อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สุญูดซะฮ์วี คืออะไร ?

สุญูดซะฮ์วี
โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 1)

เรื่องสุญูดซะฮ์วี เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาด้านวิชาการที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับภาคปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ไขข้อบกพร่องในนมาซ เพราะฉะนั้น ผู้อ่านจึงไม่ต้องรีบร้อนอ่าน แต่ให้อ่านช้าๆ และใคร่ครวญไปด้วยนะครับ ...
สุญูดซะฮ์วี คืออะไร ?

สุญูด แปลว่า การกราบ ...
ซะฮ์วี แปลว่า การลืม ...
ดังนั้น สุญูดซะฮ์วี ก็คือการสุญูดหรือการกราบ (ต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.) สอง ครั้ง เพื่อชดเชยความบกพร่องจากการลืมบางสิ่งบางอย่างในการนมาซ ...
ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมเอง ก็เคยมีการหลงลืมบางสิ่งบางอย่างในขณะนมาซ แล้วท่านก็ได้สาธิตวิธีชดเชยการหลงลืมดังกล่าวนั้นด้วยการสุญูด 2 ครั้ง .. ซึ่งบางครั้งท่านจะสุญูดก่อนให้สล่าม และบางครั้งท่านจะสุญูดหลังจากให้สล่ามแล้ว ..
เราเรียกการสุญูดดังกล่าวนั้นว่า สุญูดซะฮ์วี ...
การสุญูดซะฮ์วีตามหลักฐาน จะเกิดมีขึ้นจาก 1 ใน 3 สาเหตุ คือ
1. จากการ “เพิ่มเติม” บางสิ่งบางอย่างในการนมาซ เช่น เพิ่มการยืน, การนั่ง, การรุกั๊วะอฺ, การสุญูด เป็นต้น โดยไม่เจตนา ...
2. จากการ “ตัดทอน” รุก่นบางรุก่น, สิ่งวาญิบบางอย่าง, หรือบางร็อกอะฮ์ของการนมาซออกไป โดยไม่เจตนา ...
3. จาก “ความสงสัย” หรือไม่แน่ใจในจำนวนร็อกอะฮ์ที่กำลังกระทำอยู่ว่า เป็นร็อกอะฮ์ที่เท่าไรกันแน่ ...
ซึ่งสาเหตุใดจาก 1 ใน 3 สาเหตุข้างต้น ผู้นมาซจะต้องสุญูด 2 ครั้ง เพื่อชดเชยความบกพร่องนั้น หากมันเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา ...
แต่ถ้าผู้ใดกระทำสิ่งใดจาก 3 ประการข้างต้นในขณะนมาซโดยเจตนา ถือว่าการนมาซนั้นของเขา เป็นโมฆะ ...
ส่วนกรณีที่ว่า การสุญูดซะฮ์วี ให้ปฏิบัติในช่วงใด ? .. ก่อนการให้สล่ามหรือหลังการให้สล่าม ? ...
คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ท่านศาสดาจะมีการปฏิบัติทั้ง 2 อย่าง คือท่านจะสุญูดทั้งก่อนให้สล่ามและหลังให้สล่าม ...
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ความบกพร่องกรณีใดที่ตามซุนนะฮ์ จะต้องสุญูดซะฮ์วีก่อนให้สล่าม, และความบกพร่องกรณีใดที่จะต้องสุญูดซะฮ์วีหลังให้สล่าม ...
เรื่องนี้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ...

1). การสุญูดซะฮ์วีก่อนให้สล่าม
ปกติแล้ว การสุญูดซะฮ์วีของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะวัลลัม จะมีขึ้นหลังการให้สล่ามเป็นส่วนใหญ่ ...
จำไว้ว่า ท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะสุญูดซะฮ์วีก่อนการให้สล่าม ก็เพียงใน 2 กรณีเท่านั้นคือ ...
1. กรณีการละทิ้งตะชะฮ์ฮุด (ตะหี้ยะฮ์) ครั้งแรก
2. กรณีการสงสัยจำนวนร็อกอะฮ์
กรณีที่ 1 การละทิ้งตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก

ผู้นมาซคนใดที่ลุกขึ้นยืนตรงเรียบร้อยแล้ว จากการสุญูดครั้งที่สองของร็อกอะฮ์ที่สอง โดยลืมการอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก เขาก็ไม่ต้องนั่งลงเพื่ออ่านตะชะฮ์ฮุดนั้นอีก แม้จะมีผู้ทักท้วงก็ตาม โดยให้เขากระทำการนมาซต่อไปจนจบร็อกอะฮ์ที่สาม (หากเป็นนมาซมัคริบ) หรือจบร็อกอะฮ์ที่สี่ (หากเป็นการนมาซอัศรี่หรือนมาซอิชาอ์) ...
หลังจากนั้น เมื่อเขาอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายเสร็จสิ้นลง ก็ให้เขากล่าวตักบีรฺในขณะกำลังนั่งอยู่ แล้วสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง เสร็จแล้วจึงให้สล่าม ...
หลักฐาน
ท่านอับดุลลอฮ์ บิน บุหัยนะฮ์ ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ...
صَلَّى رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ صَلاَةً مِنَ الصَّلَوَاتِ، فَقَامَ مِنِ اثْنَتَيْنِ فَسُبِّحَ بِهِ فَمَضَى (فَلَمْ يَجْلِسْ، وَقَامَ النَّاسُ مَعَهُ) حَتَّى فَرَغَ مِنْ صَلاَتِهِ، وَلَمْ يَبْقَ إلاَّ التَّسْلِيْمُ (كَبَّرَ) فَسَجَدَ سَجْدَتَيْنِ وَهُوَ جَالِسٌ قَبْلَ أَنْ يُسَلِّمَ ..

“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำนมาซครั้งหนึ่ง แล้วท่านก็ยืนตรงขึ้นจากร็อกอะฮ์ที่สอง มีบางคนได้กล่าวตัสเบี๊ยะห์ขึ้น แต่ท่านก็ยังคงนมาซต่อไป (โดยมิได้นั่งลงอ่านตะชะฮ์ฮุดอีก, ประชาชนจึงยืนขึ้นนมาซพร้อมกับท่าน) จนกระทั่งเมื่อท่านสำเร็จจากการนมาซนั้นโดยเหลือการให้สล่ามเพียงอย่างเดียว (ท่านก็กล่าวตักบีรฺ) แล้วก้มลงสุญูดสองครั้งในขณะกำลังนั่งอยู่ จากนั้นท่านจึงให้สล่าม”
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1224, ท่านมุสลิม หะดีษที่ 85/570, ท่านอิบนุ คุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 1030 และผู้บันทึกท่านอื่นๆ ...
สำนวนในที่นี้ เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอิบนุคุซัยมะฮ์, และข้อความในวงเล็บเป็นสำนวนของท่านบุคอรีย์) ...
หมายเหตุ
แต่ถ้าเขาลุกขึ้นยืนแล้ว เพื่อจะทำร็อกอะฮ์ที่สามโดยลืมอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก แต่ยังไม่ทันยืนตรง ก็เกิดนึกขึ้นมาได้ว่ายังไม่ได้อ่านตะชะฮ์ฮุด ในกรณีนี้ให้เขารีบนั่งลงเพื่ออ่านตะชะฮ์ฮุดที่ลืมนั้น และทำนมาซต่อไปจนเสร็จสิ้นโดยไม่ต้องสุญูดซะฮ์วีแต่ประการใด ดังจะได้กล่าวต่อไปในเรื่อง “การสงสัยและการหลงลืมที่ไม่ต้องสุญูดซะฮ์วี”

กรณีที่ 2 การสงสัยจำนวนร็อกอะฮ์

คำว่า “สงสัย” หมายถึงความความไม่มั่นใจในจำนวนร็อกอะฮ์ที่กำลังกระทำอยู่ว่าจะเป็นร็อกอะฮ์ที่เท่าใดกันแน่, หรือสงสัยว่าได้ทันร็อกอะฮ์พร้อมอิหม่ามหรือไม่ ? .. โดยไม่อาจจะให้น้ำหนักกับด้านใดด้านหนึ่งของร็อกอะฮ์ที่สงสัยนั้น ...

ตัวอย่างที่ 1 ชายคนหนึ่งนมาซประเภท 4 ร็อกอะฮ์ แล้วนึกไม่ออกว่า ร็อกอะฮ์ที่กำลังกระทำอยู่นี้ เป็นร็อกอะฮ์ที่ 3 หรือร็อกอะฮ์ที่ 4 ? ...
กรณีนี้ก็ให้เขายึดถือเอาจำนวนร็อกอะฮ์ที่น้อยกว่าเป็นเกณฑ์ .. ดังในตัวอย่างข้างต้นนี้ ก็ให้เขาถือว่าเขากำลังทำร็อกอะฮ์ที่ 3 อยู่ ...
ดังนั้น เขาจึงจำเป็นจะต้องทำนมาซเพิ่มอีก 1 ร็อกอะฮ์ และเมื่อเสร็จจากการอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายแล้ว ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วจึงให้สล่าม ...
หลักฐาน
ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ..

قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : إِذَاشَكَّ أَحَدُكُمْ فِىْ صَلاَتِهِ فَلَمْ يَدْرِكَمْ صَلَّى ؟ ثَلاَثاً أَمْ أَرْبَعًا ؟ فَلْيَطْرَحِ الشَّكَّ وَلْيَبْنِ عَلَى مَا اسْتَيْقَنَ ! ثُمَّ اسْجُدْ سَجْدَتَيْنِ قَبْلَ أَن يُّسَلِّمَ

ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า : “เมื่อพวกท่านคนใดเกิดสงสัยในการนมาซของเขา โดยเขานึกไม่ออกว่าได้นมาซไปเท่าไรแล้ว .. สามหรือสี่ร็อกอะฮ์กันแน่ ? ดังนั้น เขาก็จะต้องโยนส่วนที่สงสัย (คือ สงสัยว่าจะเป็นร็อกอะฮ์ที่สี่) ทิ้งไป และให้ยึดเอาสิ่งที่เขาแน่ใจ (คือ ร็อกอะฮ์ที่สาม)ไว้ หลังจากนั้น ก็ให้เขาสุญูด 2 ครั้ง ก่อนการให้สล่าม ........”
(บันทึกโดยท่านมุสลิม หะดีษที่ 88/571)
ตัวอย่างที่ 2 ชายคนหนึ่งมาทันนมาซที่มัสญิดขณะที่อิหม่ามกำลังก้มรุกั๊วะอฺอยู่ เขาจึงรีบตักบีเราะตุ้ลเอี๊ยะห์รอมแล้วก้มลงรุกั๊วะอฺ เพื่อจะได้ทันร็อกอะฮ์นั้นพร้อมอิหม่าม แต่แล้ว เขาก็เกิดสงสัยว่าตนเองก้มรุกั๊วะอฺทัน ก่อนที่อิหม่ามจะเงยขึ้นมาจากรุกั๊วะอฺหรือเปล่า ? ...
ในกรณีนี้ ถือว่าเขาไม่ทันได้ร็อกอะฮ์ที่สงสัยนั้น ดังนั้น จึงให้เขานับร็อกอะฮ์แรกของเขาหลังจากที่ได้ยืนขึ้นมาพร้อมกับอิหม่ามในร็อกอะฮ์ถัดไป ...
เมื่ออิหม่ามให้สล่ามแล้ว ก็ให้เขาทำนมาซของเขาต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์ และจะต้องสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้งก่อนการให้สล่าม ...
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะมีอธิบายอีกครั้งในเรื่อง “มะอ์มูมมัสบูก” ครับ ..

(2). การสุญูดซะฮ์วีหลังให้สล่าม

การสุญูดซะฮ์วีหลังการให้สล่าม มีอยู่หลายกรณีด้วยกันดังค่อไปนี้ ...

กรณีที่ 1 การเพิ่มเติมบางอย่างในการนมาซ
คำว่า “เพิ่มเติมบางอย่าง” ในที่นี้ หมายถึงการเพิ่มเติมสิ่งวาญิบของการนมาซ เช่น เพิ่มการอ่านตะชะฮ์ฮุด, หรือการเพิ่มเติมบางรุก่นของการนมาซ เช่นเพิ่มการยืน การนั่ง, การรุกั๊วะอฺ, การสุญูด เป็นต้น .. หรือการเพิ่มร็อกอะฮ์ของการนมาซโดยไม่ตั้งใจ แต่เป็นเพราะความพลั้งเผลอหรือหลงลืม ...
ตัวอย่าง
ชายผู้หนึ่งนมาซซุฮ์รี่ 5 ร็อกอะฮ์ แต่เขาเกิดนึกขึ้นมาได้ หลังจากให้สล่ามไปแล้ว ว่า ตนนมาซเกินไปหนึ่งร็อกอะฮ์ ในกรณีนี้ เขามีวิธีแก้ไขเพียงประการเดียวคือ ให้สุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง จากนั้นก็ให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง ...
หลักฐาน
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ มัสอูด ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ...
أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ صَلَّى الظُّهْرَخَمْسًا، فَقِيْلَ لَهُ : أَزِيْدَ فِى الصَّلاَةِ ؟ فَقَالَ : وَمَاذَاكَ ؟ قَالَ : صَلَّيْتَ خَمْسًا، فَسَجَدَ سَجْدَتَيْنِ بَعْدَ مَا سَلَّمَ (ثُمَّ سَلَّمَ)
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้นมาซซุฮ์รี่ 5 ร็อกอะฮ์, แล้วมีผู้กล่าวแก่ท่านว่า .. “มีการเพิ่มในนมาซหรือ ?” ท่านศาสดาจึงกล่าวถามว่า .. “ทำไมหรือ ?” เขาตอบว่า .. “ก็ท่านนมาซ 5 ร็อกอะฮ์” .. ดังนั้น ท่านศาสดาจึงสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้งหลังจากที่ได้ให้สล่ามแล้ว (หลังจากนั้น ท่านก็ให้สล่ามอีกครั้ง)”
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์ หะดีษที่ 1226, และท่านมุสลิม หะดีษที่ 89/572, และผู้บันทึกท่านอื่นๆ .. สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านบุคอรีย์ ส่วนข้อความในวงเล็บตอนท้าย เป็นข้อความจากการบันทึกของท่านมุสลิม) ...
หมายเหตุ
ตัวอย่างที่คล้ายคลึงกับกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ ได้แก่ ...
1. ชายผู้หนึ่งนมาซซุฮ์รี่ได้ 3 ร็อกอะฮ์ เมื่อลุกขึ้นมาจากสุญูดของร็อกอะฮ์ที่ 3 เขาก็นั่งลงอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย เพราะเข้าใจว่าตนนมาซครบ 4 ร็อกอะฮ์แล้ว ในกรณีนี้ หากเขานึกได้ก่อนอ่านตะชะฮ์ฮุดจบ ก็ให้เขารีบลุกขึ้นทำร็อกอะฮ์ที่ 4 ในทันที แล้วให้ทำนมาซต่อไปจนจบการให้สล่าม ...
และเมื่อให้สล่ามแล้ว ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วจึงให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง
สาเหตุที่เขาต้องสุญูดซะฮ์วีในกรณีข้างต้นนี้ เพราะเขาได้เพิ่มรุก่นนมาซ – คือการอ่านตะชะฮ์ฮุด, และการนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้าย – ในที่ซึ่งมิใช่เป็นตำแหน่งของมัน ดังตัวอย่างที่ได้อธิบายไปนั้น ...
แต่หากเขานั่งอ่านตะชะฮ์ฮุดหลังจากร็อกอะฮ์ที่ 3 จนกระทั่งจบและเสร็จสิ้นการนมาซโดยการให้สล่ามไปแล้ว จึงเกิดนึกขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น --- เช่นประมาณ 2-3 นาที --- ว่า ตนนมาซขาดไปหนึ่งร็อกอะฮ์ กรณีนี้ ก็ให้เขาลุกขึ้นทำนมาซในร็อกอะฮ์ที่ขาดไปนั้นให้ครบ, และหลังจากอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายและให้สล่ามแล้ว ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้งแล้วจึงให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง, .. ดังกำลังจะกล่าวถึงต่อไปในเรื่อง “การให้สล่ามก่อนนมาซครบร็อกอะฮ์ของมัน” หน้าที่ 9 ตัวอย่างที่ 2 ...
แต่ถ้าหากเขาเกิดนึกขึ้นมาได้ภายหลังจากเวลาผ่านไปเนิ่นนานพอสมควรแล้วว่า ตนนมาซซุฮ์รี่ไปแค่ 3 ร็อกอะฮ์, ยังขาดอีก 1 ร็อกอะฮ์ .. ในกรณีนี้ ก็ให้เขานมาซซุฮ์รี่ใหม่ เพราะถือว่าการนมาซครั้งก่อนไม่ถูกต้อง ...
2. ชายผู้หนึ่ง นมาซซุฮ์รี่ 5 ร็อกอะฮ์เพราะลืม .. ขณะที่เขากำลังนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายในร็อกอะฮ์ที่ห้าอยู่นั้น เกิดนึกขึ้นมาได้ว่า นี่มิใช่ร็อกอะฮ์ที่สี่ แต่เป็นเป็นร็อกอะฮ์ที่ห้า ในกรณีอย่างนี้ก็ให้เขาอ่านตะชะฮ์ฮุดต่อไปจนจบแล้วให้สล่าม หลังจากนั้น ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วจึงให้สล่ามใหม่อีกครั้งหนึ่ง ...
3. แต่ถ้าเขาเกิดนึกได้ขณะกำลังอยู่ในอิริยาบถใดๆที่อื่นจากการอ่านตะชะฮ์ฮุดในร็อกอะฮ์ที่ 5 เช่นนึกได้ขณะกำลังรุกั๊วะอฺในร็อกอะฮ์ที่ห้าว่า ตนกำลังทำนมาซในร็อกอะฮ์ส่วนเกินอยู่ ...
ในกรณีนี้ ก็ให้เขารีบนั่งลงโดยเร็ว แล้วอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งสุดท้ายและให้สล่ามตามปกติ หลังจากนั้น ก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง ...



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น