อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

ธุรกิจขายตรง...มุสลิมทำได้หรือไม่?”


โดยอาจารย์มุรีด ทิมะเสน

ธุรกิจขายตรงคือ ?

ธุรกิจขายตรงคือ การทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในลักษณะของการนำเสนอขายแบบบุคคลต่อบุคคล ซึ่งห่างจากที่ตั้งร้านค้าปลีกถาวร โดยบริษัทผู้ประกอบการนำเสนอโอกาสทางธุรกิจให้กับนักขายตรงอิสระ, สำหรับประเทศไทยเรานั้น

ยุทธวิธีขายตรงได้ถูกใช้มากว่า 50 ปีแล้วที่เห็นเด่นๆก็คือการขายประกันชีวิต นอกนั้นธุรกิจด้านอื่นก็ใช้กันอย่างประปรายไม่จริงจังมากนัก พึ่ง 10 ปีที่แล้วนี่เองที่ยักษ์ใหญ่อย่างแอมเวย์ข้ามฟ้าจากอเมริกามาเปิดกิจการขายตรงอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ผู้ขายตรงใช้การอธิบายหรือการสาธิตสินค้าเป็นกลยุทธ์หลักในการเสนอขาย
หลังจากนั้นธุรกิจขายตรง ได้ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วิธีการขายตรงก็มีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องกรองน้ำ เสื้อผ้า ยาสีฟัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและต้องใช้แล้วหมดไป แต่เครื่องสำอางนับว่าเป็นสินค้าที่มีบริษัทธุรกิจใช้วิธีการขายตรงมากกว่าพวก ชื่อคุ้นหูอย่าง เอวอน มิสทีน สุพรีเดิม แอมเวย์ เหล่านี้ล้วนใช้ระบบการขายตรงทั้งสิ้น

ความต่างในระบบขายตรง التسويق الشبكي
ถึงแม้ว่าขายตรงจะมีความเด่นอยู่ที่ทุกคนมีสิทธิ์มาเป็นผู้ขายอิสระได้และข้ออ้างติดปากในเรื่องการช่วยให้คนมีงานทำมีการกระจายรายได้คล้ายๆกัน แต่ความต่างในตัวของมันเองก็มีอยู่ ซึ่งดูได้จากรูปร่างการจัดองค์กรและการจัดสรรผลประโยชน์แบ่งได้เป็น 2 ระบบคือ

1. ระบบขายตรงแบบชั้นเดียว ( DIRECT SELLING - SINGLE LEVEL MARKETING , SLM )
ระบบนี้ไม่มีความซับซ้อนอะไร จะมีผู้จัดการประจำเขต(แต่ละบริษัทอาจมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน)ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทจะทำหน้าที่เสาะหาและดูแลตัวแทนขายหรือผู้ขายอิสระซึ่งมีได้ไม่จำกัดจำนวนแล้วแต่ความสามารถของผู้จัดการนั้นๆ ซึ่งเมื่อคุณสมัครเข้าเป็นตัวแทนขายคุณก็จะเป็นผู้จำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าของคุณที่หาได้ รายได้ที่คุณจะได้จะมาในรูปของค่าคอมมิชชั่นหรือส่วนลดพิเศษในการซื้อสินค้า คุณทำได้เท่าไหร่จะได้ผลตอบแทนในสัดส่วนนั้น และหากทำยอดสูงขึ้นจะได้รับค่าเปอร์เซนต์เพิ่มขึ้นเป็นโบนัสตอบแทนความขยันและความสามารถ

2. ระบบขายตรงหลายชั้น ( DIRECT SELLING - MULTI LEVEL MARKETING , MLM ) เป็นระบบขายตรงที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอม ... ( ประเทศไทย ) จำกัด ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นเจ้ายุทธจักรแห่งการขายตรงหลายชั้นได้อธิบายว่า ลักษณะการขายตรงแบบนี้นักขายไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัท ทุกคนจะเป็นนักขายอิสระ ( มีหน้าที่ทั้งขายและหาสมาชิกเพิ่ม ) ในระบบหลายชั้นนั้นทุกคนจะเป็นผู้ขายทั้งสายหรือจะใช้สินค้าเองก็ได้

รายได้ที่เกิดขึ้นอย่างแรกคือ จะเกิดจากการซื้อสินค้าจากบริษัทแล้วขายออกไปให้กับลูกค้าหรือคนในสายซึ่งมีส่วนแตกต่างระหว่างราคาปลีกกับราคาเต็มของตัวสินค้านั้นๆ ถือเป็นรายได้อย่างแรกที่ได้จากการขายปลีก ( ส่วนใหญ่จะให้ประมาณ 25% )

นอกจากรายได้ที่ได้จากการขายปลีกแล้ว ในแต่ละสิ้นเดือนจะมีการประมวลผลของยอดขายทั้งหมดของกลุ่มหรือสาย สมมติว่ากลุ่มหรือสายมีสมาชิก 50 คน ยอดขายที่เกิดจากคน 50 คน สมมติได้ 100,000 บาท เอามารวมกันหมด ทางบริษัทซึ่งเป็นคนดูแลแผนการมอบรางวัลและรายได้จะจ่ายเป็นเปอร์เซนต์ออกมา อย่าง 100,000 บาทจะจ่าย 10% เท่ากับ 10,000 บาท เงินนี้จะจ่ายโดยตรงมาที่ต้นสายและคนแถวหน้านี้จะจ่ายไล่ลงไปเรื่อยๆ หรือบริษัทอาจจะคำนวณวงเงินของนักขายแต่ละคนและจ่ายโดยตรงมาที่นักขายคนนั้น ๆ เลยก็ได้

การขายตรงแบบ MLM นี้หากมองให้ดีจะเห็นว่ามีความผิดปกติบางอย่างจนเป็นจุดที่บริษัทขายตรงชั้นเดียวจับเป็นประเด็นโจมตี เช่นการผลักภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการไปที่ผู้บริโภค ในลักษณะค่าคอมมิชชั่นบวกราคาสินค้า ( เช่นแอมเวย์ให้ 25-30%, นูสกินให้43-60% )สินค้าที่จำหน่ายผ่านระบบ MLM จึงมักแพงกว่าระบบชั้นเดียวประมาณ 30-50 เปอร์เซนต์

ตัวอย่างเรื่องราคาแพง อาจดูได้จากคำพูดของ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพี้ยซที่กล่าวถึงราคาสินค้าของนูสกินว่าแพงเกินไป เธอยกตัวอย่างเครื่องสำอางจำพวกครีมกันแดดว่าขายสูงกว่าเพี้ยซถึง 50% เพี้ยซขายชิ้นละ 500บาทแต่ของนูสกินขายสูงถึง 1,000 บาท และเหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ คนที่อยู่ในระดับบนจะกินแรงคนที่อยู่ในระดับล่างมากเกินไป

จากการเปิดเผยของสื่อธุรกิจต่างๆพบว่า มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจขายตรงในเมืองไทยนั้นสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท มียอดสมาชิกขายตรงประมาณ 5 แสนคนมีบริษัทที่ทำธุรกิจนี้มากถึง 200-300 ราย ระบบ MLM ถูกมองว่าเป็นระบบที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้บริโภคมากกว่าระบบขายตรงแบบชั้นเดียวเนื่องจากมีสมาชิกอยู่ในองค์กรมาก หากบริษัทไม่มีการจัดระบบที่ดีก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ง่าย

สคบ.ได้พยายาม รวบรวมลักษณะปัญหาที่เกิดจากการขายตรงพบว่ามีเรื่องของสินค้าไม่ถูกต้อง ไม่มีฉลากสินค้า สินค้าไม่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการตรวจพิจารณา มีการโฆษณาที่เป็นเท็จ ราคาสินค้าแพง บริการหลังการขายไม่มีโดยเฉพาะพวกที่ขายในลักษณะหาบเร่ตามต่างจังหวัดซึ่งก็ถือว่าเป็นการขายตรงอย่างหนึ่งเหมือนกัน

สาเหตุที่มุสลิมห้ามทำธุรกิจดังกล่าว เหตุผล (หรืออิลละฮฺ) ที่บรรดานักกฎหมายอิสลามต่างมองว่าการทำธุรกิจรูปแบบนี้เป็นที่ต้องห้าม(หะรอม)นั้น
อาจสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้

1.เป็นธุรกิจที่มีองค์ประกอบในเรื่องดอกเบี้ยทั้งนี้เพราะสมาชิกใช้เงินเพียงเล็กน้อยในการสมัครเป็นสมาชิก, อัลกุรฺอานตรัสว่า
وَأَحَلَّ اللَّهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا
“และพระองค์อัลลอฮฺทรงอนุมัติการค้าขาย (แต่) ทรงห้ามเรื่องริบา (ดอกเบี้ย)”[1]

2. ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีการหลอกลวง คลุมเครือและเป็นการพนัน เพราะมีการใช้กลยุทธ์ต่างๆในการดึงสมาชิก มีการโฆษณาชวนเชื่อและหลายบริษัทก็มีการโกงสมาชิก ผู้อยู่ส่วนบนของเครือข่ายก็มีการใช้แรงและผลงานของคนที่อยู่ด้านล่างของสายทั้งที่บางครั้งคนที่อยู่ด้านล่างสายอาจขายได้มากกว่าหรือมีผลงานมากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นการพนันหรือการเสี่ยงโชคเพราะผู้เข้าร่วมอาจหาสมาชิกใหม่ได้ก็จะได้แต้มหรืออาจจะหาไม่ได้ก็จะขาดทุน, พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنْصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงค็อมรุน (สิ่งมึนเมา), การพนัน, หินที่เชือดสัตว์เพื่อบูชา และการเสี่ยงทาย เป็นสิ่งโสมมจากการงานของชัยฏอน สูเจ้าจงหลีกห่างจากสิ่งนั้น หวังว่าสูเจ้าจะประสบความสำเร็จ” [2]

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
« مَنْ غَشَّنَا فَلَيْسَ مِنَّا »
“บุคคลใดที่คดโกง ไม่ใช่พวกของเรา” [3]

หุก่มการซื้อขายที่มีการหลอกลวงและการพนันแฝง
การหลอกลวง และการพนันเป็นการทำธุรกรรมที่เป็นอันตรายนำมาซึ่งความหายนะและเป็นสิ่งต้องห้าม มันทำให้ครอบครัวธุรกิจใหญ่ๆยากจนลง ทำให้คนบางกลุ่มร่ำรวยโดยไม่ต้องออกแรงและอีกกลุ่มยากจนลงโดยไม่ถูกต้อง นำมาซึ่งการฆ่าตัวตาย เป็นศัตรูกัน เกลียดชังกัน และทั้งหมดนี้ก็คือการงานของมารชัยฏอน
พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
إِنَّمَا يُرِيدُ الشَّيْطَانُ أَنْ يُوقِعَ بَيْنَكُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاءَ فِي الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ وَيَصُدَّكُمْ عَنْ ذِكْرِ اللَّهِ وَعَنِ الصَّلاَةِ فَهَلْ أَنْتُمْ مُنْتَهُونَ
ความว่า “แท้จริงชัยฏอนต้องการทำให้เกิดการเป็นศัตรูและการเกลียดชังกันระหว่างสูเจ้า ในเรื่องค็อมรุน (สิ่งมึนเมา) และการพนัน และมันจะหันเหสูเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺและการนมาซ ดังนั้นสูเจ้าจะยุติไหม” [4]
การขายแบบฉ้อโกง หลอกลวงจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียที่ยิ่งใหญ่ 2 ประการด้วยกัน คือ
ประการแรก คือการกินทรัพย์สินของผู้อื่นโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง โดยที่ฝ่ายหนึ่งขาดทุนโดยไม่ได้อะไรเลย และอีกฝ่ายได้กำไรโดยไม่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุนเลย
พูดอีกในหนึ่งก็คือเพราะมันเป็นสิ่งค้ำประกันและเป็นการพนันนั้นเอง
ประการที่สอง คือการสร้างความเป็นศัตรู และความเกลียดชังกันระหว่างคู่ตกลงซื้อขายทั้งสองฝ่ายพร้อมกับการสร้างความอาฆาตแค้นและการเผชิญหน้ากัน
3. เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภคทรัพย์ของผู้อื่นโดยมิชอบ เพราะมีเก็บค่าสมาชิกโดยมิได้มีสิ่งแลกเปลี่ยน บางบริษัทอาจมีค่าสมัครที่มากโดยที่สมาชิกไม่ได้อะไรเลยโดยเฉพาะหากสมาชิกดังกล่าว ไม่อาจหาสมาชิกเพิ่มหรือขายสินค้าได้ และคนที่ได้กำไรที่แท้จริงก็คือบริษัทนั้นเอง, พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لاَ تَأْكُلُوا أَمْوَالَكُمْ بَيْنَكُمْ بِالْبَاطِلِ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย สูเจ้าจงอย่ากินทรัพย์สินในระหว่างสูเจ้าโดยมิชอบ (อธรรม)”. [5]
4. ผลิตภัณฑ์ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของการเข้าร่วมซื้อสินค้าหรือเป็นสมาชิกแต่เป้าหมายหลัก คือเม็ดเงินและรายได้ที่อาจเป็นจริงหรือเลื่อนลอยก็ได้ หลักวิชาฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) กล่าวว่า
العبرة في العقود بالمقاصد والمعاني لا الالفاظ والمباني
“การทำข้อตกลงต่างๆ นั้นต้องดูที่เจตนาและความหมายไม่ใช่คำพูดหรือ รูปแบบโครงสร้างภายนอก”.
ธุรกิจขายตรงในบ้านเรานั้น เจตนาคือเอาวัตถุมาล่อลวง บ้าน,รถ,ที่ดิน, และท่องเที่ยวต่างประเทศ
จริงอยู่การค้าขายเป็นสิ่งที่มีริสกี แต่ถ้าเมื่อใดที่การค้าขายนั้น รบกวนผู้อื่น สร้างความลำบากใจให้ผู้อื่นก็มิควรกระทำ เพราะต้องไปชักชวนคนนั้นคนนี้ แล้วต้องสมัครสมาชิกในราคาแสนแพง
แต่สมาชิกบางคนไม่ต้องการขายของ ทั้งที่กิจการนั้นเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องขายของแต่กลับมุ่งเน้นการขยาย ดาวไลน์ (สมาชิก) ของตนเองวาดฝันว่าจะมีคนทำงานให้....และบุคคลเหล่านี้เวลาไปหาใครๆ
เขาจะไม่เสนอขายของ แต่จะเสนอให้เป็นสมาชิกเพื่อซื้อของ โดยอ้างว่าจะได้ในราคาถูก เพื่อหวังให้คุณหรือใครมีสภาพเป็นดาวน์ไลน์ของเขา ไม่ใช่ลูกค้า เวลาชวนใครไปฟังแผนธุรกิจมักจะพูดทำนองว่า "เงินดีมากๆ เป็นข้อดีลำดับต้นๆ" ก็อย่าไปใส่ใจ เพราะเขาเล่นกับความโลภของคนซึ่งมันไม่ยาก คนที่เข้าไปด้วยเหตุผลประมาณนี้ ความคิดจะประมาณว่า หาดาวไลน์ฟิตๆ ให้ได้สัก 1-2 คน ที่เหลือก็รอเวลาเครือข่ายแตกแขนงเท่านั้น"
บทสรุป การขายตรง หรือธุรกิจ (MLM) นั้นมุสลิมไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่หะลาลสำหรับมุสลิม ซึ่งเมื่อเป็นอาชีพที่ไม่หะลาล รายได้จากอาชีพดังกล่าวจึงถือว่าไม่หะลาลโดยปริยาย ฉะนั้นมุสลิมท่านใดที่ยังประกอบอาชีพข้างต้น ก็ต้องเลิกอาชีพดังกล่าว นั่นถือว่าปลอดภัยที่สุด


والله أعلم بالصواب
หมายเหตุ แหล่งที่มาของเอกสารฉบับนี้
วารสารฉลาดซื้อ
http://www.oknation.net/blog/SupredermMLM/2007/05/26/entry-1
http://www.annisaa.com/forum/index.php?topic=502.0

________________________________________
[1] สูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 275
[2] สูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 90
[3] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 45
[4] สูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 91
[5] สูเราะฮฺนิสา อายะฮฺที่ 29

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น