อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

การตะวัสสุ้ลที่ไม่ถูกต้องตามบัญญัติอิสลาม




การตะวัสสุ้ลที่ไม่ถูกต้องตามบัญญัติศาสนา หมายถึง การกระทำที่ไม่มีหลักฐานที่มาจากอัลกุรอ่านและสุนนะฮฺ ไม่มีแบบอย่างมาจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ ซึ่งท่านเราะสู้ลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้รับรองไว้ การตะวัสสุ้ล ประเภทนี้ได้แก่

1. การไปกุบูรและให้คนตายช่วยขอดุอาอฺให้

การไปกุบูรและให้คนตายช่วยขอดุอาอฺให้ ในการนี้ไม่ปรากฏหลักฐานจากกุรอ่านและหะดีษ บรรดาเศาะหาบะฮฺ ก็ไม่เคยไปยังกุบูรของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมหรือบุคคลอื่นที่ตายไปแล้ว ช่วยขอดุอาอฺให้ หรือเป็น สื่อนำดุอาอฺไปขอต่ออัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา แท้จริงการเข้าใกล้ชิดกับอัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการไม่ใช่วิธีการขอผ่านคนตาย ที่จริงแล้วการใช้สื่อกลางที่จะให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ จากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา โดยวิธีการประกอบการงานที่ดีงามซึ่งเป็นตัวที่จะนำไปสู่การใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา (1) หรือการให้ความสำคัญกับกุบูร เช่น การทำกุบูรให้เป็นมัสยิด สายรายงานจากท่าน หญิงอาอีชะฮฺได้กล่าวว่า:

أن أم سلمة ذكرت لرسول الله صلى الله عليه وسلم كنيسة رأتها بأر الحبشة يقال لها : مارية فذكرت له مارأت فيها من الصور فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم : أو لئك قوم إذا مات فيهم العبد الصالح أو الرجل الصالح بنوا على قبره مسجدا وصوروا فيه تلك الصور أولئك شرار الخلق عند الله.

“จากอาอีชะฮฺ แท้จริงนางได้กล่าวกับท่านเราะสู้ลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า นางนั้นได้เห็นโบถส์ที่ หะบะชะฮฺ ซึ่งมันถูกเรียกว่ามารียะฮฺและนางก็ได้เห็นรูปปั้นในโบถส์นั้น ดังนั้นเราะสู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะ ลัยฮิวะสัลลัมก็กล่าวกับนางว่า กลุ่มชนเหล่านั้นเมื่อมีบ่าวคนหนึ่งที่เป็นคนดีหรือชายคนหนึ่งที่เป็นคนดี ได้ตายไปจากพวกเขา พวกเขาได้สร้างมัสยิดบนกุบูรและสร้างรูปปั้นในนั้น ซึ่งเป็นการสร้างที่ชั่วช้ายิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา”
บุคคอรียฺ, ศอหีหฺ, หมวดการละหมาด, บรรพการละหมาดบัยอะฮฺ, เลขที่ : 424

อิบนุตัยมียะฮฺได้กล่าวว่า พวกเขาเหล่านั้นได้รวมเอาฟิตนะฮฺสองอย่างมาไว้ด้วยกัน คือ ฟิตนะฮฺของกุบูรต่างๆ และฟิตนะฮฺของการทำให้เหมือน(รูปปั้น)

ฟิตนะฮฺกุบูร คือ พวกเขาได้สร้างมัสยิดบนกุบูรและพวกเขาได้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกห้าม ด้วยการอิบาดะฮฺต่อเจ้า ของกุบูร

ฟิตนะฮฺการทำให้เหมือน (รูปปั้น) คือ พวกเขาได้สร้างรูปปั้นของคนดี ซึ่งพวกเขาได้ทำให้มันเป็นที่มุ่งหวังและเป็น เป้าหมายของพวกเขา และพวกเขาก็เคารพภักดีต่อรูปปั้นเหล่านั้น

                               หะดีษดังกล่าวนี้เป็นการบ่งบอกให้ออกห่างจากการสร้างมัสยิดบนกุบูร การให้ความสำคัญกับคนตายในกุบูรและ การเคารพภักดีต่อพวกเขาเพราะแท้จริงการอิบาดะฮฺต่อสิ่งอื่น ที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺนั้น ถือเป็นชีริก (2)
การละหมาดบนกุบูรได้ถูกห้ามเช่นเดียวกันกับการละหมาดในขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก เพราะมัน เป็นช่วงเวลาที่พวกมุชริกีนทำการเคารพบูชาต่อดวงอาทิตย์ ดังนั้นเป็นการห้ามสำหรับอุมมะฮฺของท่านที่จะทำ การละหมาด ในขณะนั้นถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้มีเจตนาหรือเป้าหมายเดียวกับพวกมุชริกีน (3) ท่านนบี ศ็อลลัลลอ ฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า

لا تجلسوا على القبور ولا تصلوا إليها

“พวกท่านอย่าได้นั่งบนกุบูร และอย่าได้ละหมาดที่กุบูร”
มุสลิม, ศอหีหฺ, หมวดการห้ามนั้นบนกุบูรและการห้ามละหมาดที่กุบูร, บรรพณะนาซะฮฺ, เลขที่ : 972

จากหะดีษดังกล่าว หมายถึง พวกท่านอย่าได้ทำให้เป็นกิบลัต และเมื่อชายคนหนึ่งได้มุ่งไปยังกุบูรเพื่อการ ละหมาด สิ่งเหล่านี้เป็นการปฏิบัติเกินเลยต่ออัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา และท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะ สัลลัม ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับศาสนาของต่ออัลลอฮฺ และเป็นการอิบาดะฮฺในศาสนาที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะ ตะอาลาไม่ทรงอนุญาต (4)

2. การตะวัสสุ้ลด้วกับเกียรติของท่านนบี

การตะวัสสุ้ลด้วยกับเกียรติของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม การตะวัสสุ้ลเช่นนี้ ไม่มีในบัญญัติของ อัลอิสลามเพราะบรรดาเศาะหาบะฮฺและนักวิชาการในยุคตาบิอีนไม่เคยปฏิบัติสิ่งดังกล่าว ส่วนการอ้างหะดีษที่ว่า:

توسلوا بجاهي

“พวกท่านทั้งหลายจงตะวัสสุ้ลด้วยเกียรติของฉันเถิด”

ท่านอิบนุตัยมียะฮฺกล่าว่า: หะดีษบทนี้ไม่มีรากฐานมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมแต่อย่างใด (5) ซึ่งเป็นหะดีษเฎาะอีฟนั่นเอง

3. การตะวัสสุ้ลด้วยกับสิทธิของท่านนบี

การตะวัสสุ้ลด้วกับสิทธิของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังหะดีษที่ท่านหากิมได้รายงานไว้ในหนังสือ ของท่าน โดยนำเสนอหะดีษกุดซียฺ ที่อัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสกับนบีอาดัมอะลัยฮิสสลามว่า:

صدقت ياآدم إنه لأحب الخلق إلي أدعني بحقه فقد غفرت لك ولو لا محمد ماخلقتك

“เจ้าพูดจริงแล้วอาดัม แท้จริงมูหัมมัดเป็นผู้ที่ข้ารักมากที่สุดในบรรดาสิ่งที่ถูกบังเกิดขึ้นมา เจ้าจงวิง วอนขอต่อข้าด้วยสิทธิของเขาเถิดและถ้าหากว่าไม่มีมูหัมมัด ข้าก็จะไม่บังเกิดเจ้า”

อัซซะฮะบียฺได้กล่าววิจารณ์ไว้ในหนังสืออัลมุสตัดร๊อกว่า หะดีษนี้เป็นหะดีษเมาฎูอฺ(อุปโลกน์)ขึ้น (6)

4. หุกุ่มของการตะวัสสุ้ลด้วยกับท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

การตะวัสสุ้ลด้วยกับท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมและประเภทของมัน (7)

ประเภทที่ 1. การตะวัสสุ้ลด้วยกับการศรัทธาต่อท่านเป็นการตะวัสสุ้ลที่ถูกต้อง เช่น เขากล่าวว่า “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงฉันศรัทธาต่อพระองค์และเราะสู้ลของพระองค์พระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ฉัน” การกล่าวเช่นนี้ถือว่า ไม่เป็นปัญหาเพราะว่าการศรัทธาต่อท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม คือสื่อที่ได้ถูกบัญญัติไว้สำหรับการ ขออภัยโทษและการลบล้างความผิด ซึ่ง เป็นการตะวัสสุ้ลด้วยกับสื่อที่บทบัญญัติได้ยืนยันเอาไว้

ประเภทที่ 2. การตะวัสสุ้ลด้วยกับดุอาอฺของท่าน คือ การที่ท่านขอดุอาอฺให้กับผู้ที่ขอความช่วยเหลือ  การตะวัส สุ้ลเช่นนี้เป็นสิ่งที่อนุญาตเช่นกัน และมีหลักฐานยืนยัน แต่ทว่ามันไม่สามารถที่จะทำได้นอกจากในขณะที่ท่านมี ชีวิตอยู่เท่านั้น โดยมีการยืนยันจากท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “โอ้อัลลอฮฺ เราได้ตะวัสสุ้ลไปยังพระ องค์ด้วยกับนบีของเรา ดังนั้นขอพระองค์ทรงให้ฝนแก่เรา และเราได้ตะวัสสุ้ลไปยังพระองค์ด้วยกับน้าชายของนบี ของเรา ดังนั้นขอพระองค์ทรงประทานฝนให้แก่เรา แท้จริงท่านอุมัรได้บอกให้ท่านอับบาสยืนขึ้นและวิงวอนต่อ อัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา ส่วน   การตะวัสสุ้ลด้วยกับเกียรติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมไม่ว่า ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หรือหลังจากการเสียชีวิตของท่านนั้นไม่อนุญาต เพราะเกียรติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัมไม่มีผลต่อการวิงวอนขอของเขา ยกเว้นต่อตัวของท่านเองเท่านั้น

5. การขอความสิริมงคลต่อ ต้นไม้ ก้อนหิน หรือ วัตถุอื่นๆ

การขอความสิริมงคลต่อต้นไม้ ก้อนหิน หรือ วัตถุอื่นๆ ด้วยกับการพักอาศัย การอิบาดะฮฺอยู่ที่นั่น หรือการแขวนผ้า ไว้บนสิ่งเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้มุสลิมกระทำ เพราะมันเป็นการกระทำของพวกมุชริกีนไม่ใช่สิ่งที่มาจาก ศาสนาอิสลาม

จากท่านอิบนุวัฎฎอหฺได้รายงานว่า “ท่านอุมัรบินค็อฏฏ็อบได้สั่งใช้ให้ตัดต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งในขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมยังมีชีวิตได้เคยไปนั่งใต้ต้นไม้ต้นนั้น และได้ตัดต้นไม้นั้นทิ้ง ซึ่งสาเหตุที่ใช้ให้ตัด ต้นไม้นั้นทิ้งก็เพราะว่า บรรดามนุษย์กำลังไปทำอิบาดะฮฺกำลังไปละหมาดใต้ต้นไม้ต้นนั้น ท่านอุมัร บินค็อฏฏ็อบ กลัวเกิดความวุ่นวายจึงสั่งใช้ให้ตัดต้นไม้ต้นนั้นทิ้งเสีย” (8)

เชคอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ ได้กล่าวว่า การนำเอาต้นไม้ก้อนหิน ตาน้ำ หรือสิ่งอื่นมาเป็นสื่อในการบนบานของคน บางส่วน และการยึดเอาใบไม้ของมันมาเป็นสิ่งที่ให้ความเป็นสิริมงคล หรือการละหมาดที่นั่น แท้จริงมันเป็นการ อิบาดะฮฺที่น่ารังเกลียดและมันเป็นการกระทำของพวกที่โง่เขลาเบาปัญญา และเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่การตั้ง ภาคีต่ออัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา (9)

จากการเกิดขึ้นของการขอความสิริมงคลต่อก้อนหินและสิ่งอื่นๆ คือ การเก็บเอาก้อนหิน ดินจากมักกะฮฺ หรือ มะดีนะฮฺ และสถานที่อื่น ๆ มาเก็บรักษาไว้เพื่อขอความสิริมงคลจากมันและมีความเชื่อว่ามันสามารถที่จะให้ ประโยชน์และป้องกันโทษได้ (10)

6. การใช้เครื่องรางของขลัง (تميمة )

การใช้เครื่องรางของขลัง หมายถึง สิ่งของที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าอาจดลบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์ หรือที่นับถือว่าป้องกันจากอันตราย ยิงไม่เข้า ฟันไม่เข้า (11) และมีอุลามาอฺให้ความหมายว่า เครื่องรางของขลัง คือ สิ่งที่นำมาห้อยที่ตัวเด็กเพื่อป้องกันจากความชั่วร้าย (12) หรือสิ่งที่นำมาห้อยตามตัวของมนุษย์เพื่อจะป้องกัน จากสิ่งชั้วร้ายต่างๆ (13)

เครื่องรางของขลังคือ   สิ่งที่ทำมาจากอัลกุรอ่าน พระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ     สุบหานะฮูวะตะอาลา ตลอดจนอัลหะดีษ หรือ สิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากวัสดุต่าง ๆ ที่เราพบเห็นตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นกระดูกของ สัตว์ต่าง ๆ เส้นด้าย สายสิน และมงคลวัสดุอื่นๆ โดยผ่านการปลุกเสกของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของเวทมนต์คาถา เครื่องรางของขลังประเภท นี้มีให้เห็นในหลายลักษณะหลายรูปแบบ เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เหล็กไหล ปลัดขลิก ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้มนุษย์นำมาห้อยตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่คอ เอว ข้อมือ   หรือส่วนอื่นๆ  ตลอดจนยานพาหนะ และที่อยู่อาศัยเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะขอให้สิ่งเหล่านั้นช่วยป้องกันจากภัยอันตราย และยึดถือว่าสิ่งเหล่านั้นมี อำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการที่จะช่วยป้องกันผู้ที่สวมใส่และดลบันดาลให้ได้รับความสำเร็จ ตามความประสงค์ ของผู้ที่สวมใส่มัน

อัลลอฮฺสุบหานฮูวะตะอาลาทรงกล่าวว่า:

وَلَئِنْ سَأَلْتَهُمْ مَنْ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ لَيَقُولُنَّ اللَّهُ قُلْ أَفَرَأَيْتُمْ مَا تَدْعُونَ مِنْ دُونِ اللَّهِ إِنْ أَرَادَنِيَ اللَّهُ بِضُرٍّ هَلْ هُنَّ كَاشِفَاتُ ضُرِّهِ أَوْ أَرَادَنِي بِرَحْمَةٍ هَلْ هُنَّ مُمْسِكَاتُ رَحْمَتِهِ قُلْ حَسْبِيَ اللَّهُ عَلَيْهِ يَتَوَكَّلُ الْمُتَوَكِّلُونَ

“และถ้าเจ้าถามพวกเขาว่า ใครเป็นผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า อัลลอฮฺ จงกล่าวเถิดมุหัมมัดพวกท่านไม่เห็นดอกหรือว่า สิ่งที่พวกท่านวิงวอนขออื่นจากอัลลอฮฺนั้น หากอัลลอฮฺทรงประสงค์จะให้มีความทุกข์ยากแก่ฉัน แล้วพวกมันจะปลดเปลื้องความทุกข์ยาก ของพระองค์ได้ไหม? หรือ หากพระองค์ประสงค์จะให้ความเมตตาแก่ฉันพวกมันจะยับยั้งความเมตตา ของพระองค์ได้ไหม? จงกล่าวเถิดมุหัมมัด อัลลอฮฺทรงพอเพียงแก่ฉันแล้ว แต่พระองค์เท่านั้น บรรดาผู้มอบความไว้วางใจจะให้ความไว้วางใจ”   
สูเราะฮฺ อัซซุมัร, 39:38.


 والله أعلم بالصوا


โดย อ.อับดุลฮากีม มังเดชะ

http://www.warasatussunnah.net

.
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

(1) สะอฺดุศอดิกมูหัมมัด, ชิรออฺบัยนัลหักวัลบาฏิล, 1987, ดารุ้ลลละวาอฺ, ซาอุดิอารเบีย, หน้าที่  :72.

(2) มูหัมมัด บิน อับดุลอะซีด, ญะดีดฟีชะเราะหฺกิตาบุตเตาหีด, ม.ป.ท., ญิดดะฮฺ, 1991, หน้าที่ :183-185.

(3) มูหัมมัดตะกียุดดีน, อัลหิซามุลมาหิก, ม.ป.ป., ม.ป.ท., หน้าที่:29.

(4) มูหัมมัดตะกียุดดีน, แหล่งเดิม, หน้าที่:29.

(5) สมาคมนักเรียนเก่าศาสนวิทยา, สารศรัทธา, ม.ป.ท., กรุงเทพ, 2541, หน้าที่: 46.

(6) สมาคมนักเรียนเก่าศาสนวิทยา, เล่มเดียวกัน, หน้าที่: 46.

(7) อับดุลลอฮฺ บิน ยูสุฟอัลอัจญฺลาน, อัคตออฺฟิลอะกีดะฮฺ, ดารุศศอมีอียฺ, เลบานอน, 1995, หน้าที่: 69.

(8) นาศิร บิน อับดุลการีมอัลอักลฺ, อัลอะฮฺวาอฺวัลฟิร็อกวัลบิดะอฺ, ดารุ้ลวะฏอน, ริยาฏ, 1417, หน้าที่:25.

(9)อับดุลรอซาก บิน ตอฮิร บิน อะหฺมัดมุอาซ, อัลญะฮฺลุบิมะสาอิลิลอิอฺติกอดวะหุกมุฮู, ดารุ้ลวะฏอน, ซาอุดิอารเบีย, 1996, หน้าที่: 414.

(10) นาศิร บิน อับดุลลอฮฺบินมุหัมมัดญะดีอฺ, ตะบัรรุกอันวาอุฮูวะอะหฺกามุฮู, มักตะบะตุรรุชดฺ, ซาอุดิอารเบีย, 2000, หน้าที่: 463.

(11) บุญพฤกษ์ จาฏาระ, พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน, อักษรเจริญทัศน์, กรุงเทพ, 2539, หน้าที่: 134.

(12) มูหัมมัด บิน อับดุลวาฮับ, อัลเกาลุสสะดีดชารอุลกิตาบุตเตาหีด, ดารุ้ลวะฏอน, ซาอุดิอารเบีย, ม.ป.ป., หน้าที่:40.

(13) อิบนุมันศูร, ลิสานุลอาหรับ, ดารุ้ลมะอฺริฟะฮฺ, เลบานอน, 1994, หน้าที่:69.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น