อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทัศนะของบรรดานักวิชาการที่ว่าการละหมาดย่อนั้นเป็นวาญิบ



                   มีนักวิชาการหลายท่านที่มีความเห็นว่าการละหมาดย่อในระหว่างการเดินทางเป็นวาญิบ โดยอาศัยหลักฐานรายงานที่กล่าวถึงท่านอาลี อิบนิ อบีฏอลิบ และท่านอุมัร อิบนิล คอฏฏอบ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา ท่านทั้งสองถือว่าการละหมาดย่อขณะเดินทางเป็นวาญิบ (หนังสือ นัยลุลเอาฏ็อร ของอิมามอัชเชากานีย์ เล่ม 3 หน้า 245)

รายงานจากท่านยะอฺลา อิบนิ อุมัยยะฮฺ ได้กล่าวว่า
“ฉันได้กล่าวแก่ท่านอุมัร อิบนิล ค็อฏฏ็อบ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา เกี่ยวกับดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “ไม่มีบาปใดๆแก่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะย่อการละหมาด หากพวกเจ้ากลัวว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะข่มเหงรังแกพวกเจ้า” บัดนี้ประชาชนก็รอดพ้นจากการถูกข่มเหงรังแกและมีความปลอดภัยแล้ว ท่านอุมัร ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า “ฉันก็รู้สึกแปลกใจในเรื่องนี้เช่นเดียวกับท่านเหมือนกัน แล้วฉันเคยถามท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมจึงกล่าวว่า (การละหมาดย่อในระหว่างเดินทางนั้น) เป็นศอดะเกาะฮฺที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่พวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงรับศอดะเกาะฮฺของพระองค์เถิด”(บังทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม อบูดาวูด ติรมีซีย์ อันนะซาอีย์ อิบนิมาญะฮฺ และอะหฺมัด)

รายงานจากท่านอุมัร ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
“การละหมาดระหว่างการเดินทางนั้นมี 2 ร็อกอะฮฺ การละหมาดวันศุกร์นั้นมี 2 ร็อกอะฮฺ การละหมาดอีดนั้นมี 2 ร็อกอะฮฺ เป็นจำนวนเต็ม โดยไม่มีการลดหย่อนตามคำของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม” (บันทึกหะดิษโดยอิบนิมาญะฮฺ อันนะซาอีย์ , อิบนิชัยบะฮฺ , อัลบัยฮะกีย์ อะหฺมัด อัฏก่อยาลิซีย์ และอิบนิ ฮิบบาน)
รายงานจากท่านอิบนิอับบ๊าส ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า
“อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดการละหมาดโดยผ่านทางคำพูดของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ในขณะอยู่ที่บ้าน(คือไม่มีการเดินทาง) 4 ร็อกอะฮฺ และในขณะเดินทาง 2 ร็อกอะฮฺ” (บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม อบูดาวูด อันนะซาอีย์ อิบนิมาญะฮฺ และอะหฺมัด)

รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า
“อัลลอฮฺทรงกำหนดการละหมาด เมื่อพระองค์กำหนดเป็นฟัรฎูนั้นมีเพียง 2 ร็อกอะฮฺ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน หรืออยู่ระหว่างการเดินทาง แล้วละหมาดระหว่างเดินทางนั้นก็ให้ปฏิบัติตามเดิม (2 ร็อกอะฮฺ) และเพิ่มการละหมาดในขณะอยู่ที่บ้าน(ให้ละหมาด 4 ร็อกอะฮฺ ในละหมาดซุฮฺรี อัศรี และอีชา)” (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรีย์ มุสลิม อบูดาวูดและอันนะซาอีย์)

รายงานจากท่านมุวัรริก(อบุลมั๊วะอฺตะมิร อัลบัศรีย์) เล่าว่า
“ฉันได้ถามท่านอิบนิอุมัร ร่อียัลลอฮุอันฮุมา เกี่ยวกับละหมาดในระหว่างการเดินทาง ท่านตอบว่า มี 2 ร็อกอะฮฺ มี 2 ร็อกอะฮฺ ผู้ใดปฏิบัติค้านกับสุนนะฮฺ เขาเป็นผู้ปฏิเสธ” (บันทึกหะดิษโดยอัฏฏ็อบรอนีย์ อัลบัยฮะกีย์ และอัฏฏ่อฮาวีย์)

ท่านอมามอัซซอนอานีย์ได้กล่าวว่า
“การที่ท่านอิบนิอุมัรกล่าวว่า “ผู้ใดปฏิบัติค้านกับสุนนะฮฺเขาเป็นผู้ปฏิเสธ” นั้น เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ท่านอิบนิอุมัรไม่ได้ใช้คำพุดนี้โดยพลการ หากท่านได้รับทราบว่าดังกล่าวเป็นคำพุดของท่านของรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม จึงถือว่าคำพุดของท่านอิบนิอุมัรเป็นหะดิษมัรฟั๊วะฮฺ(คือคำกล่าวของท่านของรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) [หนังสือ “สุบุลุสลาม” เล่ม 2 หน้า 442)

ท่านอิมามอันนะวะวีย์ได้กล่าวว่า
“ท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮฺ และนักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า การละหมาดย่อในระหว่างการเดินทางเป็นจำเป็น(วาญิบ) ไม่อนุญาตให้ละหมาดเต็ม(ในละหมาดที่มี 4 ร็อกอะฮฺ)” (หนังสือ ชัรฮุซ่อฮีฮิมุสลิม เล่ม 5 หน้า 194)

ท่านอิมามอัลค็อฏฏอบีย์ได้กล่าวว่า
“แนวทางของบรรดานักวิชาการตามเมืองต่างๆ ถือว่าการละหมาดย่อในระหว่างการเดินทางนั้นเป็นวายิบ และดังกล่าวนี้ก็เป็นทัศนะของท่านอุมัร ท่านอาลี ท่านอิบนิอุมัร ท่านญาบิร ท่านอิบนุอับบ๊าส ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม ซึ่งท่านเหล่านี้เป็นเศาะหาบะฮฺอาวุโสในด้านวิชาการ และทัศนะนี้ก็เป็นทัศนะของท่านอุมัรอิบนิ อับดุลอะซีซ ท่านฮะซัน อัลบัศรย์ และท่านก่อตาดะฮฺ (คนรุ่นจาบิอีน) สำหรับท่านฮัมมาด อิบนิ อบีสุไลมาน ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮฺได้กล่าวว่า “บุคคลที่ละหมาดเต็ม(4ร็อกอะฮฺนั้น ต้องละหมาดใหม่(ต้องละหมาดย่อใหม่)” และท่านอมามมาลิกกล่าวว่า “บุคคลที่ละหมาดเต็มนั้น ต้องละหมาดใหม่ ตราบใดที่ยังอยู่ในเวลาของละหมาดนั้น” (หนังสือ “มะอาลิมุซซุนัน” เล่ม 2 หน้า 47-481)

และยังมีนักวิชาการที่เห็นด้วยกับทัศนะที่ว่าการละหมาดย่อขณะเดินทางเป็นวาญิบ ได้แก่ ท่านอิมามอิบนุตัยมียะฮฺ ท่านอิมามอิบนุก็อยยิม ท่านอิมามอัชเชากานีย์ และท่านอิมามอัซซอนอานีย์



والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น