مخالفات شرعية تتعلق بالنكاح |
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์...
ความโปรดปรานอันใหญ่หลวงประการหนึ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานแก่บรรดาปวงบ่าวคือ การจัดให้มีการแต่งงาน ได้มีคู่ครอง ซึ่งเป็นแบบอย่างของบรรดาเราะสูล ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
﴿وَلَقَدۡ أَرۡسَلۡنَا رُسُلٗا مِّن قَبۡلِكَ وَجَعَلۡنَا لَهُمۡ أَزۡوَٰجٗا وَذُرِّيَّةٗۚ وَمَا كَانَ لِرَسُولٍ أَن يَأۡتِيَ بِئأيَةٍ إِلَّا بِإِذۡنِ ٱللَّهِۗ لِكُلِّ أَجَلٖ كِتَابٞ﴾ [الرعد : 38]
ความว่า “แท้จริงเราได้ส่งบรรดาเราะสูลมาก่อนหน้าเจ้า โดยที่เราได้ให้พวกเขามีภรรยาและลูกหลาน และไม่บังควรแก่เราะสูลที่จะนำมาซึ่งสัญญาณ (ปาฏิหาริย์) ใดๆ เว้นแต่โดยอนุมัติของอัลลอฮฺ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีบันทึกไว้แล้ว” ( อัร-เราะอฺดุ : 38 )
อิสลามได้ส่งเสริมให้มีการแต่งงาน เนื่องจากมีคุณประโยชน์อย่างมากมายไม่ว่าในด้านศาสนาและด้านการดำเนินชีวิตในโลกนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ مَنْ اسْتَطَاعَ الْبَاءَةَ فَلْيَتَزَوَّجْ فَإِنَّهُ أَغَضُّ لِلْبَصَرِ وَأَحْصَنُ لِلْفَرْج» [رواه البخاري ومسلم]
ความว่า “โอ้บรรดาคนหนุ่มเอ๋ย ผู้ใดมีความสามารถที่จะแต่งงาน ให้เขาแต่งงานเถิด เพราะมันจะทำให้ลดสายตา (จากการมองสิ่งที่หะรอม) และจะช่วยปกป้องอวัยวะเพศ(จากการผิดประเวณี)ได้” ( บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 5065 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1400)
ในยุคปัจจุบันมีการจัดงานเลี้ยงฉลองการแต่งงานกันอย่างแพร่หลาย แต่เป็นที่น่าเศร้าใจมากเนื่องจากยังมีการปฏิบัติหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติอิสลาม อาทิเช่น
1. มีการกำหนดสินสอดที่สูงเกินความสามารถของฝ่ายชาย อิสลามได้ส่งเสริมและมีบัญญัติให้เรียกสินสอดแต่เพียงเล็กน้อย ตามความสะดวก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« خَيْرُ الصَّدَاقِ أَيْسَرُهُ» [رواه الحاكم في المستدرك]
ความว่า “สินสอดที่ดียิ่ง คือสินสอดที่ง่ายที่สุด” ( บันทึกโดยอัล-หากิม หมายเลขหะดีษ 2742 )
قَالَ عُمَرُ بْنُ الْخَطَّابِ : «أَلَا لَا تُغَالُوا صَدُقَةَ النِّسَاءِ فَإِنَّهَا لَوْ كَانَتْ مَكْرُمَةً فِي الدُّنْيَا أَوْ تَقْوَى عِنْدَ اللَّهِ لَكَانَ أَوْلَاكُمْ بِهَا نَبِيُّ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَا عَلِمْتُ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَكَحَ شَيْئًا مِنْ نِسَائِهِ وَلَا أَنْكَحَ شَيْئًا مِنْ بَنَاتِهِ عَلَى أَكْثَرَ مِنْ ثِنْتَيْ عَشْرَةَ أُوقِيَّةً» [رواه الترمذي]
ความหมาย อุมัร บิน ค็อฏฏอบ กล่าวว่า “พึงสังวรเถิดว่า พวกท่านอย่าได้กำหนดสินสอดที่สูงเกิน หากการกำหนดสินสอดที่สูงเป็นเกียรติแก่พวกท่านในโลกนี้ หรือเป็นความดีงาม ณ ที่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอนนบีของพวกท่านต้องถือปฏิบัติมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เท่าที่ฉันรู้มาปรากฏว่าท่านนบีแต่งงานกับบรรดาภริยาของท่าน หรือว่าท่านทำการแต่งงานให้กับบรรดาลูกสาวของท่านด้วยกับสินสอดไม่เกินสิบสองอูกิยะฮฺ (480 ดิรฮัม)” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลขหะดีษ 1114)
และเคยมีผู้ถามท่านหญิงอาอิชะฮฺเกี่ยวกับสินสอดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านหญิงได้ตอบว่า
«كَانَ صَدَاقُهُ لِأَزْوَاجِهِ ثِنْتَيْ عَشْرَةَ أُوقِيَّةً وَنَشًّا قَالَتْ أَتَدْرِي مَا النَّشُّ قَالَ قُلْتُ لَا قَالَتْ نِصْفُ أُوقِيَّةٍ فَتِلْكَ خَمْسُ مِائَةِ دِرْهَمٍ فَهَذَا صَدَاقُ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لِأَزْوَاجِهِ» [رواه مسلم]
ความว่า “ท่านนบีได้มอบสินสอดแก่บรรดาภริยาของท่าน 12 อูกียะฮฺครึ่ง นั่นก็คือ 500 ดิรฮัม นี่คือสินสอดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แก่บรรดาภรรยาของท่าน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1426)
อนึ่ง...ผลเสียที่เกิดจากการกำหนดสินสอดที่แพงเกินไปมีมากมายประการด้วยกัน เช่น ทำให้ผู้ชายหลายคนต้องแต่งงานอย่างล่าช้าลง หรือไม่สามารถแต่งงานได้ และมีผู้หญิงอีกหลายคนต้องขึ้นคานทอง และยังมีผลเสียอื่นๆ ที่ติดตามมาหลังจากนั้นอีกมากมาย
2. ผู้ชายสวมแหวนหมั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเขาได้หมั้นหมายว่าที่เจ้าสาวไว้แล้ว ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าแหวนหมั้นมีความเกี่ยวโยงกับการทำพิธีนิกาหฺ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าแหวนหมั้นนั้นเป็นทองคำ เนื่องจากเป็นเครื่องประดับเป็นที่ต้องห้าม(หะรอม)สำหรับผู้ชาย ดังที่มีปรากฏในหะดีษหลายๆ บทได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคือ
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ رَأَى خَاتَمًا مِنْ ذَهَبٍ فِي يَدِ رَجُلٍ فَنَزَعَهُ فَطَرَحَهُ، وَقَالَ : «يَعْمِدُ أَحَدُكُمْ إِلَى جَمْرَةٍ مِنْ نَارٍ فَيَجْعَلُهَا فِي يَدِهِ»، فَقِيلَ لِلرَّجُلِ بَعْدَ مَا ذَهَبَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ خُذْ خَاتِمَكَ انْتَفِعْ بِهِ، قَالَ: لَا وَاللَّهِ لَا آخُذُهُ أَبَدًا وَقَدْ طَرَحَهُ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ. [رواه مسلم]
ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เห็นแหวนทองถูกสวมอยู่ในมือของชายคนหนึ่ง ดังนั้นท่านจึงได้ถอดมันโยนทิ้ง แล้วกล่าวว่า “มีบางคนในกลุ่มพวกท่านชอบที่จะเอาถ่านไฟจากนรกมาสวมไว้ในมือ” เมื่อท่านเราะสูลเดินจากไปแล้วมีชายอีกคนบอกกับชายคนนั้นว่า จงเอาแหวนของท่านกลับไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นเถอะ เขาตอบว่า ไม่หรอก ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าฉันจะไม่เอาเด็ดขาดเพราะท่านเราะสูลได้ขว้างมันแล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1426)
เชคอัล-อัลบานีย์ กล่าวว่า “การสวมแหวนหมั้นเป็นประเพณีของชาวคริสเตียน ซึ่งท่านนบีได้ใช้ให้พวกเราปฏิบัติต่างไปจากพวกเขา ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ تَشَبَّهَ بِقَوْمٍ فَهُوَ مِنْهُمْ» [رواه أحمد]
ความว่า “ผู้ใดที่เลียนแบบกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใด เขาก็เป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา” ( บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 292 )
3. จัดที่นั่งพิเศษไว้สำหรับคู่บ่าวสาวต่อหน้าบรรดาแขกเหรื่อ เชคอับดุลอะซีซ บิน บาซ กล่าวว่า “ความชั่วร้ายอีกอย่างหนึ่งคือ การจัดที่นั่งพิเศษไว้สำหรับคู่บ่าวสาวเพื่อมานั่งคู่กันต่อหน้าบรรดาแขกเหรื่อทั้งหลาย ทุกคนจะมองผู้หญิงที่ประดับประดาเรือนร่างด้วยกับเสื้อผ้าที่สวยงาม ในบางครั้งจะมีญาติผู้ชายฝ่ายสามีเข้าไปในเรือนหอหรือสถานที่ๆ เฉพาะบรรดาผู้หญิง ซึ่งมันทำให้มีการปะปนกันเกิดขึ้น
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِيَّاكُمْ وَالدُّخُولَ عَلَى النِّسَاءِ»، فَقَالَ رَجُلٌ مِنْ الْأَنْصَارِ : يَا رَسُولَ اللَّهِ أَفَرَأَيْتَ الْحَمْوَ ؟ ، قَالَ : «الْحَمْوُ الْمَوْتُ» [رواه مسلم]
ความว่า “พวกท่านทั้งหลายพึงระวังที่จะเข้าไปหาบรรดาสตรี” มีชายชาวอันศอรฺคนหนึ่งถามขึ้นว่า โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ท่านมีความเห็นว่าอย่างไรหากว่าเป็นเครือญาติผู้ชายฝ่ายสามี(ที่เข้าหาพวกนาง)? ท่านตอบว่า “การอยู่ร่วมกับญาติผู้ชายฝ่ายสามีตามลำพังนั้นแหล่ะยิ่งจะนำมาซึ่งความหายนะ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 5232 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2172)
4. การถ่ายรูป ซึ่งถือว่าเป็นบาบใหญ่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«أَشَدُّ النَّاسِ عَذَابًا يَوْمَ الْقِيَامَةِ الْمُصَوِّرُونَ، يُقَالُ لَهُمْ أَحْيُوا مَا خَلَقْتُمْ» [رواه أحمد]
ความว่า “กลุ่มบุคคลที่ได้รับโทษอย่างทารุณในวันกิยามะฮฺคือบรรดาผู้ที่ถ่ายรูปภาพ จะมีผู้กล่าวแก่เขาว่า เจ้าจงใส่วิญญาณให้กับสิ่งที่เจ้าสร้างมันขึ้นมา” (บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 2/26)
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการถ่ายรูปภาพของบรรดาสตรี จะสร้างฟิตนะฮฺมากยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากบรรดาสตรีที่มาร่วมงานแต่ละคนจะสวมชุดที่ฉูดฉาดสวยงามอย่างเต็มสูตร อย่างนี้แหละที่ถือว่าเป็นเรื่องที่เสียหายอย่างใหญ่หลวง อยากถามว่าจะมีใครบ้างที่พอใจจะให้ช่างภาพเก็บภาพถ่ายของลูกสาว หรือน้องสาวของเขา แล้วนำไปเผยแพร่แจกจ่ายให้คนอื่นดู และพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้นที่เราวิงวอนร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เหล่านี้
5. นำนักร้องมาร้องรำทำเพลง หรือมีเครื่องเสียงมาบรรเลงเพลงสร้างความบันเทิงนับว่าเป็นความเลวร้ายอย่างมาก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَيَكُونَنَّ مِنْ أُمَّتِي أَقْوَامٌ يَسْتَحِلُّونَ الْحِرَ وَالْحَرِيرَ وَالْخَمْرَ وَالْمَعَازِفَ» [رواه البخاري]
ความว่า “ประชาชาติของฉันบางส่วนจะทำให้การผิดประเวณี(ซินา) ผ้าไหม สุรา และเครื่องดนตรีเป็นที่อนุมัติ(หะลาล)” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 5590)
อนึ่ง...อิสลามอนุญาตให้ใช้กลองหน้าเดียว(ดุฟ)เฉพาะสตรีเท่านั้น แต่มีเงื่อนไขว่าพวกเธอต้องไม่นำไปใช้ประกอบในการร้องรำทำเพลงที่สื่อไปในทางที่ลามกอนาจาร
6. จัดงานเลี้ยงอย่างฟุ่มเฟือย ด้วยการเช่าโรงแรม หรือสถานที่บันเทิงอื่นๆ ซึ่งต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายอย่างมากมาย ดังนั้นงานเลี้ยงจะต้องจัดอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
﴿وَكُلُواْ وَٱشۡرَبُواْ وَلَا تُسۡرِفُوٓاْۚ إِنَّهُۥ لَا يُحِبُّ ٱلۡمُسۡرِفِينَ﴾ [الأعراف : 31]
ความว่า “ท่านทั้งหลายจงรับประทานและดื่มเถิด แต่อย่าได้ฟุ่มเฟือย เพราะแท้จริงอัลลอฮฺไม่ชอบผู้ที่ฟุ่มเฟือย” (อัล-อะอฺรอฟ : 31)
และอัลลอฮฺได้ตรัสเกี่ยวกับคุณลักษณะของบ่าวผู้ศรัทธาว่า
﴿وَٱلَّذِينَ إِذَآ أَنفَقُواْ لَمۡ يُسۡرِفُواْ وَلَمۡ يَقۡتُرُواْ وَكَانَ بَيۡنَ ذَٰلِكَ قَوَامٗا﴾ [الفرقان : 67]
ความว่า “และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาไม่ฟุ่มเฟือยและไม่ตระหนี่ และระหว่างสองสภาพนั้นพวกเขาอยู่สายกลาง” ( อัล-ฟุรกอน : 67 )
7. สตรีจำนวนมากสวมเสื้อผ้าที่ขัดต่อหลักบัญญัติอิสลาม เช่น นุ่งเล็กห่มน้อย หรือผ่าข้าง ผ่าหลัง หรือไม่ก็สวมรัดรูป โชว์สัดส่วนรูปทรง หรือบางจนเห็นสีผิว เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะเป้นที่นิยมสวมกันอย่างแพร่หลายในบรรดากลุ่มสตรีก็ตาม
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«صِنْفَانِ مِنْ أَهْلِ النَّارِ لَمْ أَرَهُمَا، قَوْمٌ مَعَهُمْ سِيَاطٌ كَأَذْنَابِ الْبَقَرِ يَضْرِبُونَ بِهَا النَّاسَ، وَنِسَاءٌ كَاسِيَاتٌ عَارِيَاتٌ مُمِيلَاتٌ مَائِلَاتٌ، رُءُوسُهُنَّ كَأَسْنِمَةِ الْبُخْتِ الْمَائِلَةِ، لَا يَدْخُلْنَ الْجَنَّةَ وَلَا يَجِدْنَ رِيحَهَا، وَإِنَّ رِيحَهَا لَيُوجَدُ مِنْ مَسِيرَةِ كَذَا وَكَذَا» [رواه مسلم]
ความว่า “ชาวนรกสองประเภทที่ฉันไม่เคยเห็นพวกเขา คือ กลุ่มที่มีแส้ไว้ทุบตีผู้คนที่เหมือนกับหางวัว และบรรดาสตรีที่สวมเสื้อผ้าบางๆ โชว์สัดส่วนเดินส่ายสะโพกไว้ผมเหมือนกับโหนกอูฐ พวกนางจะไม่ได้เข้าสวนสวรรค์และจะไม่ได้รับกลิ่นไอของสวนสวรรค์ แม้ว่ากลิ่นไอจะได้รับจากระยะที่ไกลเท่านั้นเท่านี้ก็ตาม” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 2128)
เชคอิบนุ อุษัยมีน เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “การเข้าร่วมงานแต่งงานที่มีการปะปนกับความชั่วในขณะที่เขามีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความชั่วนั้นได้ถือว่าเป็นวาญิบ แต่หากเขาไม่สามารถกระทำได้ก็ถือว่าไม่เป็นที่อนุมัติแก่เขา(ที่จะเข้าร่วมด้วย) การเชื่อฟังต่อพ่อแม่หรือสามีในสิ่งที่ขัดกับหลักการถือว่าไม่เป็นที่อนุญาต ถึงแม้ว่าได้มีการตกลงกันระหว่างพ่อแม่ว่าให้นำบุตรชายบุตรสาวไปด้วยก็ตาม และการไม่เชื่อฟังพ่อแม่ในลักษณะเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนแต่อย่างใด”
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِنَّمَا الطَّاعَةُ بِالْمَعْرُوْفِ» [رواه البخاري ومسلم]
ความว่า “การเชื่อฟัง (มนุษย์) ต้องสอดคล้องกับหลักการที่ถูกต้อง” ( บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 4340 และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1840)
8. อดหลับอดนอนจนกระทั่งดึกดื่น งานเลี้ยงแต่งงานบางแห่งยืดเยื้อจนเกือบจะถึงเวลาละหมาดศุบหฺ จนเป็นเหตุให้หลายคนไม่สามารถลุกขึ้นมาร่วมละหมาดได้ ในขณะที่ไม่ได้รับภาคผลบุญแล้ว ซ้ำร้ายยังเป็นบาปอีก อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿فَخَلَفَ مِنۢ بَعۡدِهِمۡ خَلۡفٌ أَضَاعُواْ ٱلصَّلَوٰةَ وَٱتَّبَعُواْ ٱلشَّهَوَٰتِۖ فَسَوۡفَ يَلۡقَوۡنَ غَيًّا﴾ [مريم : 59]
ความว่า “ภายหลังจากพวกเขา ชนรุ่นชั่วก็ได้สืบต่อมา พวกเขาได้ทิ้งละหมาด และปฏิบัติตามความใคร่ แล้วพวกเขาก็จะประสบความหายนะ” (มัรยัม : 59)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ صَلَّى صَلَاةَ الصُّبْحِ فَهُوَ فِي ذِمَّةِ اللَّهِ، فَلَا يَطْلُبَنَّكُمْ اللَّهُ مِنْ ذِمَّتِهِ بِشَيْءٍ، فَإِنَّهُ مَنْ يَطْلُبْهُ مِنْ ذِمَّتِهِ بِشَيْءٍ يُدْرِكْهُ ثُمَّ يَكُبَّهُ عَلَى وَجْهِهِ فِي نَارِ جَهَنَّمَ» [رواه مسلم]
ความว่า “ใครที่ละหมาดศุบหฺแน่นอนว่าเขาจะได้รับความคุ้มครองภายใต้พันธะสัญญาจากอัลลอฮฺ ดังนั้น อย่าทำให้อัลลอฮฺเรียกร้องพวกเจ้าด้วยพันธะสัญญาใดๆ ของพระองค์(หมายถึงอย่าได้ละทิ้งละหมาดศุบหฺ) ส่วนใครที่อัลลอฮฺไม่คุ้มครอง เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่อัลลอฮฺติดตามเรียกร้อง พระองค์ย่อมจะได้ตัวเขา และแล้วในวันกิยามะฮฺพระองค์ก็จะโยนเขาลงสู่ไฟนรก” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 657)
9. และสิ่งที่ขัดต่ออิสลามอีกประการหนึ่งก็คือการที่คู่สามีภรรยาพากันเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ (ตามที่พวกเขากล่าวอ้าง) ยังประเทศของผู้ปฏิเสธ (กุฟฟารฺ) หรือสถานที่ที่เต็มไปด้วยความชั่วร้าย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวขัดกับคำสอนของท่านนบีอย่างชัดเจน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«أَنَا بَرِيْءٌ مِنْ كُلِّ مُسْلِمٍ يُقِيْمُ بَيْنَ ظَهْرَانَيْ الْمُشْرِكِيْنَ ، لَا تَتَرَاءَىٰ نَارُهُمَا» [رواه الترمذي]
ความว่า “ฉันขอปลีกตัวออกห่างจากมุสลิมทุกคนที่อาศัยรวมอยู่ในกลุ่มของผู้ตั้งภาคี อย่าได้ให้แต่ละบ้าน(ระหว่างมุสลิมและผู้ตั้งภาคี)มองเห็นไฟของบ้านอื่น (อย่าสร้างบ้านให้ใกล้กัน)” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ 657)
และผลที่ตามมาจากการเดินทางไปยังสถานที่เหล่านั้นก็ช่างเลวร้ายยิ่งนัก กล่าวคือ อาจมีการเปิดเผยสรีระเรือนร่าง การปะปนกันระหว่างชายหญิง และการไปร่วมในสถานที่บันเทิงต่างๆ เป็นต้น
والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين .
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน
ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น