อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มแนวคิด อัล-มะตูริดียะฮฺ


الماتريدية

อัล-มาตุรีดียะฮฺ คือ มุสลิมคณะหนึ่งที่นิยมอิลมุลกะลาม (วิชาวิภาษวิทยา) ซึ่งอุตริขึ้นมาในศาสนาอิสลาม สำนักคิดนี้ก่อตั้งโดยอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ สำนักคิดนี้มีการใช้หลักฐานและหลักฐานของการโต้แย้งทางด้านปัญญาและวิภาษวิทยาในการตอบโต้แนวคิดของอัล-มุอฺตะซิละฮฺ , แนวคิดอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ และแนวคิดอื่นๆ เพื่อพิสูจน์สัจธรรมและหลักการศรัทธาของศาสนาอิสลาม

การกำเนิดของแนวคิดและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ ได้มีวิวัฒนาการหลายช่วระดับเฉกเช่นกลุ่มแนวคิดวิภาษวิทยากลุ่มอื่นๆ ซึ่งแต่เดิมนั้น “อัล-มาตุรีดียะฮฺ” ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนมากนัก จนกระทั่งหลังการเสียชีวิตของผู้ก่อตั้ง ทำนองเดียวกับแนวคิดของอัล-อะชาอิเราะฮฺไม่เป็นที่รู้จักนอกจากหลังการเสียชีวิตของอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าแนวคิดกลุ่มนี้ได้ผ่านวิวัฒนาการมา 4 ยุคสมัย ดังนี้
1. ยุคของการเริ่มต้น (ปี ฮ.ศ. 333) ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่การโต้เถียงอภิปรายปัญหาต่างๆกับกลุ่มอัล-มุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งมีบุคคลที่โดดเด่นในยุคนี้คือ อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ท่านมีชื่อเต็มว่า มุหัมมัด บิน มุหัมมัด บิน มะหฺมูด อัล-มาตุรีดีย์ อัส-สะมัรก็อนดีย์
คำว่า “อัล-มาตุริดีย์” มาจากคำว่า “มาตุรีด” ซึ่งเป็นชื่อ หมู่บ้านหนึ่งใกล้กับเมืองสะมัรก็อนดฺ (Samarkand) ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน อบู มันศูรฺเกิดที่หมู่บ้านนี้และไม่ปรากฏวันเดือนปีเกิดของท่านอย่างชัดเจน และไม่มีการบันทึกชีวประวัติและเกร็ดชีวิตของท่านมากมายนัก แม้กระทั่งประวัติการศึกษาของท่านในวัยเยาว์และผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดก็ไม่มีการบันทึกหากมีการบันทึกก็มีจำนวนน้อยเท่านั้น เช่น ท่านนุศ็อยรฺ บิน ยะหฺยา อัล-บัลคีย์ เป็นต้น บ้างก็ว่าท่านชื่อ นัศรฺ ซึ่งอบู มันศูรฺ รับเอาฟิกฮฺในสายมัซฮับหะนะฟียฺและอิลมุลกะลามจากท่านผู้นี้
อบู มันศูรฺได้รับฉายานามจากผู้เจริญรอยตามแนวคิดของท่านว่า “อิมาม อัล-มะฮฺดีย์” และ “อิมามอัล-มุตะกัลลิมีน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนที่มีฐานะสูงส่งแค่ไหนในทัศนะของผู้ติดตามแนวคิดท่าน
อับดุลลอฮฺ อัล-มุรออีย์ กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-ฟัตหฺ อัล-มุบีน ฟี เฏาะบะกอต อัล-อุศูลิยีน (1/193-194)” ว่า “อบู มันศูรฺ เป็นผู้ที่มีความหนักแน่นเวลาโต้เถียง ท่านได้พิทักษ์ปกป้องหลักการเชื่อมั่นของชาวมุสลิม และโต้ตอบข้อคลุมเครือของพวกปฏิเสธพระเจ้า”
ชัยคฺ อบู อัล-หะสัน อัน-นัดวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ริญาล อัล-ฟิกรฺ วะ อัล-ดะอฺวะฮฺ” (หน้า 139) ว่า “อบูมันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ ท่านเป็นนักคิดที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านมีคุณลักษณะพิเศษ คือเป็นอัจฉริยบุคคล มีความรู้ในวิชาด้านต่างๆ” จะเห็นได้ว่าชัยคฺ อบู อัล-หะสัน อัน-นัดวีย์ ได้ให้ความสำคัญแก่อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์มากกว่าอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์เสียอีก ตามที่ปรากฏในหนังสือ ตารีค อัด-ดะอฺวะฮฺ วะ อัล-อะซีมะฮฺ (1/114-115)
อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้เห็นหรือร่วมสมัยกับยุคความขัดแย้งระหว่างอะฮฺลุลหะดีษ กับอะฮฺลุลกะลามจากกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺและกลุ่มอื่นๆ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายมุอฺตะซิละฮฺ แต่ว่าท่านอาจมีแนวทางที่แตกต่างจากแนวทางของ อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ อยู่บ้าง  แม้ว่าในหลายประเด็นทัศนะของท่านทั้งสองจะสอดคล้องกันก็ตาม แต่ในประวัติศาสตร์ไม่มีการบันทึกว่าบุคคลทั้งสองเคยพบเจอ หรือเคยติดต่อสื่อสารถึงกัน หรือเคยอ่านหนังสือของกันและกัน
อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 333 ร่างของท่านถูกฝัง ณ เมือง สะมัรก็อนดฺ ท่านมีผลงานทางวิชาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านวิชาฟิกฮฺ (ศาสนบัญญัติ) หรือวิชาตัฟสีรฺอัลกุรอาน(อรรถาธิบายอัลกุรอาน) เช่น หนังสือ ตะอ์วีลาต อะฮฺลิ อัส-สุนนะฮฺ หรือ ตะอ์วีลาต อัลกุรอาน หนังสือเล่มนี้ได้ทำการตะอ์วีล (ตีความ) โองการต่างๆ ในอัลกุรอาน ไม่ว่าจะเป็นโองการที่เกี่ยวข้องกับศิฟาต(คุณลักษณะ) ของอัลลอฮฺ ท่านได้ทำการตะอ์วีลเหมือนกับการตะอ์วีลของพวกอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ
หนังสือเกี่ยวกับวิภาษวิทยาของท่านมีชื่อว่า กิตาบ อัต-เตาฮีด ในหนังสือเล่มนี้ท่านได้ยอมรับทฤษฎีของพวกวิภาษวิทยา และได้ชี้แจงทัศนะของท่านเกี่ยวประเด็นปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกับหลักการเชื่อมั่น อัต-เตาฮีด ที่ผู้แต่งหมายถึงคือ เตาฮีด อัล-คอลิกิยะฮฺ , เตาฮีด อัร-รุบูบิยะฮฺ และบางส่วนจากเตาฮีด อัล-อัสมาอ์ วะ อัศ-ศิฟาต แต่ทว่าเป็นหลักการเชื่อมั่นตามแนวทางของอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ ที่ปฏิเสธส่วนมากจากคุณลักษณะของอัลลอฮฺด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้เกิดความบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺและปฏิเสธการเสมอเหมือนระหว่างคุณลักษณะของอัลลอฮฺกับคุณลักษณะของสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง มีบางคนกล่าวว่าท่านได้แต่งหนังสืออธิบายหลักการเชื่อมั่นของอิมามอบู หะนีฟะฮ ชื่อหนังสือว่า ชัรหฺ กิตาบ อัล-ฟิกฮฺ อัล-อักบัรฺ นอกจากนี้ท่านได้แต่งหนังสือตอบโต้กลุ่มมุอฺตะซิละฮฺ , หนังสือตอบโต้กลุ่มอัร-รอฟิเฎาะฮฺ และหนังสือตอบโต้กลุ่มอัล-เกาะรอมิเฏาะฮฺ

2. ยุคการก่อตั้ง (ฮ.ศ. 333 – 500) เป็นช่วงที่สานุศิษย์ของอัล-มาตุรีดีย์ และผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากท่านเริ่มเผยแพร่แนวคิดนี้ ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่กลุ่มวิภาษวิทยาถือกำเนิดขึ้นในเมืองสะมัรก็อนดฺเป็นครั้งแรก จากนั้นมีการเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างแพร่หลาย ตลอดจนถึงการแต่งตำราเพื่อสนับสนุนปกป้องแนวคิดนี้ โดยยึดวิชาฟิกฮฺตามมัซฮับ หะนะฟีย์เป็นหลัก จึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนในเมืองนี้และเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงอย่างมาก ปราชญ์ที่มีความโดดเด่นในยุคนี้คือ อบู อัล-กอสิม อิสหาก บิน มุหัมมัด บิน อิสมาอีล อัล-หะกีม อัส-สะมัรก็อนดีย์ ฮ.ศ.342 ท่านมีปรัชญาคำสอนมากมาย และอีกท่านหนึ่งคือ อบู มุหัมมัด อับดุลกะรีม บิน มูซา บิน อีซา อัล-บัซดะวีย์ (ฮ.ศ. 390)
จากนั้นเป็นการเริ่มเข้าสู่ยุคต่อไป ซึ่งเป็นยุคต่อเนื่องจากยุคที่ผ่านมา โดยมีปราชญ์ที่โดดเด่นดังนี้


บุคคลสำคัญของแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ
อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์ ( ฮ.ศ. 421-493) ท่านมีชื่อเต็มว่า มุหัมมัด บิน มุหัมมัด บิน อัล-หุสัยนฺ บิน อับดุลกะรีม  คำว่า อัล-บัซดะวีย์ มาจากคำว่า บัซดะวะฮฺ หรือ บัซดะฮฺ ท่านมีฉายานามว่า อัล-กอฎีย์ อัศ-ศ็อดรฺ ท่านเป็นปราชญ์คนหนึ่งในมัซฮับ หะนะฟีย์ รองจากพี่ชายของท่าน อะลีย์ อัล-บัซดะวีย์ ท่านเกิดเมื่อปี ฮ.ศ. 421
ท่านได้ศึกษาความรู้จากบิดา ซึ่งรับการศึกษามาจากปู่ของท่าน  ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านอบู  มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ท่านได้ศึกษาตำราปรัชญาต่าง เช่นตำราของอัล-กินดีย์ ศึกษาตำราของมุอฺตะซิละฮฺ เช่น ตำราของอัล-ญุบบาอีย์ , อัล-กะอฺบีย์ และ อัน-นัซซอม เป็นต้น ท่านได้กล่าวถึงตำราเหล่านั้นว่า ไม่อนุญาตให้ถือและอ่านตำราเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงใจ และดูหมิ่นต่อหลักการศรัทธา แต่ท่านก็ไม่เห็นด้วยจะไปกล่าวคนที่ยึดถือตำราเหล่านั้นเป็นสิ่งอุตริกรรม นอกจากนี้ท่านได้ศึกษาตำราของอบู  หะซัน อัล-อัชอะรีย์ อย่างล้ำลึก จนท่านกล่าวว่าอนุญาตให้อ่านตำราของอัล-อัชอะรีย์ได้หลังจากที่ผู้อ่านรู้ว่ามีประเด็นไหนบ้างที่บกพร่อง ท่านยังศึกษาตำราสองเล่มของอบู มันศูรฺ อัล-มะตุรีดีย์ คือ ตำรา อัต-ตะวีลาต และ อัต-เตาฮีด แล้วท่านพบว่าตำรา อัต-เตาฮีดนั้นมีเนื้อหาที่ยาว และการเรียบเรียงค่อนข้างยาก ดังนั้นท่านจึงได้ทำการเรียบเรียงใหม่เพื่อให้ตำรามีความง่ายขึ้น นอกจากนี้ท่านยังเพิ่มเติมประเด็นต่างๆ ไว้อีกด้วยในหนังสือที่ชื่อว่า อุศูลลุดดีน
อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์ มีลูกศิษย์มากมายที่มาเล่าเรียนหาความรู้จากท่าน เช่น บุตรชายของท่านเอง มีชื่อว่า อัล-กอฎีย์ อบู อัล-มะอานีย์ อะหฺมัด , นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ บิน มุหัมมัด อัน-นะสะฟีย์ เจ้าของตำรา อัล-อะกออิด อัล-นะสะฟียะฮฺ และคนอื่นๆ อีกมากมาย อบู อัล-ยุสรฺ เสียชีวิต ณ เมืองบุคอรอ ในวันที่ 9 เดือน เราะญับ ปี ฮ.ศ. 493

3. ยุคแห่งการแต่งตำราและวางรากฐานหลักการเชื่อมั่นของอัล-มาตุรีดียะฮฺ (ฮ.ศ. 500-700) ในยุคนี้มีความโดดเด่นเฉพาะคือมีการแต่งตำราตลอดจนรวบรวมหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับหลักการเชื่อมั่นตามแนวคิดของอัล-มาตุรีดียะฮฺ ด้วยเหตุนี้ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติของอัล-มาตุรีดียะฮฺ เนื่องจากมีการวางรากฐานของแนวคิดหรือหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดียะฮฺ ในยุคนี้มีบุคคลที่โดดเด่นดังต่อไปนี้
อบู อัล-มะอีน อัน-นะสะฟีย์ (ฮ.ศ. 438-508) ท่านมีชื่อเต็มว่า มัยมูน บิน มุหัมมัด บิน มุอฺตะมัด อัน-นะสะฟีย์ อัล-มักหูลีย์ คำว่า อัน-นะสะฟีย์ มาจากคำว่า นะสัฟ คือชื่อเมืองใหญ่เมืองหนึ่งตั้งอยู่ระหว่าง ญัยหูน และ สะมัรก็อนดฺ สำหรับ อัล-มักหูลีย์ มาจากชื่อปู่ของเขา แต่ส่วนมากจะรู้จักชื่อของท่านด้วยการพ่วงท้ายชื่อเมือง คือ อัน-นะสะฟีย์มากกว่า ท่านมีฉายานามมากมาย เช่น สัยฟุล หักก์ วัดดีน นับว่าท่านเป็นปราชญ์แห่งสำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺที่โดดเด่นท่านหนึ่ง แต่ผู้ที่บันทึกชีวประวัติของท่านไม่ได้กล่าวถึงคณาจารย์ของท่านและการศึกษาหาความรู้ของท่านมากนัก ดร.ฟัตหุลลอฮฺ เคาะลีฟ กล่าวว่า นับว่าท่านอบู อัล-มะอีน อัล-นะสะฟีย์ เป็นผู้ที่รับใช้สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ เขาอยู่ในแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺเหมือนกับอัล-บากิลลานีย์ และเหมือนอัล-เฆาะซาลีย์ในแนวคิด อัล-อะชาอิเราะฮฺ ส่วนตำราที่สำคัญของท่านคือ ตับศิเราะฮฺ อัล-อะดิลละฮฺ ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญในการจะรู้จักแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ รองจากหนังสือ อัต-เตาฮีด ของอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ และยังถือว่าเป็นหนังสืออ้างอิงที่เนื้อหากว้างขวางมากกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ นอกจากนี้ท่านได้ย่อหนังสือเล่มนี้ลงในหนังสือของท่านแต่งเอง คือหนังสือ อัต-ตัมฮีด และท่านยังแต่งตำราชื่อว่า บะหฺรุลกะลาม ซึ่งเป็นหนังสือฉบับกระทัดรัดกล่าวถึงประเด็นต่างๆของอิลมุลกะลาม (วิภาษวิทยา) ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เดือนซุลหิจญะฮฺ  ฮ.ศ. 508 ท่านมีสิริอายุรวม 70 ปี
นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ อัน-นะสะฟีย์ (ฮ.ศ. 462-537) ท่านมีชื่อเต็มว่า อบู หัฟศฺ นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ บิน มุหัมมัด บิน อะหฺมัด บิน อิสมาอีล อัล-หะนะฟีย์ อัน-นะสะฟีย์ อัส-สะมัรก็อนดีย์ ท่านมีฉายานามมากมาย แต่ที่โดดเด่นคือ นัจญ์มุดดีน ท่านเกิดที่เมือง นะสัฟ ปี ฮ.ศ. 462 ท่านเป็นผู้ที่มีอาจารย์มากมายถึง 500 คน อาทิเช่น อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์, อับดุลลอฮฺ บิน อะลีย์ บิน อีซา อัน-นะสะฟีย์ เป็นต้น ท่านมีลูกศิษย์ที่มาเล่าเรียนตักตวงความรู้จากท่านมากมายเช่นกัน นอกจากนี้ท่านได้แต่งตำรามากมาย ประมาณ 100 กว่าเล่ม เช่น หนังสือมุญัมมะอฺ อัล-อุลูม, หนังสืออัต-ตัยสีรฺ ฟี ตัฟสีรฺ อัลกุรอาน, หนังสืออัน-นะญาหฺ ฟี ชัรหฺ กิตาบ อัคบาร  อัศ-ศิหาหฺ, หนังสืออัล-อะกออิด ซึ่งรู้จักกันในชื่อ อะกออิด อัน-นะสะฟียะฮฺ ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือแม่บทที่สำคัญเกี่ยวของกับหลักการเชื่อมั่นตามแนวทางของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เป็นหนังสือฉบับย่อจากหนังสือ ตับศิเราะฮฺ อัล-อะดิลละฮฺ ของอบู อัล-มะอีน อัน-นะสะฟีย์
อัส-สัมอานีย์ ได้กล่าวยกย่องท่านว่า “ท่านเป็นผู้นำที่ทรงเกียรติ มีความปราดเปรื่อง ท่านได้แต่งตำรามากมายเกี่ยวกับตัฟสีรฺ และอัล-หะดีษ ...ครั้นเมื่อฉันได้มาเยือนเมืองสะมัรก็อนดฺ ฉันได้ยืมตำรางานเขียนของท่านหลายเล่มและพบว่ามีข้อคลุมเครือมากมายในหนังสือที่ท่านแต่งจนเลยขอบเขต ดังนั้น ฉันจึงรู้ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบวิชาหะดีษ แต่ท่านไม่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺให้เข้าใจในวิชานี้”
ท่านเสียชีวิต ณ เมือง สะมัรก็อนดฺ คืนวันพฤหัสบดี วันที่ 12 เดือน ญุมาดัลเอาวัล ฮ.ศ. 537

4. ยุคการเผยแพร่แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ (ฮ.ศ.700-1300) ยุคนี้นับได้ว่าเป็นยุคที่สำคัญอีกยุคหนึ่งของแนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เนื่องจากแนวคิดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ ทั้งนี้เพราะได้รับแรงหนุนจากบรรดาสุลต่านราชวงค์อุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) จึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺขจรขจายไปทั่วแคว้นในอาณาจักรออตโตมาน ทั้งเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ประเทศอาหรับ อินเดีย ตุรกี และโรม ในยุคนี้มีบุคคลที่โดดเด่น คือ อัล-กะมาล บิน อัล-ฮัมมาม ผู้แต่งหนังสือ อัล-มุสายะเราะฮฺ ฟี อัล-อะกออิด อัล-มันญุยะฮฺ ฟี อัล-อาคิเราะฮฺ ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้สอนอยู่ในบางมหาวิทยาลัยอิสลามในปัจจุบัน
ในยุคนี้มีการแต่งตำรามากมายเกี่ยวกับวิชาวิภาษวิทยา ไม่ว่าจะเป็นมะตัน(ตัวบท) หรือหนังสืออธิบายตัวบทต่างๆ หนังสือที่มาเพิ่มเติมคำอธิบาย และเล่มที่อธิบายปลีกย่อยอีกมากมาย

ปัจจุบันในชมพูทวีปยังมีหลายสำนักที่ยังคงเผยแพร่แนวคิดของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เช่นสำนักต่อไปนี้
1. สำนักดิวบันด์ และอัน-นัดวียะฮฺ (ฮ.ศ. 1283) สำนักนี้ให้ความสำคัญกับการแต่งตำราหะดีษ และอธิบายหะดีษ สำนักดิวบันดิยะฮฺ คือผู้นำด้านวิชาการอัลกุรอาน อัล-หะดีษ และเหตุผลทางปัญญา นอกจากนั้นแล้วพวกเขาคือ นิยมแนวคิดศูฟีย์ ในหมู่พวกเขามีอุตริกรรมเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นลัทธิบูชากุบูรฺ (หลุมฝังศพ) ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีการกล่าวถึงในหนังสือของพวกเขาเอง “อัล-มุฮันนัด อะลา อัล-มุฟันนัด” แต่งโดย ชัยคฺ เคาะลีล อะหฺมัด อัส-สะฮารันฟูรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของสำนักนี้ และหนังสือนี้ถือว่าเป็นหนังสืออ้างอิงสำคัญด้านอะกีดะฮฺของสำนักดิวบันดิยะฮฺ และเช่นเดียวกัน สำนักอัน-นัดวิยะฮฺ ก็มีแนวคิดคล้ายคลึงกับดิวบันดิยะฮฺ ซึ่งยึดหลักตามอัล-มาตุรีดิยะฮฺ
3. สำนักอัล-บัรเลวีย์ (ฮ.ศ. 1272) เป็นสำนักที่พาดพิงไปยังผู้นำของพวกเขา ที่ชื่อ อะหฺมัด ริฎอ ข่าน อัล-อัฟฆอนีย์ สังกัดมัซฮับ อัล-หะนะฟีย์ ด้านวิชาฟิกฮฺ และสังกัดอัล-มาตุรีดิยะฮฺด้านหลักศรัทธา เป็นศูฟีย์ ได้รับฉายานามว่า “อับดุลมุศเฏาะฟา-บ่าวของท่านนบี” (ฮ.ศ.1340) ในยุคนี้ปรากฏขึ้นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺอย่างชัดแจ้ง กลุ่มนี้จะต่อต้านแนวคิดของดิวบันดิยะฮฺอย่างมาก และกล่าวหาว่ากลุ่มดิวบันดิยะฮฺและอะฮลุซซุนนะฮฺเป็นพวกปฏิเสธศรัทธา
3. สำนักอัล-เกาษะรีย์ (ฮ.ศ. 1296) เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยชัยคฺมุหัมมัด ซาฮิด อัล-เกาษะรีย์ อัล-ญัรกะสีย์  สังกัดมัซฮับ อัล-หะนะฟีย์ ด้านวิชาฟิกฮฺ และสังกัดอัล-มาตุรีดิยะฮฺด้านหลักศรัทธา (ฮ.ศ. 1371) กลุ่มนี้จะกล่าวเท็จต่อนักปราชญ์มุสลิมหลายท่าน ตลอดจนถึงการสาปแช่งประณามปราชญ์มุสลิมอันทรงเกียรติ กลุ่มนี้ยังกล่าวหาพวกเขาเหล่านั้นว่าเป็นพวกมุญัสสิมะฮฺ และมุชับบิฮะฮฺ พวกเขาถือว่าหนังสือตำราต่างๆ ที่แต่งโดยปราชญ์ชาวสะลัฟ เช่น หนังสือ อัต-เตาฮีด หนังสืออัล-อิบานะฮฺ หนังสืออัช-ชะรีอะฮฺ หนังสืออัศ-ศิฟาต หนังสืออัล-อุลูว์ และหนังสืออื่นๆของชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺนั้นเป็นตำราเจว็ด ที่กล่าวว่าอัลลอฮฺมีรูปร่างเหมือนสิ่งที่ถูกสร้างและมีการเปรียบเทียบอัลลอฮฺกับมัคลูก ในกลุ่มนี้ยังปรากฏชัดการเชิญชวนสู่อุตริกรรม และการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ มีการเทิดทูนบูชาหลุมฝังศพ ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการ “ตะวัสสุล-นำเป็นสื่อกลาง” เรื่องเหล่านี้สามารถสังเกตได้จากคำอธิบายและความเห็นของอัล-เกาษะรีย์ที่ได้เขียนแสดงไว้ต่อหนังสือ อัล-อัสมาอ์ วะ อัศ-ศิฟาต ของอัล-บัยฮะกีย์ และในหนังสือ มะกอลาต ที่อัล-เกาษะรีย์แต่งขึ้นมาเอง

แนวความคิดและหลักการเชื่อมั่นที่สำคัญของอัล-มาตุรีดียะฮฺ
ที่มาของความรู้ศาสนาตามแนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ แบ่งออกเป็นสองแหล่ง ดังต่อไปนี้
1. อัล-อิลาฮียาต (หลักฐานทางปัญญา) คือ การที่ปัญญามีความเชื่อโดยเอกเทศ ส่วนหลักฐานต่างๆ นั้นตามมาภายหลัง ซึ่งรวมถึง ประเด็นต่างๆ ของอัต-เตาฮีดและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ
2. อัช-ชัรอียาต (หลักฐานทางตัวบท) คือ สิ่งที่ปัญญาจำเป็นต้องเชื่อตามไม่ว่าในทางยืนยันหรือปฏิเสธ ซึ่งปัญญาไม่สามารถเข้าถึงเรื่องเหล่านี้เองได้ เช่น อัน-นุบุวาต(การเป็นนบี-ศาสนทูต), การลงโทษในหลุมฝังศพ, และเรื่องราวในวันอาคิเราะฮฺ บางคนนั้นยังถือว่าเรื่อง อัน-นุบุวาต ก็เป็นเรื่องอักลิยาต (ปัญญา) ด้วยเช่นกัน
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าประการเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ซึ่งยึดถือว่า อัลกุรอาน สุนนะฮฺ และคำพูดของเศาะหาบะฮฺ คือแหล่งที่มาหลักของศาสนา
นอกจากนี้อุตริกรรมอีกประการของอัล-มาตุรีดิยะฮฺก็คือการจำแนกอุศูลุดดีน(หลักศาสนา) เป็น 2 ประเภท คือ อักลิยาตและสัมอิยาต ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักปรัชญา ที่เชื่อว่า หลักฐานของศาสนาขัดแย้งกับปัญญาของมนุษย์ ดังนั้น พวกเขาจึงพยามยามจะผสานระหว่างปัญญากับหลักฐานของศาสนา ถึงขั้นใช้ปัญญาในทางที่ไม่ควรที่จะหาคำตอบด้วยปัญญา จึงทำให้ได้กฎต่างๆ ที่โมฆะขัดแย้งกับบทบัญญัติของศาสนา จนบางครั้งพวกเขาต้องหันไปใช้วิธีการตะอ์วีล (ตีความให้ผิดแผกจากความหมายเดิม) บางครั้งใช้วิธีการตัฟวีฎ (ไม่แสดงความเห็นในเรื่องความหมาย) ในขณะที่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ เชื่อว่า ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างปัญญาที่สมบูรณ์กับหลักฐานที่เศาะฮีหฺ (ถูกต้อง)
จากการจำแนกหลักศาสนาข้างต้น จะเห็นว่าจุดยืนของพวกเขาต่อตัวบทหลักฐานศาสนาในประเด็นอัล-อิลาฮิยาต หรือ อัล-อักลิยาต มีดังนี้
 - หากเป็นหลักฐานจากอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺที่มุตะวาติรฺ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เด็ดขาดแน่นอนและจำเป็นต้องรับรู้อย่างมั่นใจ (ก็อฏอีย์) ตามทัศนะของพวกเขา กล่าวคือ ปัญญาสามารถรับรู้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขาแต่อย่างใด ดังนั้นพวกเขาจึงนำหลักฐานนี้มายืนยันในหลักการเชื่อมั่นของพวกเขา หากหลักฐานนั้นเป็นหลักฐานที่เป็นเรื่องที่รับรู้อย่างซ็อนนีย์ (สงสัย) ซึ่งหมายถึง หลักฐานนั้นขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขา ก็จะมีการตีความหลักฐานนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลทางปัญญา หรือพวกเขาจะตัฟวีฎ (มอบหมาย) ความหมายเหล่านั้นว่าอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงรู้ถึงความหมายที่แท้จริง พวกเขามีความสับสนอย่างมากในประเด็นนี้ และไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนสำหรับพวกเขา บางคนให้ความสำคัญกับการตีความมากกว่าการมอบหมายความหมายแด่อัลลอฮฺ ในขณะที่บางคนให้ความสำคัญกับการมอบหมายความหมายมากกว่าการตีความ และบางคนถือว่าใช้ได้ทั้งสองกรณี นอกจากนี้บางคนเห็นว่าการตีความนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะกับบรรดาผู้รู้หรือปราชญ์เท่านั้น ส่วนการตัฟวีฎ-มอบหมายความหมายจะเหมาะสมกับผู้คนทั่วไป
จะสังเกตเห็นว่า การตะอ์วีล (ตีความตัวบทให้มีความหมายเป็นอย่างอื่น) นั้นไม่เคยปรากฏในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือในยุคแรกเริ่มของอิสลาม แท้จริงการตะอ์วีล เป็นอุตริกรรมที่จากพวกยิวและคริสเตียน ที่เข้ามาครอบงำความคิดของพวกญะฮฺมียะฮฺ และมุอฺตะซิละฮฺ การตะอ์วีลนั้นส่งผลให้เกิดอุตริกรรมต่างๆ นานาในอิสลามจนถึงขั้นทำให้ประชาชาติอิสลามแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ  ดังนั้น การตะอ์วีลถือว่าอันตรายยิ่งกว่าการตะอฺฏีล (ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺ) เพราะการตะอ์วีลนั้นจะส่งผลให้เกิดการตัชบีฮฺ (เปรียบเทียบคุณลักษณะของอัลลอฮฺกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง) การตะอฺฏีล และการกล่าวหาว่าท่านเราะสูลนั้นเป็นผู้ไม่มีความรู้ หรือปกปิดความรู้ที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมา
ทัศนะตัฟวีฎนั้นถือว่าเป็นทัศนะที่เลวร้ายที่สุดของพวกอุตริในศาสนา เนื่องจากการตัฟวีฎนั้นขัดแย้งกับหลักฐานที่เกี่ยวกับการใคร่ครวญในความหมายของอัลกุรอาน และเป็นทัศนะที่พยายามยัดเยียดว่าบรรดานบีหรือศาสนทูตเป็นผู้ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับอัลลอฮฺเลย
ส่วนหะดีษประเภทอาหาด (หะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนน้อยไม่ถึงขั้นมุตะวาติรฺ) พวกเขาถือว่า หะดีษนั้นให้ประโยชน์เฉพาะเฉพาะการรับรู้อย่างซ็อนนีย์ (สงสัยว่าเป็นหะดีษที่พาดพิงถึงท่านนบีหรือไม่) ไม่ได้ให้ประโยชน์เป็นความรู้ที่แน่นอนชัดเจน (ก็อฏอีย์) แต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่สามารถนำหะดีษประเภทนี้มาใช้ปฏิบัติได้ในศาสนบัญญัติตามหลักวิชาอูศูลุลฟิกฮฺ หรือหลักศาสนบัญญัติที่พวกเขาได้วางเกณฑ์ไว้ ส่วนในเรื่องหลักศรัทธาพวกเขาจะไม่นำหะดีษประเภทอาหาดมาอ้างอิงเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะมีเงื่อนไขครบถ้วนตามหลักวิชาฟิกฮฺแล้วก็ตาม ส่วนเมื่อหะดีษอาหาดไปขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขา และไม่สามารถที่จะตีความความหมายของหะดีษนั้นเป็นอย่างอื่น พวกเขาจะตำหนิที่ผู้รายงานหะดีษว่าเป็นผู้หลงลืม หรือสับสน ทั้งๆ ที่ความหมายผิวเผินไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาประสงค์ นี่คือจุดยืนของพวกอัล-มาตุรีดียะฮฺทั้งในยุคก่อนและในยุคปัจจุบัน จนถึงขั้นที่ว่าอัล-เกาษะรีย์และพรรคพวกของเขาในสำนักอัด-ดิวบันดิยะฮฺ ตำหนิใส่ไคล้ตำราหะดีษของปวงปราชญ์หะดีษ รวมถึงตำราหะดีษของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม ตลอดจนตำหนิหลักการเชื่อมั่นของผู้นำชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ เช่น ท่านหัมมาด บิน สะละมะฮฺ ผู้รายงานหะดีษต่างๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะของอัลลอฮฺ  ท่านอิมามอัด-ดาริมีย์ เจ้าของตำราอัส-สุนัน ทั้งมวลนั้นเป็นทัศนะของพวกอุตริในศาสนา ซึ่งคิดขึ้นโดยพวกเกาะดะริยะฮฺ และมุอฺตะซิละฮฺ เนื่องจากหะดีษต่างๆ ได้ชี้ชัดว่าพวกเขานั้นมีจุดยืนขัดแย้งกับการกระทำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยสิ้นเชิง เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยส่งเศาะหาบะฮฺตัวคนเดียวเป็นทูตเพื่อไปเชิญชวนสู่อิสลาม ณ ต่างแดน อีกทั้งการแบ่งหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ออกเป็นหะดีษมุตะวาติรฺและหะดีษอาหาดนั้นไม่เป็นที่รู้จักในยุคของเศาะหาบะฮฺและอัต-ตาบิอีนแต่ประการใด
- แนวคิดของพวกเขา ส่งผลให้มีกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่าจำเป็นต้องรู้จักอัลลอฮฺด้วยปัญญาก่อนที่จะรู้จักอัลลอฮฺด้วยการรับฟังหลักฐานจากตัวบท พวกเขาถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับแรกสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ และอัลลอฮฺทรงไม่ละเว้นการลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์ แม้ว่าเขาผู้นั้นจะอยู่ในยุคช่วงที่ไม่มีนบีหรือเราะสูล ทัศนะนี้สอดคล้องกับทัศนะของพวกมุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งเป็นทัศนะที่โมฆะอย่างชัดเจน เนื่องจากขัดแย้งกับตัวบทหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺที่อธิบายว่าการรู้จักอัลลอฮฺนั้นจำเป็นด้วยปัญญาและตำหนิผู้ที่ไม่ยอมรู้จักอัลลอฮฺ แต่ว่าการลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ศรัทธานั้นจะไม่ลงโทษนอกจากจะมีศาสนามาถึงตัวเขาเสียก่อน ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَمَا كُنَّا مُعَذِّبِينَ حَتَّىٰ نَبۡعَثَ رَسُولٗا ١٥ ﴾ [الإسراء: ١٥]
ความว่า “ และเรามิเคยลงโทษผู้ใด จนกว่าเราจะแต่งตั้งศาสนทูตมา” (อัล-อิสรออ์ : 15 )

ที่ถูกต้องจริงๆ ก็คือ สิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติและถือว่าด้วยประการนี้แหละที่ทำให้เขาผู้นั้นเป็นมุสลิมได้ ก็คือการกล่าวปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺและมุหัมมัดนั้นคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ ตลอดจนถึงการประกาศตัดขาดจากทุกศาสนาที่ขัดกับศาสนาอิสลาม เรื่องนี้ดังที่ท่านเราะสูลเคยส่งท่านมุอาซฺ บิน ญะบัล ไปยังประเทศยะมัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มิได้สั่งให้มุอาซฺ กระทำสิ่งใดนอกจากเชิญชวนในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น เช่นเดียวกับบรรดานบีคนก่อนๆ พวกเขามิได้เชิญชวนประชาชาติของพวกเขาสู่อื่นใดนอกจากด้วยคำกล่าวที่ว่า
﴿ٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ مَا لَكُم مِّنۡ إِلَٰهٍ غَيۡرُهُۥٓ ﴾ [الأعراف: ٥٩]
ความว่า “จงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด ไม่มีพระเจ้าผู้คู่ควรแก่การเคารพสักการะใดๆ สำหรับพวกท่านอีกแล้วอื่นจากพระองค์” (อัล-อะอฺรอฟ :59)

สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ มีทัศนะว่า ปัญญาของคนนั้นสามารถกำหนดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีและสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่พวกเขามีความขัดแย้งในประเด็นกฎของอัลลอฮฺต่อปัญญาที่สามารถจำแนกระหว่างสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลว โดยพวกเขาบางคนกล่าวว่า แท้จริงบ่าวจะถูกลงโทษตามการกระทำที่เลวทรามของเขาแม้ว่าไม่มีสาส์นหรือคำสอนของศาสนทูตมายังเขาก็ตาม ในที่ขณะที่บ้างคนมีความเห็นตรงข้ามกับทัศนะข้างต้น
สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺมีทัศนะเช่นเดียวกับพวกวิภาษวิทยานิยมกลุ่มอื่นๆ คือ พวกเขาเชื่อว่า คำมะญาซฺ (คำอ้อม) นั้นมีอยู่จริงในภาษาอาหรับ ทั้งในอัลกุรอานและอัล-หะดีษ มะญาซฺ(คำอ้อม) ในที่นี้พวกเขาหมายถึง คำที่มีความหมายเป็นอย่างอื่นจากความหมายที่ถูกวางไว้หรือความหมายเดิม ในทัศนะของพวกเขาแล้วมะญาซฺนั้นเป็นประเภทเดียวกันกับคำพูดที่เป็นความจริง ดังนั้น พวกเขาจึงยึดถือมะญาซฺในการตีความหลักฐานต่างๆ ของศาสนาโดยอ้างว่าการตะอ์วีลนั้นสามารถป้องกันไม่ให้เข้าใจว่าอัลลอฮฺนั้นมีรูปร่างร่างกาย หรือเปรียบเทียบอัลลอฮฺกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง นี่เป็นทัศนะที่เข้าข่ายอุตริ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในด้านภาษาและศาสนบัญญัติ บรรดาปราชญ์ด้านภาษาอาหรับยุคก่อน เช่น อัล-เคาะลีล บิน อะหฺมัด หรือ สีบาวัยฮฺ ไม่เคยกล่าวเช่นนั้นเลย ซึ่งไม่นับรวมความเห็นของนักปราชญ์วิชาฟิกฮฺ หรืออุศูลุลฟิกฮฺ ต่างเห็นต่างกับแนวคิดเรื่องมะญาซฺ(ในความหมายที่พวกมาตุรีดียะฮฺหมายถึง)
- ความหมายของอัต-เตาฮีด ตามทัศนะของอัล-มาตุรีดียะฮฺ คือ การยืนยันว่าอัลลอฮฺทรงเอกะใน ซาต(อาตมัน)ของพระองค์เอง ไม่มีสาขา หรือส่วนย่อยออกมาจากพระองค์ พระองค์ทรงเอกะในคุณลักษณะโดยไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน เอกะในการกระทำของพระองค์ ไม่มีผู้ใดมีภาคีในการสร้าง สรรพสิ่งต่างๆ ดังนั้นกลุ่มอัล-มาตุรีดียะฮฺพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อยืนยันอัต-เตาฮีดประเภทนี้ ด้วยทัศนะที่ว่า อัลลอฮฺนั้น คือ ผู้ทรงอานุภาพในการสร้าง โดยนำหลักฐานต่างๆ มาอ้างอิงไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางปัญญา ตรรกะวิทยาที่มาจากพวกมุอฺตะซิละฮฺและญะฮฺมิยะฮฺ เช่น เหตุผลการเกิดขึ้นของวัตถุและสสาร อันเป็นหลักฐานที่ปราชญ์ชาวสะลัฟวิพากษ์ และได้ชี้แจงโต้ตอบพวกเขาว่า หลักฐานการมีอยู่ของอัลลอฮฺจากอัลกุรอานนั้นชัดเจนและถูกต้องกว่า ในประเด็นนี้อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ได้ชี้แจงในหนังสือของท่าน “ริสาละฮฺ อิลา อะฮฺลิ อัษ-ษะฆ็อรฺ” อิบนุ รุชดฺในหนังสือ “มะนาฮิจญ์ อัล-อะดิลละฮฺ” และชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ในหนังสือ “ดัรอุ ตะอารุฎ อัล-อักลฺ วันนักลฺ” และอีกประเด็นหนึ่งที่อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะขัดแย้งกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ คือ พวกเขาได้จัดประเภทอัต-เตาฮีด อัร-รุบูบิยะฮฺ อยู่ในประเภทเดียวกับอัต-เตาฮีด อัล-อุลูฮิยะฮฺ ดังนั้น คำว่า อิลาฮฺ (พระผู้เป็นเจ้า) ตามทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ คือ พระผู้ทรงควรเคารพสักการะเพียงองค์เดียวเท่านั้นไม่มีการตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์ และการที่พระองค์ส่งศาสนทูตมายังมนุษยชาตินั้นก็เพื่อยืนยันในความเป็นพระเจ้าของพระองค์ และเชิญชวนมวลมนุษยชาติสู่การให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺทั้งในด้านอัร-รุบูบิยะฮฺ ด้านอัล-อุลูฮิยะฮฺ และด้านพระนาม/คุณลักษณะของพระองค์
อัล-มาตุรีดิยะฮฺยืนยันว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นทรงมีพระนามอันวิจิตร พวกเขากล่าวว่า ไม่มีการเรียกพระนามของอัลลอฮฺนอกจากพระนามที่พระองค์ทรงเรียกขานพระองค์เองในอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺ เท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้อัล-มาตุรีดียะฮฺมีความเห็นพ้องกับทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาได้ตั้งพระนามแด่อัลลอฮฺขึ้นมาเอง เช่น อัศ-ศอนิอฺ  อัล-เกาะดีม และอัซ-ซาต เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขามิได้จำแนกระหว่างการบอกเล่าเกี่ยวกับอัลลอฮฺกับการตั้งพระนามให้แด่พระองค์
อัล-มาตุรีดียะฮฺยืนยันคุณลักษณะของอัลลอฮฺเพียง 8 คุณลักษณะเท่านั้น คือ อัล-หะยาฮฺ(ทรงมีชีวิต), อัล-กุดเราะฮฺ (ทรงเดชานุภาพ), อัล-อิลมฺ (ทรงรอบรู้), อัล-อิรอดะฮฺ (ทรงเจตนา), อัส-สัมอฺ (ทรงได้ยิน), อัล-บะศ็อรฺ(ทรงมองเห็น) , อัล-กะลาม (ทรงพูด), อัต-ตักวีน (ทรงสร้าง)  และการกระทำของพระองค์ทุกอย่างนั้นอยู่ในประเภทคุณลักษณะอัต-ตักวีน ส่วนคุณลักษณะอื่นๆ ที่ระบุในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ นั้นคือ ศิฟาต เคาะบะริยะฮฺ (คุณลักษณะของอัลลอฮฺที่ไม่สามารถรู้ได้เองด้วยสติปัญญา แต่รู้ได้ด้วยบทบัญญัติ) และศิฟาต ซาติยะฮฺ(คุณลักษณะที่ผูกพันกับอาตมัน) หรือ ศิฟาต ฟิอฺลิยะฮฺ(คุณลักษณะที่ผูกพันกับการกระทำ)นั้นไม่อยู่ในกรอบของปัญญาที่จะรับรู้ได้ ดังนั้น พวกเขาจึงปฏิเสธคุณลักษณะดังกล่าว ส่วนอะฮฺลุซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ยึดถือในประเด็นของพระนามของอัลลอฮฺ เฉกเช่นเดียวกับการยึดถือในประเด็นของคุณลักษณะของพระองค์ ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองประการนี้มาจากอัลลอฮฺและเราะสูล จำเป็นต้องเชื่อมั่นและยืนยันตาม โดยไม่มีการเปรียบเทียบกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง อีกทั้งไม่มีการปฏิเสธพระนามหรือคุณลักษณะใดๆ ของพระองค์ พร้อมกับมอบหมายในเรื่องกัยฟียะฮฺ (ลักษณะเป็นอย่างไร) และยืนยันความหมายที่เหมาะสมกับฐานะของพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า  
﴿لَيۡسَ كَمِثۡلِهِۦ شَيۡءٞۖ وَهُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡبَصِيرُ ١١ ﴾ [الشورى: ١١]
ความว่า “ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์คือ ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” (อัช-ชูรอ : 11)

อัล-มาตุรีดียะฮฺ กล่าวว่า อัลกุรอานนั้นไม่ใช่ถ้อยคำของอัลลอฮฺอย่างแท้จริง แต่เป็นกะลาม นัฟสีย์ (ถ้อยคำที่ไม่มีเสียง) ซึ่งไม่สามารถได้ยิน ส่วนที่เสียงเราได้ยินนั้นเป็นแค่สัญลักษณ์ ดังนั้น คัมภีร์อัลกุรอานนั้นถือเป็นมัคลูก (สรรพสิ่งที่ถูกสร้าง) ซึ่งเป็นทัศนะของพวกอุตริกรรมในศาสนาโดยปราศจากหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺมายืนยัน อีกทั้งไม่มีคำกล่าวของกัลยาณชนรุ่นแรกมาสนับสนุน คนแรกที่กล่าวเช่นนี้ คือ อิบนุ กุ๊ลลาบ แท้จริงแล้วอัลลอฮฺ ตะอาลานั้นสามารถตรัสเมื่อใดก็ได้ หรือตรัสสิ่งใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังที่พระองค์ทรงพูดกับนบีมูซา อะลัยฮิสะลาม หรือ ทรงพูดกับบ่าวของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ ดังนั้น อัลกุรอานคือพจนารถของอัลลอฮฺ อย่างแท้จริงไม่ใช่สรรพสิ่งที่ถูกสร้างแต่อย่างใด เช่นเดียวกับคัมภีร์ อัต-เตารอฮฺ คัมภีร์ อัล-อินญีล และคัมภีร์ อัซ-ซะบูรฺ นี่คือหลักการเชื่อมั่นของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ จากกัลยานชนรุ่นแรกของประชาติอิสลามและผู้เจริญรอยตาม
อัล-มาตุรีดิยะฮฺ กล่าวว่า อีมาน (การศรัทธา) คือ การเชื่อมั่นด้วยจิตใจเท่านั้น บางคนได้เพิ่มว่า การยอมรับด้วยวาจา พวกเขาเชื่อว่าอีมานนั้นไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง และห้ามการอิสติษนาอ์ในการปฏิญาณเรื่องอีมาน (คือการตั้งเงื่อนไขในการศรัทธาโดยกล่าวว่า “ฉันเป็นผู้ศรัทธา อินชาอัลลอฮฺ”) พวกเขาถือว่าอิสลามและอีมานคือสิ่งเดียวกัน ไม่มีข้อแตกต่างระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ ซึ่งทัศนะนี้สอดคล้องกับแนวคิดของพวกมุรญิอะฮฺ แต่ขัดแย้งกับจุดยืนของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ที่ยึดถือว่า อีมาน คือ การศรัทธาด้วยจิตใจ การยอมรับด้วยวาจาและการปฏิบัติด้วยกาย อีมานนั้นมีการเพิ่มขึ้นด้วยการภักดีต่ออัลลอฮฺและมีการลดลงเมื่อมีการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และอนุญาตให้กล่าวคำอิสติษนาอ์ ในการศรัทธา(ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้มีการรับรองตนเอง) และเชื่อว่า อีมานและอิสลามเป็นสิ่งคู่กัน  เมื่อกล่าวถึงอีมานและอิสลามในที่เดียวกันจะมีความหมายที่ต่างกัน แต่เมื่อกล่าวถึงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะหมายถึงทั้งสองอย่าง
อัล-มาตุรีดิยะฮฺ มีทัศนะเห็นพ้องกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในเรื่องศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ เช่น เรื่อง เหตุการณ์ในโลกแห่งบัรฺซัค (สุสาน) สถานการณ์ในวันกิยามะฮฺ การชุมนุม ณ ทุ่งมะห์ชัรฺ การฟื้นคืนชีพ ตราชูชั่งความดีความชั่ว สะพานอัศ-ศิรอฏ การชะฟาอะฮฺ (ไถ่ถอนโทษ) สวรรค์ และนรก เนื่องจากพวกเขาถือว่าหลักฐานของศาสนานั้นมาจากการฟัง และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ที่จะเกิดขึ้นจริงตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกกล่าวไว้ อีกทั้งยังมีหลักฐานยืนยันจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ
อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะว่าบ่าวสามารถมองเห็นพระผู้เป็นเจ้าในโลกอาคิเราะฮฺ แต่ทว่าพวกเขาปฏิเสธทิศทางและการเผชิญหน้า ซึ่งทัศนะนี้มีความขัดแย้งกันเอง เนื่องจากพวกเขายืนยันศรัทธาในสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งเป็นทัศนะที่ขัดแย้งกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ
อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีความเห็นพ้องกับทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ในประเด็นเศาะหาบะฮฺ กับลำดับการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และเชื่อว่าข้อพิพาทระหว่างเศาะหาบะฮฺด้วยกันนั้นถือว่าเป็นการวินิจฉัยของแต่ละคน ดังนั้นจำเป็นต้องหยุดการกล่าวหาละเมิดจาบจ้วงบรรดาเศาหาบะฮฺ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการปฏิเสธศรัทธา หรืออุตริกรรมหรือเป็นพฤติกรรมที่ชั่วช้า อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะว่า ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺนั้นเหมาะควรเฉพาะชนตระกูลกุร็อยชฺเท่านั้น และอนุญาตให้ละหมาดตามหลังมุสลิมทุกคนไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลว และไม่อนุญาตให้ทรยศหรือเป็นกบฏต่อผู้นำที่มีพฤติกรรมชั่ว
อัล-มาตุรีดียะฮฺมีทัศนะพ้องกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในประเด็นเรื่องอัล-เกาะดัรฺ อัล-กุดเราะฮฺ และอัล-อิสติฏออะฮฺ โดยเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนแล้วมาจากประสงค์ของอัลลอฮฺ และการกระทำของมนุษย์ทั้งที่ดีและชั่วนั้นคือสิ่งที่อัลลอฮฺได้สร้างมา แต่มนุษย์นั้นมีสิทธิเลือกที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยจะได้รับผลตอบแทนที่ดีและชั่วในสิ่งที่ตนได้กระทำ และบ่าวนั้นมีสิทธิเลือกปฏิบัติในคำสอนของศาสนาโดยไม่มีการบังคับให้กระทำแต่อย่างใด
อัล-มาตุรีดิยะฮฺ เห็นว่าไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาบัญญัติ ซึ่งเป็นทัศนะที่พ้องกับแนวคิดมุอฺตะซิละฮฺ ส่วนอะฮลุซซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ เห็นว่า ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความประเสริฐ ไม่ควรไปกำหนดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งอนุญาตหรือต้องห้าม


รากเหง้าแนวคิดและหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ
จากการศึกษาข้างต้นผู้วิจัยพบว่า หลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺนั้นมีการปะปนระหว่างสัจธรรมกับความเท็จ ในส่วนของสัจธรรมนั้นพวกเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ที่สังกัดมัซฮับ หะนะฟีย์รุ่นแรก เพราะผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่ามัซฮับ หะนะฟีย์ หลังจากที่อิมาม อบู หะนีฟะฮฺ เสียชีวิตนั้นมีการแตกแยกทางความคิดออกเป็นหลายสำนัก ซึ่งไม่มีผู้ใดยืนหยัดตามแนวทางที่อิมามอบู หะนีฟะฮฺและสหายของท่านทั้งสองได้วางไว้นอกจากบางคนที่อัลลอฮฺได้ประทานทางนำเท่านั้น และส่วนใหญ่แล้วผู้สังกัดมัซฮับหะนะฟีย์จะฝักใฝ่แนวคิดของกลุ่มอุตริกรรม เช่น กลุ่มญะฮฺมิยะฮฺ และ มุอฺตะซิละฮฺ
และเนื่องจากประวัติศาสตร์มิได้กล่าวถึงรายละเอียดของการศึกษาหาความรู้ของอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ว่าศึกษาหาความรู้จากปราชญ์ท่านใดบ้าง ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์รากเหง้าแนวคิดของท่านดังนี้
- อบูมันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดโดยตรง หรือทางอ้อมผ่านคณาจารย์ของท่านที่ฝักใฝ่แนวคิด ญะฮฺมิยะฮฺ ในประเด็นอัล-อิรญาอ์ (การตั้งความหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ) และการตะอฺฏีล (ปฏิเสธพระนามหรือคุณลักษณะของอัลลอฮฺ) เช่นเดียวกันนั้น ท่านได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพวกมุอฺตะซิละฮฺและนักปรัชญากรีก ในประเด็นการปฏิเสธบางคุณลักษณะของอัลลอฮฺและการตีความคุณลักษณะของอัลลอฮฺให้มีความหมายเป็นอย่างอื่น ตลอดจนถึงการปฏิเสธคุณลักษณะอัล-อุลูว์ (การทรงเหนือบัลลังค์) และศิฟาต อัล-เคาะบะริยะฮฺ ซึ่งพวกเขาเข้าใจผิดว่านั้นคือหลักการเชื่อมันของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ
- อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอิบนุ กุ๊ลลาบ ( ฮ.ศ. 240) ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้อุตริทัศนะที่ว่าพจนารถของอัลลอฮฺนั้นเป็นกะลาม นัฟสีย์ (ถ้อยคำที่ปราศจากเสียง) อัล-มาตุรีดีย์ได้รับอิทธิพลจากทัศนะนี้ทั้งที่ตนเองกับอิบนุ กุ๊ลลาบไม่มีโอกาสได้พบเจอกันมาก่อน เนื่องจากอิบนุ กุ๊ลลาบเสียชีวิตก่อนที่อัล-มาตุรีดีย์จะถือกำเนิดเสียอีก  ชัยคุลอิสลาม อิบุตัยมิยะฮฺ ได้ยืนยันว่า อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ได้มีทัศนะตามอิบนุก๊ลลาบในหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ประเด็นคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ประเด็นเกี่ยวกับอัลกุรอาน ว่าอัลลอฮฺนั้นตรัสด้วยพระประสงค์และเดชานุภาพของพระองค์เองหรือไม่ และประเด็นเกี่ยวกับ อัล-อิสติษนาอ์ (ตั้งข้อยกเว้นหรือเงื่อนไข)ในการศรัทธา (มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 7/433 , มินหาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ 2/362)

การแพร่กระจายและแหล่งของแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ
แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺได้แพร่กระจายไปยังหลายประเทศ โดยเฉพาะในชมพูทวีปและประเทศใกล้เคียงอย่าง จีน บังคลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถานนั้นมีผู้ยึดถือตามแนวคิดนี้อย่างมากมาย เช่นเดียวกับ ประเทศตุรกี เปอร์เซีย บางประเทศในยุโรป เอเชียกลาง และประเทศแถบแอฟริกาตอนเหนือก็มีผู้ฝักใฝ่แนวคิดนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายของอิทธิพลมัซฮับ หะนะฟีย์ นับว่าแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺยังคงได้รับกระแสความนิยมในแถบประเทศเหล่านี้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. บรรดาปราชญ์ของสำนักคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและการอุปถัมภ์จากบรรดากษัตริย์และผู้ปกครองรัฐ โดยเฉพาะบรรดาสุลต่านแห่งราชวงศ์อุษมานิยะฮฺ (ออตโตมาน)
2. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาของอัล-มาตุรีดียะฮฺมีบทบาทสำคัญมากในการเผยแพร่แนวคิดนี้ โดยเฉพาะโรงเรียนดิวบันดิยะฮฺในประเทศอินเดีย ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ ซึ่งในโรงเรียนเหล่านี้ยังมีการเรียนการสอนตำรับตำราเกี่ยวกับหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ ว่าอัล-มาตุรีดิยะฮฺคือแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ
3. มีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังโดยเฉพาะในด้านการแต่งตำราเกี่ยวกับอิลมุลกะลาม (วิชาวิภาษวิทยา) และหนังสือตอบโต้กลุ่มแนวคิดเบี่ยงเบนอย่างแนวคิดของญะฮฺมิยะฮฺ แนวคิดมุอฺตะซิละฮฺ และแนวคิดรอฟีเฎาะฮฺ (ชีอะฮฺ)
4. การพาดพิงถึงอิมามอบู หะนีฟะฮฺและการสังกัดกับมัซฮับ หะนะฟีย์ในด้านวิชาฟิกฮฺ



บทสรุป
อัล-มาตุรีดียะฮฺ เป็นกลุ่มวิภาษวิทยานิยมกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้น ณ เมืองสะมัรก็อนดฺ ในฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 4 กลุ่มนี้พาดพิงไปยังบุคคลหนึ่งที่มีนามว่า อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ว่าเป็นผู้ก่อตั้งแนวคิดนี้ กลุ่มแนวคิดนี้จะใช้หลักฐานและเหตุผลทางปัญญา ตรรกวิทยา ในการโต้แย้งกับคู่กรณีอย่างพวกมุอฺตะซิละฮฺ พวกญะฮฺมิยะฮฺ และพวกบาฏินียะฮฺ เป็นต้น เดิมนั้นกลุ่มแนวคิดนี้พยามยามที่จะแสวงหาทางสายกลางระหว่างแนวคิดของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ กับแนวคิด มุอฺตะซิละฮฺ ญะฮฺมิยะฮฺ และ พวกวิภาษวิทยานิยม แต่ในที่สุดแนวคิดนี้ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุผลทางปัญญามากกว่าหลักฐานจากศาสนบัญญัติ (อัลกุรอานและสุนนะฮฺ) จึงทำให้มีทัศนะที่แบ่งหลักการศาสนาออกเป็น หลักการอักลิยาต และหลักการสัมอิยาต จากการแบ่งประเภทหลักการศาสนาดังกล่าวทำให้เกิดการตีความและการตัฟวีฎขึ้นมา พวกเขามีทัศนะว่าในอัลกุรอานและหะดีษนั้นมีมะญาซฺ (คำที่มีความหมายเป็นอย่างอื่นจากความหมายโดยผิวเผิน)  มีทัศนะไม่รับหลักฐานที่เป็นหะดีษอาหาด (หะดีษที่มีสายรายงานจำนวนน้อยไม่ถึงขั้นมุตะวาติรฺ) พวกเขามีทัศนะว่าคัมภีร์ของอัลลอฮฺซึ่งหมายรวมถึงอัลกุรอานด้วยนั้นเป็นมัคลูก (สิ่งที่ถูกสร้าง) และอัลกุรอานนั้นเป็นพจนารถของอัลลอฮฺที่ดำรงด้วยตนเอง ซึ่งเป็นทัศนะที่ใกล้เคียงกับแนวคิดของมุอฺตะซิละฮฺ และญะฮฺมิยะฮฺ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับอีมาน (การศรัทธา) นั้นพวกเขามีทัศนะเหมือนกับพวกมุรฺญิอะฮฺ พวกเขาทัศนะที่เหมือนกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในประเด็นเกี่ยวกับ อัล-เกาะดัรฺ เรื่องราวของวันอาคิเราะฮฺ เหตุการณ์ในโลกแห่งบัรฺซัค(หลุมฝังศพ) และประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งผู้นำมุสลิมและเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ด้วยการที่พวกเขาจำกัดชนิดของอัต-เตาฮีดมีเพียง เตาฮีด อัล-คอลิกียะฮฺ และ อัร-รุบูบิยะฮฺ จึงทำให้อิทธิพลของพวกปรัชญานิยมเข้ามาครอบงำความคิดพวกเขา ส่วนสาเหตุสำคัญที่มีผู้คนยึดถือแนวคิดนี้มีจำนวนมาก ก็เพราะแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและอุปถัมภ์จากอำนาจรัฐมาตลอด เช่น อาณาจักรอุษมานียะฮฺ  นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและโรงเรียนที่มีชื่อเสียงช่วยเผยแพร่แนวคิดนี้อีกทาง และด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ทำตามแนวคิดนี้ส่วนใหญ่สังกัดมัซฮับ หะนะฟีย์ในด้านวิชาฟิกฮฺจึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดีย์แพร่หลายจวบจนทุกวันนี้ แม้กระนั้นก็ตามพวกเขามีบทบาทสำคัญในการโต้ตอบแนวคิดอื่นที่หลงทางอย่างพวกมุอฺตะซิละฮฺ บาฏินียะฮฺ พวกปรัชญาปฏิเสธพระเจ้า และพวกรอฟิเฎาะฮฺ (ชีอะฮฺ) และพวกเขายังมีบทบาทสำคัญในการแต่ง วิเคราะห์ตำราเกี่ยวกับหะดีษ แต่ก็มีหลายประเด็นที่ควรระมัดระวัง



แปลโดย : อันวา สะอุ
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม  อุษมาน
ที่มา : หนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะซาฮิบ วะ อัล-อะห์ซาบ อัล-มุอาศิเราะฮฺ


จากหนังสือ

الموسوعة الميسرة في الأديان والمذاهب والأحزاب المعاصرة، إعداد الندوة العالمية للشباب الإسلامي

ที่มา http://www.saaid.net/feraq/mthahb/6.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น