อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

บิดอะฮฺเกี่ยวกับการอาซานขณะมายัตลงหลุม



 
الحمدلله وأفضل الصلاة وأتم التسليم على خاتم الأنبياء والمرسلين أمابعد



ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : เราได้รายงานไว้ในสุนัน อบีดาวูด , อัตติรมีซีย์ , อัลบัยฮะกีย์ และอื่นจากนั้นจากท่านอิบนิ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า :
 แท้จริงท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้นปรากฏว่าเมื่อมัยยิตได้ถูกวางลงหลุมศพท่านกล่าวว่า :

بِسْمِ اللهِ ، وَعَلى سُنَّةِرَسُوْلِ الله صلى الله عليه وسلم

ท่านอัตติรมิซีย์กล่าวว่า : เป็นหะดีษหะซัน ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์และอัลอัศฮ๊าบ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ส่งเสริมในการขอพรแก่มัยยิตพร้อมกับสิ่งนี้ (อัลอัซการ อัลมุนตะคอบะฮฺ มิน กะลาม ซัยยิดิลอับร๊อร ; อิหม่ามอันนะวาวีย์ หน้า 150 บทสิ่งที่ผู้นำมัยยิตเข้าสู่หลุมศพจะกล่าวสิ่งนั้น) ในอีกริวายะฮฺ (รายงาน) หนึ่งในใช้สำนวนว่า

بِسْمِ اللهِ وَعَلى مِلَّةِرَسُوْلِ اللهِ

(บันทึกโดยอบูดาวูด (2/70) อัตติรมีซีย์ (2/152,153) อิบนุมาญะฮฺ (1/470) อิบนุ ฮิบบาน ในซ่อฮิฮฺ อิบนิ ฮิบบาน (773) อัลฮากิม (1/366) อัลบัยหะกีย์ (4/55) และอะฮฺหมัด หะดีษเลขที่ 4990 , 5233 , 5370 , 6111) จากสองรายงานจากอิบนิ อุมัร สำนวนแรกเป็นรายงานของอบีดาวูด , อิบนิ มาญะฮฺ และอิบนิ อัซซุนนีย์ และอีกสำนวนหนึ่งเป็นของบุคคลที่เหลือ ในบางสายรายงานเพิ่มประโยคว่า

 (وَبالله) (بِسْمِ الله ، وبِاللهِ وعلى مِلَّةِرَسُوْلِ اللهِ) 

เหตุที่ให้ผู้นำเอามัยยิตเข้าสู่หลุมศพกล่าวประโยคดังกล่าว เป็นเพราะว่าตำแหน่งตรงนี้เป็นตำแหน่ง (มะกอม) สำหรับการวิงวอนขอ, การร้องขอพระเมตตาและความกรุณา (อ้างแล้ว เชิงอรรถ หน้า 150) ส่วนการอะซานขณะนำ (มัยยิต) ลงหลุมนั้นไม่มีซุนนะฮฺระบุให้กระทำ

นักวิชาการในมัซฮับอัชชาฟิอีย์ระบุว่า : พึงทราบเถิด! ว่าไม่มีซุนนะฮฺให้ทำการอะซานขณะเข้าหลุมศพ (คือขณะนำมัยยิตลงหลุม – ผู้ตอบ) ซึ่งค้านกับผู้ที่กล่าวว่าเป็นซุนนะฮฺในอะซานนี้โดยเทียบ (กิย๊าส) สำหรับการที่เขา (มัยยิต) ออกจากโลกดุนยา (ตาย) กับการที่เขา (มัยยิต) เข้าสู่โลกดุนยา (ตอนเกิด – ผู้เขียน)

ท่านอิบนุ ฮะญัร (ร.ฮ.) กล่าวว่า : ฉันได้ค้านเรื่องนี้เอาไว้ในชัรฮุลอุบ๊าบฺ แต่ทว่าเมื่อการนำเอามัยยิตลงหลุมศพไปตรง (พ้อง) กับการอะซาน การถูกสอบถามก็จักถูกผ่อนหนักเป็นเบาให้แก่เขา” (ดูฮาชิยะฮฺ อิอานะตุตฺตอลีบีน อะลา ฮัลลิ อัลฟาซฺ ฟัตฮิลมุอีน ; อัลลามะฮฺ อบูบักร อัดดุมยาฏีย์ , ดารุ้ลฟิกริ เบรุต (1993) เล่มที่ 1 หน้า 268 เรื่องอะซานและอิกอมะฮฺ)

อนึ่ง เข้าใจว่าการเทียบ (กิยาส) การอะซานขณะนำเอามัยยิตลงหลุมศพกับการอะซานที่หูขวาของเด็กทารกซึ่งเข้าสู่โลกดุนยาเมื่อแรกเกิดโดยให้เหตุผล (อิลละฮฺ) ว่าเมื่อมีซุนนะฮฺให้อะซานแก่ทารกขณะที่เข้าสู่โลกดุนยาในเบื้องแรก ก็น่าจะมีซุนนะฮฺให้ทำการอะซานขณะนำมัยยิตลงหลุมศพซึ่งเป็นการออกจากโลกดุนยาในเบื้องท้ายนั้น ถือเอาคำอธิบายของนักวิชาการที่ระบุว่า การอะซานทั้ง 2 กรณีนี้ มิใช่การอะซานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากหน้าที่ (วะซีฟะฮฺ) ของบุรุษเพศ แต่มุ่งหมายถึงการเพียงแต่ซิกรุลลอฮฺเพื่อเป็นตะบัรรุ๊ก (บินญัยริมีย์ อะลัล ค่อฏีบฺ ; ชัยค์ สุลัยมาน อัลบุญัยริมีย์ เล่มที่ 4 หน้า 290)

และถือตามคำอธิบายที่ว่า : และจะปรากฏว่าการอะซานให้เด็กทารกได้รู้ถึงเอกานุภาพของอัลลอฮฺเป็นสิ่งแรกที่เข้าสู่การรับฟังของเขาขณะที่เขามายังโลกดุนยานี้เฉกเช่นที่จะปรากฏว่า เรื่องเอกานุภาพนั้นเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะได้รับฟังด้วยการตัลกีนขณะที่เขาออกจากโลกดุนยา เพราะมีการรายงานมาว่า “พวกท่านจงสอนผู้ที่ใกล้ตาย (หรือคนตาย) ของพวกท่านซึ่งประโยค “لااله الاالله” (ฮาชิยะฮฺ อัชชัยคฺ อิบรอฮีม อัลบัยญูรีย์ เล่มที่ 2 หน้า 572)

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสังเกตคำอธิบายของนักวิชาการข้างต้นก็จะพบว่าเป็นเรื่องของการอะซานให้แก่ทารกแรกเกิดกับการตัลกีนแก่ผู้ใกล้ตายหรือผู้ที่ตายแล้วตามนัยที่นักวิชาการอธิบายเอาไว้ทั้ง 2 นัย หาใช่เป็นการอะซานขณะนำมัยยิตลงสู่หลุมศพไม่ และเป็นเรื่องแปลกที่ว่าในตำราฟิกฮฺของมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ที่ถือเป็นมาตรฐานกลับไม่ระบุถึงเรื่องการอะซานขณะนำมัยยิตลงสู่หลุมศพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่เกี่ยวกับการอะซานและอิกอมะฮฺก่อนละหมาดและเรื่องของญะนาอิซฺ

ทั้ง ๆ ที่ ตำราบางเล่ม เช่น อิอานะตุตตอลีบีน ก็กล่าวถึงกรณีต่าง ๆ นอกเหนือการละหมาดที่มีซุนนะฮฺให้ทำการอะซาน เช่น การอะซานใส่หูคนที่เศร้าหมอง , คนที่ถูกญินคุม , คนที่โกรธ , คนหรือสัตว์ที่มีนิสัยไม่ดี, ขณะเกิดอัคคีภัย, ขณะญินแปลงกายเป็นรูปต่าง ๆ และการอะซานที่หูขวาและอิกอมะฮฺที่หูซ้ายของของเด็กทารกและข้างหลังผู้เดินทางไกล (อิอานะตุตตอลิบีน เล่มที่ 1 หน้า 267) ก็หาได้มีการระบุว่ามีซุนนะฮฺให้อะซานขณะนำมัยยิตลงหลุมไม่

ดังนั้นการอะซานและอิกอมะฮฺที่หูของเด็กทารกจึงเป็นซุนนะฮฺฟิอฺลียะฮฺ (คือเป็นแบบและแนวทางที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กระทำเอาไว้) ส่วนการอะซานขณะที่นำเอามัยยิตลงหลุมนั้นนักวิชาการเรียกว่า ซุนนะฮฺตัรกียะฮฺ (คือการละทิ้ง การกระทำสิ่งนั้นเป็นซุนนะฮฺเพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มิได้กระทำ เมื่อท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มิได้กระทำและละทิ้งการกระทำนั้นก็ถือเป็นซุนนะฮฺให้เราละทิ้งสิ่งนั้นด้วยนั่นเอง (ดู มะฮับบะตุรฺร่อซูล บัยนัล อิตติบาอฺ วัลอิบติดาอฺ , มักตะบะฮฺ อัรริยาฎ ; อับดุรร่ออู๊ฟ มุฮำหมัด อุสมาน หน้า 103)

ท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุ ฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 974) ได้ถูกถามว่า การอะซาน และอิกอมะฮฺขณะปิดปากหลุมศพแบบลูกหลุม (ละฮฺด์) มีข้อชี้ขาดอย่างไร? ท่านตอบว่า : เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) เพราะไม่มีสิ่งถูกต้องใด ๆ เลยในเรื่องนี้และสิ่งที่ถูกถ่ายทอดจากบางส่วนของพวกเขาในเรื่องนี้มิใช่สิ่งที่ถูกนำพา ต่อมาฉันได้เห็น อัลอัศบะฮีย์ ตอบฟัตวาด้วยสิ่งที่ฉันกล่าวมา... (แล้วท่านอิบนุ ฮะญัร (ร.ฮ.) ก็อ้างถึงคำฟัตวาของท่านอัลอัศบะฮีย์ (ร.ฮ.) และท่านอิบนุ ฮะญัร (ร.ฮ.) ก็สรุปตอนท้ายว่า)

ตามนั้นจึงรู้ได้ว่า (สิ่งที่อัลอัศบะฮีย์ตอบนั้น) สอดคล้องกับที่ฉันกล่าวถึง ว่าสิ่งดังกล่าวเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ...” (อัลฟะตาวา อัลกุบรอ อัลฟิกฮียะฮฺ อะลา มัซฮับ อัลอิหม่าม อัชชาฟีอีย์ ; อิบนุ ฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ , ดารุ้ลกุตุบอัลอิลมียะฮฺ (1997) เล่มที่ 1 หน้า 413) และท่านมุฮำมัด นาซิรุดดีน อัลอัลบานีย์ ก็ระบุว่า : ส่วนหนึ่งจากอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเรื่องญะนาอิซฺ คือ การอะซานขณะนำเอามัยยิตเข้าสู่ในหลุมศพของเขา อ้างจาก ฮาชิยะฮฺ อิบนิ อาบิดีน เล่มที่ 1/837...” (ดู อะฮฺกามุ้ล ญะนาอิซฺ ว่า บิดะอุฮา , อัลอัลบานีย์ หน้า 317)

ดังนั้นการอะซานขณะนำมัยยิตลงหลุมซึ่งผู้อะซานจะอะซานบนปากหลุมหรือลงไปอะซานในหลุมก็ตามเป็นสิ่งที่ไม่มีแบบให้กระทำในซุนนะฮฺ เพราะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ในเรื่องนี้และนักวิชาการคนสำคัญในมัซฮับอัชชาฟิอีย์อย่างน้อยก็ 2 ท่านคือ ท่านอิบนุ ฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ และอัลอัศบะฮีย์ ชี้ขาดว่าเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และการเทียบ (กิยาส) ที่อ้างมานั้นเป็นสิ่งที่อ่อนแอ (ฎ่ออีฟ) จึงเป็นสิ่งที่เราจำต้องหลีกห่างจากการกระทำดังกล่าวและสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องของเราที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์และปฏิบัติสิ่งดังกล่าวอยู่

แท้จริงซุนนะฮฺต่าง ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับขณะฝังศพนั้นมีหลายประการและเพียงพอแล้วที่เราจะเน้นหนักและให้ความสำคัญในการนำซุนนะฮฺดังกล่าวมาปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับและผู้ที่ร่วมในการฝังศพนั้น


والله أعلم بالصواب
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
        โดยอาจารย์อาลี เสือสมิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น