อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การลงสุยูดจากหะดีษอิบนุอุมัรฺ

ไขข้อข้องใจ
เรื่องอริยาบถการลงสุยูดจากหะดีษอิบนุอุมัรฺ
โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย
ก่อนอื่น ผมขอขอบคุณ คุณ Abu taimiah เป็นอย่างมากที่กรุณาช่วยตรวจสอบความผิดพลาดในข้อเขียนเรื่องต่างๆของผมซึ่งคงต้องมีบ้างตามวิสัยปุถุชนแน่นอน ขอพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงตอบแทนความดีแก่คุณมากๆด้วยครับ ...
สำหรับในเรื่องหะดีษของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ซึ่งรายงานโดยท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ, จากท่านนาฟิอฺที่กล่าวว่า ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ลงสุยูดโดยวางมือทั้งสองบนพื้นก่อนเข่าทั้งสอง แล้วท่านอิบนุอุมัรฺ ก็กล่าวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ปฏิบัติอย่างนี้ .. และผมก็กล่าวว่าหะดีษบทนี้เป็นหะดีษที่ถูกต้อง อันอาจเป็นการ “มองต่าง” จากคุณ นั้น ...
ข้อเขียนครั้งสุดท้ายของคุณ ผมได้อ่านแล้วด้วยความขอบคุณและยอมรับในข้อมูลที่คุณคัดลอกมาอย่างถูกต้อง แต่ผมมีสิ่งที่จะต้องชี้แจงดังนี้ ...
(1). ในเรื่องความหมาย “หะดีษมุงกัรฺ” ดังที่ท่านอิหม่ามนะวะวีย์อธิบายไว้ในหนังสือ “ชัรฺหุมุสลิม” ของท่าน ในทัศนะผมเห็นว่า ไม่ได้ขัดแย้งกันเลยกับความหมายหะดีษ “มุงกัรฺ” ดังคำกล่าวของท่านมุสลิม ...
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ก็อธิบายแล้วว่า หะดีษมุงกัรฺที่ท่านมุสลิมกล่าวถึง คือหะดีษเฎาะอีฟมากที่จะรับมาปฏิบัติไม่ได้ (مَرْدُوْدٌ) อันเป็นทัศนะของนักวิชาการหะดีษทั่วไป ...
ส่วนหะดีษมุงกัรฺอีกความหมายหนึ่ง อันหมายถึงหะดีษซึ่งมีผู้รายงานมาเพียงลำพัง - ไม่ว่าผู้นั้นจะเชื่อถือได้หรือไม่ก็ตาม - โดยไม่มี مُتَابِعٌ .. คือ ไม่มีผู้ซึ่งรายงานหะดีษนั้นจากเศาะหาบะฮ์ท่านเดียวกัน มาสอดคล้องกับเขา .. ก็เป็นทัศนะของนักวิชาการหะดีษอีกกลุ่มหนึ่งในอดีต เช่นท่านอิหม่ามอะห์มัด, ท่านฮาฟิษอัล-บัรฺดีญีย์ เป็นต้น และนักวิชาการหะดีษยุคหลังจำนวนมากเช่นท่านอิบนุศเศาะลาห์, ท่านอิบนุกะษีรฺ เป็นต้น ก็ไม่ปฏิเสธความหมายนี้ ...
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ฮัดยุซซารีย์” เกี่ยวกับประวัติท่านมุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัต-ตัยมีย์ (หน้า 437) ว่า ...
قُلْتُ : اَلْمُنْكَرُ أَطْلَقَهُ أَحْمَدُ بْنُ حَنْبَل وَجَمَاعَةُ الْمُحَدِّثِيْنَ عَلَى الْفَرْدِ الَّذِىْ لاَ مُتَابِعَ لَهُ فَيُحْمَلُ هَذَا عَلَى ذَلِكَ، وَقَدِ احْتَجَّ بِهِ جَمَاعَةٌ
“ฉันขอกล่าวว่า คำว่า “มุงกัรฺ” นั้น ท่านอิหม่ามอะห์มัดและนักวิชาการหะดีษกลุ่มหนึ่ง ได้ใช้มันในความหมายถึงหะดีษที่มีผู้รายงานเพียงผู้เดียว โดยไม่มีผู้ใดรายงานสอดคล้องกับเขา ซึ่งท่านผู้นี้ (อะห์มัด บินอิบรอฮีม อัต-ตัยมีย์) ก็ต้องถือว่าอยู่ใน(ความหมายมุงกัรฺ)ตามนัยนี้ เพราะมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่ให้ความเชื่อถือเขา” ...
และท่านอิบนุหะญัรฺ ยังกล่าวในหนังสือเล่มเดียวกัน เกี่ยวกับประวัติของท่านยูนุส บินอัล-กอซิม อัล-หะนะฟีย์ (หน้า 455) ว่า ...
فَمَذْهَبُ الْبَرْدِيْجِىِّ أَنَّ الْمُنْكَرَ هُوَ الْفَرْدُ، سَوَاءٌ تَفَرَّدَ بِهِ ثِقَةٌ أَوْ غَيْرُ ثِقَةٍ، .....
“ตามทัศนะของท่านอัล-บัรฺดีญีย์ (ชื่อจริงคือ อะห์มัด บินฮารูน สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 301) หะดีษมุงกัรฺ ก็คือหะดีษซึ่งมีผู้รายงานมาเพียงคนเดียว ไม่ว่าผู้รายงานคนเดียวนั้นจะเชื่อถือได้หรือไม่ก็ตาม ..........” ...
สรุปแล้ว ท่านมุสลิมและนักวิชาการหะดีษทั่วไป มองหะดีษมุงกัรฺในแง่ความไม่น่าเชื่อถือของผู้รายงาน หรือการรายงานของผู้รายงานที่ขาดความเชื่อถือให้ขัดแย้งกับผู้รายงานที่เชื่อถือได้ หะดีษมุงกัรฺในทัศนะนี้ทั้งหมด จึงเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟมาก ...
แต่ท่านอิหม่ามอะห์มัดและท่านอัล-บัรฺดีญีย์ มองหะดีษมุงกัรฺ ในแง่ภาษา ...
ทั้งนี้ เพราะคำว่า มุงกัรฺ (مُنْكَرٌ) มีที่มาจากรากศัพท์ว่า نَكَارَةٌ ซึ่งมีความหมายว่า تَفَرُّدٌ แปลว่า ตามลำพัง .. จึงเป็นที่มาของความหมายหะดีษมุงกัรฺว่า หมายถึงหะดีษซึ่งมีผู้รายงานมาตามลำพัง ดังกล่าวมาแล้ว ....
หะดีษมุงกัรฺตามทัศนะนี้ จึงมีทั้งที่ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ ตามคุณสมบัติของผู้รายงานในแต่ละหะดีษ ...
เพราะฉะนั้น หะดีษมุงกัรฺตามทัศนะของท่านมุสลิมและนักวิชาการหะดีษทั่วไป จึงไม่ใช่หะดีษมุงกัรฺตามมุมมองของท่านอะห์มัด, ท่านอัล- บัรฺดีญีย์และนักวิชาการกลุ่มนี้ ...
หรืออีกนัยหนึ่ง หะดีษมุงกัรฺของท่านมุสลิม ไม่ใช่หะดีษมุงกัรฺของท่านอัล-บัรฺดีญีย์ และหะดีษมุงกัรฺของท่านอัล-บัรฺดีญีย์ ก็มิใช่หะดีษมุงกัรฺของท่านมุสลิม ...
ตัวอย่างเปรียบเทียบในเรื่องนี้ ได้แก่คำว่า “หัวไทร” ..
คำๆนี้ ถ้าท่านถามผมหรือถามคนนครทั่วไปก็ต้องบอกว่า หัวไทร หมายถึงอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช (และเป็นบ้านเกิดของผม) ...
แต่ถ้าท่านไปถามชาวจังหวัดพัทลุง เขาก็ต้องตอบท่านว่า หัวไทรก็คือตำบล(หรือหมู่บ้าน)หนึ่งในจังหวัดพัทลุงของพวกเขา (ไม่แน่ใจว่าอยู่ในเขตอำเภอเขาชัยสนหรืออำเภอปากพยูน) ...
คำตอบทั้ง 2 ตามตัวอย่างเปรียบเทียบนี้มิได้ขัดแย้งกันเลย เพราะหัวไทรของนครศรีธรรมราช ก็ไม่ใช่หัวไทรของพัทลุง และหัวไทรของพัทลุง ก็ไม่ใช่หัวไทรของนครศรีธรรมราช ...
เรื่องหะดีษมุงกัรฺตามที่ผมอธิบายมา ก็อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้ ...
หวังว่า คงเข้าใจตามที่ผมเปรียบเทียบมานี้นะครับ ...
(2). ในกรณีหะดีษที่ท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ ผู้รายงานหะดีษเรื่องการลงสุยูดของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ข้างต้น ได้รายงานหะดีษนี้มาจากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ แล้วถูกวิจารณ์ว่าเป็นหะดีษมุงกัรฺ นั้น ...
ผมขอเรียนชี้แจงดังนี้ ...
ก. ท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ (สิ้นชีวิตเมื่อปีฮ.ศ. 186 หรือ 187) ปกติ เป็นผู้รายงานที่พอจะเชื่อถือได้ (صَدُوْقٌ) เป็นผู้รายงานของท่านบุคอรีย์, มุสลิม, อัน-นซาอีย์, อบูดาวูด, อัต-ติรฺมีซีย์ และอิบนุมาญะฮ์ ...
ทว่า แม้จะเป็นผู้รายงานของท่านมุสลิม แต่ปรากฏว่า ท่านมุสลิมไม่เคยรายงานหะดีษใดที่ท่านผู้นี้ได้รายงานมาจากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ เลย ...
ท่านอัน-นซาอีย์กล่าววิจารณ์ว่า หะดีษของท่านอับดุลอะซีซ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์เป็นหะดีษมุงกัรฺ, (จากตะฮ์ซีบุต ตะฮ์ซีบ เล่มที่ 6 หน้า 316) และท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ชัรฺหุมะอานีย์ อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 2 หน้า 197 ว่า นักวิชาการหะดีษกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับรายงานของท่านอับดุลอะซีซ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์เลยในทุกๆกรณี (คือ ไม่ว่าจะขัดแย้งหรือไม่ขัดแย้งกับผู้ใดก็ตาม) ...
จากการวิจารณ์ของท่านอัน-นซาอีย์ข้างต้น ผนวกกับการกระทำของท่านมุสลิมบ่งบอกความหมายว่า รายงานของท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ เป็นรายงานที่ “มีปัญหา” แน่นอน ...
ปัญหาที่ว่านี้ คืออะไร ?? ...
คำตอบก็คือ “ปัญหา” ดังกล่าวไม่ใช่เพราะท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ขาดความน่าเชื่อถือ แต่หมายถึง รายงานของท่านอับดุลอะซีซ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ มักขัดแย้งกับผู้รายงานของท่านผู้ที่เชื่อถือได้ท่านอื่นๆเสมอ ดังตัวอย่างหะดีษจากการบันทึกของท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ ในหนังสือ “ชัรฺหุ มะอานีย์ อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 2 หน้า 197 เป็นต้น ...
ข. แต่ .. ขณะเดียวกัน ก็มีนักวิชาการหะดีษอีกกลุ่มหนึ่ง อาทิเช่นท่านอิบนุคุซัยมะฮ์, ท่านอัล-หากิม, ท่านอัษ-ษะฮะบีย์, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ เป็นต้น ยอมรับหะดีษที่ท่านอับดุลอะซีซ ได้รายงานมาจากท่านอุบัยดิลลาฮ์ว่ามันเป็นหะดีษที่ถูกต้อง (صَحِيْحٌ) ตราบใดที่ไม่ปรากฏว่า รายงานนั้นไปขัดแย้งกับผู้รายงานที่เชื่อถือได้ท่านอื่นๆ ...
ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ได้รายงานหะดีษบทหนึ่ง จากการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ (หะดีษที่ 3065 จากหนังสือตุห์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์ของท่านมุบาร็อกปูรีย์ หรือหะดีษที่ 2901 จากอัล-ญาเมียะอฺ อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์ ของท่านมุหัมมัดชากิรฺ) แล้วท่านอัต-ติรฺมีซีย์ ก็กล่าวว่า “นี่เป็นหะดีษหะซัน, เฆาะรีบ, เศาะเหี๊ยะฮ์ จากกระแสของ (ท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จาก) ท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ จากท่านษาบิต (อัล-บุนานีย์) ...
ที่น่าสังเกตก็คือ หะดีษข้างต้นจากการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ ที่ท่านอัต-ติรฺมีซีย์กล่าวว่า เป็นหะดีษหะซัน, เฆาะรีบ, เศาะเหี๊ยะฮ์ บทนี้ ไม่มีหะดีษใดที่รายงานมาให้ขัดแย้งเลย ...
ค. เพราะฉะนั้น สำหรับผู้มีใจเป็นธรรม (مُنْصِفٌ) แล้ว ก็คงไม่ปฏิเสธว่า ในกรณีการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ นี้ การปฏิเสธไม่ยอมรับทั้งหมดในทุกๆกรณี หรือการยอมรับมันทั้งหมดในทุกๆกรณี จึงไม่น่าจะถูกต้อง ...
แต่ที่ถูกต้องและยุติธรรม (إنْصَافٌ) ที่สุดก็คือ ต้องแยกแยะดูว่า หะดีษของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺบทใด มีรายงานจากกระแสอื่นที่น่าเชื่อถือกว่า รายงานมาให้ขัดแย้งบ้างหรือไม่ ...
ถ้ามี ก็ต้องปฏิเสธรายงานของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺบทนั้นไป แต่ถ้าไม่มีรายงานขัดแย้ง ก็ให้ยอมรับไว้ เพราะโดยพื้นฐานของท่านอับดุลอะซีซผู้นี้ เป็นผู้ที่พอจะเชื่อถือได้ ดังกล่าวมาแล้วตอนต้น ...
สรุปแล้ว คำว่า “หะดีษมุงกัรฺ” ดังที่ท่านอัน-นซาอีย์วิจารณ์การรายงานของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์ จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ จึงมีอยู่เพียงกรณีเดียวคือ ถ้ารายงานของท่านไปขัดแย้งกับรายงานผู้อื่นที่เชื่อถือได้กว่าเท่านั้น ...
(3). สำหรับหะดีษจากการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ, จากท่านนาฟิอฺที่กล่าวว่า ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ลงสุยูดโดยวางมือทั้งสองบนพื้นก่อนเข่าทั้งสอง แล้วท่านอิบนุอุมัรฺ ก็กล่าวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ปฏิบัติอย่างนี้ ...
ผู้ที่ปฎิเสธหะดีษบทนี้ ก็คือท่านอัล-บัยฮะกีย์ .. แต่ท่านไม่ได้ปฏิเสธข้อความตอนต้นของหะดีษอันเป็นการกระทำของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. (เรียกว่า หะดีษเมากูฟ) ที่บอกว่า ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. สุยูดโดยเอามือลงพื้นก่อนเข่าทั้งสอง แต่ท่านอัล-บัยฮะกีย์ ปฏิเสธข้อความตอนท้ายของหะดีษที่ว่า .. แล้วท่านอิบนุอุมัรฺ ก็กล่าวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ปฏิบัติอย่างนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็นหะดีษมัรฺฟูอฺ คืออ้างว่าเป็นการกระทำของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ...
ท่านอัล-บัยฮะกีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรออฺ” เล่มที่ 2 หน้า 100) ในลักษณะว่า ...
كَذَا قَالَ عَبْدُ الْعَزِيْزِ الدَّرَاوَرْدِىُّ، وَلاَ أَرَاهُ إِلاَّ وَهَمًا
“อย่างนี้แหละ .. (คือข้อความว่า .. แล้วท่านอิบนุอุมัรฺ กล่าวว่า ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ปฏิบัติอย่างนี้) .. ที่อับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์กล่าว ฉันไม่เห็นว่ามันจะเป็นอะไรนอกจากความผิดพลาดสถานเดียว” ...
แล้วท่านอัล-บัยฮะกีย์ก็นำหะดีษอีกบทหนึ่งที่ท่านเห็นว่า ขัดแย้งกับหะดีษของท่านอับดุลอะซีซ ในแง่ที่ว่าหะดีษใหม่ที่ท่านนำมานี้ เป็นรายงานที่แพร่หลายจาก “คำกล่าว” ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ.เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ “การกระทำ” ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ดังรายงานของท่านอับดุลอะซีซเลย ซึ่งหะดีษบทนี้ เป็นการรายงานจากท่านอัยยูบ จากท่านนาฟิอฺ จาก “คำพูด” ของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ที่กล่าวว่า ...
إِذَا سَجَدَ أَحَدُكُمْ فَلْيَضَعْ يَدَيْهِ، فَإِذَا رَفَعَ فَلْيَرْفَعْهُمَا، فَإِنَّ الْيَدَيْنِ تَسْجُدَانِ كَمَا يَسْجُدُ الْوَجْهُ
“เมื่อพวกท่านคนใดจะสุยูด ก็จงวางมือทั้งสองของเขาลง และเมื่อเขาจะลุกขึ้น ก็ให้เขายกมันทั้งสองขึ้นมา เพราะมือทั้งสองจะสุยูด เหมือนการสุยูดของใบหน้านั่นแหละ’”
(จากหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรออฺ” เล่มที่ 2 หน้า 101) ...
แต่ทัศนะของท่านอัล-บัยฮะกีย์ข้างต้น ถูกโต้แย้งโดยนักวิชาการหลายท่านในลักษณะว่า รายงานจากท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. บทแรกกับบทหลังนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ขัดแย้งกันเลย ...
ท่านอิบนุ้ลตัรฺกะมานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-เญาฮะรุ้ลนะกีย์” ของท่านซึ่งเป็นหนังสืออธิบายหะดีษอัส-สุนัน อัล-กุบรออฺของท่านอัลบัยฮะกีย์ และตีพิมพ์รวมเล่มด้วยกันว่า ...
“และสิ่งซึ่งท่านอัล-บัยฮะกีย์กล่าวว่า เป็นข้อบกพร่องจากหะดีษดังกล่าว (หะดีษของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺ ) คำกล่าวนี้ จะต้องพิจารณา เพราะในแต่ละหะดีษจากหะดีษสองบทนั้น ความหมายบทหนึ่งจะแยกต่างหากจากความหมายของอีกบทหนึ่ง (คือ ไม่ได้ขัดแย้งกันดังทัศนะของท่านอัล-บัยฮะกีย์) ......”
ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ก็ได้กล่าวติงท่านอัล-บัยฮะกีย์ไว้เช่นกันในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” เล่มที่ 2 หน้า 291 ว่า ...
وَلِقَائِلٍ أَنْ يَقُوْلَ : هَذَاالْمَوْقُوْفُ غَيْرُ الْمَرْفُوْعِ ! فَإِنَّ اْلأَوَّلَ فِىْ تَقْدِيْمِ وَضْعِ الْيَدَيْنِ عَلَى الرُّكْبَتَيْنِ، وَالثَّانِىَ فِىْ إِثْبَاتِ وَضْعِ الْيَدَيْنِ فِى الْجُمْلَةِ ....
“อย่างนี้ ใครสักคนก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่า .. หะดีษเมากูฟบท(หลัง)นี้ เป็นคนละเรื่องกับหะดีษมัรฺฟูอฺ (บทก่อน ..) เพราะหะดีษบทก่อนนั้น กล่าวถึงการวางมือทั้งสองก่อนเข่าทั้งสอง ส่วนหะดีษบทหลัง ยืนยันถึงการวางมือทั้งสอง(ลงกับพื้นขณะสุยูด)ในภาพรวม (คือ ไม่ได้ระบุเรื่องก่อนเข่าหรือหลังเข่า)” ...
หะดีษทั้งสองบทนี้จึงไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด ...
สรุปแล้ว หะดีษรายงานลักษณะการลงสุยูด โดยการวางมือทั้งสองลงบนพื้นก่อนเข่าทั้งสองของท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. จากการรายงานของท่านอับดุลอะซีซ อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านอุบัยดิลลาฮ์ บินอุมัรฺบทนี้ จึงไม่มีรายงานใดที่ถูกต้องกว่า รายงานมาให้ขัดแย้งจนนำไปสู่การหุก่มว่า มันเป็นหะดีษมุงกัรฺได้ ...
ด้วยเหตุนี้ หะดีษบทนี้จึงถูกรับรอง ความถูกต้อง (تَصْحِيْحٌ)โดยนักวิชาการหะดีษระดับโลกทั้งอดีตและปัจจุบันหลายท่าน อาทิเช่น ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์, ท่านอัลหากิม, ท่านอัษ-ษะฮะบีย์, ท่านอัล-อัลบานีย์ เป็นต้น ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ...
นอกจากนี้ หะดีษบทนี้ยังมี “หลักฐานสนับสนุน” ในลักษณะ “ชาฮิด” .. (คือหะดีษที่มีข้อความเดียวกัน หรือเนื้อหาคล้ายคลึงกันที่ถูกรายงานมาจากเศาะหาบะฮ์ท่านอื่น) คือ ...
1. หะดีษซึ่งถูกรายงานมาจากท่านอับดุลอะซีซ บินมุหัมมัด อัด-ดะรอวัรฺดีย์, จากท่านมุหัมมัด บินอับดุลลอฮ์ บินหะซัน, จากท่านอบีย์ อัส-สินาด, จากท่านอัล-อะอฺร็อจญ์, จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. จากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวว่า ...
إِذَا سَجَدَ أَحَدُكُمْ فَلاَ يَبْرُكْ كَمَا يَبْرُكُ الْبَعِيْرُ، وَلْيَضَعْ يَدَيْهِ قَبْلَ رُكْبَتَيْهِ
“เมื่อคนใดจากพวกท่านจะสุยูด ก็อย่าให้เขาหมอบลงเหมือนการหมอบของอูฐ จงให้เขาวางมือทั้งสองของเขาก่อนมือทั้งสองของเขา” ...
(บันทึกโดยท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นซาอีย์, ท่านอัด-ดาริมีย์, ท่านอะห์มัด, ท่านอัด-ดาเราะกุฏนีย์, ท่านอัฎ-เฏาะหาวีย์ เป็นต้น) ...
2. ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ ได้บันทึกในหนังสือ “อัศ-เศาะเหี๊ยะฮ์” ของท่าน หะดีษที่ 169 จากท่านอะฏออฺ, จากท่านอบูหุมัยด์ อัซ-ซาอิดีย์ ร.ฎ. ซึ่งกล่าวแก่บรรดาเศาะหาบะฮ์ร่วม 10 คนที่นั่งชุมนุมกัน ว่า ...
اَنَا أُعَلِّمُكُمْ بِصَلاَةِ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ............ ثُمَّ يَهْوِىْ إِلَى اْلأَرْضِ وَ يُجَافِىْ يَدَيْهِ عَنْ جَنْبَيْهِ، ثُمَّ يَسْجُدُ، وَقَالُوْا جَمِيْعًا : صَدَقْتَ، هَكَذَا كَانَ النَّبِىُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُصَلِّىْ
“ฉันจะบอกให้พวกท่านรู้ถึงการนมาซของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ............... หลังจากนั้น ท่านรอซู้ลจะย่อตัวลงสู่พื้นในลักษณะมือทั้งสองของท่าน แยกห่างออกจากสีข้างของท่าน แล้วท่านก็สุยูด, พวกเขา (บรรดาเศาะหาบะฮ์)ทั้งหมดกล่าวว่า .. จริงของท่าน, อย่างนี้แหละที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเคยนมาซ” ...
ลงสุยูดอย่างไร - ในระหว่างเอามือลงพื้นก่อน หรือเอาเข่าลงพื้นก่อน - มือทั้งสองจึงจะแยกห่างออกจากสีข้าง ดังรายงานข้างต้น ก็ให้ท่านผู้อ่านไปทดลองทำดูกันเอาเองนะครับ ...
รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องอิริยาบถการลงสุยูด ตลอดจนการวิเคราะห์หะดีษเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมได้เขียนไว้อย่างละเอียดแล้วในหนังสือ “ท่านถาม – เราตอบ” เรื่องวิธีการลงสุยูด จึงไม่ขออธิบายซ้ำอีก ณ ที่นี้ ...
และนี่ คือคำชี้แจงเกี่ยวกับหลักฐานของเรื่องนี้ในมุมมองของผม ซึ่งมันอาจจะผิดพลาดก็ได้ จะอย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณต่อคุณ Abu Taimiah อย่างจริงใจอีกครั้งที่ทำให้ผมได้มีโอกาสชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ พอสังเขปในเฟซบุ้คนี้ ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น