การชี้นิ้วของผู้ละหมาดโดยไม่ต้องกระดิกนิ้วหรือกระดิกนิ้วในขณะนั่งตะชะฮฺฮุด ไม่ว่านั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรก หรือครั้งสุดท้าย นักวิชาการมีทัศนะต่างกันดังนี้
ทัศนะแรก
ให้ชี้นิ้วชี้ขวา โดยไม่ต้องกระดิกนิ้ว
ดังหลักฐานอัลหะดิษดังนี้
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ ซุบัยร์ ได้กล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ يُشِيرُ بِأُصْبُعِهِ إِذَا دَعَا وَلَا يُحَرِّكُهَا
"แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้น ได้ชี้ด้วยนิ้วของท่านเมื่ออ่านดุอาตะชะฮุด โดยท่านไม่ได้ทำการเคลื่อนไหวกระดิกนิ้ว" (บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 989, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1269, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132 และท่านอัล-บัฆวีย์ในหนังสือ “ชัรหุ อัซ-ซุนนะฮ์” หะดีษที่ 677)
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺ” เล่มที่ 3 หน้า 454 ว่า สายรายงานของหะดีษนี้ ถูกต้อง
แต่นักวิชาการหะดีษหลายท่านได้กล่าววิจารณ์หะดีษนี้ว่ามีความบกพร่องทั้งในด้านสายรายงานและในด้านตัวบท คือ
ข้อบกพร่องในด้านสายรายงานก็คือ ท่านมุหัมมัด บินอัจญลานซึ่งเป็นผู้รายงานท่านหนึ่งของหะดีษนี้ (เป็นตาบิอีน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 148) แม้ตามปกติเป็นผู้ที่พอจะเชื่อถือได้(صَدُوْقٌ) และได้รับความเชื่อถือจากนักวิชาการบางท่าน แต่ขณะเดียวกันก็ถูกนักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า سَيِّئُ الْحِفْظِ คือ เป็นผู้ที่ความจำแย่ (จากหนังสือ “อัล-กาชิฟ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์ เล่มที่ 3 หน้า 69)
หะดีษซึ่งผู้รายงานที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้รายงานมาจะถือว่า เป็น “สายรายงานที่ถูกต้อง” ดังคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ย่อมไม่ได้ แต่ตามหลักการแล้วต้องถือว่า เป็นหะดีษที่สายรายงานค่อนข้างอ่อน, หรืออย่างดีที่สุดก็อาจกล่าวได้เพียงว่า สายรายงานของมัน หะซัน (สวยงาม) เท่านั้น (หนังสือ “ศิฟะตุ ศ่อลาติ้นนบีย์ฯ” หน้า 159 และหนังสือ “ตะมามุ้ลมินนะฮ์” หน้า 217)
ทัศนะที่2
.ให้ชี้นิ้วชี้ขวา และให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺเมื่อกล่าวถึงประโยคชะฮาดะฮฺ
ผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้คือ ผู้ที่ตามมัซฮับชาฟีอีย์ และมัซฮับฮานาฟีย์
-นักวิชาการสายมัซฮับชาฟีอีย์ มีทัศนะ ว่า ให้ยกนิ้วชี้ครั้งเดียว ขณะกล่าว “อิลลัลลอฮฺ”
-นักวิชาการสายมัซฮับฮานาฟีย์ มีทัศนะ ว่า ให้ยกนิ้วชี้ขณะกล่าวคำว่า “ลา” คือคำปฏิเสธเมื่อถึงคำว่า “อิลลัลลอฮฺ” คือ ยืนยันนั้น ให้ลดนิ้วลงตามเดิม
แต่ทัศนะที่ว่า ให้ยกนิ้วชี้ครั้งเดียว ขณะกล่าว “อิลลัลลอฮฺ” หรือว่า ให้ยกนิ้วชี้ขณะกล่าวคำว่า “ลา” คือคำปฏิเสธเมื่อถึงคำว่า “อิลลัลลอฮฺ” คือ ยืนยันนั้น ให้ลดนิ้วลงตามเดิม นั้นเป็นเพียงทัศนะเท่านั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันอัลกุรอานและอัลหะดิษแต่อย่างใด
ท่านมุบาร็อก ปูรีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ตุห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 185 ว่า
ظَاهِرُ اْلأَحَادِيْثِ يَدُلُّ عَلَى اْلإِشَارَةِ مِنِ ابْتِدَاءِ الْجُلُوْسِ، وَلَمْ أَرَ حَدِيْثًا صَحِيْحًا يَدُلُّ عَلَى مَا قَالَ الشَّافِعِيَّةُ وَالْحَنَفِيَّةُ
“ตามรูปการณ์ของบรรดาหะดีษเหล่านี้ (ที่กล่าวถึงการยกนิ้วชี้ในการอ่านตะชะฮ์ฮุด) แสดงว่า การยกนิ้วชี้ดังกล่าวให้กระทำตั้งแต่เริ่มนั่งตะชะฮ์ฮุดแล้ว, และฉันก็ไม่เคยเจอหะดีษที่ถูกต้องบทใดจะเป็นหลักฐานยืนยันแนวทัศนะชาฟิอีย์และหะนะฟีย์(ในเรื่องนี้)เลย"
ทัศนะที่ 3
ให้ชี้นิ้วชี้ขวา และให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺ ทุกๆการกล่าวถึงพระนามของอัลลอฮฺ
เช่น
เมื่อผู้ละหมาดอ่านดุอาอ์ขณะนั่งตะชะฮฺฮุดในบทต่อไปนี้
“อัตต้าฮี้ยาตุล มุบาร่อกาตุซ ซ่อล่าวาตุตต็อยยี่บาตุ ลิลลาฮฺ , อัซซ่าลามอ้าลัยก้า อัยยุฮันน่าบียุ วะเราะหฺม่าตุลลอฮี ว่าบ้าร่อกาตุฮฺ , อัซซ่าลามุ อ้าลัยนา ว่าอ้าลา อิบาดิลลาฮิซซอลี่ฮีน อัชฮ่าดุ อันลา อิลาฮ่า อิ้ลลัลลอฮฺ , ว่าอัชฮ่าดุ อันน่า มุฮัมม่าดัรฺ ร่อซูลุลลอฮฺ”
เมื่อผู้ละหมาดอ่านดุอาอ์ตะชะฮฺฮุดและกล่าวถึงคำว่า “ ลิลลาฮฺ” ก็ให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺ เมื่อสิ้นสุดคำพระนามของอัลลอฮฺข้างต้น ก็ให้ปล่อยนิ้วที่ชี้ปล่อยลงต่ำ
และเมื่อกล่าวมาถึงคำว่า “ตุลลอฮี” และคำว่า “อิ้ลลัลลอฮฺ” และ "ลุลลอฮฺ" ก็ให้ผู้ละหมาดกระทำการชี้นิ้วเหมือนเช่นที่กระทำเมื่อกล่าวถึงคำ“ตุ ลิลลาฮฺ”
ผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้คือ ผู้ที่ตามมัซฮับฮัมบาลีย์
-นักวิชาการสายมัซฮับฮัมบาลีย์ มีทัศนะ ให้ชี้นิ้วทุกครั้งที่ระบุถึงพระนามของอัลลอฮฺ เป็นการชี้ถึงการให้เอกภาพ(เตาฮีด) ไม่ต้องกระดิกนิ้วแต่ประการใด
ทัศนะให้ชี้นิ้วชี้ขวา และให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺ ทุกๆการกล่าวถึงพระนามของอัลลอฮฺ ก็เป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการไม่มีหลักฐานยืนยันอัลกุรอานและอัลหะดิษเช่นเดียวกันทัศนะที่ 2
ทัศนะที่ 4
ให้ชี้นิ้วชี้ขวา พร้อมกระดิกนิ้วชี้ขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺตลอดที่อ่านดุอาอ์ขณะนั่งตะชะฮฺฮุด อ่านศอละวาตนบี และอ่านดุอาอ์ตามความประสงค์ก่อนให้สลาม
ผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้คือ ผู้ที่ตามมัซฮับมาลีกีย์
-นักวิชาการสายมัซฮับมาลิกีย์ มีทัศนะ ว่า ให้กระดิกนิ้วขวาและซ้ายไปจนจบละหมาด
ต่อไปนี้กล่าวถึงถึงหะดิษที่ให้ชี้นิ้วชี้ขวา พร้อมกระดิกนิ้วชี้ตั้งแต่เริ่มกล่าวดุอาอ์ตะชะฮฺฮุดไปจนจบละหมาด
จากวาอีล บิน หะญัร เขาได้กล่าวในเรื่องลักษณะการละหมาดของเราะซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า
حَاذَتَا بِأُذُنَيْهِ، ثُمَّ وَضَعَ يَدَهُ الْيُمْنَى عَلَى كَفِّهِ الْيُسْرَى وَالرُّسْغِ وَالسَّاعِدِ، فَلَمَّا أَرَادَ أَنْ يَرْكَعَ رَفَعَ يَدَيْهِ مِثْلَهَا، قَالَ : وَوَضَعَ يَدَيْهِ عَلَى رُكْبَتِيْهِ ثُمَّ لَمَّا رَفَعَ رَأْسَهُ رَفَعَ يَدَيْهِ مِثْلَهَا، ثُمَّ سَجَدَ فَجَعَلَ كَفَّيْهِ بِحِذَاءِ أُذُنَيْهِ، ثُمَّ قَعَدَ وَافْتَرَشَ رِجْلَهُ الْيُسْرَى وَوَضَعَ كَفَّهُ الْيُسْرَى عَلَى فَخِذِهِ وَرُكْبَتِهِ الْيُسْرَى، وَجَعَلَ حَدَّ مِرْفَقِهِ اْلأَيْمَنِ عَلَى فَخِذِهِ الْيُمْنَى، ثُمَّ قَبَضَ اثْنَتَيْنِ مِنْ أَصَابِعِهِ، وَحَلَّقَ حَلْقَةً، ثُمَّ رَفَعَ إِصْبَعَهُ، فَرَأَيْتُهُ يُحَرِّكُهَا يَدْعُوْ بِهَا
“ขอยืนยันว่าฉันได้พิจารณาดูท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่าท่านจะละหมาดอย่างไร ฉันเห็นท่านยืนขึ้นแล้วกล่าวตักบีรฺ โดยท่านจะยกมือทั้งสองขึ้นจนเสมอกับหูทั้งสองของท่าน หลังจากนั้นท่านก็วางมือขวาทับบนมือซ้าย ข้อมือ และท่อนแขนซ้ายของท่าน เมื่อท่านต้องการจะรุกั๊วะอฺ ท่านก็ยกมือทั้งสองขึ้นในลักษณะเดิม (ท่านวาอิลกล่าวต่อไปว่า) และวางมือทั้งสองของท่านบนเข่าทั้งสองของท่าน ต่อมาเมื่อเงยศีรษะขึ้น (มายืนเอี๊ยะอฺติดาล) ท่านก็ยกมือทั้งสองขึ้นในลักษณะเดิมอีก แล้วท่านก็สุญูด ซึ่งท่านจะวางฝ่ามือทั้งสองของท่านให้เสมอกับหูทั้งสองของท่าน ต่อมา ท่านก็(ลุกขึ้นมา)นั่ง โดยจะแบเท้าซ้ายออก (รองก้น คือนั่งอิฟติรอช) และท่านจะวางฝ่ามือซ้ายลงบนขาและเข่าข้างซ้ายของท่าน และวางข้อศอกขวาลงบนขาข้างขวาของท่าน แล้วท่านก็กำนิ้วของท่านสองนิ้ว (คือนิ้วนางกับนิ้วก้อย) และทำให้นิ้ว (หัวแม่มือกับนิ้วกลาง)จรดกันเป็นวง ต่อมาท่านก็ยกนิ้ว(ชี้)ของท่านขึ้น แล้วฉันเห็นท่านกระดิกมันพร้อมกล่าววิงวอน (คือ อ่านตะชะฮ์ฮุด)"
(บันทึกหะดิษโดย อะหมัด,อันนะสาอีย์,อบูดาวูดและอื่นจากพวกเขา)
ที่มาของหะดิษ
ثبت في ((مسند أحمد)) : (4/318) و ((المجتبى)) للنسائي : (2/126 -127) و ( 3/371) و ((سنن أبي داود)) : رقم (713) و ((صحيح ابن خزيمة)) رقم (480) و (714) و ((المنتقى)) لابن الجارود : رقم (208) و ((صحيح ابن حبان)) : رقم (1851 – موارد) و (( السنن الكبرى)) للبيهقي : (2/27 و 28 و 132) و ((المعجم الكبير)) للطبراني : (22/35) عن وائل بن حُجر ـ رضي الله عنه
สายรายงานของหะดีษบทนี้ มีดังต่อไปนี้
1. ท่านมุอาวิยะฮ์ บินอัมรฺ รายงานจากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่านคือท่านกุลัยบ์ บินชิฮาบ, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์
(บันทึกโดย ท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 1380, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132, ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 714 และท่านอิบนุหิบบาน หะดีษที่ 1860)
2. ท่านอับดุลลอฮ์ บินมุบาร็อก รายงานจากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์
(บันทึกโดย ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 888 และ 1267)
3. ท่านอับดุศเศาะมัด บินอับดุลวาริษ ได้รายงานจากท่านซาอิดะฮ์บินกุดามะฮ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์, จากบิดาของท่าน, จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์
(บันทึกโดย ท่านอิหม่ามอะห์มัดในหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 4 หน้า 318)
เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า ท่านมุอาวิยะฮ์ บินอัมรฺ, ท่านอับดุลลอฮ์ บินมุบาร็อก และท่านอับดุศเศาะมัด บินอับดุลวาริษ ต่างก็รายงานหะดีษนี้มาจากแหล่งเดียวกันคือ จากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ แล้วสืบสายรายงานต่อไปจนถึงท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์
สำหรับท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ (สิ้นชีวิตในปีฮ.ศ.160) ที่รายงานเพิ่มคำว่า กระดิกนิ้ว เป็นผู้รายงานหะดีษจำนวนน้อยที่นักวิชาการมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ความเชื่อถือท่าน และเป็นความเชื่อถือในระดับสูงมาก
ยกตัวอย่างทัศนะของนักวิชาการบางท่านที่มีต่อท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ ดังนี้
1. ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 1 หน้า 256 ว่า
زَائِدَةُ بْنُ قَدَامَةَ الثَّقَفِىُّ، أَبُوالصَّلْتِ، الْكُوْفِىُّ، ثِقَةٌ ثَبْتٌ، صَاحِبُ سُنَّةٍ
“ซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ อัษ-ษะกอฟีย์, อบุศศ้อลต์, เป็นชาวเมืองกูฟะฮ์, เชื่อถือได้, มีความมั่นคงแน่นอนมาก(ในการรายงานหะดีษ) เป็นชาวซุนนะฮ์”
2. ท่านอัษ-ษะฮะบีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-กาชิฟ” เล่มที่ 1 หน้า 246 ว่า
زَائِدَةُ بْنُ قُدَامَةَ، أَبُوالصَّلْتِ، اَلثَّقَفِىُّ، اَلْكُوْفِىُّ، اَلْحَافِظُ، ... ثِقَةٌ حُجَّةٌ
“ซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์, อบุศศ็อลต์, อัษ-ษะกอฟีย์, เป็นชาวเมืองกูฟะฮ์, เป็นผู้ที่มีความจำดีเยี่ยม, เชื่อถือได้, เป็นหลักประกันได้เรื่องหะดีษ”
3. ท่านอิบนุหิบบาน ได้กล่าวในหนังสือ “อัษ-ษิกอต” เล่มที่ 6 หน้า 340 ว่า
كَانَ مِنَ الْحُفَّاظِ الْمُتْقِنِيْنَ، وَكَانَ لاَ يَعُدُّ السَّمَاعَ حَتىَّ يَسْمَعَهُ ثَلاَثَ مَرَّاتٍ، وَكَانَ لاَ يُحَدِّثُ أَحَدًا حَتىَّ يَشْهَدَ عَنْهُ عَدْلٌ أَنَّهُ مِنْ أَهْلِ السُّنَّةِ
“ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ เป็นหนึ่งจากผู้ที่มีความจำดีเยี่ยมและละเอียดประณีต (ในเรื่องหะดีษ) มาก, ท่านจะไม่ถือว่าได้ยิน(หะดีษจากผู้ใด) จนกว่าท่านจะได้ฟังมันถึงสามครั้ง, และท่านจะไม่ยอมพูดเรื่องหะดีษกับผู้ใดจนกว่าจะมีผู้มีคุณธรรมมายืนยันกับท่านว่า บุคคลผู้นั้นเป็นชาวซุนนะฮ์”
4. ท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ได้กล่าว .. ดังบันทึกในหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” .. เล่มที่ 3 หน้า 265 ว่า
مِنَ اْلأَثْبَاتِ اْلأَئِمَّةِ
“เขาเป็นหนึ่งจากผู้ที่แน่นมากในเรื่องหะดีษ, เป็นผู้นำ(ในเรื่องหะดีษ)”
กฎเกณฑ์ของวิชามุศเฏาะละฮ์หะดีษระบุว่า ข้อความจากการรายงาน “เพิ่มเติม” ของผู้ที่เชื่อถือได้ จะเป็นที่ยอมรับ ตามกฎเกณฑ์ที่ว่า
زِيَادَةُ الثِّقَةِ مَقْبُوْلَةٌ
“การรายงานเพิ่มเติมของผู้ที่เชื่อถือได้นั้น จะต้องยอมรับ”
ดังนั้น การรายงานเพิ่มเติมของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ จากคำพูดของท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎัยัลลอฮุอันฮู ด้วยข้อความที่ว่า แล้วฉันก็เห็นท่านกระดิกนิ้วชี้ จึงถือเป็นข้อความที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการหะดีษ
สายรายงานข้างต้นนี้ทั้งหมด เป็นสายรายงานที่ถูกต้องโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ และข้อความที่รายงานมา
และไม่ปรากฏมีนักวิชาการท่านใดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ไม่ว่าท่านอิหม่ามนะวะวีย์, ท่านอัล-บัยฮะกีย์, ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม เป็นต้น จะปฏิเสธความถูกต้องของ “สายรายงาน” หะดีษบทนี้แม้แต่ท่านเดียว ไม่ว่าเขาจะยอมปฏิบัติตาม “เนื้อหา” ของหะดีษนี้ คือการกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดหรือไม่ก็ตาม
หะดีษที่รายงานว่าท่านนบีย์ยกนิ้วชี้ขึ้นแล้วกระดิกนิ้วชี้ด้วยนี้ ถือเป็นหะดีษที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องลักษณะการนั่งตะชะฮ์ฮุด,ลักษณะการวางมือและลักษณะนิ้วของท่านนบีย์ขณะนั่งตะชะฮ์ฮุดไว้อย่างละเอียดที่สุดยิ่งกว่าทุกกระแสที่มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้
ส่วนการกระดิกนิ้ว ให้กระดิกตลอดหรือไม่
เมื่อรายงานมาถึงตอนนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุด ท่านวาอิลก็ได้รายงานลักษณะมือของท่านนบีย์อย่างต่อเนื่องว่า ท่านได้กำนิ้วสองนิ้ว, อีกสองนิ้วจรดกันเป็นวงกลม, แล้วก็ยกนิ้วชี้ขึ้น แล้วก็กระดิกมัน
แสดงว่า ตามรูปการณ์แล้ว ให้กระดิกนิ้วชี้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นอ่านตะชะฮ์ฮุดเป็นต้นไปจนจบหรือสิ้นสุดการอ่านตะชะฮ์ฮุดนั้น
ท่านอบูอุบัยดะฮ มัชฮูร บิน หะซันกล่าวว่า
فهذه رواية صحيحة صريحة في تحريك الأصبع ، وجاء وصف فعله بـ (( يحرِّك )) وهو فعل مضارع ، يفيد الاستمراريّة حتى تسليم المصلّي و فراغه من صلاته ، ويدل على ذلك ، قوله :
((يدعو بها))
และนี้คือ รายงานที่เศาะเฮียะ อีกทั้งชัดเจน ในการกระดิกนี้ว และปรากฏลักษณะการกระทำของท่านนบี ด้วยคำว่า (ยุหัรริกุ) มันเป็นกริยาปัจจุบันกาล มีความหมายว่า กระดิกตลอดจนกระทั่งผู้ละหมาดกล่าวสลามและเสร็จสิ้นการละหมาดของเขา และ คำพูดของเขา(วาอีล)ที่ว่า (และท่านนบีได้อ่านดุอาด้วยมัน) เป็นหลักฐานแสดงบอกดังกล่าว - ดู อัลเกาลุลมุบีน ฟี อัคเฏาะอิลมุศอ็ลลีน หน้า 162
ท่านอัลอะซีม อะบาดี กล่าวว่า
وفيه تحريكها دائما
ในมัน(ในหะดิษวาอีล) แสดงว่า การกระดิกมัน(นิ้ว)นั้น (กระดิก)ตลอด - เอานุ้ลมะอฺบูด เล่ม 1 หน้า 374
จึงสรุปได้ว่า การกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด ถือเป็นซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และการกระดิกนิ้วนั้นให้กระดิกตลอดจนจบการละหมาด
ดังนั้น การกระดิกนิ้ว หรือไม่กระดิกนิ้ว หรือให้ชี้นิ้ว หรือให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺเมื่อกล่าวถึงประโยคชะฮาดะฮฺ หรือเมื่อกล่าวถึงพระนามของอัลลอฮฺ นั้นเป็นข้อขัดแย้งบางอย่างซึ่งเป็นปลีกย่อย ของชาวสลัฟ แต่พวกเขาก็ไม่ได้สร้างความเป็นอริต่อกัน เพราะความขัดแย้งนั้น พวกเขาต่างยึดมั่นในการอิจญ์ติฮาดของตนเอง
แต่มุสลิมบ้านเราบางคน หรือบางกลุ่ม กลับมีความแย้งกันและเป็นอริต่อกันในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า ตั้งแต่ศึกษาเล่าเรียนศาสนามา ก็ไม่เคยเห็นโต๊ะครูเขาสอนให้กระดิกนิ้วขณะกล่าวดุอาอ์ตะชะฮฺฮุดเลย นั่นก็จริงอยู่ที่ว่าในตำราเรียนศาสนาบ้านเราซึ่งต่างก็สังกัดมัซฮับชาฟีอีย์ ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องกระดิกนิ้ว แต่กล่าวถึงให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺเมื่อกล่าวถึงประโยคชะฮาดะฮฺ ซึ่งเป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการ แต่การกระดิกนิ้วขณะชี้เมื่ออ่านดุอาอ์ตะชะฮฺฮุด นั้นมีหลักฐานอ้างอิง เป็นแบบอย่างการปฏิบัติจากท่านรสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม อย่างชัดเจน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่กระดิกนิ้วขณะชี้เมื่ออ่านดุอาอ์ตะชะฮฺฮุด กระทำไปโดยตามอำเภอใจ หรือไม่มีหลักฐานรับรองแต่อย่างใด
والله أعلم بالصواب
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น