ได้มีผู้กล่าวว่า เรื่องอิบาดะฮฺ ที่ไม่มีหลักฐานกำหนดไว้ชัดเจน แต่ไม่มีหลักฐานห้ามไว้ ก็อนุมัติที่จะกระทำอิบาดะฮฺนั้นได้ จึงมีความขัดแย้งขึ้นว่า ตกลงเรื่องศาสนาต้องมีหลักฐานใช้ ถึงจะปฏิบัติอิบาดะฮฺนั้นได้ หรือ อิบาดะฮฺนั้นต้องมีหลักฐานห้าม จึงจะห้ามทำ ถ้าไม่มีหลักฐานห้ามก็สามารถปฏิบัติอิบาดะฮฺได้ ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานให้ทำอิบาดะฮฺนั้นไว้ก็ตาม
ทั้งอัลกุรอานและฮะดีษ ได้กล่าวถึงเรื่องคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามไว้ควบคู่กัน ดังนี้
พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
وَمَا آتَاكُمُ الرَّسُوْلُ فَخُذُوْهُ وَمَا نَهَاكُمْ عَنْهُ فَانْتَهُوا
“และสิ่งใดที่รอซูลนำมาพวกเจ้าก็จงถือปฏิบัติ และสิ่งใดที่รอซูลห้ามพวกเจ้าก็จงละเลิกจากสิ่งนั้น” ซูเราะห์อัลฮัซร์ อายะห์ที่ 7
อบูฮุรอยเราะห์รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
دَعُوْنِي مَا تَرَكْتُكُمْ اِنَّمَا هَلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ بِسُؤالِهِمْ وَاخْتِلاَفِهِمْ عَلى أنْبِيَائِهِمْ فَاِذَا نَهَيْتُكُمْ عَنْ شَئٍ فَاجْتَنِبُوْهُ وَإذَا أمَرْتُكُمْ بِأَمْرٍ فَأتُوا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ
“พวกเจ้าทั้งหลายจงละฉันไว้เถิดมันพอเพียงแล้วกับสิ่งที่ฉันทิ้งไว้กับพวกเจ้าทั้งหลาย แท้จริงกลุ่มชนก่อนหน้าพวกเจ้าได้พบกับความหายนะเนื่องจากการถามและการขัดแย้งของพวกเขาต่อบรรดานบีของพวกเขาเอง ดังนั้นเมื่อฉันห้ามพวกเจ้าในเรื่องใด พวกเจ้าก็จงออกห่างจากเรื่องนั้น และเมื่อฉันใช้พวกเจ้าในเรื่องใด พวกเจ้าก็จงปฏิบัติตามกำลังความสามารถ” ศอเฮียะห์บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 6744
ดังนั้น ความเข้าใจในอัลกุรอานและฮะดีษ จึงขึ้นอยู่กับหลักฐานที่จะมาอธิบายความให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และหลักฐานดังกล่าวนี้ก็คือ อัลกุรอ่าน,ฮะดีษ,และศอฮาบะห์ของท่านนบี อย่างนี้เป็นวิธีการที่บรรดานักวิชาการศาสนารู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี หรือที่เรียกกันว่า
อัลกุรอานอธิบายอัลกุรอาน
อัลกุรอานอธิบายฮะดีษ
ฮะดีษอธิบายอัลกุรอาน
ศอฮาอธิบายอัลกุรอานหรือฮะดีษ
ในเรื่องอิบาดะฮฺต้องมีหลักฐานใช้ ในเรื่องอาดะฮฺต้องมีหลักฐานห้าม
ในเรื่องอิบาดะฮ์ที่เกี่ยวกับบาป-บุญ นั้น โครงสร้างของมันคือ จะต้องยึดถือตัวบทอันได้แก่คำสั่งของอัลลอฮ์และ รูปแบบจากซุนนะฮ์เป็นเกณฑ์ ไม่ใช่ไปยึดถือ “คำห้าม” ดังทัศนะผิดๆ ซึ่งแตกต่างและตรงข้ามกับเรื่อง “อาดะฮ์” ซึ่งโครงสร้างของมันจะเน้น “คำห้าม” เป็นเกณฑ์
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า
أَمْ لَهُمْ شُرَكآؤُا شَرَعُوا لَهُم مِّنَ الدِيْنِ مَالَمْ يَأْذَن بِهِ اللهُ
“หรือว่าพวกเขามีหุ้นส่วนในการกำหนดศาสนาแก่พวกเขา ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์มิได้ทรงอนุมัติ” ซูเราะห์อัชชูรอ อายะห์ที่ 21
ท่านหญิงอาอิชะห์ รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَنْ عَمِلَ عَمَلاً لَيْسَ عَليْهِ أمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ
“ผู้ใดกระทำสิ่งใดโดยสิ่งนั้นไม่ใช่งานของเรามันเป็นโมฆะ” (บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 3243)
ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إنْ كانَ شَيْئًا مِنْ أمْرِ دُنْيَاكُمْ فَشَأْنُكُمْ بِهِ وَإنْ كَانَ مِنْ أُمُوْرِدِيْنِكُمْ فَإِلَيَّ
“หากว่าเรื่องใดก็ตามที่เป็นเกี่ยวกับดุนยาของพวกเจ้า มันเป็นภารกิจของพวกเจ้าในเรื่องนั้น แต่หากเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องศาสนาของพวกเจ้าก็จงกลับมาที่ฉัน” สุนันอิบนิมาญะห์ ฮะดีษเลขที่ 2462 และมุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 12086
ท่านอนัส บินมาลิกรายงานว่า
أن نفرا من أصحاب النبي صلى الله عليه وسلم سألوا أزواج النبي صلى الله عليه وسلم عن عمله فى السر فقال بعضهم لا أتزوج النساء وقال بعضهم لا آكل اللحم وقال بعضهم لا أنام على فراش فحمد الله وأثنى عليه فقال مابال أقوام قالوا كذا وكذا لكني أصلي وأنام وأصوم وأفطر وأتزوج النساء فمن رغب عن سنتي فليس مني
“มีศอฮาบะห์ของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กลุ่มหนึ่งได้ถามบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เกี่ยวกับการกระทำของท่านนบีที่เขาไม่ทราบ (แต่หลังจากที่พวกเขาทราบ) บางคนในหมู่พวกเขาได้กล่าวว่า ฉันจะไม่แต่งงานกับสตรี,บางคนในหมู่พวกเขากล่าวว่า ฉันจะไม่กินเนื้อสัตว์, และบางคนก็กล่าวว่า ฉันจะไม่นอนบนที่นอน (หลังจากที่ข่าวนี้ถึงท่านนบี,ท่านได้เรียกประชุม) ท่านได้เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญอัลลอฮ์และสดุดีต่อพระองค์แล้วกล่าวว่า มีเหตุใดเกิดขึ้นหรือ พวกเขาตอบว่า อย่างนั้น,อย่างนี้ตามที่ตั้งใจ แต่ท่านนบีกล่าวว่า ทว่าฉันละหมาดและฉันก็นอน ฉันถือศีลอดแล้วก็ละศีลอด และฉันก็แต่งงานกับสตรี ดังนั้นผู้ใดไม่ปรารถนาแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ใช่พวกของฉัน” (ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2487)
ท่านอิบนุกะษีรฺ ได้กล่าวอธิบายในหนังสือ “ตัฟซีรฺ อิบนุกะษีรฺ” เล่มที่ 4 หน้า 276 ว่า
وَبَابُ الْقُرَبَاتِ يُقْتَصَرُ فِيْهِ عَلَى النُّصُوْصِ، وَلاَ يُتَصَرَّفُ فِيْهِ بِأَنْوَاعِ اْلأَقْيِسَةِ وَاْلآرَاءِ
“และในเรื่องของ اَلْقُرَبَاتُ (เรื่องความใกล้ชิดกับอัลลอฮ์หรือเรื่องผลบุญ) จะต้องถูก “จำกัดตามตัวบท” เท่านั้น จะไปแปรเปลี่ยนมันตามการอนุมานเปรียบเทียบต่างๆหรือแนวคิดต่างๆหาได้ไม่”
ท่าน ดร.ยูซุฟ อัล-ก็อรฺฎอวีย์ ได้อธิบายในหนังสือ “อัล-หะล้าล วัลหะรอม ฟิลอิสลาม” หน้า 25 ว่า ...
كَانَ أَحْمَدُ وَغَيْرُهُ مِنْ فُقَهَاءِ أَهْلِ الْحَدِيْثِ يَقُوْلُوْنَ : إِنَّ اْلأَصْلَ فِى الْعِبَادَاتِ التَّوْقِيْفُ، فَلاَ يُشْرَعُ مِنْهَا إِلاَّ مَا شَرَعَهُ اللهُ، وَإِلاَّ دَخَلْنَا فِىْ مَعْنىَ قَوْلِهِ تَعَالَى : أَمْ لَهُمْ شُرَكَاءُ شَرَعُوْا لَهُمْ مِنَ الدِّيْنِ مَالَمْ يَأْذَنْ بِهِ اللهُ .. (سورة الشورى 21)
وَالْعَادَاتُ اْلأَصْلُ فِيْهَا الْعَفْوُ، فَلاَ يُحْظَرُمِنْهَا إِلاَّ مَا حَرَّمَهُ، وَإِلاَّ دَخَلْنَا فِىْ مَعْنَى قَوْلِهِ : قُلْ أَرَأَيْتُمْ مَا أَنْزَلَ اللهُ لَكُمْ مِنْ رِزْقٍ فَجَعَلْتُمْ مِنْهُ حَرَامًا وَحَلاَلاً .. (سورة يونس 59)
ท่านอิหม่ามอะห์มัดและท่านอื่นๆจากนักวิชาการฟิกฮ์ผู้เชี่ยวชาญหะดีษต่างกล่าวว่า : แท้จริง พื้นฐานของเรื่อง “อิบาดะฮ์” ทั้งมวลก็คือ ให้ระงับ (จากการปฏิบัติ) ดังนั้นจะไม่มีอิบาดะฮ์ใดถูกกำหนดขึ้นมา (เพื่อปฏิบัติ) เว้นแต่ต้องเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงบัญญัติ (คือสั่ง) มันเท่านั้น, มิฉะนั้น (ก็เท่ากับ)เราได้ล่วงล้ำเข้าสู่ความหมายของโองการที่ว่า .. “หรือพวกเขามีบรรดาภาคีที่ได้กำหนดศาสนาแก่พวกเขา ในสิ่งซึ่งอัลลอฮ์มิได้ทรงอนุญาต?” (อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัช-ชูรออ์ อายะฮ์ที่ 21)
ส่วนในเรื่อง “อาดะฮ์” (สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของมนุษย์) นั้น พื้นฐานของมันก็คือ การอนุโลม (ให้ปฏิบัติได้) ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใดต้องห้าม นอกจากสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา “ทรงห้าม”มันเท่านั้น, มิฉะนั้น (ก็เท่ากับ) เราได้ล่วงล้ำเข้าไปสู่ความหมายของโองการที่ว่า “จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า พวกท่านเห็นแล้วมิใช่หรือว่า สิ่งซึ่งอัลลอฮ์ทรงประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกท่านนั้น พวกท่าน (กลับ) ทำให้บางส่วนเป็นที่ต้องห้าม และบางส่วน เป็นที่อนุมัติ ?” (อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ยูนุส อายะฮ์ที่ 59 )
พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
هُوَالذِى خَلَقَ لَكُمْ مَا فِى الأرْضِ جَمِيْعًا
“พระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่งในแผ่นดินทั้งหมดเพื่อพวกเจ้า” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 29
ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
أنْتُمْ اَعْلَمُ بِامْرِ دُنْيَاكُمْ
“พวกเจ้าทั้งหลายรู้ในเรื่องดุนยาของพวกเจ้าดีกว่า” (ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 4358)
ดังนั้นเรื่องใดที่เป็นเรื่อง “อาดะฮ์” หรือภารกิจทางดุนยา ก็เป็นสิ่งที่ศาสนาเปิดกว้างให้ปฏิบัติได้หากไม่มีคำสั่งห้าม เช่น เราจะใช้ไม้ตะเกียบตักอาหาร ก็กระทำได้ เราใช้น้ำมันพืชทอดปลาก็กระทำได้ เราดื่มน้ำหวาน ก็ดื่มได้ เรารับประทานแกงเนื้อวัว ก็รับประทานได้ เราใช้น้ำมันพืชทอดปลาก็กระทำได้ เราจะสวมใส่เสื้อ ก็สวมได้ เราจะสวมแหวนทอง ก็สวมได้ เพราะมันเป็นเรื่อง “อาดะฮฺ” หรือภารกิจทางดุนยา หรือสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ถึงแม้ไม่มีหลักฐานใช้ก็ตาม แต่ถ้ามีหลักฐานห้ามไว้ ขัดต่อบทบัญญัติอิสลาม ก็เป็นที่ต้องห้าม ถือเป็นสิ่งหะรอม เช่น เราใช้ไม้ตะเกียบไปทิ่มตาผู้อื่น เราใช้น้ำมันพืชที่เคยใช้ทอดหมูนำมาทอดปลา เราสวมใส่เสื้อสีแดงล้วนๆ หรือผู้ชายสวมใส่เสื้อที่ทำมาจากไหม หรือผู้ชายสวมแหวนที่ทำมาจากทอง เป็นต้น เราก็ไม่สามารถกระทำสิ่งดังกล่าวได้ เพราะเป็นเรื่อง “อาดะฮฺ” ที่ต้องห้ามตามบัญญัติอิสลาม
รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า
“ปรากฏว่าชาวญาฮิลียะฮฺ (ยุคก่อนหน้านบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม จะประกาศศาสนา) พวกเขาบริโภคสิ่งต่างๆ และไม่บริโภคสิ่งต่างๆ ที่เห็นว่าสกปรก ดังนั้นพระองค์อัลลอฮฺทรงส่งนบีของพระองค์มา ประทานคัมภีร์ของพระองค์ พระองค์ทรงทำให้(สิ่งหนึ่ง)หะลาล (สิ่งหนึ่ง) หะลาล(อนุมัติ) และพระองค์ทรงทำให้ (สิ่งหนึ่ง)หะรอม (ต้องห้าม) ดังนั้นสิ่งใดอนุมัตินั้นคือสิ่งหะลาล และสิ่งใดต้องห้ามนั่นคือสิ่งหะรอม ส่วนสิ่งใดที่ไม่ระบุไว้(ว่าหะลาล หรือหะรอม) สิ่งนั้นได้รับการอภัย” (บันทึกหะดิษโดยอบูดาวูด หะดิษเลขที่ 3802 เป็นหะดิษที่เศาะเฮียะฮฺ)
จึงสรุปได้ว่า หลักพื้นฐานของโครงสร้างที่มาของวิชาอรรถคดี (อุศูลุ้ลฟิกฮ์) ในประเด็นที่ว่า
الأصل فى العادات الإباحة
“พื้นฐานของกิจทั่วไปคือการอนุมัติ”
الأصل فى العبادات التحريم
“พื้นฐานของอิบาดะห์ทั้งหลายคือการห้าม”
ผู้ที่มีทัศนะว่า“เมื่อไม่มีหลักฐานห้ามก็คือทำได้”
ผู้ที่มีทัศนะว่า เรื่องอิบาดะฮ์ใดก็ตาม แม้จะไม่มี “นัศ” หรือหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนั้น แต่ก็สามารถจะปฏิบัติได้ทุกเรื่อง โดยมีเงื่อนไข 3 ประการคือ
1. มีหลักฐานกว้างๆรองรับไว้แล้ว
2. ไม่มีหลักฐานห้ามที่เจาะจงในเรื่องนั้น
3. ไม่ขัดกับหลักการศาสนา
ดังนั้น ผู้เห็นว่า แม้ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในอิบาดะฮเรื่องใด ก็จงใช้ให้ใครสักคน “อะซาน” เพื่อเรียกผู้คนมาร่วมละหมาดญะมาอะฮ์วันอีด หรือละหมาดญะมาอะฮ์ตะรอเวี๊ยะห์ในเดือนรอมะฎอน เหมือนการอะซานก่อนละหมาดฟัรฺฎูได้เลย
เพราะ
ก. การอะซานเพื่อเรียกคนมาละหมาดญะมาอะฮ์ หรือไม่ว่าละหมาดอะไร มี “หลักฐานกว้างๆ” มารองรับ คือ โองการที่ 33 จากซูเราะฮ์ ฟุศศิลัต ที่ว่า
وَمَنْ أَحْسَنُ قَوْلاً مِمَّنْ دَعَا إِلَى اللهِ وَعَمِلَ صَالِحًا
“และใครเล่า จะดีเลิศในด้านคำพูด ยิ่งไปกว่าผู้ที่เรียกร้องเชิญชวนมาสู่อัลลอฮ์ และเขากระทำสิ่งที่ดี”
นอกจากโองการดังกล่าวแล้ว ยังมีหลักฐานเสริม คือการ “กิยาส” การละหมาดญะมาอะฮ์วันอีดหรือละหมาดตะรอเวี๊ยะห์กับการอะซานละหมาดฟัรฺฎูได้ เพราะมี “จุดเหมือน” คือ เป็น “ละหมาด” เหมือนกัน, และมีการ “ญะมาอะฮ์” เหมือนกันด้วย
ข. การอะซานเพื่อเรียกร้องคนมาละหมาดวันอีดหรือละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ ไม่มีหลักฐานเจาะจงห้าม
หรือผู้นั้นเคยเจอหลักฐานเจาะจงห้ามอะซานเพื่อละหมาดอีดและละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ ???
ค. การอะซานเพื่อเรียกร้องคนมาละหมาดวันอีดหรือละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ ไม่ขัดกับหลักการศาสนาตรงไหนเลย ??
หรือผู้นั้นจะบอกว่า การ “อะซาน” เพื่อเรียกร้องคนมาละหมาด ขัดกับหลักการศาสนา ?
และในปีต่อๆไป ให้ผู้ที่มีทัศนะว่าการทำอิบาดะฮฺที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนให้กระทำ แต่มีหลักฐานกว้างมารองรับ และไม่มีหลักฐานห้ามมันก็ให้กระทำได้เช่นนี้ ก็ควรจะเรียกเก็บซะกาตส้มโอ ทุเรียน, มังคุด, มะม่วง, ทุเรียน, ลองกอง เป็นต้น เสียด้วย
เพราะ
ก. การเก็บซะกาตผลไม้อันเป็นสิ่งเพาะปลูกดังกล่าวมี “หลักฐานกว้างๆ” มารองรับ นั่นคือโองการที่ 267 จากซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ที่ว่า
يَاأَيُّهَاالَّذِيْنَ آمَنُوْا أَنْفِقُوْا مِنْ طَيِّبَاتِ مَا كَسَبْتُمْ وَمِمَّا أَخْرَجْنَا لَكُمْ مِنَ اْلأَرْضِ
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย, พวกเจ้าจงบริจาคส่วนหนึ่งจากสิ่งดีทั้งหลายที่พวกเจ้าขวนขวายได้ และจากสิ่งซึ่งเราได้ให้มันออกมาจากพื้นดิน”
คำว่า “พวกเจ้าจงบริจาค” ในโองการบทนี้ ท่านอิบนุญะรีรฺ อัฏ-ฏ็อบรีย์ ได้รายงานในหนังสือตัฟซีรฺ “ญามิอุ้ลบะยาน” เล่มที่ 3 หน้า 81 จากท่านอะลีย์ ร.ฎ. และท่านอัช-เชากานีย์ ได้รายงานมาจากชาวสะลัฟกลุ่มหนึ่งในหนังสือตัฟซีรฺ “ฟัตหุ้ลเกาะดีรฺ” เล่มที่ 1 หน้า 436-437 ว่า หมายถึงการบริจาคที่เป็นฟัรฺฎูหรือซะกาต
และคำว่า “สิ่งที่เราได้ให้มันออก(งอกเงย)มาจากพื้นดิน” นั้น มิได้มีความหมายเฉพาะอินทผลัม, องุ่น, ข้าวสาลี, ข้าวบาร์เล่ย์หรือแร่ทองคำและเงินเท่านั้น แต่มีความหมายครอบคลุมผลไม้ทุกชนิดด้วย
ข. ไม่มี “หลักฐานเจาะจง” ห้ามเก็บซะกาตจากผลไม้เหล่านี้
ค. การเก็บซะกาตจากผลไม้เหล่านี้ไม่ขัดแย้งกับหลักการศาสนา
เวลามีคนตาย ให้ผู้ที่มีทัศนะว่าการทำอิบาดะฮฺที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนให้กระทำ แต่มีหลักฐานกว้างมารองรับ และไม่มีหลักฐานห้ามมันก็ให้กระทำได้เช่นนี้ ก็ไม่ควรจะกำหนดไปทำการซิกรุ้ลลอฮ์กันที่กุบูรฺอย่างเดียว แต่ควรจัดให้มีขบวนแห่ แล้วให้อ่านซิกรุ้ลลอฮ์หรืออ่านอัล-กุรฺอ่านดังๆ นำหน้ามัยยิตไปกุบูรฺ ด้วย เพราะตรงตามเงื่อนไข 3 ประการดังกล่าวทุกอย่าง
และ.. ดูเหมือนผู้นั้นจะส่งเสริมให้มีการซิกรุ้ลลอฮ์ได้โดยไม่จำกัด “สถานที่และเวลา” เพราะฉะนั้น ให้มีขบวนแห่แล้วทำการซิกรุ้ลลอฮ์ดังๆนำหน้ามัยยิตไปกุบูรนี่แหละ
และต่อไปนี้ ให้ผู้ที่มีทัศนะว่าการทำอิบาดะฮฺที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนให้กระทำ แต่มีหลักฐานกว้างมารองรับ และไม่มีหลักฐานห้ามมันก็ให้กระทำได้เช่นนี้ ก็ไม่ควรให้บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารอีกต่อไป เพราะแม้จะถือว่า มีหลักฐานกว้างๆเรื่องส่งเสริมให้เลี้ยงอาหาร และไม่มีหลักฐานห้ามเจาะจงก็จริง
แต่ก็ยังขาดเงื่อนไขข้อที่ 3 ที่ขัดกับหลักการศาสนา
นั่นคือ การให้ครอบครัวผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารนั้น “ขัดแย้ง” กับหลักการศาสนาที่ท่านนบีย์ “สั่ง” ให้บ้านใกล้เรือนเคียง เลี้ยงอาหารแก่ครอบครัวผู้ตาย
หรือ ผู้นั้นจะถือว่า “การที่เราเลี้ยงอาหารแก่ครอบครัวผู้ตาย” ตามคำสั่งท่านนบีย์ กับ “การให้ครอบครัวผู้ตายเลี้ยงอาหารเรา” ตามการส่งเสริมของผู้นั้น ไม่ขัดแย้งกัน
..........................................................................
เพิมเติม
(หนังสือปทานุกรม “อัล-มุอฺญัม อัล-วะซีฏ” เล่มที่ 2 หน้า 926 กล่าวอธิบายว่า
اَلنَّصُّ مَا لاَ يَحْتَمِلُ إِلاَّ مَعْنىً وَاحِدًا، أَوْ لاَ يَحْتَمِلُ التَّأْوِيْلَ
“นัศ ก็คือ สิ่งซึ่งไม่สามารถจะตีความ(เป็นอย่างอื่น)ได้นอกจากเพียงความหมายเดียว, หรือสิ่งซึ่งไม่สามารถจะตะอ์วีล(แปรเปลี่ยนความหมาย)) เป็นอย่างอื่นได้”
รวมความแล้ว คำว่า “นัศ” (ที่เป็นหลักฐานเรื่องผลบุญ)จึงไม่ได้หมายถึง “หลักฐานกว้างๆ” .แต่คำว่า “นัศ” จะหมายถึง “หลักฐานที่ชัดเจนที่ไม่สามารถจะตีความเป็นอย่างอื่นได้” .. อาทิเช่น “นัศ” เรื่องการอ่านอัล-กุรฺอ่านเพื่ออุทิศผลบุญให้ผู้ตาย, “นัศ” เรื่องการจัดเลี้ยงอาหารเพื่อส่งบุญให้ผู้ตาย เป็นต้น )
والله أعلم بالصوا
..................
ข้อมูลจากท่านอาจารย์มะห์มูด (ปราโมทย์) ศรีอุทัย และอาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น