อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

เวลาละหมาดของผู้นอนจนไม่ได้ละหมาดหรือลืมละหมาด



หากมุสลิมคนใดนอนหลับไม่รู้สึกตัว ตื่นขึ้นมาก็ล่วงเลยเวลาละหมาดนั้นแล้ว หรือหากมุสลิมคนใดหลงลืมละหมาดในเวลาใดเวลาหนึ่ง แล้วมานึกขึ้นได้ก็เมื่อล่วงเลยเวลานั้นไปแล้ว ศาสนาถือว่าเวลาของละหมาดนั้นๆ ก็คือ ขณะที่เขาตื่นขึ้นมา หรือนึกขึ้นได้นั้น

รายงานจากท่านอบีก้อตาดะฮฺ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) เล่าว่า
“พวกเราได้เล่าให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ฟัง ถึงการนอนของพวกเขาจากการละหมาด แล้วท่านก็นบีก็กล่าวว่า ; ความจริงไม่มีการบกพร่องในการนอน แต่การบกพร่องนั้นมีในขณะตื่นนอน ดังนั้นเมื่อคนหนึ่งคนใดในพวกท่านลืมการละหมาด หรือนอนโดยมิได้ละหมาด ก็จงละหมาดเมื่อเขานึกมันขึ้นมาได้” (บันทึกหะดิษโดยอิมามนะวาอีย์ และอิมามอัตติรมีซีย์ ซึ่งท่านอิมามอัตติรมีซีย์ ถือว่าเป็นหะดิษที่เศาะเฮียะฮฺ)

รายงานจากท่านอนัส (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) เล่าว่า แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า
“ถ้าผู้ใดได้ลืมละหมาดก็จงละหมาด เมื่อเขานึกถึงมันขึ้นมาได้ โดยไม่มีการเสียกัฟฟาเราะฮฺ(ค่าชดเชย) สำหรับมันแต่อย่างใด นอกจาก(การละหมาด)นั้น” (บันทึกหะดิษโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)

รายงานจากท่านอิมรอน อิบนิลฮุศ็อยนฺ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) เล่าว่า
“พวกเราได้เดินทางกลางคืน พร้อมท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เมื่อถึงเวลาช่วงท้ายของกลางคืน พวกเราก็ได้สนุกสนานกัน พวกเราจึงไม่ได้ตื่นจนกระทั้งความร้อนของดวงอาทิตย์ได้ปลุกเรา ชายคนหนึ่งจากพวกเราตื่นขึ้นด้วยความตกใจที่มีแสงจ้า (อิมรอน) ได้กล่าวว่า : แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ให้พวกเราอยู่อย่างสงบ หลังจากนั้นพวกเราได้ออกเดินทาง แล้วได้เดินทางไปจนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นสูง ท่านนบีก็ได้อาบน้ำละหมาด แล้วท่านได้ใช้บิลาลอะซาน หลังจากนั้นท่านนบีได้ละหมาด(สุนัต) 2 ร็อกอะฮฺ ก่อน(ละหมาด) อัลฟัจรฺ (ศุบฮฺ) หลังจากนั้น ก็ได้อิกกอมะฮฺ แล้วพวกเราก็ได้ละหมาด(ศุบฮฺ) พวกเราได้ถามว่า : โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺพวกเราจะต้องกลับมาละหมาดใหม่ในช่วงเวลาของมันในวันพรุ่งนี้ไหม? ท่านรสูลได้กล่าวว่า : พระผู้อภิบาลผู้สูงส่งของพวกท่าน ห้ามพวกท่านจากการกินดอกเบี้ย แล้วพระองค์จะทรงรับมันจากพวกท่านไหม?” (บันทึกหะดิษโดยอิมามอะหฺมัด)

จากหะดิษ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาเศาะหาบะฮฺ ได้ตื่นจากการนอน ในขณะที่แสงดวงอาทิตย์มีแสงจ้า อันล่วงเลยเวลาละหมาดศุบฮฺแล้ว แล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) พร้อมบรรดาเศาะหาบะฮฺก็ได้ออกเดินทางต่อไปจนถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง ในขณะนั้นดวงอาทิตย์ขึ้นสูง ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) พร้อมบรรดาเศาะหาบะฮฺ ก็ทำการละหมาดสุนัตก่อนละหมาดศุบฮฺ หลังจากนั้นก็ละหมาดศุบฮฺ โดยไม่จำต้องไปละหมาดศุบฮฺชดเชยอีก

การละหมาดชดใช้จึงมีน้อยมาก รวมถึงกรณีที่มีอุปสรรคจนไม่สามารถละหมาดในช่วงเวลานั้นได้ ได้แก่ ผู้กำลังเดินทาง, เจ็บป่วย หรือทำงานต่อเนื่องและไม่สามารถละทิ้งงานในช่วงเวลานั้นได้ (เช่น แพทย์กำลังทำการผ่าตัดผู้ป่วย) เป็นต้น จึงไปรวมกับละหมาดในเวลาอื่น ก็เป็นการละหมาดรวมไม่ใช่ละหมาดชดแต่อย่างใด

والله أعلم بالصواب


1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าเกิดว่ายังไม่เข้าใจลึกถึงรายละเอียดเพียงพอเกี่ยวกับการละหมาด ลองอ่านเว็บนี้ก็ได้ http://guru.sanook.com/27349/

    ตอบลบ