ทรรศนะของอุละมาอ์
ผู้เขียนไม่พบทรรศนะของอุละมาอ์รุ่นก่อน ๆ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าส่งเสริมให้ลูบหน้าผากหรือลูบหน้า หลังจากการให้สลามเมื่อละหมาดเสร็จ นอกจากบางทรรศนะของอุละมาอ์รุ่นหลัง ๆ ซึ่งผู้เขียนพบว่ามีอุละมาอ์บางท่านได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าส่งเสริมให้ลูบหน้าผากหรือลูบหน้าหลังจากละหมาดเสร็จ.
1. อัส-สัยยิด อับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ หุสัยนฺ อิบนุ อุมัรฺ หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ "บา อะละวีย์" มุฟตีย์แห่งเมืองหัดเราะเมาตฺ (Hadhramaut) ประเทศเยเมน ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือ "บุฆยะตุล มุสตัรฺชิดีน" โดยกล่าวอ้างทรรศนะของบาอฺชันว่า:
قال باعشن: يسنّ مسح الجبهة عقيب الصلاة
"บาอฺชันได้กล่าวว่า สุนัตให้ลูบหน้าผากหลังจากการละหมาด"
และในอีกตอนหนึ่งท่านก็ได้ยกหลักฐานการลูบหน้าผากหรือลูบหน้าจากการรายรายงานของษาบิต อัล-บุนานีย์ ถึงท่านอนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ .
2. ชัยคฺ ดาวูด อิบนุ อับดุลลอฮฺ อัล-ฟะฏอนีย์ ท่านได้กล่าวในหนังสือ "มุนยะตุล มุศ็อลลีย์" ว่า:
ادافون سنة يغد كرجاكن كمدين درفدا سمبهيغ مك اداله نبي صلى الله عليه وسلم افبيل سلسي درفدا سمبهيغ مثافو دعن تاغنث داتس كفلاث دان دبخاث « بسم الله الذي لا إله إلا هو الرحمن الرحيم ، اللهم أذهب عني الهم والحزن »
"ส่วนการปฏิบัติที่เป็นสุนัตหลังจากการละหมาดนั้น ปรากฏว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม หลังจากท่านละหมาดเสร็จ ท่านจะลูบบนศีรษะด้วยมือของท่าน และท่านจะอ่านว่า:
« بسم الله الذي لا إله إلا هو الرحمن الرحيم ، اللهم أذهب عني الهم والحزن »
"ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ โอ้อัลลอฮฺโปรดปัดความวิตกกังวลและความเสียใจออกจากตัวฉันด้วยเถิด"
วิเคราะห์หลักฐาน
หะดีษที่นำมาอ้างเป็นหลักฐานการลูบหน้าผากหรือลูบหน้าหลังจากการให้สลามคือหะดีษที่เล่าโดยท่านอนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ซึ่งมี 3 สายรายงานจากตาบิอีน 3 ท่านนั่นคือ
1. มุอาวิยะฮฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ
2. ษาบิต อิบนุ อัสลัม อัล-บุนานีย์
3. กะษีรฺ อิบนุ สุลัยมฺ
ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอและวิเคราะห์แต่ละสายรายงานว่ามีสถานะอยู่ในระดับใด สามารถนำเอามาเป็นหลักฐานได้หรือไม่.
1. สายรายงานมุอาวิยะฮฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ
ท่านอนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า:
كان رسول الله صلى الله عليه وسلم إذا قضى صلاته مسح جبهته بيده اليمنى ، ثم يقول : « بسم الله الذي لا إله إلا هو الرحمن الرحيم ، اللهم أذهب عني الغم والحزن »
ความว่า: ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านละหมาดเสร็จ ท่านจะลูบหน้าผากของท่านด้วยมือขวา หลังจากนั้นท่านจะกล่าวว่า:
« بسم الله الذي لا إله إلا هو الرحمن الرحيم ، اللهم أذهب عني الغم والحزن »
"ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ โอ้อัลลอฮฺโปรดขจัดความเศร้าโศกเสียใจออกจากตัวฉันด้วยเถิด".
ตัครีจญ์หะดีษ
สายรายงานนี้บันทึกโดยอัฏ-เฏาะบะรอนีย์ในหนังสือ "อัล-มุอฺญัม อัล-เอาสัฏ" เลขที่: 2499, และในหนังสือ "อัด-ดุอาอ์" เลขที่: 659, อิบนุ อัส-สุนนีย์ในหนังสือ "อมัล อัล-เยามฺ วะ อัล-ลัยละฮฺ" เลขที่: 112, อบูนุอัยมฺ อัล-อัศฟะฮานีย์ในหนังสือ "หิลยะฮฺ อัล-เอาลิยาอ์" 2/301, และอิบนุสัมอูนในหนังสือ "อัล-อะมาลีย์" เลขที่: 121.
ทั้งหมดรายงานด้วยสายรายงานถึงสัลลาม อัฏ-เฏาะวีล จากซัยดฺ อัล-อัมมีย์ จากมุอาวิยะฮฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ.
ข้อมูลนักรายงานหะดีษ
1. สัลลาม อัฏ-เฏาะวีล (เสียชีวิตฮ.ศ. 177) .
มีชื่อจริงว่า สัลลาม อิบนุ สัลมฺ อัต-ตะมีมีย์ อัล-คุรอสานีย์ อัฏ-เฏาะวีล.
อัล-บุคอรีย์กล่าวว่า: "นักหะดีษต่างละทิ้งเขา"
อะหฺมัดกล่าวว่า: "มุงกะรุลหะดีษ"
อิบนุมะอีนกล่าวว่า: "เฎาะอีฟ ไม่อนุญาตให้บันทึกหะดีษของเขา"
อิบนุหิบบานกล่าวว่า: "เฎาะอีฟ"
อิบนุคิรอชกล่าวว่า: "จอมโกหก"
อัน-นะสาอีย์, อัด-ดาเราะกุฏนีย์, อัล-บัยหะกีย์, อัซ-ซะฮะบีย์, และอิบนุหะญัรฺกล่าวว่า: "มัตรูก"
สรุป: สถานะของสัลลาม อัฏ-เฏาะวีลคือ "เฎาะอีฟมาก" ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานและไม่สามารถนำมาสนับสนุนสายรายงานอื่นได้.
2. ซัยดฺ อัล-อัมมีย์.
ซัยดฺ อิบนุ อัล-หิวารีย์ อัล-อัมมีย์
อะลีย์ อิบนุ อัล-มะดีนีย์กล่าวว่า: "เฎาะอีฟ"
อิมามอะหฺมัดกล่าวว่า: "ศอลิหฺ"
อบูหาติมกล่าวว่า: "เฎาะอีฟุลหะดีษ ให้บันทึกหะดีษของเขาได้ แต่อย่าเอามาเป็นหลักฐาน "
อบูซุรฺอะฮฺกล่าวว่า: "ไม่ใช่บุคคลที่แข็งแรง (ในการรายงานหะดีษ)"
อิบนุมะอีนกล่าวว่า: "ลา ชัยอ์" ในอีกตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า "ศอลิหฺ" และในอีกตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า: "ให้บันทึกหะดีษของเขา แต่ทว่าเขานั้นเฎาะอีฟ"
อิบนุหิบบานกล่าวว่า: "ไม่อนุญาตให้เอาเคาะบัรฺของเขามาเป็นหลักฐาน"
อิบนุหะญัรฺกล่าวว่า: "เฎาะอีฟ"
สรุป: สถานะของซัยดฺ อัล-อัมมีย์คือ "เฎาะอีฟ" แต่สามารถนำมาสนับสนุนเพื่อยกระดับหะดีษได้.
3. มุอายะฮฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ (เสียชีวิตฮ.ศ. 113)
ท่านอบูหาติม, อิบนุมะอีน, อัน-นะสาอีย์, และนักหะดีษท่านอื่น ๆ กล่าวว่า "ษิเกาะฮฺ"
ท่านอิบนุหะญัรฺกล่าวว่า "ษิเกาะฮฺ อาลิม"
สรุป: สถานะของมุอาวิยะฮฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺคือ "ษิเกาะฮฺ"
สถานะของหะดีษ
สายรายงานนี้เป็นสายรายงานที่เฎาะอีฟมาก เพราะมีนักรายงานถึงสองคนที่ถูกตำหนิในความน่าเชื่อถือ นั่นคือ "สัลลาม อัฏ-เฏาะวีล" และ "ซัยดฺ อัล-อัมมีย์" โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัลลาม อัฏ-เฏาะวีลที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในความน่าเชื่อถือ.
2. สายรายงานษาบิต อัล-บุนานีย์
ท่านอนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า:
«كان رسول الله صلى الله عليه وسلم إذا قضى صلاته مسح جبهته بكفه اليمنى، ثم أمرها على وجهه حتى يأتي بها على لحيته ويقول : بسم الله الذي لا إله إلا هو عالم الغيب والشهادة الرحمن الرحيم، اللهم أذهب عني الغم والحزن والهم ، اللهم بحمدك انصرفت وبذنبي اعترفت ، أعوذ بك من شر ما اقترفت ، وأعوذ بك من جهد بلاء الدنيا ومن عذاب الآخرة »
ความว่า: ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านละหมาดเสร็จ ท่านจะลูบหน้าผากด้วยฝามือขวาของท่าน แล้วท่านจะลูบผ่านใบหน้าจนกระทั่งถึงเครา และท่านจะกล่าวว่า:
« بسم الله الذي لا إله إلا هو عالم الغيب والشهادة الرحمن الرحيم ، اللهم أذهب عني الغم والحزن والهم ، اللهم بحمدك انصرفت وبذنبي اعترفت ، أعوذ بك من شر ما اقترفت ، وأعوذ بك من جهد بلاء الدنيا ومن عذاب الآخرة »
"ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ โอ้อัลลอฮฺโปรดขจัดความเศร้า เสียใจ และความวิตกกังวลออกจากตัวฉันด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺ ด้วยกับการสรรเสริญท่านที่ฉันได้เสร็จสิ้น และด้วยกับบาปของฉันที่ฉันได้ยอมรับ ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากความชั่วร้ายที่ฉันได้กระทำลงไป และฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากการทดสอบที่แสนสาหัสในโลกดุนยาและจากการลงโทษในวันอาคิเราะฮฺ"
ตัครีจญ์หะดีษ
สายรายงานนี้บันทึกโดยอบูนุอัยมฺ อัล-อัศบะฮานีย์ ในหนังสือ "อัคบารฺ อัศบะฮาน" 2/104. ด้วยสายรายงานถึงดาวูด อิบนุ อัล-มุหับบัรฺ จากอัล-อับบาส อิบนุ เราะซีน มุศเฏาะฟา อัส-สุละมีย์ จากญัลลาส อิบนุ อัมรฺ จากท่านษาบิต อัล-บุนานีย์.
ข้อมูลนักรายงานหะดีษ
1. ดาวูด อัล-มุหับบัรฺ (เสียชีวิตฮ.ศ. 206)
อับดุลลอฮฺ อิบนุ อะหฺมัดกล่าวว่า: "ฉันได้ถามพ่อของฉัน (นั่นคืออิมามอะหฺมัด) เกี่ยวกับดาวูด อิบนุ อัล-มุหับบัรฺ แล้วท่านก็หัวเราะและกล่าวว่า เขาประหนึ่งไม่มีอะไรเลย เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหะดีษนั้นคืออะไร".
อิมามอะหฺมัดและอิมามอัล-บุคอรีย์กล่าวว่า: เขาเป็นคนโกหก
อบูดาวูดกล่าวว่า: "ษิเกาะฮฺ ประหนึ่งว่าเฎาะอีฟ"
อบูซุรฺอะฮฺกล่าวว่า: "เฎาะอีฟุลหะดีษ"
อิบนุมะอีนกล่าวว่า: "เฎาะอีฟ" และในอีกตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า "ษิเกาะฮฺ"
อัล-ษัยซะมีย์กล่าวว่า: "เฎาะอีฟ" และอีกตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า: "เฎาะอีฟมาก"
อัด-ดาเราะกุฏนีย์และอิบนุหะญัรฺกล่าวว่า: "มัตรูก"
สรุป: สถานะของดาวูด อิบนุ อัล-มุหับบัรฺคือ "เฎาะอีฟมาก" เนื่องจากมีนักหะดีษสายกลาง (มุอฺตะดิล - معتدل) หลายคนที่ได้ตำหนิเขาในด้านความน่าเชื่อถืออย่างหนัก และท่านอิบนุหะญัรฺก็ได้ประมวลบรรดาทรรศนะของนักหะดีษและสรุปว่าเขาคือนักรายงานที่ "มัตรูก" ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่เฎาะอีฟมาก ส่วนการเตาษีกของอิบนุมะอีนนั้นสามารถอธิบายได้ตามคำชี้แจงของชัยคฺอัล-มุอัลลิมีย์ที่ว่า:
"โดยปกติวิสัยของอิบนุมะอีนต่อนักรายงานหะดีษที่ท่านได้พบปะ (ร่วมสมัย) กับเขานั้น เมื่อท่านรู้สึกพออกพอใจกับคุณลักษณะท่าทางของเขาแล้ว ท่านจะฟังหะดีษจำนวนหนึ่งจากเขา แล้วเมื่อท่านเห็นว่าหะดีษเหล่านั้นถูกต้อง ท่านก็คาดว่านั้นแหละคือสถาพของเขา แล้วท่านก็จะเตาษีก เขา และแท้ที่จริงแล้วพวกเขา (นักรายงานหะดีษที่ร่วมสมัยกับท่านอิบนุมะอีน) ต่างเกรงกลัวต่อท่าน และบางทีอาจมีนักรายงานบางคนที่ปะปน (สายรายงานหะดีษ) โดยเจตนา แต่เขาจะนำเสนอต่ออิบนุมะอีนด้วยบรรดาหะดีษที่ถูกต้อง แต่เมื่อลับหลัง เขาก็จะปะปน (สายรายงานหะดีษ) ตามเดิม และเมื่อเราพบว่ามีนักรายงานคนหนึ่งที่อิบนุมะอีนได้พบ –ร่วมสมัย- กับเขา และท่านอิบนุมะอีนก็ได้เตาษีกเขา ในขณะที่นักหะดีษส่วนมากต่างตำหนิเขาอย่างหนัก ดังนั้นที่ประจักษ์แจ้งคือ แท้จริงแล้วนักรายงานคนนั้นจัดอยู่ในประเภทนี้..."
2. อัล-อับบาส อิบนุ เราะซีน มุศเฏาะฟา อัส-สุละมีย์.
ท่านอยู่ในสมัยของอิมามมาลิกและเคยพบปะกับท่าน ส่วนข้อมูลด้านความเชื่อถือนั้น ผู้เขียนไม่พบข้อมูล
3. คิลาส อิบนุ อัมรฺ อัล-บัศรีย์ (เสียชีวิตก่อนฮ.ศ. 100)
อะหฺมัด อิบนุมะอีน และอิบนุหิบบานกล่าวว่า: "ษิเกาะฮฺ"
อบูดาวูดกล่าวว่า: "ษิเกาะฮฺ ไม่ได้ฟัง –หะดีษ- จากท่านอะลีย์"
อิบนุหะญัรฺกล่าวว่า: "ษิเกาะฮฺ"
สรุป: สถานะของคิลาส อิบนุ อัมรฺ คือ "ษิเกาะฮฺ" นอกจากการรายงานของเขาจากท่านอะลีย์และเศาะหาบะฮฺบางท่านดั่งที่นักหะดีษได้ระบุไว้.
4. ษาบิต อิบนุ อัล-บุนานีย์ (เสียชีวิตฮ.ศ. 127)
อัน-นะสาอีย์ อิบนุหะญัรฺ และนักหะดีษท่านอื่น ๆ กล่าวว่า: "ษิเกาะฮฺ"
สรุป: สถานะของษาบิต อัล-บุนานีย์คือ "ษิเกาะฮฺ"
สถานะของหะดีษ
สายรายงานนี้เป็นสายรายงานที่ "เฎาะอีฟมาก" เนื่องจากมีนักรายงานชื่อดาวูด อิบนุ อัล-มุหับบัรฺ ซึ่งนักหะดีษได้ตำหนิความน่าเชื่อถือของเขาอย่างหนัก ฉะนั้นสายรายงานนี้จึงไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานและไม่สามารถนำมาสนับสนุนสายรายงานอื่น ๆ ได้.
3. สายรายงานกะษีรฺ อิบนุ สุลัยมฺ
ท่านอนัส อิบนุ มาลิก เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า:
«كان رسول الله صلى الله عليه و سلم إذا قضى صلاته مسح جبهته بيمينه ثم يقول: بسم الله الذي لا إله غيره اللهم أذهب عني الهم والحزن ثلاثا»
ความว่า: ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านได้ละหมาดเสร็จ ท่านจะลูบหน้าผากของท่านด้วยมือขวา หลังจากนั้นท่านจะกล่าวว่า:
«بسم الله الذي لا إله غيره اللهم أذهب عني الهم والحزن»
"ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ โอ้อัลลอฮฺโปรดปัดความเศร้าและเสียใจออกจากตัวฉันด้วยเถิด" สามครั้ง.
ตัครีจญ์หะดีษ
สายรายงานนี้บันทึกโดยอิบนุอะดีย์ในหนังสือ "อัล-กามิล ฟิ อัฎ-ฎุอะฟาอ์" 6/63. ด้วยสายรายงานถึงอิบนุซะรีหฺ จากญุบาเราะฮฺ จากกะษีรฺ จากอนัส.
ข้อมูลนักรายงานหะดีษ
1. อิบนุซะรีหฺ (เสียชีวิตฮ.ศ. 307)
มีชื่อจริงว่ามุหัมมัด อิบนุ ศอลิหฺ อิบนุ ซะรีหฺ อัล-บัฆดาดีย์ อัล-อุกบะรีย์
อัด-ดาเราะกุฏนีย์กล่าวว่า: "ชัยคฺ"
อัล-เคาะฏีบ อัล-บัฆดาดีย์กล่าวว่า: "ษิเกาะฮฺ"
อัซ-ซะฮะบีย์กล่าวว่า: "อัล-อิมาม อัล-มุตกิน อัษ-ษิเกาะฮฺ"
และท่านได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า: "นักหะดีษให้ความน่าเชื่อถือแก่เขา และเอา –การรายงานของ- เขามาเป็นหลักฐาน"
สรุป: สถานะของอิบนุซะรีหฺคือ "ษิเกาะฮฺ"
2. ญุบาเราะฮฺ อิบนุ อัล-มุฆ็อลลิส (เสียชีวิตฮ.ศ. 241)
อัล-บุคอรีย์กล่าวว่า: "มุฎเฏาะริบ อัล-หะดีษ"
อบูดาวูดกล่าวว่า: "ฉันไม่บันทึกหะดีษจากเขา ในบรรดาหะดีษของเขานั้นมุงกัรฺ"
ยะหฺยา อิบนุ มะอีนกล่าวว่า: "ญุบาเราะฮฺคือจอมโกหก"
อับดุลลอฮฺ อิบนุ อะหฺมัดกล่าวว่า: "ฉันได้เสนอบรรดาหะดีษที่ฉันได้ฟังมันจากญุบาเราะฮฺแก่พ่อของฉัน (นั่นคืออิมามอะหฺมัด) แล้วท่านก็ปฏิเสธบางส่วนของหะดีษ และท่านได้กล่าวว่า: "เหล่านี้เป็นหะดีษเมาฎูอฺ"
อิบนุอัน-นุมัยรฺกล่าวว่า: "เขาได้กุหะดีษแล้วรายงานมัน"
อิบนุหะญัรฺกล่าวว่า: "เฎาะอีฟ"
สรุป: สถานะของญุบาเราะฮฺ อิบนุ อัล-มุฆ็อลลิสคือ "เฎาะอีฟ" และอาจถึงขั้น "เฎาะอีฟมาก".
3. กะษีรฺ อิบนุ สุลัยมฺ อบูหาชิม (เสียชีวิตฮ.ศ.)
อัล-บุคอรีย์กล่าวสายรายงานของกะษีรฺจากท่านอนัสว่า: "มุงกะรุลหะดีษ"
อิบนุลมะดีนีย์, อบูหาติม, อบูดาวูด, อัด-ดาเราะกุฏนีย์, กล่าวว่า: "เฎาะอีฟ"
ยะหฺยา อิบนุ มะอีนกล่าวว่า: "ไม่อนุญาตให้บันทึกหะดีษจากเขา"
อัน-นะสาอีย์กล่าวว่า: "มัตรูก"
สรุป: สถานะของกะษีรฺ อิบนุ สุลัยมฺคือ "เฎาะอีฟ" และอาจถึงขั้นเฎาะอีฟมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานของเขาถึงท่านอนัส ดั่งที่ท่านอิมามอัล-บุคอรีย์ได้กล่าวไว้.
สถานะของหะดีษ
สายรายงานนี้เป็นหะดีษที่เฎาะอีฟมาก เนื่องจากมีนักรายงานถึง 2 คนที่เฎาะอีฟ และมีนักหะดีษบางคนที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในความน่าเชื่อถือ อีกทั้งสายรายงานนี้เป็นสายรายงานที่กะษีรฺ อิบนุ สุลัยมฺ รายงานจากท่านอนัส ซึ่งท่านอิมามอัล-บุคอรีย์กล่าวว่าการรายงานของกะษีรฺ อิบนุ สุลัยมฺ จากท่านอนัสนั้นเป็นสายรายงานที่ "มุงกัรฺ" ซึ่งจัดอยู่ในสายรายงานที่ "เฎาะอีฟมาก"
ข้อสรุป
หะดีษการลูบหน้าผากหรือลูบหน้าหลังจากละหมาดเสร็จถือเป็นหะดีษที่เฎาะอฟีมาก ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้
ท่านอิบนุเราะญับกล่าวว่า "สายรายงานทั้งหมด – ที่เกี่ยวกับการลูบหน้าผากหรือลูบหน้าหลังจากละหมาดเสร็จ - จากท่านอนัสนั้น "วาฮิยะฮฺ " . นั่นคือ เฎาะอีฟมาก ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานและไม่สามารถนำมาสนับสนุนสายรายงานอื่นได้.
والله أعلم بالصواب
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
โดยอาบิรฺ สบีล
บรรณานุกรม
1. ดาวูด อิบนุ อับดุลลอฮฺ อัล-ฟะฏอนีย์. มปป. มุนยะตุล มุศ็อลลีย์. กรุงเทพ: มักตะบะฮฺ วะ มัฏบะอะฮฺ มุหัมมัด อัน-นะฮฺดีย์ วะ เอาลาดิฮฺ.
2. อบูนุอัยมฺ. อะหฺมัด อิบนุ อับดุลลอฮฺ อัล-อัศฟะฮานีย์. ม.ป.ป. ซิกรฺ อัคบารฺ อัศบะฮาน. เบรุต : ดารฺ อัล-กิตาบ อัล-อิสลามีย์.
3. อบูนุอัยมฺ. อะหฺมัด อิบนุ อับดุลลอฮฺ อัล-อัศฟะฮานีย์. 1984. หิลยะฮฺ อัล-เอาลิยาอฺ. พิมพ์ครั้งที่ 4. เบรุต : ดารฺ อัล-กิตาบ อัล-อะเราะสูลุลลอฮฺบีย์.
4. อบูนุอัยมฺ. อะหฺมัด อิบนุ อับดุลลอฮฺ อัล-อัศ-บะฮานีย์. 1984. อัฎ-ฎุอะฟาอ์. กาซาบลังกา: ดารฺ อัษ-ษะกอฟะฮฺ.
5. อะหฺมัด อิบนุ หันบัล อัช-ชัยบานีย์. 1988. อัล-อิลัล วะ มะอฺริฟะฮฺ อัรฺ-ริญาล. พิมพ์ครั้งที่1. เบรุต: อัล-มักตับ อัล-อิสลามีย์.
6. อัช-เชากานีย์. มุหัมมัด อิบนุ อะลีย์ อิบนุ มุหัมมัด อัช-เชากานีย์. ม.ป.ป. อัล-ฟะวาอิด อัล-มัจญ์มูอะฮฺ ฟิล อะหาดีษ อัล-เมาฎูอะฮฺ. เบรุต: ดารฺ อัล-กุตุบ อัล-อิลมิยฺยะฮฺ.
7. อัซ-ซะฮะบีย์. มุหัมมัด อิบนุ อะหฺมัด อิบนุ อุษมาน อัซ-ซะฮะบีย์. 1985. สิยัรฺ อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์. พิมพ์ครั้งที่3. เบรุต: มุอัสสะสะฮฺ อัรฺ-ริสาละฮฺ.
8. อัซ-ซะฮะบีย์. มุหัมมัด อิบนุ อะหฺมัด อัซ-ซะฮะบีย์. 1995. มีซาน อัล-อิอฺติดาล. พิมพ์ครั้งที่1. เบรุต: ดารฺ อัล-กุตุบอั ล-อิลมิยฺยะฮฺ.
9. อัฏ-เฏาะบะรอนีย์. สุลับมาน อิบนุ อะหฺมัด. 1994. อัล-มุอฺญัม อัล-เอาสัฏ. พิมพ์ครั้งที่ 1. ไคโร: ดารฺ อัล-หะเราะมัยนฺ.
10. อัฏ-เฏาะบะรอนีย์. สุลับมาน อิบนุ อะหฺมัด. 1993. อัด-ดุอาอ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. เบรุต: ดารฺ อัล-กุตุบ อัล-อิลมิยฺยะฮฺ.
11. อัล-เคาะฏีบ อัล-บัฆดาดีย์. อะหฺมัด อิบนุ อะลีย์ อบูบักรฺ อัล-เคาะฏีบ อัล-บัฆดาดีย์. มปป. ตารีค บัฆดาด. เบรุต: ดารฺ อัล-กุตุบ อัล-อิลมิยฺยะฮฺ.
12. อัล-มิซซีย์. ยูสุฟ อิบนุ อัล-ซะกีย์ อับดุรฺเราะหฺมาน อบุลหัจญาจญ์ อัล-มิซซีย์. 1980. ตะฮฺซีบุล กะมาล. พิมพ์ครั้งที่1. เบรุต: มุอัสสะสะฮฺ อัรฺ-ริสาละฮฺ.
13. อัล-หัยษะมีย์. นูรุดดีน อะลีย์ อิบนุ อบีบักรฺ อัล-หัยษะมีย์. 1991. มัจมะอฺ อัซ-ซะวาอิด. เบรุต: ดารุลฟิกฺรฺ.
14. อัล-อาญุรฺรีย์. มุหัมมัด อิบนุ อลีย์ อัล-อาญุรฺรีย์. 1979. สุอาลาต อบี อุบัยดฺ อัล-อาญุรฺรีย์ อบา ดาวูด อัส-สิญิสตานีย์. พิมพ์ครั้งที่1. มะดีนะฮฺ: มหาวิทยาลัยอิสลาม มะดีนะฮฺ.
15. อัส-สุละมีย์. มุหัมมัด อิบนุ อัล-หุสัยนฺ อัน-นัยสาบูรีย์ อัส-สุละมีย์. 2006. สุอาลาต อัส-สุละมีย์ ลิดดาเราะกุฏนีย์. ซาอุดีอารเบีย: อัล-ญะรีย์.
16. อิบนุ เราะญับ. อัลดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ อะหฺมัด อิบนุ เราะญับ อัล-หันบะลีย์. 2001. ฟัตหุลบารีย์. พิพม์ครั้งที่2. ซาอุดีอารเบีย: ดารฺ อิบนุลเญาซีย์.
17. อิบนุสัมอูน. อบู อัล-หะสัน มุหัมมัด อิบนุ อะหฺมัด อัล-บัฆดาดีย์. 2002. อัล-อะมาลีย์. เบรุต: ดารฺ อัล-บะชาอิรฺ อัล-อิสลามิยฺยะฮฺ.
18. อิบนุหะญัรฺ. อะหฺมัด อิบนุ อะลีย์ อิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์. 1995. ตักรีบ อัต-ตะฮฺซีบ. พิมพ์ครั้งที่1. ริยาฎ: ดารฺ อัล-อาศิมะฮฺ.
19. อิบนุอัล-เญาซีย์. อบุลฟะร็อจญ์ อับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ อะลีย์ อิบนุล เญาซีย์. 1981. อัล-อิลัล อัล-มุตะนาฮิยะฮฺ ฟิล อะหาดีษ อัล-วาฮิยะฮฺ. พิมพ์ครั้งที่2. ปากีสถาน: อิดาเราะฮฺ อัล-อุลูม อัล-อะษะริยฺยะฮฺ.
20. อิบนุ อัส-สุนนีย์. อบูบักรฺ อะหฺมัด อิบนุ มุหัมมัด อัด-ดัยนะวะรีย์. มปป. อะมัล อัล-เยามฺ วะ อัล-ลัยละฮฺ. ดามัสกัส : มักตะบะฮฺ ดารฺ อัล-บะยาน.
21. อิบนุอบีชัยบะฮฺ. มุหัมมัด อิบนุ อุษมาน อิบนุ อบีชัยะฮฺ. 1983. สุอาลาต อิบนิ อบีชัยบะฮฺ ลิ อะลีย์ อิบนุล มะดีนีย์. ริยาฎฺ: มักตะบะฮฺ อัล-มะอาริฟ.
22. อิบนุ อบีหาติม. อับดุรฺเราะหฺมาน อิบนุ อบีหาติม. 1952. อัล-ญัรฺหฺ วัต ตะอฺดีล. พิมพ์ครั้งที่1. เบรุต: ดารฺ อัล-อิหฺยาอ์ อัต-ตุรอษ อัล-อะเราะบีย์.
23. อิบนุอบียะอฺลา. อบุลหุสัยนฺ อิบนุ อบียะอฺลา. ม.ป.ป. เฏาะบะกอต อัล-หะนาบิละฮฺ. เบรุต: ดารฺ อัล-มะอฺริฟะฮฺ.
24. อิบนุอะดีย์. อับดุลลอฮฺ อิบนุ อะดีย์ อิบนุ อับดุลลอฮฺ อัล-ญุรฺญานีย์. 1988. อัล-กามิล ฟิ อัฎ-ฎุอะฟาอ์. พิพม์ครั้ง3. เบรุต: ดารฺ อัล-ฟิกรฺ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น