อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

น้ำที่ใช้ทำความสะอาดในอิสลาม



   
 เป็นที่ทราบดีจากบทเรียนที่ผ่านมาแล้วว่า ความสะอาดของร่างกายนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญ ( شَرْطٌ ) ประการหนึ่งของการปฏิบัติศาสนกิจหลาย อย่าง เช่น การละหมาดและการฏอวาฟเป็นต้น ดังนั้นผู้ที่ร่างกายเปื้อนนะยิสหรือมีหะดัษนั้นจำเป็นต้องชำระร่างกายให้สะอาดเสียก่อน

นะยิสที่เปื้อนให้ชำระด้วยการใช้น้ำสะอาดล้างออกจนเกลี้ยง ส่วนหะดัษเล็กและหะดัษใหญ่ก็ให้ชำระด้วยการอาบน้ำละหมาดและการอาบน้ำฆุสลฺ ตามแต่กรณี ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถใช้น้ำชำระได้ตามปกติ ก็ให้ชำระด้วยวิธีอื่นแทน เช่น เมื่อไม่สามารถใช้น้ำชำระนะยิสจากการปัสสาวะหรือ อุจาระได้ (เรียกว่าอิสตินญาอฺ) ก็ให้ใช้ก้อนหินหรือวัสดุอื่นๆที่มีผิวหยาบเช็ดทำความสะอาดคราบนะยิสนั้นแทน (เรียกว่าอิสติจมาร) หรือไม่สา มารถอาบน้ำละหมาดหรืออาบน้ำฆุสลฺได้ ก็ให้ใช้วิธีตะยัมมุม คือใช้ดินฝุ่นที่สะอาดแทนการใช้น้ำ ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าสิ่งที่มีคุณสมบัติสามารถ ชำระนะยิสและชำระหะดัษได้ คือน้ำและดิน ดังที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงมีรับสั่งไว้ว่า

وَأَنْزَلْنَا مِنَ السَّمَاءِ مَاءً طَهُورًا

“และเราได้ประทานน้ำที่สะอาด ( คือมีคุณสมบัติชำระสิ่งสกปรกได้ ) ลงมาจากท้องฟ้า”

ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน อายะฮ์ที่ 48

น้ำที่ถูกประทานลงมาจากฟ้าคือน้ำฝน แหล่งกำเนิดของน้ำจืดหลาย ๆ ชนิด ท่านหุซัยฟะฮ์อิบนุลยะมาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซู ลุลลอฮ์  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

وَجُعِلَتْ لَنَا الأَرْضُ كُلُّهَا مَسْجِدًا وَجُعِلَتْ تُرْبَتُهَا لَنَا طَهُورًا إِذَا لَمْ نَجِدْ الْمَاءَ

“และแผ่นดินทั้งหมดได้ถูกทำให้เป็นมัสยิดสำหรับพวกเรา และดินฝุ่นก็ถูกทำให้เป็นสิ่งที่ใช้ทำความสะอาดได้สำหรับพวกเรา เมื่อพวกเราไม่มีน้ำ"
บันทึกโดยมุสลิม

น้ำแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.น้ำฏ่อฮู้ร ( اَلْمَاءُ الطَّهُوْرُ ) คือ น้ำสะอาดที่มีคุณสมบัติใช้ชำระทำความสะอาดสิ่งอื่นได้ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าน้ำมุฏลัก ( اَلْمَاءُ الْمُطْلَقُ ) เป็นน้ำสะ อาดธรรมดาที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป คงลักษณะเดิมอยู่ ไม่เปลี่ยนรูปสมบัติ สี,กลิ่นและรส น้ำประเภทนี้จัดเป็นน้ำที่สะอาดและสามารถ นำมาใช้ทำความสะอาดสิ่งสกปรกอื่นอื่นๆได้ซึ่งมีหลายชนิด  เช่น น้ำฝน น้ำค้าง น้ำทะเล น้ำแม่น้ำ น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำตาน้ำ น้ำหิมะ น้ำแข็ง น้ำลูกเห็บ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรับสั่งว่า

وَيُنَزِّلُ عَلَيْكُمْ مِنَ السَّمَاءِ مَاءً لِيُطَهِّرَكُمْ بِهِ

“และพระองค์ได้ประทานน้ำ (ฝน) ลงมาจากท้องฟ้า เพื่อพระองค์จักชำระพวกท่านให้สะอาดด้วยน้ำ (ฝน) นั้น”

ซูเราะฮ์อัลอันฟาล อายะฮ์ที่ 11

น้ำฝนเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั้งหลาย เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร และบ่อน้ำต่าง ๆ และอัลลอฮ์ยังให้น้ำฝนส่วนหนึ่ง ไหลซึมลงสะสมอยู่ใต้ดิน กลายเป็นน้ำบาดาล น้ำตาน้ำและน้ำพุ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรับสั่งว่า

وَأَنْزَلْنَا مِنَ السَّمَاءِ مَاءً بِقَدَرٍ فَأَسْكَنَّاهُ فِي الْأَرْضِ وَإِنَّا عَلَى ذَهَابٍ بِهِ لَقَادِرُونَ

“และเราให้น้ำลงมาจากท้องฟ้า (ฝน) ตามปริมาณ แล้วเราได้ให้มัน (ส่วนหนึ่ง) ซึมอยู่ในแผ่นดิน และแท้จริงเราเป็นผู้สามารถทำให้ มันเหือดแห้ง”

ซูเราะฮ์อัลมุอฺมินูน อายะฮ์ที่ 18

ท่านค่อลีฟะฮ์อาลี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า

“ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เรียกให้คนรับใช้นำน้ำซัมซัมไปให้หนึ่งกระป๋อง แล้วท่านก็ดื่มน้ำซัมซัมนั้นและอาบน้ำ ละหมาดด้วย ”
บันทึกโดยอะหมัด

ส่วนน้ำทะเลซึ่งเป็นแหล่งน้ำเค็มธรรมชาติและรวมถึงมหาสมุทรด้วยนั้น ท่านอาบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า มีชายคนหนึ่งถามท่าน รอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า พวกเราโดยสารเรืออยู่ในทะเล เรานำน้ำ (จืด) สำหรับใช้บริโภคไปด้วยเพียงเล็กน้อย หากเรานำมา อาบน้ำละหมาดพวกเราก็จะกระหายและไม่มีดื่มในที่สุด เช่นนั้นพวกเราจะใช้น้ำทะเลอาบน้ำละหมาดแทนได้หรือไม่ ? ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า

هُوَ الطَّهُوْرُ مَاؤُهُ الْحِلُّ مَيْتَتُهُ

“ ทะเลนั้นน้ำของมันสะอาดใช้ทำความสะอาดได้ และสัตว์ทะเลที่ตายก็เป็นที่อนุมัติ (หะลาล) ”
บันทึกโดยอะหมัด,อาบูดาวูด,อัดติรมิซีย์และอิบนุมาญะฮ์

2.น้ำฏอเฮร ( اَلْمَاءُ الطَّاهِرُ ) คือ น้ำสะอาดแต่ไม่มีคุณสมบัติที่จะใช้ชำระหรือทำความสะอาดสิ่งอื่นได้ ได้แก่น้ำสะอาดที่มีสิ่งสะอาดเจือปน ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงกับรูปสมบัติ สี,กลิ่นหรือรสของน้ำอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น น้ำหวาน น้ำเชื่อม น้ำชา น้ำกาแฟ น้ำยาอุทัย น้ำผสมน้ำมันหอม ระเหยต่าง ๆ น้ำประเภทนี้จัดเป็นน้ำสะอาดสามารถใช้บริโภคและดื่มกินได้ แต่ไม่สามารถนำไปชำระนะยิสหรือยกหะดัษได้ ตามทรรศนะที่มีน้ำ หนัก ทั้งนี้มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งอนุโลมให้ใช้น้ำประเภทนี้ชำระนะยิสหรืออาบน้ำฆุสลฺเป็นน้ำแรก ๆได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจำเป็นว่าต้องใช้น้ำสะอาด หรือน้ำมุฏลัก ( ประเภทที่ 1 ) ราดชำระตามครั้งสุดท้ายอีกครั้งหนึ่งด้วย โดยอ้างตัวบทหลักฐานจากรายงานของท่านหญิงอุมมุอะฏียะฮ์ว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใช้ให้อาบน้ำศพท่านหญิงซัยหนับด้วยน้ำใบพุทราและน้ำการบูร

3.น้ำนะยิส ( اَلْمَاءُ النَّجِسُ ) คือน้ำที่เป็นนะยิสหรือมีนะยิสปนเปื้อนอยู่ ทำให้เปลี่ยนสี,กลิ่นหรือรส น้ำประเภทนี้   ไม่อนุญาตให้นำมาบริโภค หรือใช้ ทำความสะอาดชำระล้างนะยิสหรือยกหะดัษได้ ไม่ว่าน้ำนั้นจะมีจำนวนน้อยหรือมากเพียงใดก็ตาม ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

إِنَّ الْمَاءَ طَاهِرٌ إِلاَّ أَنْ تَغَيِّرَ رِيْحُهُ أَوْ طَعْمُهُ أَوْ لَوْنُهُ بِنَجَاسَةٍ تَحْدُثُ فِيْهِ

“ แท้จริงน้ำนั้นสะอาดอยู่เสมอ ยกเว้นเมื่อกลิ่นของน้ำหรือรสชาตของน้ำหรือสีของน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากมีนะยิสตกลง ไปเจือปนอยู่ ”
บันทึกโดยอัลบัยฮะกีย์

ดังนั้นน้ำที่มีจำนวนน้อย ไม่ถึงสองกุลละฮ์ ( 216 ลิตร ) เมื่อมีนะยิสเจือปนอยู่ถือว่าน้ำนั้นเป็นนะยิสทันที แม้ว่าจะไม่เปลี่ยนรูปสมบัติอย่างหนึ่ง อย่างใดเลยก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม เคยห้ามผู้ที่ตื่นนอนเอามือจุ่มหรือวักน้ำในภาชนะ เพราะจะทำให้ น้ำในภาชนะปนเปื้อนนะยิสได้ ท่านอาบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

إِذَا اسْتَيْقَظَ أَحَدُكُمْ مِنْ نَوْمِهِ فَلاَ يُدْخِلْ يَدَهُ فِي الإِنَاءِ حَتَّى يَغْسِلَهَا ثَلاَثَ مَرَّاتٍ ، فَإِنَّ أَحَدَكُمْ لاَيَدْرِي
أَيْنَ بَاتَتْ يَدُهُ أَوْ أَيْنَ كَانَتْ تَطُوْفُ يَدُهُ

“ เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านตื่นนอนเขาจงอย่าจุ่มมือของเขาลงในภาชนะ จนกว่าจะล้างมือสามครั้งเสียก่อน เพราะว่าเขาไม่อาจรู้ได้ ว่ามือของเขานั้นซุกอยู่ตรงไหนหรือวนเวียนอยู่ตรงไหนบ้างขณะที่เขานอนหลับ ”
บันทึกโดยอาบูดาวูด

และท่านรอซูลุลลอฮ์ยังใช้ให้เทน้ำและล้างภาชนะที่เปื้อนน้ำลายสุนัข ท่านอาบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

إِذَا وَلَغَ الْكَلْبُ فِي إِنَاءِ أَحَدِكُمْ فَلْيُرِقْهُ ثُمَّ لِيَغْسِلْهُ سَبْعَ مِرَارٍ

“ เมื่อสุนัขเลียภาชนะของคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่าน เขาจงเทมันทิ้งเสีย แล้วจงล้างมันเจ็ดครั้ง ”
บันทึกโดยมุสลิม

และหากว่าน้ำที่มีนะยิสปนเปื้อนอยู่นั้นมีปริมาณมากกว่าสองกุลละฮ์ขึ้นไป และนะยิสที่ปนเปื้อนนั้นทำให้น้ำเปลี่ยนรูปสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด (สี,กลิ่นและรส) ก็ถือว่าน้ำนั้นเป็นน้ำนะญิสทันทีเช่นกัน และไม่อนุญาตให้นำมาใช้บริโภคดื่มกิน ทำความสะอาด อาบน้ำละหมาดหรือยกหะดัษ โดยเด็ดขาด ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยกล่าวว่า

إِذَا كَانَ الْمَاءُ قُلَّتَيْنِ لَمْ يَحْمِلْ الْخَبَثَ

“ เมื่อน้ำมีปริมาณถึงสองกุลละฮ์ น้ำนั้น จะไม่รับความสกปรก (คือจะไม่เป็นนะยิส) ”
บันทึกโดยอาบูดาวูด

และในบันทึกของอัดดารุกุฏนีย์ระบุว่า

لَمْ يَنْجُسْ

“ น้ำนั้นจะไม่เป็นนะยิส ”

คงคุณสมบัติความเป็นน้ำสะอาดอยู่ตามเดิม ท่านอาบูอุมามะฮ์อัลบาฮิลีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะ ซัลลัม กล่าวว่า

إِنَّ الْمَاءَ لاَ يُنَجِّسُهُ شَيْءٌ إِلاَّ مَا غَلَبَ عَلَى رِيحِهِ وَطَعْمِهِ وَلَوْنِهِ

“ แท้จริงน้ำนั้นจะไม่มีสิ่งใดทำให้มันเป็นนะยิสได้ นอกจากว่าสิ่งนั้นมีอิทธิพลทำให้กลิ่นหรือรสหรือสีเดิมของน้ำเปลี่ยนไป ”
บันทึกโดยอิบนุมาญะฮ์

และในบันทึกของท่านอิหม่ามอัดดารุกุฏนีย์ จากท่านเษาบาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

الْمَاءُ طَهُورٌ إِلاَّ مَا غَلَبَ عَلَى رِيحِْهِ أَوْ عَلَى طَعْمِهِ

“ น้ำนั้นสะอาดและใช้ทำความสะอาดได้ ยกเว้นเมื่อมีสิ่งที่ทำ  ให้กลิ่นของน้ำหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม ”

แต่หากน้ำนั้นมีมากกว่าสองกุลละฮ์และไม่ทำให้รูปสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดของน้ำเปลี่ยนแปลง ถือว่าน้ำนั้นสะอาดใช้บริโภคได้ ทำความสะอาด อาบน้ำละหมาดได้ ยกหะดัษได้

4.ประเด็นการใช้น้ำที่โดนแดดเผาหรือน้ำมุชัมมัส ( اَلْمَاءُ الْمُشَمَّسُ ) คือ น้ำมุฏลักที่ตากแดดหรือโดนแสงอาทิตย์จนร้อน ประเด็นนี้ได้รับความ สนใจในหมู่นักวิชาการ ว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ตามปกติหรือไม่ ? เพราะเดิมทีน้ำนี้เป็นน้ำมุฏลักที่มีหุก่มสะอาดและใช้ทำความสะอาดได้ แต่เมื่อ โดนแสงแดดจนร้อนและเปลี่ยนสภาพบางอย่าง เช่นเกิดฝ้าลอยจับตัวที่ผิวน้ำหรือเกิดฟองอากาศในน้ำนั้น ประกอบด้วยมีตัวบทหลักฐานที่ระบุ ห้ามใช้น้ำที่ถูกแดดเผา จึงทำให้เกิดมุมมองและความเข้าใจตลอดจนคำวินิจฉัยที่แตกต่างกันในระหว่างนักวิชาการ

กล่าวคือนักวิชาการส่วนใหญ่(ญุมฮูร) ซึ่งประกอบด้วยมัสฮับหะนะฟีย์,มาลิกีย์,ฮันบะลีย์และนักวิชาการอาวุโสในมัสฮับชาฟิอีย์ส่วนหนึ่ง เช่นท่าน อิหม่ามนะวะวีย์ มีความเข้าใจและเชื่อว่าน้ำมุชัมมัส นั้นยังคงความเป็นน้ำมุฏลักอยู่ตามเดิม ยังเป็นน้ำที่สะอาดและสามารถนำ ไปชำระนะยิส, อาบน้ำละหมาดและยกหะดัษได้

ในขณะที่นักวิชาการอีกส่วนหนึ่งมีความเข้าใจว่าน้ำที่ถูกแดดเผาจนร้อนนั้น มีหุก่มเป็นมักโร๊ะฮ์ ( مَكْرُوْهٌ ) ไม่สมควรใช้ ซึ่งนักวิขาการกลุ่มนี้ยังมีมุม มองและเหตุผลคำอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้มักโร๊ะฮ์ที่แตกต่างกัน ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์เข้าใจและวินิจฉัยว่า ( อันที่จริงแล้วนั้น น้ำที่ถูกแดดเผา มิได้มักโร๊ะฮ์อะไรมากมายนัก มิไดมักโร๊ะฮ์เพราะเหตุผลทางด้านศาสนา แต่มักโร๊ะฮ์เพราะเหตุผลด้านการแพทย์และสุขภาพ เพราะ มีความเป็น ไปได้ว่าน้ำที่ถูกแดดเผาจนร้อนนั้นอาจเป็นอันตรายกับร่างกายได้ ) ท่านอิหม่ามอัลมาวัรดีย์ นักวิชาการอาวุโสในมัสฮับชาฟิอีย์ท่านหนึ่งวินิจฉัยว่า ( อนุญาตให้ใช้ทำความสะอาดภายนอกได้เท่านั้น เช่นอาบน้ำละหมาดหรือ ยกหะดัษ แต่มักโร๊ะฮ์ที่จะนำไปดื่มกิน )

อย่างไรก็ตามนักวิชาการกลุ่มนี้ได้กำหนดกรอบเหตุผลพิจารณาว่าน้ำมุชัมมัสเป็นที่มักโร๊ะฮ์ใช้หรือไม่นั้น ให้พิจารณาตรงที่ว่าเมื่อน้ำนั้นอยู่ในภาชนะที่อาจเป็นสนิมได้ เช่นภาชนะทำจากเหล็กหรือสังกะสี หรืออยู่ในภาชนะที่อาจหลอมละลายได้ง่าย เช่นภาชนะทำจากตะกั่วหรือทองเหลือง ซึ่งเมื่อโลหะเหล่านี้โดนความร้อนสูงๆเป็นเวลานานอาจละลายปนเปื้อนในน้ำ และเมื่อนำน้ำไปใช้ย่อมเป็นอันตรายกับร่างกายอย่างแน่นอน เช่นอาจเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังบางชนิด หรืออาจเป็นสาเหตุความผิดปกติของพันธุกรรมก็ได้นักวิชาการกลุ่มนี้ยังอ้างรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ว่า ครั้งหนึ่งท่านหญิงอาอิชะฮ์นำน้ำมาวางกลางแดดเพื่อให้น้ำอุ่น เมื่อท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นจึงกล่าวว่า

“ โอ้หุมัยรออฺ (ชื่อหรือฉายาของท่านหญิงฯ) เธออย่าทำอย่างนี้ เพราะมันจะทำให้เป็นโรคด่างได้ ”
บันทึกโดยอัดดารุกุฏนีย์และอัลบัยฮะกีย์

ท่านอิหม่ามอัลบัยฮะกีย์ผู้บันทึกหะดีษบทนี้ระบุว่าหะดีษนี้ไม่ซอเฮี๊ยะหฺ (ฎออีฟญิดดัน,อ่อนมากๆ) ดังนั้นจึงไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานกำหนด ข้อบังคับ (หุก่ม) ทางศาสนาได้.

ดังนั้นทรรศนะที่มีน้ำหนักและถูกต้องที่สุด คือน้ำมุชัมมัสนั้นเป็นน้ำสะอาดและนำไปใช้ทำความสะอาดได้ ทั้งอาบน้ำละหมาด อาบน้ำยกหะดัษ(ฆุสลฺ)และชำระนะยิส โดยไม่มักโร๊ะฮ์แต่อย่างใด

والله تعالى أعلم

โดย อ.อับดุลลอฮฺ สุไลหมัด

http://www.warasatussunnah.net

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 มีนาคม 2565 เวลา 02:53

    แสวงหาสัจธรรมจากอิสลาม: น้ำที่ใช้ทำความสะอาดในอิสลาม >>>>> Download Now

    >>>>> Download Full

    แสวงหาสัจธรรมจากอิสลาม: น้ำที่ใช้ทำความสะอาดในอิสลาม >>>>> Download LINK

    >>>>> Download Now

    แสวงหาสัจธรรมจากอิสลาม: น้ำที่ใช้ทำความสะอาดในอิสลาม >>>>> Download Full

    >>>>> Download LINK

    ตอบลบ