อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เงินฝากวาดีอะของ ธกส เเล้วเขาจับสลากแจกฮัจญ์รับได้หรือไม่?



ตอบโดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

ถาม

อัสลามุอลัยกุม มีคำถามครับ
1.เงินฝากวาดีอะของ ธกส เเล้วเขาจับสลากแจกฮัจญ์รับได้หรือไม่(เข้าข่ายดอกเบี้ยหรือไม่)
 2.มีคนมาจำนำสวนยางแล้วให้สิทธิ์แก่เราในการเก็บเกี่ยว โดยเราไม่ได้เรียกร้องและไม่ได้ตกลงทำสัญญา ถ้ารับจะเป็นดอกเบี้ยหรือไม่

ตอบ

สำหรับคำถามข้อแรก ถ้าสลากมาออกที่เราก็สามารถรับได้ไม่มีปัญหาครับ เพราะไม่เข้าข่ายดอกเบี้ย และ/หรือเสี่ยงโชคตามรูปแบบที่อิสลามห้ามครับ ...

สำหรับ"หลักฐานอ้างอิง" ที่ว่านี้ หมายถึงข้อมูลจากซุนนะฮ์ ผมก็ไม่เคยเจอว่าในสมัยท่านนบีย์จะมีการจับสลากในเรื่องแบบนี้ครับ แต่ที่ผมตอบไปอย่างนั้นก็เพราะผมวิเคราะห์แล้วว่า การจับสลากดังกล่าวไม่จัดเข้าอยู่ในประเด็นดอกเบี้ยเลยครับ เนื่องจากไม่ใช่เป็น "การตกลง ร่วมกัน" ของทั้งสองฝ่ายซึ่งแตกต่างกับเรื่องดอกเบี้ย แต่เป็นการเสนอให้ของธนาคารเพียง "ฝ่ายเดียว" เท่านั้น

และการเสนอให้ดังกล่าวก็มีเงื่อนไข คือจับสลากถูกบางคน ไม่่ได้หมายความว่า ผู้ฝากเงินจะได้รับทุนไปทำหัจญ์ทุกคนเลยนี่ครับ ...

ประเด็นต่อมาที่ว่า ก็เงินที่ธนาคารให้เรามานั้นเป็นเงินที่เขาได้มาจากระบบดอกเบี้ย เราจะรับได้หรือไม่ ? ..

ซึ่งนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมลืมคิดไป ใช่ครับ ผมก็เห็นด้วยในแง่ที่ว่า "ไม่สมควร"จะรับการสมนาคุณของธนาคารด้วยวิธีนี้ แต่ผมยังไม่กล้าฟันธงว่า "ห้าม" รับนะครับ เพราะ "ความผิด" เรื่องระบบดอกเบี้ยของธนาคาร มันจะส่งผลถึง "เม็ดเงิน" ในธนาคารว่าเป็นสิ่ง "หะรอม" ด้วยหรือไม่ ? ยังเป็นปัญหาชวนให้คิดอยู่ ..

ยกตัวอย่างเช่น เราไปซื้อของบางอย่างที่ร้านคนไทยพุทธซึ่งเขาขายเหล้าด้วย เมื่อเราจ่ายเงินค่าสินค้าให้เขาไป เขาก็เอาเงินซึ่งเราเห็นชัดๆว่าคนซื้อเหล้าก่อนจากเราให้เขาไปเป็นค่าเหล้า นำมาทอนให้เรา จึงมีปัญหาว่า เราจะรับเงินค่าเหล้าที่เขาทอนให้เรานั้นได้หรือไม่ ? .เพราะการขายเหล้าเป็นสิ่งหะรอม แต่ตัวเงินหรือเม็ดเงินจากการขายเหล้าจะเป็นเงินที่ห้ามรับด้วยหรือ ? ...

 ซึ่งมันก็คล้ายคลึงกับปัญหาข้างต้นนี่แหละครับ ขอบคุณอีกครั้งครับที่ทักท้วงมา .....

นทัศนะผมเห็นว่า ควรจะแยกแยะ ระหว่าง "วิธีการ" ที่ได้เงินมากับ "เม็ดเงิน" ออกจากกัน เพราะมิฉะนั้น

 หากเราถือว่า เมื่อวิธีการได้เงินมาเป็นวิธีการที่หะรอม เม็ดเงินนั้นก็ต้องหะรอมด้วย
 แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ตัวเงินหรือเม็ดเงินที่อยู่ในกระเป๋าของเราแต่ละวัน มันผ่านมือโสเภณี, ผ่านการซื้อขายหมูขายเหล้า, ผ่านการฉ้อโกง, ผ่านการลักขโมย, ผ่านมือปืนรับจ้าง, ผ่านระบบดอกเบี้ย ฯลฯ มากี่ทอดแล้ว ?

 เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่า หากเราไม่มั่นใจจริงๆว่า เงินนั้นมีที่มาจากวิธีการที่หะรอม เราก็มีสิทธิ์รับได้ครับ

 ดังตัวอย่างที่ผมกล่าวมาข้างต้น จากจุดนี้ ผมจึงมองว่า เมื่อผู้จัดการธนาคารเลี้ยงข้าวเรา เมื่อเราไม่แน่ใจว่า เงินที่เขานำมาเลี้ยงเรานั้นได้มาจากทางใด อาจจะเป็นเงินที่เขาขายที่ดิน, ได้มาจากการทำงานพิเศษอื่นที่หะล้าล เป็นต้น
 ผมว่าเรารับเลี้ยงจากเขาได้ครับ
วัลลอฮุอะอฺลัม..

ในเรื่องของเงินตราหรือที่เรียกกันว่าเม็ดเงินนั้น ปกติ อิสลามจะ "ผ่อนปรน" ให้ผู้รับ คือไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อมีใครให้เงินเรา, ซื้อของร้านเรา, เลี้ยงอาหารเรา ฯลฯ ก็อนุญาตให้เรารับได้โดยไม่จำเป็นจะต้องไปซักถามเขาว่า เงินที่เขาให้เรา, ซื้อของร้านเรา หรือเลี้ยงอาหารเรานั้น เขาเอามาจากไหน? ..

ยกเว้นในกรณีถ้าเรา "แน่ใจ" (يقين)หรือค่อนข้างมั่นใจ (ظن)ว่าเงินนั้นเขาได้มาด้วยวิธีการที่ไม่หะล้าล ทางที่ดีก็ควรปฏิบัติตามที่ท่านนบีย์แนะนำ ..
 คือ หลีกเลี่ยงจากการรับ อย่างที่ผมตอบมาแล้วตอนต้น .
ซึ่งเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับเมื่อมีผู้นำเนื้อกุรฺบ่านมาให้เรา ก็อนุญาตให้เรารับได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบหรือสอบถามว่า เนื้อกุรฺบ่านนี้ใครเป็นผู้เชือด, ตอนเชือดเขากล่าวบิสมิลลาฮ์หรือไม่ เป็นต้น ...

สำหรับเรื่อง "ผู้รับ" ดังที่อธิบายมานั้น ตามหลักการศาสนาจะแตกต่างกับ "ผู้ให้" หรือเจ้าของเงิน ซึ่งอิสลามจะ "กวดขัน" เป็นอย่างมากว่า เงินที่จะนำมาใช้จ่ายส่วนตัว, หรือบริจาค หรือแม้กระทั่งจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำหัจญ์ จะต้อง "ได้มา" ด้วยวิธีการที่หะล้าลเท่านั้น
 การให้หรือการบริจาคของเขาจึงจะบังเกิดผลบุญ หากมิฉะนั้น การให้ของเขา, การบริจาคของเขา หรือการนำเงินนั้นไปใช้ในการทำหัจญ์ของเขา ก็จะไม่มีผลดีอะไรทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พระองค์อัลลอฮ์จะไม่ทรงรับสิ่งที่เขาทำไปด้วยเงินที่ได้มาด้วยวิธีการหะรอมนั้น
แต่ขณะเดียวกัน ผู้ที่รับเงินจากการให้หรือการบริจาคของเขา ก็ไม่ถือว่า มีความผิดบาปแต่ประการใด และไม่จำเป็นต้องสอบถามเขาด้วยว่า เขาเอาเงินนั้นมาจากไหน? ..
ดังได้กล่าวมาแล้ว วัลลอฮุอะอฺลัมครับ ...


เรื่องของธนาคารอิสลาม มีเพื่อนฝูงหลายคนที่ใช้บริการอยู่มาเล่าให้ผมฟังว่า เขาไม่เชื่อเด็ดขาดว่า ธนาคารนี้จะปลอดจากระบบดอกเบี้ยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่อาจจะน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆเท่านั้น
ซึ่งผมก็ไม่กล้าออกความเห็นใดๆเพราะไม่เคยใช้บริการและไม่เคยรู้รายละเอียดการดำเนินงานของธนาคารอิสลามมาก่อน แต่สมมุติถ้าเป็นจริงตามที่เขาเล่ามา ผมก็มองว่า มันก็ไม่แตกต่างจากธนาคารพาณิชน์อื่นเลย เพราะดอกเบี้ย ไม่ว่าจะมากหรือน้อยมันก็เป็นดอกเบี้ยอยู่วันยังค่ำ ผมจึงได้กล่าวว่า ถ้าเราแน่ใจหรือค่อนข้างมั่นใจว่าเงินที่เขาให้เรามาเป็นเงินที่ไม่บริสุทธิ์ตามหลักการศาสนา ก็ให้เราหลีกเลี่ยงเสีย ...

แต่ในมุมกลับกัน สมมุติถ้าผู้ใดมีความเชื่อว่า ระบบธนาคารอิสลามปลอดจากดอกเบี้ย และรางวัลพิเศษที่ทางธนาคารให้เขา เช่นการจับสลากไปทำหัจญ์ได้ ก็เป็นเงินรายได้บริสุทธิ์ของธนาคารที่ไม่ใช่มีที่มาจากดอกเบี้ย

 อย่างนี้ เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปห้ามเขาจากการรับรางวัลพิเศษนั้นได้หรอกครับ ..

สำหรับคำถามข้อสอง ผมขอถามก่อนว่า สมมุติถ้าเราไม่ไปกู้หนี้เขามา เขาจะยอมให้สิทธิ์เราเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสวนยางของเขาหรือไม่ ?
 ถ้าเข้าใจจุดนี้แล้วเราก็จะเข้าใจโดยอัตโนมัติว่า สิทธิ์ที่เขาให้เรานั้น ถือเป็นดอกเบี้ยส่วนเกินที่ต้องห้ามหรือไม่ .

ข้อนี้แตกต่างกับการที่เราไปกู้หนี้สินมาจากบุคคลซึ่งไม่มีประวัติเรื่องดอกเบี้ยเพื่อมาทำธุรกิจสักอย่าง และธุรกิจของเราก็ได้รับผลกำไรอย่างดี ต่อมาภายหลัง เมื่อเราไปจ่ายหนี้สินคืนแก่เขา เราก็มอบบางส่วนของกำไรแก่เขาเพื่อแสดงความขอบคุณ อย่างนี้ไม่มีปัญหาครับ
อินชาอัลลอฮ์ ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น