อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การสงสัยและการหลงลืมที่ไม่ต้องสุญูดซะฮ์วี

สุญูดซะฮ์วี

โดย อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย

(ตอนที่ 3)

การสงสัยและการหลงลืมที่ไม่ต้องสุญูดซะฮ์วี
มี “ความสงสัย” และ “การหลงลืม” บางอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่ส่งผลเสียใดๆต่อการนมาซ และไม่จำเป็นจะต้องสุญูดซะฮ์วีชดเชยจากความสงสัยหรือการหลงลืมนั้น
กรณีดังกล่าวได้แก่ ...
1. สิ่งที่ไม่น่าจะเรียกว่า สงสัย แต่ควรจะเรียกว่าเป็นความ “วอกแวก” มากกว่า อย่างเช่น บุคคลบางคนกำลังนมาซอยู่ดีๆ จู่ๆก็เกิดวอกแวกในจิตใจเกี่ยวกับจำนวนร็อกอะฮ์ ทั้งๆที่จำได้แม่นยำว่า กำลังทำร็อกอะฮ์ที่เท่าไรอยู่ เป็นต้น ...
2. บุคคลที่เกิดความสงสัย “เป็นประจำ” ในขณะทำอิบาดะฮ์หรือทำนมาซ ชนิดที่ว่า ทุกครั้งที่ทำนมาซจะต้องหาเรื่องสงสัยอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาจนกลายเป็นปกตินิสัย ...
3. ผู้ที่สงสัยหลังจากนมาซเสร็จสิ้นไปแล้วว่า ตนเองน่าจะบกพร่องบางสิ่งบางอย่างในการนมาซ เช่นสงสัยว่าอาจจะละทิ้งหรืออาจจะเพิ่มบางรุก่นของนมาซที่เสร็จสิ้นไปแล้ว เป็นต้น ...
ความสงสัยดังกล่าวนี้ จะไม่ส่งผลเสียใดๆต่อการนมาซของเขาที่ผ่านไป ยกเว้นถ้าเขาเกิดนึกขึ้นได้มาว่า ตนเองบกพร่องจริงๆในสิ่งที่เป็นความสงสัยนั้น ...
ในกรณีนี้ หากเขานึกได้ในระยะเวลาอันสั้น ก็ให้เขากลับไปทำสิ่งเป็นความบกพร่องนั้น แล้วทำนมาซต่อไปจนจบการให้สล่าม หลังจากนั้นก็ให้เขาสุญูดซะฮ์วี แล้วให้สล่ามอีกครั้งหนึ่ง ...
แต่ถ้าเขาสงสัยแล้วนึกได้ถึงความบกพร่องอันนั้นหลังจากเวลาผ่านไปนานแล้ว ก็ให้เขาทำนมาซนั้นใหม่ โดยไม่ต้องสุญูดซะฮ์วี ...
4. ผู้ที่ลืมการอ่านซิกรุ้ลลอฮ์ที่เป็นสุนัตของการนมาซ เช่น ลืมอ่านดุอาอิฟติตาห์,
ลืมอ่านตัสเบี๊ยะห์ในรุกั๊วะอฺหรือในสุญูด เป็นต้น ...
5. ผู้ที่อ่านดังในนมาซที่ต้องอ่านค่อย, หรืออ่านค่อยในนมาซที่ต้องอ่านดังเพราะลืม ...
6. ผู้ที่ลืมอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งแรกและยืนขึ้นเพื่อทำร็อกอะฮ์ที่ 3, แต่ยังไม่ทันยืนตรง ก็นึกขึ้นได้ว่า ตนเองยังไม่ได้อ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก ...
เมื่อนึกได้ ก็ให้เขารีบนั่งลงเพื่ออ่านตะชะฮ์ฮุดที่ลืมในทันที แล้วให้ทำนมาซต่อไปตามปกติโดยไม่ต้องสุญูดซะฮ์วี ตอนหลังแต่ประการใด ...
ท่านอัล-มุฆีเราะฮ์ บิน ชุอฺบะฮ์ ร.ฎ. ได้รายงานมาว่า ... ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
إِذَاقَامَ اْلإمَامُ فِى الرَّكْعَتَيْنِ، فَإِنَ ذَكَرَ قَبْلَ أَن يَّسْتَوِيَ قَائِمًا فَلْيَجْلِسْ، (وَلاَ سَهْوَ عَلَيْهِ) فَإِنِ اسْتَوَي قَائِمًا فَلاَ يَجْلِسْ، وَيَسْجُدُ سَجْدَتَىِ السَّهْوِ ...

“เมื่ออิหม่ามได้ยืนขึ้นในร็อกอะฮ์ที่สอง แล้วหากเขานึกได้ก่อนที่จะยืนตรง ก็ให้เขานั่งลง (โดยไม่ต้องสุญูดซะฮ์วี) .. แต่หากเขายืนตรงแล้ว ก็อย่าให้เขานั่งลง แต่ให้เขาสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง (ก่อนการให้สล่าม .. ดังที่ผ่านมาแล้วในหน้าที่ 3)” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 1036, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1208, ท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ เล่มที่ 1 หน้า 378, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 343, และท่านอะห์มัด เล่มที่ 4 หน้า 253, 253-254 .. สำนวนในที่นี้เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอบูดาวูด และข้อความในวงเล็บ เป็นข้อความจากการบันทึกของท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ในหนังสือ “ชัรฺหุ มะอานีย์ อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 1 หน้า 440) ...
สายรายงานของหะดีษข้างต้นนี้ เฎาะอีฟ, เพราะผู้รายงานท่านหนึ่งคือท่านญาบิรฺ อัล-ญุอฺฟีย์ เป็นผุ้รายงานที่เฎาะอีฟมาก ...
แต่หะดีษบทนี้ ยังมีผู้ที่รายงานมาสอดคล้องกันกับท่านญาบิรฺอีก 2 ท่าน คือ ท่านก็อยซ์ บิน รอเบี๊ยะอฺ และท่านอิบรอฮีม บิน อัฏ-ฏุฮ์มาน .. ดังการบันทึกของท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ในหนังสือ “ชัรฺหุ มะอานีย์ อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 1 หน้าที่ 440 ...
ท่านก็อยซ์ บิน รอเบี๊ยะอฺ เฎาะอีฟเพียงเล็กน้อย, แต่ท่านอิบรอฮีม บินอัฏ-ฏุฮ์มาน เป็นผุ้ที่เชื่อถือได้ (ثِقَةٌ) ...
ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว สถานภาพของหะดีษบทนี้ อย่างน้อยจึงเป็นหะดีษหะซันหรืออาจจะเป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ ดังการวิเคราะห์ของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ “อัศ-เศาะหี้หะฮ์” หะดีษที่ 321 ...
ด้วยเหตุนี้ ข้อเขียนของท่านเช็คศอและห์ บิน อุษัยมีน ในหนังสือ “สุญูดซะฮ์วี” ของท่านเกี่ยวกับประเด็นนี้ที่ว่า ----
“หากว่าเขา (ผู้นมาซ) นึกได้ -- (ว่าตนเองลืมอ่านตะชะฮ์ฮุดครั้งแรก) -- หลังจากลุกขึ้นยืน (จากร็อกอะฮ์ที่สอง) ไปแล้ว แต่ยังไม่ทันยืนตรง ก็ให้เขากลับไปนั่งลงอ่านตะชะฮ์ฮุด หลังจากนั้นก็ให้เขาทำนมาซต่อไปจนเสร็จแล้วให้สล่าม จากนั้น จึงสุญูดซะฮ์วี 2 ครั้ง แล้วให้สล่ามอีกทีหนึ่ง” ..
----- จึงน่าจะผิดพลาดและไม่ถูกต้อง เพราะทัศนะดังกล่าวนี้ ไปขัดแย้งกับข้อความของหะดีษบทนี้ที่ว่า (وَلاَسَهْوَعَلَيْهِ) (เขาไม่จำเป็นต้องสุญูดซะฮ์วี) .. ดังปรากฏในวงเล็บอันเป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอัฏ-เฏาะหาวีย์ ที่ผมคัดลอกมาให้ดูนั้น ...

วัลลอฮุ อะอฺลัม ...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น