สุนนะฮฺในการยกมือขณะตักบีรฺนั้น มีหลักฐานการยกมือ 3 ลักษณะ ดังนี้
1. ให้ปลายนิ้วสูงระดับเดียวกับบ่าของผู้ทำการละหมาด
รายงานจากท่านอบับดุลลอฮฺ บุตรของอุมัรฺ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) เล่าว่า
“ฉันเห็นท่านนบีมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เริ่มตักบีรฺในการละหมาด โดยท่านรสูลยกมือทั้งสองของท่านรสูล ขณะกล่าวตักบีรฺ(กล่าวอัลลอฮุอักบัรฺ) จนกระทั้งทำให้(ปลายนิ้ว)มืออยู่ระดับเดียวกับบ่าทั้งสองของท่านรสูล” (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรีย์ เขลที่ 696 เป็นหะดิษที่เศาะเฮียะฮฺ)
2. บางครั้งท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ยกมือโดยปลายนิ้วสูงถึงใบหู
รายงานจากท่านมาลิก บุตรของอัลหุวัยริษ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) เล่าว่า
“ปรากฏว่าท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ตักบีร โดยยกมือทั้งสองของท่านรสูล (ยกสูง) จนกระทั้งอยู่ระดับเดียวกับใบหูทั้งสองของท่านรสูล” (บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม เลขที่ 589 และอิมามอบูดาวุด เลขที่ 636 เป็นหะดิษที่เศาะเฮียะฮฺ)
3. ให้ยกมือขณะตักบีรฺโดยให้นิ้วโป้ง(หัวแม่มือ)ยกสูงในระดับเดียวกับติ่งหู
รายงานจากท่านวาอิล (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) ระบุว่า
“เขาเห็นท่านนบีมุหัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เมื่อละหมาดโดยยกมือทั้งสองของท่านนบี(สูง)จนกระทั่งนิ้วโป้งทั้งสองอยู่ในระดับเดียวกับติ่งหูทั้งสองข้างของท่านรสูล”(บันทึกโดยอิมามนะซาอีย์ เลขที่ 872 แต่จากตรวจสอบของนักวิชาการ ปรากฏว่าหะดิษบทนี้มีสถานะของหะดิษเฎาะอิฟ(อ่อน) ดูรายละเอียดจากหนังสือ “เฎาะอีฟุสุนะนินนะซาอีย์ หน้า 31 จึงไม่สามารถนำหะดิษบทนี้มาเป็นหลักฐานได้)
แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ได้เลือกยกมือขณะตักบีรฺในลักษณะที่ 3 ด้วยการประสานรายงานทั้ง 3 ลักษณะเข้าด้วยกัน คือให้ยกมือทั้งสองข้างในระดับไหล่โดยให้ปลายนิ้วอยู่เหนือหู หัวแม่มือ(นิ้วโป้ง)ทั้งสองข้างอยู่ระดับติ่งหู และให้ฝ่ามืออยู่ระดับไหล่
อิมามนะวะวีย์(ร่อหิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า
“ในเรื่องนี้ท่านอิมามชาฟิอีย์(ร่อหิมะฮุลลอฮฺ)ได้ทำการประสานรายงานต่างๆ ให้เข้ากัน และถือว่าเป็นการกระทำที่ดีอันหนึ่งของอิมามชาฟิอีย์ ในขณะที่ยกมือนั้นให้ยืดนิ้วให้ตรง ทั้งนี้ เพราะท่านอบูหุร็อยเราะฮฺได้รายงานว่า “ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นเมื่อท่านละหมาดท่านยกมือทั้งสองข้างยืดขึ้น (บันทึกหะดิษโดยอมามอบูดาวู๊ด)”
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น