนือชั้นฟ้า’ เพราะ(เชื่อว่า)เรามิอาจเข้าใจอายะฮฺต่างๆที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ แต่ต้องเข้าใจตามความอื่น(ที่ได้ตีความไป) พวกเขานั่นแหล่ะคือมุชับบิหะฮฺ? การใส่ร้ายนี้ก็จะกลับกัน?

หลักฐานก็คือ พึงทราบไว้ว่า ทุกๆคนที่ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮนั้น พวกเขาได้ทำการปฏิเสธก่อนที่จะทำการเปรียบเทียบคุณลักษณะของอัลลอฮกับสิ่งถูกสร้าง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการคิดว่า “หากเรายืนยันในคุณลักษณะแห่งพระหัตถ์ , พระพักตร์ และคุณลักษณะอื่นๆแก่อัลลอฮ นี่เท่ากับว่า เราได้ทำการเปรียบเทียบอัลลอฮกับสิ่งถูกสร้าง”

และเพื่อให้คุณลักษณะของอัลลอฮไม่เหมือนกับสิ่งถูกสร้าง พวกเขาจึงปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮ คือ ปฏิเสธคุณลักษณะพระหัตถ์ , พระพักตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ นี่คือความคิดเริ่มแรกของพวกมุอ์ฏิละฮฺ(พวกปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮ )จนกระทั่งบรรดาอุละมาอ์กล่าวว่า “กุลลุ มุอ์ฏีล มุชับบิฮฺ” หมายถึง ทุกคนที่ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮนั้น คือผู้ที่เปรียบเทียบอัลลอฮกับสิ่งถูกสร้าง(ทำการตัชบิฮฺ) เพราะกลัวที่จะเปรียบเทียบอัลลอฮ สุดท้ายพวกเขาจึงปฏิเสธคุณลักษณะของพระองค์ แล้วใครล่ะ คือมุชับบิหะฮฺ หรือมุญัสสิมะฮฺตัวจริง?

ในตอนต่อไปของบทความเรื่องนี้ เราจะนำเสนอเสนอหลักฐานต่างๆจากอัล-กุรอานและอัส-สุนนะฮฺเกี่ยวกับการประทับของอัลลอฮเหนือชั้นฟ้า
อัลลอฮเท่านั้นที่ทรงประทานเตาฟีก ขออัลลอฮประทานความง่ายดายในการนำเสนอบทความตอนต่อไป
________________________________________
[1]  อัล-อะกีดะฮฺ อัล-วาสิฏียะฮฺ , อะหฺมัด บิน อับดุลหะลีม อัล-หะรอนีย์ อิบนุ ตัยมียะฮฺ , หน้า 8 , ดารุลอะกีดะฮฺ , พิมพ์ครั้งที่ 1 , ปีฮิจเราะฮฺที่ 1426
[2] อะกอวิลุษ ษิกูต ฟี ตะอ์วีลิล อัสมาอ์ วัศ-ศิฟาต วัล-อายาติ อัล-มุหฺกะมาต วัล-มุตะชาบิหาต , มัรอีย์ บิน ยูสุฟ อัล-หัมบะลีย์ อัล-มักดิสีย์ , ตรวจทานโดย ชุอัยบฺ อัล-อัร-เนาษฺ , หน้า 234 , มุอัสสะสะฮฺ อัร-ริสาละฮฺ , พิมพ์ครั้งที่ 1 , ปีฮิจเราะฮฺที่ 1406
[3]  คำอธบายนี้ เรานำมาจาก ตักรีบุต ตัดมูริยะฮฺ , ชัยคฺ มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน , หน้า 45-46 , ดารุล อาษาร , พิมพ์ครั้งที่ 1 , ปีฮิจเราะฮฺที่ 1422
[4] ดู มุคตะศ็อร อัล-อุลุวฺ ลิล อะลิยยิล เฆาะฟาร , อัล-หาฟิซ ชัมสุดดีน อัซ-ซะฮะบีย์ , ตรวจทานโดย ชัยคฺ มุหัมมัด นาศิรุดดีน อัล-อัลบานีย์ , หน้า 38 , อัล-มักตับ อัล-อิสลามีย์ , พิมพ์ครั้งที่ 2 , ปีฮิจเราะฮฺที่ 1412
[5] อ้างแล้ว
[6]  ตักรีบุต ตัดมูรียะฮฺ หน้า 46
[7] ดู มุคตะศ็อร อัล-อุลุวฺ หน้า 67
"


✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
โดย มุหัมมัด อับดุฮฺ ตัวสิกัล


แปลและเรียบเรียงโดย Zunnur

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น