อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556

การอาบน้ำ “อัล-ฆุสลฺ"




อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا إِذَا قُمْتُمْ إِلَى الصَّلَاةِ فَاغْسِلُوا وُجُوهَكُمْ وَأَيْدِيَكُمْ إِلَى الْمَرَافِقِ وَامْسَحُوا بِرُءُوسِكُمْ وَأَرْجُلَكُمْ إِلَى الْكَعْبَيْنِ وَإِنْ كُنْتُمْ جُنُبًا فَاطَّهَّرُوا

“โอ้ผู้มีศรัทธาทั้งหลาย เมื่อใดที่พวกท่านประสงค์จะละหมาด พวกท่านจงล้างใบหน้าของพวกท่าน และล้างมือของพวกท่านจนถึง ข้อศอก และลูบเช็ดศรีษะของพวกท่าน และล้างเท้าของพวกท่านจนถึงตาตุ่มทั้งสอง และหากพวกท่านเป็นผู้มีญะนาบะฮฺ พวกท่าน ก็จงชำระร่างกายให้สะอาด...”

(อัลมาอิดะฮฺ : 6)
และพระองค์ทรงมีรับสั่งอีกว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا لَا تَقْرَبُوا الصَّلَاةَ وَأَنْتُمْ سُكَارَى حَتَّى تَعْلَمُوا مَا تَقُولُونَ وَلَا جُنُبًا إِلَّا عَابِرِي سَبِيلٍ حَتَّى تَغْتَسِلُوا

“โอ้ผู้มีศรัทธาทั้งหลาย พวกท่านจงอย่าเข้าใกล้การละหมาดขณะที่พวกท่านมีอาการเมา จนกว่าพวกท่านจะรับรู้ถึงสิ่งที่พวกท่าน พูดออกมา และจงอย่าเข้าใกล้การละหมาดขณะที่พวกท่านเป็นผู้มีญะนาบะฮฺ (หมายถึงมัสยิดสถานที่ละหมาด) ยกเว้นพวกท่านเป็น ผู้ที่ต้องผ่านทางไปเท่านั้น จนกว่าพวกเจ้าจะอาบน้ำ...”

(อันนิซาอฺ :43)
อัล-ฆุสลฺ การอาบน้ำคืออะไร ?

อัล-ฆุสลฺ (اَلْغُسْلُ ) คือ การอาบน้ำเพื่อชำระร่างกายให้สะอาดทั่วหมดจดตามลักษณะวิธีที่ศาสนาบัญญัติ ซึ่งแบ่งตามสาเหตุได้เป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 อาบเพื่อชำระร่างกายให้สะอาดจากหะดัษใหญ่ เช่น เมื่อมีญะนาบะฮฺ (ญู่นุบ) มีเลือดประจำเดือน (เฮด) หรือเลือดหลังการคลอดบุตร (นิฟาส)
ประเภทที่ 2 อาบเนื่องในวาระที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติศาสนกิจอื่น ๆ เช่น ละหมาดวันศุกร์ ละหมาดอีด ครองเอี๊ยะหฺรอม ฯลฯ


และบรรดานักวิชาการยังได้จำแนกการอาบน้ำฆุสลฺ โดยพิจารณาแบ่งตามหุก่ม เป็น 2 ประเภท คือ

การอาบน้ำที่เป็นวาญิบ (จำเป็นต้องอาบ)
การอาบน้ำที่เป็นซุนนะฮฺ (ส่งเสริมให้อาบ)

ลักษณะวิธีการอาบน้ำอัล-ฆุสลฺตามซุนนะฮฺ (แบบฉบับ) ของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

     นักวิชาการส่วนมากมีทรรศนะที่ว่า การอาบน้ำฆุสลฺโดยอาบให้น้ำเปียกทั่วทั้งร่างกายถือว่าใช้ได้แล้ว (เซาะฮฺ) แต่ไม่สมบูรณ์ และไม่ถูกต้อง ตามลักษณะวิธีการอาบของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  

      ดังนั้นเพื่อให้การอาบน้ำฆุสลฺเป็นไปอย่างสมบูรณ์และถูกต้องตามซุนนะฮฺแบบอย่างของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงถือเป็นความจำเป็นที่มุสลิมทุกคนต้องศึกษาและปฏิบัติตามอย่างในการอาบน้ำฆุสลฺจากท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และในการอาบน้ำฆุสลฺของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นมีหลายรายงานด้วยกัน เช่น

รายงานที่ 1 ท่านหญิงอาอิชะฮฺรายงานว่า

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا اغْتَسَلَ مِنْ الْجَنَابَةِ يَبْدَأُ فَيَغْسِلُ يَدَيْهِ ثُمَّ يُفْرِغُ بِيَمِينِهِ عَلَى شِمَالِهِ فَيَغْسِلُ فَرْجَهُ ثُمَّ يَتَوَضَّأُ وُضُوءَهُ لِلصَّلَاةِ ثُمَّ يَأْخُذُ الْمَاءَ فَيُدْخِلُ أَصَابِعَهُ فِي أُصُولِ الشَّعْرِ حَتَّى إِذَا رَأَى أَنْ قَدْ اسْتَبْرَأَ حَفَنَ عَلَى رَأْسِهِ ثَلَاثَ حَفَنَاتٍ ثُمَّ أَفَاضَ عَلَى سَائِرِ جَسَدِهِ ثُمَّ غَسَلَ رِجْلَيْهِ

“เมื่อท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อาบน้ำเนื่องจากมีญะนาบะฮฺ ท่านจะเริ่มต้นอาบด้วยการล้างมือทั้งสองข้างก่อน จากนั้นจะใช้มือขวาวักน้ำใส่มือซ้ายแล้วชำระล้างบริเวณทวารหน้า (อวัยวะเพศ) จากนั้นท่านจะอาบน้ำละหมาดเหมือนกับที่อาบเพื่อ ทำละหมาด เสร็จแล้วใช้มือวักน้ำ (หรือจุ่มน้ำ) แล้วเอานิ้วมือสอดเสยขยี้ที่โคนผมบนศรีษะจนกระทั่งท่านมั่นใจว่าเปียกทั่วทั้ง ศรีษะแล้ว จึงวักน้ำรดบนศรีษะอีก 3 ครั้ง จากนั้นใช้น้ำราดให้ทั่วทั้งตัวอีก 3 ครั้ง แล้วจึงล้างเท้าทั้งสองของท่าน”

(บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม)
รายงานที่ 2 ท่านหญิงมัยมูนะฮฺรายงานว่า

أَدْنَيْتُ لِرَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ غُسْلَهُ مِنْ الْجَنَابَةِ فَغَسَلَ كَفَّيْهِ مَرَّتَيْنِ أَوْ ثَلَاثًا ثُمَّ أَدْخَلَ يَدَهُ فِي الْإِنَاءِ ثُمَّ أَفْرَغَ بِهِ عَلَى فَرْجِهِ وَغَسَلَهُ بِشِمَالِهِ ثُمَّ ضَرَبَ بِشِمَالِهِ الْأَرْضَ فَدَلَكَهَا دَلْكًا شَدِيدًا ثُمَّ تَوَضَّأَ وُضُوءَهُ لِلصَّلَاةِ ثُمَّ أَفْرَغَ عَلَى رَأْسِهِ ثَلَاثَ حَفَنَاتٍ مِلْءَ كَفِّهِ ثُمَّ غَسَلَ سَائِرَ جَسَدِهِ ثُمَّ تَنَحَّى عَنْ مَقَامِهِ ذَلِكَ فَغَسَلَ رِجْلَيْهِ ثُمَّ أَتَيْتُهُ بِالْمِنْدِيلِ فَرَدَّهُ

“ฉันนำน้ำที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะใช้อาบชำระญะนาบะฮฺไปวางไว้ให้ใกล้ ๆ จากนั้นท่านล้างมือทั้งสอง ข้างสองหรือสามครั้ง จากนั้นเอามือจุ่มในภาชนะแล้ววักน้ำราดบนอวัยวะเพศแล้วล้าง – หมายถึงถูชำระ- ด้วยมือซ้าย จากนั้นเอามือซ้ายตบลงบนพื้นแล้วถูมันอย่างแรง จากนั้นท่านอาบน้ำละหมาดเหมือนกับการอาบน้ำละหมาดเพื่อทำละหมาด เสร็จแล้วท่านจึงวักน้ำเต็มฝ่ามือราดบนศรีษะ 3 ครั้ง แล้วจึงราดน้ำให้ทั่วร่างกาย แล้วเลื่อนจากบริเวณที่ยืนไปด้านข้างเล็ก น้อยแล้วจึงล้างเท้าทั้งสอง หลังจากนั้นฉันได้เอาผ้าเช็ดยื่นให้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ท่านปฏิเสธที่จะรับมัน”

(บันทึกโดยมุสลิม)
รายงานที่ 3 ท่านหญิงอาอิชะฮฺรายงานว่า

كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا اغْتَسَلَ مِنْ الْجَنَابَةِ دَعَا بِشَيْءٍ نَحْوَ الْحِلَابِ فَأَخَذَ بِكَفِّهِ فَبَدَأَ بِشِقِّ رَأْسِهِ الْأَيْمَنِ ثُمَّ الْأَيْسَرِ فَقَالَ بِهِمَا عَلَى وَسَطِ رَأْسِهِ

“เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อาบน้ำเนื่องจากมีญะนาบะฮฺ ท่านจะเรียกเอาน้ำเพียงแค่ประมาณหนึ่งหิลาบเท่านั้น (หิลาบ คือ เหยือกขนาดย่อมใช้รองรีดนม) โดยท่านใช้ฝ่ามือวักเอาน้ำแล้วเริ่มราดบนศรีษะซีกขวาก่อน จากนั้นจึงเป็นซีกซ้าย แล้วจึงใช้ ทั้งสองมือวักน้ำรดที่กลางศรีษะ”

(บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม)
สรุปขั้นตอนและวิธีการอาบน้ำฆุสลฺ

1. ล้างมือทั้งสองข้าง พร้อมกล่าวว่า “บิสมิลลาฮฺฯ” จนจบต้น

2. ใช้มือซ้ายล้างถูบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหน้าให้สะอาด (ในกรณีของผู้หญิงที่อาบน้ำฆุสลฺ   เนื่องจากเฮดหรือนิฟาสสมควรใช้สิ่งที่ช่วยขจัดกลิ่นด้วย เช่น น้ำใบพุทรา หรือสิ่งอื่น ๆ ตามสะดวก)

3. อาบน้ำละหมาด ตามขั้นตอนต่อไป

     - ล้างมือทั้งสองจนถึงข้อมือให้ทั่ว 3 ครั้ง

     - บ้วนปาก กลั้วปาก พร้อมสูดน้ำเข้าจมูกแล้วสั่งออก 3 ครั้ง (ในขณะบ้วนปากสมควรถูฟันด้วย)

      - ล้างใบหน้าให้ทั่ว 3 ครั้ง

       - ล้างแขนทั้งสองข้างจนถึงข้อศอกให้ทั่ว 3 ครั้งโดยเริ่มด้านขวาก่อน

       - เช็ดศรีษะ (และใบหู) ให้ทั่ว 1 ครั้ง

4. เอาน้ำรดศรีษะและใช้มือสางเส้นผม ขยี้โคนผมให้น้ำเปียกจนทั่วหนังศรีษะ 3 ครั้ง (ในกรณีของผู้หญิงให้ขยี้เส้นผมให้มากกว่าปกติ และไม่จำ เป็นต้องแก้มวยผมหรือเปียผม)

5.  เอาน้ำรดร่างกายให้ทั่ว 3 ครั้ง พร้อมใช้มือขัดถูบริเวณต่าง ๆ ตามร่างกายให้น้ำเปียกจนทั่ว หรือรดซีกขวาให้ทั่วก่อน 3 ครั้ง เสร็จแล้วรดซีกซ้ายให้ทั่วอีก 3 ครั้ง (ระวังอย่าให้มือโดนอวัยวะเพศ)

6. ย้ายหรือเปลี่ยนที่เล็กน้อย แล้วล้างเท้าทั้งสองข้างให้ทั่ว 3ครั้งโดยเริ่มด้านขวาก่อน


ข้อควรระวังในการอาบน้ำญะนาบะฮ์

เมื่อผู้มีฮะดัษต้องการอาบน้ำ ให้คำนึงถึงประการต่อไปนี้

1.เมื่อแน่ใจว่าเกิดฮะดัษหรือมีญะนาบะฮ์ขึ้นแล้วให้รีบอาบน้ำชำระร่างกาย (อัล-ฆุสลฺ)เพื่อยกฮะดัษโดยเร่งด่วน หากไม่สะดวกก็เป็นการสมควร อย่างยิ่งที่จะอาบน้ำละหมาดเสียก่อน

2.ต้องให้น้ำเปียกทั่วร่างกาย ตรวจสอบตามรอยพับต่างๆ เช่น รักแร้,ขาพับ,ซอกขาและใต้คาง มือลูบให้ทั่ว เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำเปียกทั่วถึงร่างกาย ทั้งหมดแล้ว

3.ต้องให้น้ำเปียกทั่วทุกขุมขน ด้วยการราดน้ำลงบนเส้นผมแล้วจึงขยี้ตามโคนผม เพื่อให้น้ำได้เปียกทั่วทั้งเส้นผมและหนังศรีษะ ตลอดจนขนตาม บริเวณหรือส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ขนรักแร้,ขนหน้าอกและขนใต้ร่มผ้า

4.ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด ท่านรอซูลทรงใช้น้ำเพื่อการอาบน้ำละหมาดเพียง 1 มุด และทรงใช้น้ำในการอาบน้ำญะนาบะฮ์เพียง 1 ซอฮ์ เท่านั้น

5.เมื่อต้องการล้างเท้าเสร็จพิธีอาบน้ำให้เลื่อนที่เจากบริเวณเดิมเล็กน้อย

6.ต้องปกปิดเอาเราะฮ์อวัยวะพึงสงวนขณะอาบน้ำญะนาบะฮ์
การอาบน้ำฆุสลฺที่เป็นประเภทวาญิบ มีสาเหตุ 5 ประการดังต่อไปนี้

1.เมื่อหลั่งอสุจิหรือน้ำกามเนื่องจากความกำหนัด  ทั้งชายและหญิง ทั้งจากการร่วมประเวณี,ฝันเปียกและการช่วยตัวเอง

ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงมีรับสั่งว่า

وَإِنْ كُنْتُمْ جُنُبًا فَاطَّهَّرُوا

“และหากพวกเจ้าเป็นผู้มีญะนาบะฮฺ พวกเจ้าก็จงชำระ (อาบน้ำ) ทำความสะอาดเถิด”

(อัลมาอิดะฮฺ : 6)
ท่านอบูสะอีด อัลคุดรียฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

إِنَّمَا الْمَاءُ مِنَ الْمَاءِ

“น้ำต้องมาจากมีน้ำเท่านั้น (หมายถึง การอาบน้ำฆุสลฺนั้นจำเป็นเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิเท่านั้น)” 
(บันทึกโดยอะหฺมัด มุสลิม อบูดาวุด อัตติรมีซียฺ อันนะซาอียฺ)

และครั้งหนึ่งท่านหญิงอุมมุสุลัยมินเรียนถามท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า เมื่อผู้หญิงฝันว่ามีเพศสัมพันธ์ ต้องอาบน้ำฆุสลฺ ด้วยหรือไม่ ? ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า “ ใช่แล้ว เมื่อนางเห็นน้ำ นางก็ต้องอาบน้ำ ” (บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม)
2.เมื่อมีเพศสัมพันธ์ (ร่วมเพศ) ถึงแม้จะไม่มีการหลั่งอสุจิหรือถึงจุดสุดยอดก็ตาม ทั้งนี้การร่วมเพศโดยฝ่ายชายสอดใส่เพียงส่วนปลายอวัยวะ เพศเข้าบริเวณช่องคลอดฝ่ายหญิง ก็ถือเป็นญะนาบะฮฺที่จำเป็นต้องอาบน้ำฆุสลฺแล้ว แม้จะไม่มีการหลั่งหรือถึงจุดสุดยอดก็ตาม

ท่านหญิงอาอิชะฮฺรายงานว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
إِذَا جَاوَزَ الْخِتَانُ الْخِتَانَ فَقَدْ وَجَبَ الْغُسْلُ

“เมื่ออวัยวะเพศของชายล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิงเมื่อใด ก็จำเป็นต้องอาบน้ำฆุสลฺทันที” 
(บันทึกโดยอะหฺมัด อัตติรมีซียฺ)

ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺร่อฎิยัลลอฮุอันฮุรายงานว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
إِذَا جَلَسَ بَيْنَ شُعَبِهَا الأَرْبَعِ ثُمَّ جَهَدَهَا فَقَدْ وَجَبَ الْغُسْلُ

“เมื่อเขานั่งคร่อมระหว่างอวัยวะทั้งสี่ของนาง จากนั้นเขาพยายามให้สำเร็จต่อนาง ก็ถือว่าจำเป็นต้องอาบน้ำแล้ว” 
(บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม อะหฺมัด อันนะซาอียฺ)

3. เมื่อมีเลือดประจำเดือนและเลือดหลังการคลอดบุตร สตรีที่มีเลือดประจำเดือนหรือเลือดหลังคลอดบุตร เมื่อเลือดหยุด หรือครบตามกำหนด ปกติทั่วไปแล้ว ต้องอาบน้ำฆุสลฺเพื่อชำระร่างกายให้สะอาด ทั้งนี้ศาสนาถือระหว่างการมีเลือดประจำเดือนหรือมีเลือดหลังคลอดบุตรนั้นร่างกาย สกปรก ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจบางประการได้

อัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลามีรับสั่งว่า
وَيَسْأَلُونَكَ عَنِ الْمَحِيضِ قُلْ هُوَ أَذًى فَاعْتَزِلُوا النِّسَاءَ فِي الْمَحِيضِ وَلَا تَقْرَبُوهُنَّ حَتَّى يَطْهُرْنَ فَإِذَا تَطَهَّرْنَ فَأْتُوهُنَّ مِنْ حَيْثُ أَمَرَكُمُ اللَّهُ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ التَّوَّابِينَ وَيُحِبُّ الْمُتَطَهِّرِينَ

“และพวกเขาจะซักถามท่าน (มุหัมมัด) ถึงเรื่องประจำเดือน ท่านจงตอบเถิดว่ามันเป็นอันตรายให้โทษ ดังนั้นพวกท่านพึงปลีกห่าง จากหญิง (มีเพศสัมพันธ์) ในระหว่างมีประจำเดือนเถิด และพวกท่านอย่าเข้าใกล้(มีเพศสัมพันธ์) พวกนางจนกว่าพวกนางจะตัวสะอาด และเมื่อพวกนางตัวสะอาดแล้ว ก็เชิญพวกท่านเข้าหาพวกนางได้ตามที่อัลลอฮฺมีบัญชา (อนุญาต) แก่พวกท่าน แท้จริงอัลลอฮฺทรงรัก บรรดาผู้สำนึกผิดและรักบรรดาผู้มีความสะอาด”

(อัลบะกอเราะฮฺ : 222)

ครั้งหนึ่งนางฟาฏิมะฮฺ บินติ อบีหุบัยชฺ ได้เรียนถามท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า “ โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ดิฉันกำลัง มีเลือดเสีย และรู้สึกว่าตัวดิฉันยังไม่สะอาดพอ ดิฉันจะต้องงดละหมาดหรือไม่ ? “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงตอบชี้แจง กับนางว่า

دَعِي الصَّلاَةَ قَدْرَ الأَيَّامِ الَّتِيْ كُنْتِ تَحِيْضِيْنَ فِيْهَا ثُمَّ اغْتَسِلِيْ وَصَلِّيْ

“เธอจงหยุดละหมาดเฉพาะระยะเวลาที่เธอมีประจำเดือนเท่านั้น เมื่อเลือดหมดแล้ว -หรือครบตามกำหนดปกติทั่วไป- เธอจงอาบน้ำฆุสลฺ และละหมาดตามปกติ”


(บันทึกโดยบุคอรียฺ อะหฺมัด)

4. เมื่อมุสลิมเสียชีวิต ยกเว้นกรณีเป็นชะฮีดเสียชีวิตในสงครามศาสนา การอาบน้ำคนตายเป็นฟัรฎูกิฟายะฮฺเนื่องจากมีรายงานว่า ท่านร่อซู ลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สั่งบรรดาซอฮาบะฮฺร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมอาบน้ำศพให้ชายคนหนึ่ง ที่ตกจากหลังอูฐแล้วคอหักตายในสภาพ ที่กำลังครองเอี๊ยะหฺรอมอยู่ท่านร่อซูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
اِغْسِلُوْهُ بِمَاءٍ وَسِدْرٍ

“พวกท่านจงอาบน้ำศพให้เขา โดยใช้น้ำสะอาดและน้ำใบพุทรา”


(บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม)

และมีรายงานอีกว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยสั่งให้บรรดาซอฮาบะฮฺ –หญิง- อาบน้ำศพให้นางไซหนับ บุตรีของ ท่านที่เสียชีวิตว่า

اِغْسِلْنَهَا ثَلاَثًا أَوْ خَمْسًا أَوْ سَبْعًا أَوْ أَكْثَرَ مِنْ ذَلِكَ إِنْ رَأَيْتُنَّ ذَلِكَ

“พวกเธอจงอาบน้ำศพให้ไซหนับ 3 ครั้ง หรือ 5 ครั้ง หรือ 7 ครั้ง หรือมากกว่านั้นก็ได้ ตามที่พวกเธอเห็นสมควร” 
(บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม)

5.เมื่อกาเฟรเข้ารับอิสลาม เนื่องจากปรากฎรายงานที่ถูกต้องจากท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในหลาย ๆ โอกาสเมื่อมีผู้ ประสงค์เข้ารับอิสลามกับท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านจะใช้ให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดเสียก่อน เช่น

กรณีของท่านก็อยสฺ บิน อาศิม ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ “ เมื่อครั้งที่เข้ารับอิสลามกับท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านสั่งใช้ให้เขาอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจดด้วยน้ำสะอาดและน้ำใบพุทรา” (บันทึกโดยอะหฺมัด อบูดาวุด อัตติรมีซียฺ อันนะซาอียฺ)

“ และเมื่อครั้งที่ท่านษุมามะฮฺ บิน อุษาล อัลหะนะฟียฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เข้ารับอิสลาม ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ใช้ให้เขาอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจดเสียก่อน” (บันทึกโดยบุคอรียฺ มุสลิม อะหฺมัด)

อนึ่ง การอาบน้ำฆุสลฺในกรณีเข้ารับอิสลามนี้ นักวิชาการส่วนหนึ่ง (คือมัสฮับมาลิกียฺ และฮัมบาลียฺ) มีความเข้าใจและอธิบายว่าเป็นวาญิบ คือจำ เป็นต้องอาบ และอีกส่วนหนึง (คือมัสฮับฮะนะฟียฺ และชาฟิอียฺ) มีความเข้าใจและอธิบายว่าเป็นเพียงแค่ซุนนะฮฺไม่จำเป็นต้องอาบเพียงแค่ ส่งเสริมให้ทำเท่านั้น


والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

    โดย  อ.อับดุลลอฮฺ สุไลหมัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น