อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

หุก่มศาสนาว่าด้วยการบริโภคบุหรี่


สาเหตุที่นักวิชาการรุ่นก่อนได้หุก่มวินิจฉัยชี้ขาดศาสนบัญญัติต่อกรณีการบริโภคยาสูบ หรือบุหรี่ (รวมถึงใบจาก) นั้นเป็นเพียงมักรูฮฺ หรือน่ารังเกียจ นั้นก็เพราะนักวิชาการรุ่นก่อนไม่ทราบถึงโทษของมันเช่นอย่างปัจจุบัน เพียงแต่มองในกลิ่นของมัน ซึ่งมีกลิ่นหมิ่น ผู้ที่สูบมันจะมีกลิ่นปากเหม็นมาก คล้ายๆกับกลิ่นของพวกผักกลิ่นฉุน แต่กลิ่นของบุหรี่มันหนักกว่า ไม่เพียงแค่กลิ่นฉุน มันหมิ่นจนคนรอบข้างไม่อยากพูดคุยด้วย โดยเฉพาะภรรยาของเขา แม้จะมีการแปรงฟันแล้ว กลิ่นของมันก็ไม่หายขาด

แต่นักวิชาการร่วมสมัยกลับหุก่มวินิจฉัยชี้ขาดศาสนบัญญัติว่าการบริโภคมันไม่ว่าการสูบ หรือดม ก็ตามเป็นสิ่งที่หะรอมต้องห้าม อันเนื่องจากนักวิชาการปัจจุบันได้มองที่ตัวของมัน ไม่ได้เพียงมองแค่กลิ่นของมันเท่านั้น สืบเนื่องจากภายหลังที่มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และการค้นพบสารพิษต่าง ๆ ในบุหรี่ ตลอดจนโทษภัยที่เกิดจากควันบุหรี่ ทั้งต่อผู้สูบมันโดยตรงและต่อผู้ที่อยู่รอบข้างด้วย


จากการค้นพบทางการแพทย์พบว่าพิษภัยที่เกิดจากควันบุหรี่ ทำให้เกิดโรค ดังนี้

. -มะเร็งปอด  เริ่มต้นที่มะเร็งส่วนหนึ่งจะอุดหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ไอเป็นโลหิต เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เพราะปอดถูกแย่งที่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดแล้วไม่ได้รับการรักษาจะมีชีวิตอยู่น้อยกว่า 1 ปี

  -โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่เนื้อปอดค่อย ๆ เสื่อมสมรรถภาพ เพราะได้รับควันบุหรี่  สารไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อในปอดและถุงลมให้ฉีกขาดทีละน้อยและรวมตัวกลายเป็น
ถุงลมที่มีขนาดใหญ่ มีผลทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ

-โรคเส้นโลหิตแดงแข็งตัวและตีบ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง ตายอย่างเฉียบพลันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ ทำให้มึนงง ปวดศีรษะ ความจำเสื่อม สมองเสื่อมสมรรถภาพ เป็นต้น
 
-โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มีอาการระคายคอ ไอเรื้อรัง มีเสมหะเป็นประจำ บั่นทอนสุขภาพ ร่างกายไม่แข็งแรง สำหรับโรคอื่น ๆ ที่พบได้แก่ มะเร็งริมฝีปาก ลิ้น คอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร



นอกจากนี้พิษของควันบุหรี่ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายดังนี้

-สมองเสื่อมสมรรถภาพ เห็นลมหมดสติ เส้นเลือดสมองแตก เพราะการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดการ สะสมของคลอเรสเตอรอล และเดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปสู่สมอง
-หน้าเหี่ยวย่น แก้เร็ว
 -โรคเหงือก ฟันดำ และกลิ่นปาก
 -ไอเป็นเลือด ไอเรื้อรัง ผอมลง ซึ่งเป็นอาการของโรคมะเร็งปอด
 -เหนื่อยง่าย หอบ แน่นหน้าอก ซึ่งเป็นอาการของโรคถุงลมโป่งพอง
 -หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย เกิดจาการสะสมของคลอเรสเตอรอล ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือด อันเป็นอุปสรรคต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจ และอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
  - เล็บเหลือง นิ้วเหลือง
  - นิ้วเป็นแผลเรื้อรัง นิ้วกุด เกิดจากหลอดเลือดตีบตัน ขาดเลือดไปเลี้ยง
  - ท้องแน่น อืด เบื่ออาหาร
  -เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

พิษภัยต่อคนรอบข้าง   

-เด็ก การสูบบุหรี่ของคนในครอบครัว ทำให้เด็กป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หอบหืด หูอักเสบเพิ่มมากขึ้น

-หญิงมีครรภ์ หญิงมีครรภ์สูบบุหรี่ จะทำให้น้ำหนักตัวในขณะตั้งครรภ์เพิ่มน้อยกว่าปกติ และมีโอกาสแท้ง คลอดก่อนกำหนด ตกเลือดในระหว่างคลอด และหลังคลอดมากเป็น 2 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้สูบบุหรี่นอกจากนั้นยังทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำ และรกลอกตัวก่อนกำหนดมากขึ้น
ลูกที่คลอดจากแม่ที่สูบบุหรี่ อาจมีน้ำหนักและความยาวตัวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการทางด้านสมองช้ากว่าเด็กปกติ อาจมีความผิดปกติทางด้านระบบประสาท ระบบความจำ

-คู่สมรสของผู้สูบบุหรี่ มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคู่สมรสที่ไม่สูบบุหรี่เป็น 2 เท่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 3 ท่า และเสียชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 4 ปี

-คนทั่วๆไป บุคคลทั่วๆไปที่อยู่ในบรรยากาศที่ผู้อื่นสูบบุหรี่อยู่ ควันบุหรี่จะทำให้เกิดอาการเคืองตา ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว โรคหัวใจ โรคหลอดลมอักเสบ มีอาการกำเริบเพิ่มมากขึ้น

จากที่ยกมาข้างต้นนั้น ควันบุหรี่มิใช่เพียงมีกลิ่นเหม็นเท่านั้น แต่พิษภัยของมันส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของผู้สูบเอง และต่อคนรอบข้างอย่างรุนแรง ทั้งส่งผลต่อการเกิดโรคตามมามากมาย

ซึ่งถือว่าการสูบบุหรี่ เป็นการทำลายร่างกายของตัวเอง และต่อผู้คนรอบข้างอย่างไม่ต้องสงสัย และสำหรับอิสลาม พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ทรงตรัสไว้ในอัลกุรอาน ว่า ห้ามมิให้ฆ่าตัวเอง การฆ่าหรือทำลายร่างกายของตัวเอง และบุคคลอื่น จึงเป็นที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม โดยไม่จำต้องระบุว่าสิ่งที่ทำลายตัวเอง หรือการฆ่าตัวเองนั้น มีอะไรบ้าง หากมันเข้าข่ายเป็นการฆ่า หรือทำลายตัวเอง มันก็เป็นที่ต้องห้ามทั้งสิ้น

พระองค์อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَلَا تَقۡتُلُوٓاْ أَنفُسَكُمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ كَانَ بِكُمۡ رَحِيمٗا ﴾ [النساء : 29]

ความว่า “และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ” 
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัน-นิสาอ์ : 29)

ดังนั้น ควันของบุหรี่ จึงเป็นพิษภัยต่อร่างกาย เป็นการเอาสารพิษเข้าไปทำลายสุขภาพของผู้สูบ และต่อผู้ที่อยู่รอบข้างที่สูดดมมันเข้าไป เหมือนอย่างการสูบกัญชา เฮโรอีน ยาพิษ เห็ดพิษต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ก่าวมามันไม่ได้ระบุห้ามไว้อย่างชัดเจนอย่างสิ่งมึนเมา แต่มันเป็นสิ่งที่มีพิษภัยทำลายร่างกายของเราอย่างมหัน แต่สิ่งเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม บุหรี่ก็ไม่ต่างกัน เมื่อควันของมันมีสารพิษที่เข้าไปทำลายร่างกายของเรา มันก็อยู่ในข่ายที่ว่า "จงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง" ซึ่งเป็นคำสั่งห้ามเด็ดขาดนั้นเอง


นักวิชาการร่วมสมัยที่หุก่มชี้ขาดศาสนบัญญัติว่าการบริโภคยาสูบ หรือบุหรี่เป็นที่ต้องห้าม

-ดร. ยุซุฟ อัลกอรอฎอวีย์ [الدكتور يوسف القرضاوي]  กล่าวว่า :
“เราขอยืนยันที่จะให้คำวินิจฉัยว่า บุหรี่เป็นสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม) ในหลักศาสนบัญญัติอิสลาม เพราะบุหรี่คือสิ่งอันตรายทั้งต่อสุขภาพ ทรัพย์สมบัติ และอารมณ์ สิ่งใดก็ตามที่เป็นอันตรายต่อร่างกายสิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งต้องห้ามในทัศนะของอิสลาม” ดังปรากฏหลักฐานมากมายทั้งจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ

- อิมาม มุฮัมมัด อิบนุ ญะอฺฟัร อัลกุตตานีย์ [الإمام محمد بن جعفر الكتاني]
โดยอ้างหลักฐานและเหตุผลถึง 17 ประการไว้ในหนังสือของท่าน ชื่อ เอี๊ยะลานุ้ลหุจญะฮฺ วะอิกอมะตุ้ลบุรฮาน อะลา มันอิ มา อัมมะ วะฟะชา มินิสติอฺมาลิ อุชบะติดดุคอน”

 «إعلان الحجة وإقامة البرهان على منع ما عمَّ وفشا من استعمال عُشبة الدخان»

            -ชัยคฺ ญาดุลหัก อาลี ญาดุลหัก  [الشيخ جاد الحق علي جاد الحق][1] อดีตชัยคฺอัลอัซฮัร กล่าวว่า 
“ภายหลังจากข้าพเจ้าได้อ่านเอกสารทางการแพทย์หลายฉบับที่เปิดเผยถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ภยันตรายต่าง ๆ ทั้งภัยต่อสุขภาพและต่อสังคม ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่ามันเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดแน่นอน มุสลิมที่สูบบุหรี่จะต้องเลิกสูบ”

            -ชัยคฺ อับดุลอะซีซ อิบนุ อับดุลลอฮฺ อิบนุบาซ [الشيخ عبد العزيز بن عبد الله بن باز][2] กล่าวว่า
 “สาเหตุที่ทำให้ยาสูบเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะด้านหนึ่งมันเป็นสิ่งที่ก่อภยันตราย และอีกด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความมึนเมา โดยพื้นฐานแล้วยาสูบจึงเป็นสิ่งที่ก่อภยันตรายอย่างกว้างขวาง...”

            -ชัยคฺ มุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานีย์ [الشيخ محمد ناصر الدين الألباني] [3]  ได้กล่าวตอบคำถามถึงกรณีที่บุหรี่หรือยาสูบเป็นสิ่งต้องห้ามโดยให้เหตุผลว่า
 “ยาสูบก่อภยันตรายต่อตัวผู้สูบเองและผู้อื่นในสังคม สมมุติท่านนั่งรถประจำทางหรือรถไฟ แล้วท่านไม่สูบบุหรี่ แต่ท่านก็ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ของคนข้างเคียง บางทีรถทั้งคันหรือทั้งห้องก็จะเต็มไปด้วยควันหรือกลิ่นบุหรี่ สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกคนรอบข้าง ยาสูบอันน่ารังเกียจจึงกลายเป็นสิ่งที่หากจะให้พูดถึงรายละเอียดอาจต้องใช้เวลาเพื่อนำหลักฐานและเหตุผลต่าง ๆ มาประกอบยืนยันว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) โดยไม่แบ่งแยกระหว่างคนยากจนหรือมั่งมี...”[4]

            -ชัยคฺ อะฏียะห์ ศ็อกรฺ [الشيخ عطية صقر]   กล่าวว่า
“การเสพบุหรี่จะโดยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมามากมายไม่ช้าก็เร็ว ที่สำคัญ  เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ทั้งยังเป็นการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร จึงเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ทั้งในทางศาสนาและในทางสติปัญญา…”[5]

            -ชัยคฺ มุฮัมมัด อัฏฏอยยิบ อัลนัจญาร [ الشيخ الدكتور محمد الطيب النجار]  มีความเห็นว่า
 “บุหรี่” เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) เนื่องจากอัลลอฮฺ ตรัสว่า[...وَيُحِلُّ لَهُمُ الطَّيِّبَاتِ وَيُحَرِّمُ عَلَيْهِمُ الْخَبَائِثَ... الآية]  ความว่า “และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขาซึ่งสิ่งเลวทั้งหลาย” (บทอัลอะอฺรอฟ อายะห์ที่ 157) ประกอบกับความเห็นพ้องของบรรดานักการแพทย์ว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อัลลอฮฺตรัสว่า     [...وَلَا تُلْقُوا بِأَيْدِيكُمْ إِلَى التَّهْلُكَة...]   ความว่า  “และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ”    (บทอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195) และแท้จริงอัลลอฮฺ ทรงห้ามการ การสุรุ่ยสุร่ายหรือฟุ่มเฟือย [التبذير] หมายถึงการใช้จ่ายไปในหนทางที่ไม่สมควรคือไม่ก่อเกิดประโยชน์ พระองค์ตรัสว่า   [إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُوا إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ] ۖ  ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นพวกพ้องของเหล่าชัยฏอน” (อัลอิสรออฺ : 27)

           - ชัยคฺ อับดุลญะลีล ชะละบีย์  [الشيخ عبد الجليل شلبي] กล่าวว่า
 “ศาสนบัญญัติอิสลามเกี่ยวกับบุหรี่ที่น่าจะถูกต้องที่สุด คือ การสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ทั้งนี้ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นสิ่งน่ารังเกียจ [الخبائث] เพราะมีรสขม มีกลิ่นเหม็น ก่อภัยร้ายแรง สุดท้ายคือความหายนะ จึงเป็นสิ่งต้องห้าม”[6]

           - ชัยคฺ มุศฏอฟา มุฮัมมัด อัลหะดีดีย์ อัฏฏอยรฺ  [الشيخ مصطفى محمد الحديدي الطير]  กล่าวว่า
 “โดยเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการสูบบุหรี่ และการเสพสิ่งเสพติดทั้งหลาย เป็นอันตรายต่อชีวิต สติปัญญา และทรัพย์สิน ซึ่งอาจนำไปสู่ความตายได้ หากหยุดหรือลดปริมาณการใช้ จึงต้องถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด และต้องกำหนดโทษแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำเข้า ผู้ให้ ผู้ขาย และผู้เสพ หนักเบาตามปริมาณมากน้อยของการเข้าไปเกี่ยวข้อง” [7]

           - ชัยคฺ อุษัยมีน [الشيخ ابن عثيمين]
  มีความเห็นว่า : การสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม(หะรอม) ตลอดจนการซื้อขาย การให้เช่าร้านค้าเพื่อขายบุหรี่ก็ต้องห้ามเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการส่งเสริมในสิ่งที่เป็นความชั่ว หลักฐานที่บ่งชี้ว่าบุหรี่ต้องห้าม เช่น โองการอัลกุรอานที่ว่า     [وَلَا تُؤْتُوا السُّفَهَاءَ أَمْوَالَكُمُ الَّتِي جَعَلَ اللَّهُ لَكُمْ قِيَامًا]   ความว่า “และจงอย่าให้แก่บรรดาผู้ที่โง่เขลา ซึ่งทรัพย์(ที่อยู่ในการครอบครอง)ของพวกเจ้า ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงให้เป็นสิ่งค้ำจุนแก่พวกเจ้า” (ซูเราะห์อัลนิซาอฺ อายะห์ที่ 5) ในโองการนี้อัลลอฮฺ ทรงห้ามมิให้มอบทรัพย์สินให้แก่ผู้โง่เขลาหรือสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ เพราะเขาจะนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ อัลลอฮฺทรงแจ้งว่าทรัพย์สินทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งค้ำจุนมวลมนุษย์ เพื่อประโยชน์ทั้งในกิจการทางศาสนาและกิจการทางโลก การนำไปใช้ในการสูบบุหรี่มิใช่หนทางที่จะก่อประโยชน์ไม่ว่าทางโลกหรือทางศาสนา จึงเป็นการใช้จ่ายในลักษณะที่ฝ่าฝืนเจตนารมณ์แห่งพระเจ้า” [8]

            -ชัยคฺ อับดุลเญาวาด อัลอาชิก [الشيخ عبد الجواد العاشق]
กล่าวถึงความเป็นมาและโทษภัยของบุหรี่ที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ค้นพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การอนามัยโลก จนเป็นที่ทราบและยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบันว่า ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารพิษมากมาย และเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น มะเร็ง และได้นำทัศนะความเห็นของนักปราชญ์มุสลิมในสมัยอดีตจากมัซฮับต่าง ๆ หลายท่านที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้าม เช่น ชัยคฺ อัลนัจม์ อัลเฆาะซีย์  [الشيخ النجم الغزي] ชัยคฺ อัลกอลยูบีย์ [الشيخ القليوبي] ชัยคฺ อัลบุญัยรีมีย์  [الشيخ اليجيرمي]  และท่านอื่น ๆ ซึ่งในสมัยนั้นภยันตรายยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่ต้องสงสัยว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด (หะรอม)[9]        

-ชัยคฺ มะหฺมูด ชันตูต อดีตชัยคฺอัลอัซฮัร [الشيخ محمود شلتوت]
กล่าวว่า “หากแม้นว่ายาสูบไม่ทำให้เกิดความมึนเมา ไม่ทำให้เสียสติสัมปะชัญญะ แต่มันก็ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายซึ่งผู้สูบหรือผู้ไม่สูบสามารถสัมผัสได้ กอปรกับนักการแพทย์ได้ศึกษาวิเคราะห์วิจัยถึงองค์ประกอบและประจักษ์ถึงสารพิษที่ทำลายสุขภาพของมนุษย์ จึงไม่ต้องสงสัยว่ามันเป็นโทษและเป็นภัย และโทษภัยคือสิ่งน่ารังเกียจที่ต้องห้ามในอิสลาม

              -คณะกรรมการฟัตวาแห่งอัลอัซฮัร อัชชะรีฟ   [لجنة الفتوى بالأزهر الشريف]
มีมติว่า “การสูบบุหรี่ เป็นที่ประจักษ์แน่ชัดจากผู้เชี่ยวชาญและองค์การอนามัยโลกว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งปอด และหลอดลม ทั้งส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินเพราะเป็นการใช้จ่ายที่ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ  การสูบบุหรี่จึงเป็นพฤติกรรมชั่วที่ต้องห้าม(หะรอม)”[15]

            -สำนักฟัตวาแห่งอียิปต์ [ دار الإفتاء المصرية] อธิบายว่า “ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการยืนยันชัดเจนถึงภยันตรายของการใช้ยาสูบที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สินจึงเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด เพราะอิสลามมุ่งพิทักษ์รักษาสิ่งทั้งสอง อัลลอฮฺตรัสว่า [وَلَا تَقْتُلُوا أَنْفُسَكُمْ ۚ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا] ความว่า "และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ”    (ซูเราะห์อัลนิซาอฺ อายะห์ที่ 29)   และอัลลอฮฺตรัสว่า      [...وَلَا تُلْقُوا بِأَيْدِيكُمْ إِلَى التَّهْلُكَة...]  ความว่า “และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ”  (บทอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะห์ที่ 195)[16]

            -คณะกรรมการถาวรเพื่อการศึกษาวิจัยและฟัตวาแห่งประเทศซาอุดิอารเบีย  [اللجنة الدائمة للبحوث العلمية والإفتاء بالمملكة العربية السعودية]
ชี้ขาดว่า การบริโภคยาสูบต้องห้ามเด็ดขาด(หะรอม) การปลูกยาสูบต้องห้ามเด็ดขาด และการค้ายาสูบก็ต้องห้ามเด็ดขาด เนื่องจากมีภยันตราย ซึ่งต้องห้ามตามนัยแห่งหะดีษของท่านนบี ที่ว่า  [لا ضرر ولا ضرار] ความว่า "ไม่มีการก่อความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น[17] และเนื่องจากเป็นสิ่งเลวหรือน่ารังเกียจ  [الخبائث] ตามนัยแห่งอัลกุรอานที่ว่า [...وَيُحِلُّ لَهُمُ الطَّيِّبَاتِ وَيُحَرِّمُ عَلَيْهِمُ الْخَبَائِثَ... الآية]  ความว่า “และจะอนุมัติให้แก่พวกเขาซึ่งสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขาซึ่งสิ่งเลวทั้งหลาย”[18] (บทอัลอะอฺรอฟ อายะห์ที่ 157)

               -สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกคำวินิจฉัยทางศาสนา (ฟัตวา) ที่ 02/2549
เรื่อง บุหรี่ โดยระบุว่า “หลักการหนึ่งที่ศาสนาอิสลามให้การยอมรับคือ ไม่อนุญาติให้มุสลิมรับประทาน หรือ ดื่มและเสพสิ่งใด ๆ ที่จะทำให้เสียชีวิตโดยเร็วหรือช้าก็ตาม เช่น ยาพิษทุกชนิด และสิ่งที่ให้โทษหรือที่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น



والله أعلم بالصواب

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น