การถือศีลอดที่เป็นสุนนะฮฺมีดังนี้
การถือศีลอดสุนนะฮฺนั้นมีให้ถือศีลอดในวันต่างๆ ต่อไปนี้
1. ถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาล
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
« مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ »
“บุคคลใดที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน จากนั้นเขา (ถือศีลอดสุนนะฮฺ) ต่อเนื่องอีก 6 วันของเดือนเชาวาล เช่นนี้ประหนึ่งเขาถือศีลอดตลอดทั้งปี ”
อิมามอะหฺมัดมีทัศนะว่า “ให้ถือศีลอดสุนนะฮฺเชาวาลติดกัน หรือไม่ติดต่อกันก็ได้ ซึ่งวิธีหนึ่งจะไม่ดีกว่าอีกวิธีหนึ่ง”
ส่วนมัซฮับชาฟิอียะฮฺมีทัศนะว่า “ที่ดีแล้วควรถือศีลอดติดต่อกันทั้ง 6 วัน ภายหลังจากวันอีดิลฟิฏริเลย”
2. ถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ
ท่านอบูเกาะตาดะฮฺเล่าว่า
وَسُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَرَفَةَ فَقَالَ « يُكَفِّرُ السَّنَةَ الْمَاضِيَةَ وَالْبَاقِيَةَ »
“ท่านรสูลุลลอฮฺถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอะเราะฟะฮฺ ท่านรสูลตอบว่า (การถือศีลอดสุนนะฮฺในวันดังกล่าว) จะถูกอภัยโทษให้หนึ่งปีที่ผ่านมา และอีกหนึ่งปีในอนาคต”
ส่วนบุคคลที่อยู่ในช่วงการประกอบพิธีหัจญ์ ซึ่งวันนั้นก็ต้องไปพำนักที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ ไม่ส่งเสริมให้พวกเขาถือศีลอดสุนนะฮฺในวันอะเราะฟะฮฺ
นางอุมมุลฟัฎริเล่าว่า
شَكَّ النَّاسُ فِى صِيَامِ رَسُولِ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم يَوْمَ عَرَفَةَ ، فَأَرْسَلْتُ إِلَيْهِ بِإِنَاءٍ فِيهِ لَبَنٌ فَشَرِبَ
“ผู้คนสงสัยเกี่ยวกับการถือศีลอด (สุนนะฮฺ) ของท่านรสูลุลอฮฺในวันอะเราะฟะฮฺ, ฉันจึงส่งภาชนะที่บรรจุนมยื่นให้แก่ท่านรสูล จากนั้นท่านรสูลก็ดื่ม (นมนั้น)”
3. ถือศีลอดในวันอาชูรออ์
มีสุนนะฮฺให้ถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 มุหัรฺร็อม
ท่านอบูเกาะตาดะฮฺเล่าว่า
وَسُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَاشُورَاءَ فَقَالَ « يُكَفِّرُ السَّنَةَ الْمَاضِيَةَ »
“ท่านรสูลุลลอฮฺถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ท่านรสูลตอบว่า (การถือศีลอดในวันดังกล่าว) เขาจะถูกอภัยโทษให้หนึ่งปีที่ผ่านมา”
อนึ่ง มีสุนนะฮฺให้ถือศีลอดในวันที่ 9 มุหัรฺร็อมอีกด้วย
« لَئِنْ بَقِيتُ إِلَى قَابِلٍ لأَصُومَنَّ التَّاسِعَ »
“หากฉันมีชีวิตอยู่ถึงปีหน้า แน่นอนฉันจะถือศีลอดในวันที่ 9 (มุหัรฺร็อม) ด้วย”
อีกรายงานหนึ่งระบุว่า
فَلَمْ يَأْتِ الْعَامُ الْمُقْبِلُ حَتَّى تُوُفِّىَ رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم
“ดังนั้นยังไม่ถึงปีหน้าเลย ท่านรสูลุลลอฮฺก็สิ้นชีวิตเสียก่อน”
แต่อย่างไรก็ตาม การถือศีลอดในวันที่ 9 มุหัรฺร็อมถือว่าเป็นสุนนะฮฺ เพราะสิ่งที่ท่านรสูลุลลอฮฺพูดเอาไว้ถือว่าเป็นสุนนะฮฺเช่นกัน
4. ถือศีลอดในเดือนชะอฺบาน
ศาสนาส่งเสริมให้ถือศีลอดสุนนะฮฺมากๆ ในเดือนชะอฺบาน ซึ่งท่านนบีมุหัมมัดเองก็ถือศีลอดสุนนะฮฺในเดือนชะอฺบานมากเช่นกัน
ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า
وَمَا رَأَيْتُ رَسُولَ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم اسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَهْرٍ قَطُّ إِلاَّ رَمَضَانَ وَمَا رَأَيْتُهُ فِى شَهْرٍ أَكْثَرَ صِيَامًا مِنْهُ فِى شَعْبَانَ
“และฉันไม่เคยเห็นท่านรสูลุลลอฮฺถือศีลอดเต็มเดือนนอกจากเดือนเราะมะฎอน และฉันไม่เคยเห็นท่านรสูลถือศีลอด (สุนนะฮฺ) มากมายเท่ากับในเดือนชะอฺบานเลย”
อีกหะดีษบทหนึ่งระบุว่า
ذَلِكَ شَهْرٌ يَغْفُلُ النَّاسُ عَنْهُ بَيْنَ رَجَبٍ وَرَمَضَانَ وَهُوَ شَهْرٌ تُرْفَعُ فِيهِ الأَعْمَالُ إِلَى رَبِّ الْعَالَمِينَ فَأُحِبُّ أَنْ يُرْفَعَ عَمَلِى وَأَنَا صَائِمٌ »
“นั่นเป็นเดือนที่อยู่ระหว่างเดือนเราะญับ กับเดือนเราะมะฎอน (คือเดือนชะอฺบาน) ผู้คนมักจะเพิกเฉยจากเดือนดังกล่าว และยังเป็นเดือนที่การงานต่างๆ จะถูกยกไปเสนอยังพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ดังนั้นฉันจึงชอบให้การงานของฉันถูกยก (ในเดือนดังกล่าว) ในสภาพที่ฉันถือศีลอด”
5. ถือศีลอดในวันจันทร์ กับวันพฤหัสบดี
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺส่วนใหญ่จะถือศีลอดในวันจันทร์กับวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ มีผู้ถามท่านรสูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านรสูลตอบว่า
« إِنَّ الأَعْمَالَ تُعْرَضُ كُلَّ اثْنَيْنِ وَخَمِيسٍ - أَوْ كُلَّ يَوْمِ اثْنَيْنِ وَخَمِيسٍ - فَيَغْفِرُ اللَّهُ لِكُلِّ مُسْلِمٍ أَوْ لِكُلِّ مُؤْمِنٍ إِلاَّ الْمُتَهَاجِرَيْنِ فَيَقُولُ أَخِّرْهُمَا »
“แท้จริงการงานต่างๆ จะถูกเสนอ (ยังอัลลอฮฺ) ทุกวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี ดังนั้นพระองค์อัลลอฮฺจะอภัยโทษให้แก่มุสลิมทุกคน หรือมุอฺมินทุกคน ยกเว้นบุคคลสองคนที่ทะเลาะกัน จะกล่าวขึ้นว่า ประวิงเขาทั้งสองไว้ก่อน (ยังไม่อภัย จนกว่าจะคืนดีกันก่อน) ”
6. ถือศีลอดในวันที่ 13, 14 และ15 ของเดือนอฺรับ
มีสุนนะฮฺให้ถือศีลอดสุนนะฮฺในวันที่ 13, 14 และ15 ของเดือนอฺรับ
ท่านอบูซัรฺรินเล่าว่า
« يَا أَبَا ذَرٍّ إِذَا صُمْتَ مِنَ الشَّهْرِ ثَلاَثَةَ أَيَّامٍ فَصُمْ ثَلاَثَ عَشْرَةَ وَأَرْبَعَ عَشْرَةَ وَخَمْسَ عَشْرَةَ »
“โอ้ท่านอบูซัรฺริน เมื่อท่านถือศีลอด 3 วันในหนึ่งเดือน ท่านจงถือศีลอดในวันที่ 13, 14 และ 15 (ของทุกเดือน) เถิด”
อนึ่ง การทำความดี 1 เท่ากับ 10 ความดี กล่าวคือ ถือศีลอด 1 วัน เท่ากับ 10 วัน ฉะนั้น 3 วัน จึงเท่ากับ 30 วัน 1 เดือนพอดี
7. การถือศีลอดวันเว้นวัน
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
« أَحَبُّ الصِّيَامِ إِلَى اللَّهِ صِيَامُ دَاوُدَ ، كَانَ يَصُومُ يَوْمًا وَيُفْطِرُ يَوْمًا
“การถือศีลอดซึ่งเป็นที่รักยิ่ง ณ พระองค์อัลลอฮฺ คือการถือศีลอดของนบีดาวูด คือถือศีลอดหนึ่งวัน และละทิ้งการถือศีลอดหนึ่งวัน”
8. การถือศีลอด 9 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮฺ
นางฮุนัยดะฮฺ บุตรสาวของคอลิด ฟังจากภรรยาคนหนึ่งของท่านรสูลุลลอฮฺ โดยนางเล่าว่า
كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صلى الله عليه وسلم يَصُومُ يَوْمَ تِسْعِ ذِى الْحِجَّةِ
“ปรากฏว่าท่านรสูลุลลอฮฺจะถือศีลอด 9 วัน (ช่วงต้น) ของเดือนซุลหิจญะฮฺ”
والله أعلم بالصواب
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น