การมีความจริงใจต่อการดะอฺวะฮฺ การเสียสละเพื่องานดะอฺวะฮฺ หรือการอยู่ในหมู่คนกลุ่มแรกที่เข้าร่วมงานในขอบเขตนี้ เหล่านี้มิใช่คุณสมบัติเพียงประการเดียวของการเป็นผู้นำในทำงานเพื่ออิสลาม
ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองในทัศนะของอัลลอฮฺ สุบหฯ และในสายของประชาชนก็ตาม ประเภทของภาวะผู้นำที่ต้องการนั้นควรเป็นบุคคลที่มีความสามารถในทางปัญญา จิตวิทยาและความสามารถในทางการปฏิบัติจริง นอกเหนือจากการมีคุณสมบัติเบื้องต้นทางด้านบุคลิก ธรรมจริยาและอีมานตามแบบนิยมที่ยึดสืบต่อกันมา
สำหรับภาวะผู้นำนั้น ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงบุคคลที่อยู่ในระดับบนสุดของการปกครองโดยลำดับขั้น แต่หมายถึงกลุ่มคณะที่วางแผนปฏิบัติงาน ลงมือทำงาน อำนวยการและควบคุมงาน ตลอดจนทำให้การงานเหล่านั้นออกมาดีที่สุดภายใต้การบังคับบัญชาของกลุ่มคณะดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นจาก "ภาวะที่ถูกทำลาย" ไปสู่ "การสร้างสรรค์" จาก "การโต้เถียงขัดแย้ง" ไปสู่ "การปฏิบัติงาน" และจาก "ความเกียจคร้าน" ไปสู่ "การดิ้นรนต่อสู้อย่างจริงจัง"
สิ่งที่มีความสำคัญ ณ ที่นี้ได้แก่ เราควร(กระทั่งจะต้อง)เตรียมภาวะผู้นำซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับยุคสมัยที่กำลังมาถึง เพื่อทำให้เป็นที่มั่นใจว่าผู้ที่จะเข้ามายืนถือหางเสือเรือนั้นมีเพียงเหล่าผู้นำที่เข้มแข็ง สัตย์ซื่อ วางใจได้และรอบรู้เท่านั้น เราต้องเตรียมภาวะผู้นำทางด้านแนวความคิด การศึกษาและการเมืองให้พร้อม
นี่คือสิ่งที่เราต้องขบคิดอย่างจริงจัง และดำเนินมาตรการและจังหวะก้าวในทางปฏิบัติที่จำเป็นเพื่อทำให้เรื่องนี้สัมฤทธิผล เราต้องแปรเปลี่ยนทฤษฎีไปเป็นการนำไปปฏิบัติ
ณ จุดนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขออภิปรายเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของแนวความคิดที่เราจะสถาปนาขึ้น(ในตัวผู้นำการปฏิบัติงานรุ่นใหม่)โดยผ่านความมานะบากบั่นที่ปรารถนาอย่างแรงกล้านี้
แนวความคิดซึ่งการตัรฺบียะฮฺอันเป็นที่ต้องการของเราตั้งมั่นอยู่นั้นมีลักษณะพิเศษที่บรรดาครูบาอาจารย์ควรจะค้นหาและทำให้เป็นที่ยอมรับ ... แนวคิดเหล่านี้ได้แก่
๑ .ฟิกรุน สลาฟียุน - แนวความคิดสะลาฟีย์
๒. ฟิกรุน ตัจญดีดียุน - แนวความคิดฟื้นฟู
๓. ฟิกรุน อิลมียุน - แนวความคิดวิทยาศาสตร์
๔. ฟิกรุน วากิอียุน - แนวความคิดที่เป็นจริง
๕. ฟิกรุน วะสะฏียุน - แนวความคิดสายกลาง
๖. ฟิกรุน มุสตักบะลียุน - แนวความคิดอนาคตศาสตร์
* * * * * * * * * *
ฟิกรุน สลาฟียุน - แนวความคิดสะลาฟีย์
ในบรรดาลักษณะพิเศษเฉพาะของแนวความคิดนี้ได้แก่ความเป็นแนวความคิดสะลาฟีย์(แนวทางของชนมุสลิมยุคแรก) คำว่า "สะลาฟีย์" นี้ข้าพเจ้าหมายถึงว่ามันควรจะเป็นแบบวิธีทางปัญญาที่วางอยู่บนพื้นฐานของการใช้ความเข้าใจในบทบัญญัติของอัล-กุรฺอาน และข้อแนะนำของสุนนะฮฺตามที่เข้าใจโดยชนรุ่นที่ประเสริฐที่สุดของอุมมะฮฺ ซึ่งได้แก่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลฯ และบรรดาผู้ดำเนินตามแนวทางของพวกเขาอย่างถูกต้อง
หลักมูลฐานของแบบวิธีสะลาฟีย์ที่แท้จริง
แบบวิธีนี้โดยทั่วไปวางอยู่บนพื้นฐานของหลักการและหลักมูลฐานต่อไปนี้ :
1. ตัดสินโดยอาศัยตัวบทที่บริสุทธิ์ มิได้อาศัยคำพูดของคนเราเป็นเครื่องตัดสิน
2. ใช้การกำหนดความหมายของมุตะชาบิฮาต(ตัวบทที่เข้าใจยาก)โดยอาศัยมุฮฺกะมาต(ตัวบทที่เข้าใจง่าย) และกำหนดความหมายของซ็อนนียาต(ตัวบทที่ไม่มีข้อสรุปแน่นอน)โดยอาศัยก็อฏอียาต(ตัวบทที่มีข้อสรุปแน่นอน)เป็นเครื่องตัดสิน
3. ทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นฟุรูอฺ(ข้อคิดเห็นที่ไม่สำคัญ)และญุซฺอียาต(ข้อวินิจฉัยเรื่องปลีกย่อย)โดยอาศัยอุศูล(หลักพื้นฐาน)และกุลลียาต(หลักทั่วไป)เป็นเครื่องนำทาง
"ทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นฟุรูอฺ และญุซฺอียาต (ข้อวินิจฉัยเรื่องปลีกย่อย)โดยอาศัยอุศูล(หลักพื้นฐาน)และกุลลียาต(หลักทั่วไป)เป็นเครื่องนำทาง"
4. ส่งเสริมสนับสนุนอิจญ์ติฮาด(การวินิจฉัยปัญหาศาสนาของบุคคลที่อยู่ในระดับมุจญ์ตะฮิด)และตัจญ์ดีด(การฟื้นฟู) ประณามความไม่ยืดหยุ่นและตักลีด(การทำตามอย่างไร้สติ)
5. ในเรื่องของธรรมจริยา มีการส่งเสริมสนับสนุนการยึดมั่นในความประพฤติที่ถูกต้อง ไม่ส่งเสริมความหละหลวม
6. ในขอบเขตของฟิกฮฺ มีการส่งเสริมสนับสนุนตัยสีรฺ(การทำให้สะดวกง่ายดาย) แต่ไม่ส่งเสริมสนับสนุนตะอฺสีรฺ(การทำให้สิ่งต่างๆ ยุ่งยากและลำบาก)
7. ในขอบเขตของการชี้แนะและการนำทาง มีการส่งเสริมสนับสนุนตับชีรฺ (มีความสุภาพอ่อนโยนต่อประชาชน และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยดี)มากกว่าที่จะส่งเสริมสนับสนุนตันฟีรฺ(ทำให้พวกเขาหวาดกลัวโดยมีท่าทีหยาบกระด้างต่อพวกเขา)
8. ในขอบเขตของอะกีดะฮฺ มีการทุ่มเทความสนใจให้กับการบ่มเพาะอีมานที่ถูกต้องและมั่นคง แต่ไม่สนใจกับญิดาล(การโต้เถียง)
9. ในขอบเขตของอิบาดะฮฺ มีการทุ่มเทความสนใจให้กับรูฮฺ (จิตใจและเนื้อหาสาระ) แต่ไม่สนใจกับชักลฺ(รูปแบบ)
10. ให้ความสนใจกับการยึดมั่นกฎเกณฑ์ในเรื่องทางศาสนา และการสร้างสรรค์ใหม่ของระเบียบกฎเกณฑ์ทางโลก
นี่คือสารัตถะของแบบวิธีที่เหล่าผู้ศรัทธาในยุคแรกปฏิบัติตาม และนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติของชนรุ่นหัวกระทิของอุมมะฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺ ศุบหฯ ได้ทรงยกย่องชมเชยชนรุ่นนี้เอาไว้ในอัล-กุรฺอาน ท่านนบี ศ็อลฯ เองได้สดุดีพวกเขาเอาไว้ในหะดีษ นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาควรคู่แก่การยกย่องสรรเสริญอย่างแท้จริง
พวกเขาได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับอัล-กุรฺอานให้แก่ชนรุ่นต่อๆ มา พวกเขาจดจำสุนนะฮฺ บรรลุสู่ชัยชนะ แพร่กระจายแสงสว่างของความยุติธรรมและเอี๊ยะฮฺซาน สถาปนารัฐแห่งความรู้และอีมาน สร้างอารยธรรมที่เป็นสากล ที่เคร่งครัดศาสนา มีมนุษยธรรมและเกี่ยวกับธรรมจริยา .ความทรงจำหรืออนุสรณ์ของพวกเขายังคงมีอยู่ในประวัติศาสตร์
ความอยุติธรรมที่ "อัส-สะลาฟียะฮฺ" ได้รับทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน
คำว่า "สะลาฟียะฮฺ" ได้รับการปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรมจากผู้สนับสนุน และจากผู้ต่อต้านด้วยเช่นกัน
ผู้สนับสนุนสะลาฟียะฮฺจำนวนมาก หรือบรรดาผู้ที่ถูกประชาชนกล่าวอ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนสะลาฟียะฮฺ หรือผู้ที่อ้างตัวเองก็ตาม บุคคลเหล่านี้ได้ตีวงแบบวิธีนี้ให้เป็นเพียงเค้าโครงของสิ่งที่เป็นระเบียบแบบแผนและการโต้เถียงปัญหาศาสนาที่เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของอิลมฺ อัล-กะลาม(ศาสตร์ทางด้านปรัชญา) ฟิกฮฺหรือตะเศาวุฟ พวกเขาใช้เวลาช่วงกลางวันและไม่ยอมหลับไม่ยอมนอนตลอดทั้งคืนตั้งป้อมโจมตีอย่างไม่ปรานีปราศรัยเล่นงานบุคคลใดก็ตามที่คัดค้านความคิดเห็นของพวกเขาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือปฏิเสธคำวินิจฉัยของบุคคลเหล่านั้นในส่วนที่เกี่ยวกับรายละเอียดข้อใดข้อหนึ่ง
ทัศนคติของพวกเขากลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะ จนกระทั่งปัจจุบันคนบางคนคิดว่าแบบวิธี "สะลาฟีย์" เป็นแบบวิธีของการโต้เถียงปัญหาศาสนา ไม่ใช่การสร้างสรรค์และผลงานอะไรเลย หรือบางคนคิดว่าสะลาฟีย์สนใจแต่เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยโดยยอมสูญเสียหลักทั่วไป หรือสนใจแต่ข้อคิดเห็นที่เป็นเรื่องถกเถียงขัดแย้งโดยยอมสูญเสียทัศนะที่ได้รับการเห็นพ้อง ตลอดจนสนใจแต่เรื่องรูปแบบและตัวอักษรโดยยอมสูญเสียจิตใจและแก่นสารไป
ในทางตรงกันข้าม ผู้ต่อต้าน "อัส-สะลาฟียะฮฺ" พรรณนาว่ามันเป็นความล้าหลัง กล่าวคือสะลาฟีย์มักจะมองย้อนหลัง ไม่ยอมเคลื่อนไปข้างหน้า และไม่มีความหาญกล้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้พวกเขายังพรรณนาว่าสะลาฟีย์เป็นความบ้าคลั่ง ไม่เคยรับฟังและไม่เคยสนใจความคิดเห็นของคนอื่น เพราะพวกเขาถือว่าสะลาฟีย์สวนทางกับตัจญ์ดีด อิบดาอฺ(การสร้างสรรค์ใหม่)และอิจญ์ติฮาด และยังห่างไกลจากทางสายกลางอีกด้วย แท้จริงนี่คือความอยุติธรรมที่เกิดกับแนวทางสะลาฟียะฮฺ ตลอดจนผู้สนับสนุนที่แท้จริงของแนวทางนี้
บางทีผู้สนับสนุนแนวทาง "อัส-สะลาฟียะฮฺ" ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในยุคก่อนๆ นั้นเห็นจะได้แก่ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะฮฺ และท่าน อัล-อิมาม อิบนิ อัล-กอยยิม ลูกศิษย์ของท่าน ทั้งสองท่านเป็นตัวแทนของขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นฟูอิสลามในยุคสมัยของพวกท่านที่คู่ควรที่สุดโดยแท้จริง ขบวนการเคลื่อนไหวของพวกท่านเป็นการฟื้นฟูศาสตร์ต่างๆ ของอิสลามในลักษณะรอบด้าน พวกท่านยืนเผชิญหน้ากับการตักลีดและลัทธิคลั่งไคล้ทางอุดมการณ์ ทางศาสนศาสตร์และทางนิติบัญญัติอิสลาม(ฟิกฮฺ)ที่เข้ามาครอบงำความคิดอิสลามเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ท่านจะต่อต้านแบบวิธีของการตักลีดที่มีลักษณะคลั่งไคล้ก็ตาม แต่พวกท่านก็ยังให้ความเคารพและการยกย่องแก่เหล่าอิมามของมัซฮับ(สำนักนิติบัญญัติอิสลาม)ต่างๆ ตามสมควร ดังที่ท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺเขียนไว้ในตำราของท่านชื่อ "ลบล้างคำกล่าวโทษที่มีต่ออิมามผู้มีชื่อเสียง"
ยิ่งกว่านั้น ในการรณรงค์ของพวกท่านเพื่อต่อต้านความวิปลาสทางด้านแนวความคิดและทางคำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสนับสนุนของบรรดาสำนักคิดฮุลูล(พระเจ้าเสด็จลงมาสิงสถิตในตัวมนุษย์)และอิตติฮาด(การขึ้นไปรวมกับพระเจ้า) และความเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมที่แทรกซึมเข้ามาในตะเศาวุฟโดยเงื้อมมือของคนโง่เขลา คนหลอกลวงและพวกที่เห็นแก่เงิน ท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺ และท่านอิบนิ อัล-กอยยิมได้ปฏิบัติด้วยความยุติธรรมต่อแนวทางตะเศาวุฟขนานแท้ และยังได้ยกย่องชมเชยผู้สนับสนุนตะเศาวุฟที่ซื่อสัตย์อีกด้วย พวกท่านได้ผลิตตำรับตำรามากมายทางด้านนี้ ในหนังสือชุดใหญ่ "มัจมัวอฺ ฟะตาวา" (ประมวลคำวินิจฉัยทางศาสนา) ของท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺ ปรากฏว่ามีข้อเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงสองเล่มด้วยกัน ท่านอิบนิ กอยยิมเองได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือหนังสือ "มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน" (วิถีของผู้เดินทาง) และ "ชัรฺฮ มะนาซิล อัส-สาอิรีน" (คำอธิบายว่าด้วยสถานที่หยุดพักของนักเดินทาง)จำนวนสามเล่มด้วยกัน
นอกเหนือจากคำวินิจฉัยของพวกเขายังต้องนำแบบวิธีของสะลัฟมาใช้ด้วย
ข้าพเจ้าจำต้องย้ำเอาไว้ ณ ที่นี้ว่า เราต้องปฏิบัติตามแนวทางของสะลัฟ มิใช่จะปฏิบัติตามเฉพาะคำพูดของพวกเขาเพียงอย่างเดียว เพราะบุคคลอาจนำเอาคำวินิจฉัยของพวกเขามาประยุกต์ใช้ในรายละเอียดปลีกย่อยบางเรื่อง แต่กลับไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับแบบวิธีที่มีความสมดุลและมีลักษณะประสานกันของพวกเขา
บุคคลอาจจะนำเอาแก่นของแบบวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้ และพยายามให้บรรลุเป้าหมาย ขณะเดียวกันอาจจะมีความเห็นผิดแผกไปจากความคิดเห็นของเหล่ามุสลิมยุคแรกในบางข้อก็อาจเป็นไปได้
นี่คือคำอธิบายว่าข้าพเจ้ามีจุดยืนที่แตกต่างจากท่านอิมามอิบนิ ตัยมียะฮฺ และอิมามอิบนิ อัล-กอยยิมได้อย่างไร ข้าพเจ้าเคารพและชื่นชมแบบวิธีของพวกท่านโดยรวม แต่นั่นก็มิได้ทำให้ข้าพเจ้ายอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทั้งสองเคยพูดเอาไว้ ถ้าข้าพเจ้ายอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทั้งสองพูดเอาไว้ ก็เท่ากับข้าพเจ้ากำลังตักลีดตามท่านทั้งสองในทุกสิ่งทุกอย่าง และดังนั้นจึงเป็นการละเมิดแบบวิธีที่ท่านทั้งสองสนับสนุน และแบบวิธีที่ทำให้ท่านทั้งสองต้องต่อสู้กับความยากลำบากและการต่อต้านคัดค้านนานาชนิด แบบวิธีของพวกท่านเรียกร้องให้มีการไตร่ตรอง ให้ตัดสินด้วยข้อพิสูจน์ และพิเคราะห์โดยตัวข้อวินิจฉัยเอง มิใช่โดยตัวตนของผู้ที่ทำการวินิจฉัย
ดังนั้น เมื่อคนผู้หนึ่งยังตักลีดตามท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺ และท่านอิบนิ อัล-กอยยิม แล้วการที่ผู้นั้นวิพากษ์วิจารณ์บรรดาบุคคลที่ตักลีดตามอิมามอบู หะนีฟะฮฺ และอิมามมาลิกจะเป็นเรื่องถูกต้องได้อย่าง?
นอกจากนี้ มันออกจะไม่เป็นธรรมแก่ท่านอิมามทั้งสอง หากจะพาดพิงเฉพาะภาควิชาการและภาคสติปัญญาในชีวิตของท่านทั้งสอง โดยละเลยด้านอื่นๆ ที่โชติช่วงชัชวาลในชีวิตอันกระตือรือร้นของท่านทั้งสอง เราไม่ควรจะละเลยรูปการร็อบบานีย์(เคร่งครัดและยำเกรงต่อพระเจ้า)ที่ทำให้บุรุษอย่างอิบนิ ตัยมียะฮฺ กล่าวว่า "บางครั้งฉันก็กล่าวว่า ถ้าผู้อยู่ในญันนะฮฺ(สวนสวรรค์)ดำเนินชีวิตเหมือนกับของฉัน เมื่อนั้นก็หมายความว่าพวกเขาได้ดำเนินชีวิตที่งดงามแล้ว" นอกจากนี้ ท่านยังเคยกล่าวในยามทุกข์ยากและในยามถูกกักขังว่า "บรรดาศัตรูของฉันจะสามารถทำอะไรกับฉันได้? การถูกกักขังของฉันเป็นการแยกตัวมาอยู่อย่างสันโดษ (เพื่อทำอิบาดะฮฺ) และการถูกเนรเทศของฉันเป็นการเดินทางเพื่อศาสนา( เช่นเพื่อแสวงหาความรู้) และการถูกประหารชีวิตของฉันเป็นชะฮาดะฮฺ(การพลีชีพ)"
ท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺเป็นผู้มีรสนิยมเคร่งครัดในศาสนา เช่นเดียวกับอิบนิ อัล-กอยยิม ลูกศิษย์ของท่าน ผู้ใดก็ตามที่อ่านตำรับตำราของท่านทั้งสองด้วยความตั้งใจและสุจริตใจย่อมจะตระหนักในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้นเราไม่ควรจะละเลยแง่มุมทางด้านการสนับสนุนช่วยเหลืองานดะอฺวะฮฺและญิฮาดในชีวิตของท่านอิมามทั้งสอง ท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺเคยมีส่วนร่วมในยุทธการทางทหารด้วยตัวของท่านเองเป็นบางครั้ง ท่านได้ต่อสู้ด้วยมือของท่านเอง และคำพูดของท่านยังได้คุ้ยเขี่ยไฟแห่งความเร่าร้อนให้ลุกโชนในหัวใจของทหารคนอื่นๆ ท่านอิมามทั้งสองดำรงชีวิตอยู่ในการดิ้นรนต่อสู้อย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อฟื้นฟูอิสลาม ต้องเข้าคุกหลายครั้งเพราะความพยายามอันเร่าร้อนของพวกท่าน จนกระทั่งชัยคุลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะฮฺ สิ้นชีวิตในคุกในปีฮิจเราะฮฺศักราช 728 นี่คือสิ่งที่สะลาฟียะฮฺขนานแท้เป็นไป !
ถ้าเราตรวจสอบประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเรา เราจะพบว่าอุละมาอฺผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดซึ่งสนับสนุนส่งเสริมสะลาฟียะฮฺในบทความ หนังสือและนิตยสารของท่าน และยังได้ชูธงสะลาฟียะฮฺสมัยใหม่นั้นได้แก่อัลลามะฮฺ มุฮัมมัด รอชีด ริฎอ ท่านเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของนิตยสาร "อัล-มะนารฺ" ตัฟซีรฺ อัล-มะนารฺซึ่งเป็นตัฟซีรฺที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลกมุสลิมยังได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารดังกล่าว
อิมามมุฮัมมัด รอชีด ริฎอ เป็นผู้ฟื้นฟูอิสลามในยุคสมัยของท่านอย่างแท้จริง ผู้ใดก็ตามที่อ่านตัฟซีรฺของท่าน ฟะตาวาของท่าน หรือหนังสือของท่าน เช่น อัล-วะหฺยุล มุฮัมมะดีย์ (การดลใจของมุฮัมมัด) ยุสรุล อิสลาม (ความง่ายดายของอิสลาม) นิดาอุ ลิลญินสิล ละฏีฟ (การเรียกร้องให้กับเพศหญิง) อัล-คิลาฟะฮฺ (ระบบคิลาฟะฮฺ) มุฮาวะรอตุล มุศลิหฺ วัล มุก็อดลิด (ข้อโต้แย้งของผู้ฟื้นฟูและผู้ยึดถือการตักลีด) ตลอดจนหนังสือและบทความอื่นอีกมาก จะตระหนักได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่าความคิดของท่านอิมามมุฮัมมัด รอชีด ริฎอ เป็น "มะนารฺ" (ประภาคาร)อย่างแท้จริง ซึ่งช่วยนำทางให้นาวาของอิสลามแล่นฝ่าไปในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ชีวิตในทางปฏิบัติของท่านเป็นการนำเอาแนวความคิดสะลาฟีย์มาประยุกต์ใช้โดยแท้จริง
อิมามริฎอเป็นผู้ริเริ่มกฎทองที่ท่านอิมามหะสัน อัล-บันนาได้นำไปใช้ในเวลาต่อมา นั่นคือข้อความว่า "เราควรจะประสานความร่วมมือกันในสิ่งที่เราเห็นพ้องต้องกัน และยกโทษให้แก่กันและกันสำหรับสิ่งที่เรามีความเห็นแตกต่างกัน"
ช่างเป็นกฎที่น่าพิศวงอะไรเช่นนี้ ! (1) แต่จะเป็นเช่นนี้ได้ ขอเพียงให้บรรดาผู้ที่อ้างว่าสนับสนุนและอ้างว่าเป็นผู้เจริญรอยตามชาวสะลัฟได้เข้าใจข้อความนี้อย่างถูกต้องเท่านั้น
- - - - - - - - - - - - - -
ชัยคฺ ดร. ยูซุฟ อัล-เกาะเราะฎอวียฺ เขียน
อบู ฟาอิซ แปลและเรียบเรียง
http://www.fityah.com/
|
เชิงอรรถ
(1) ข้าพเจ้าได้พิสูจน์ลักษณะที่เชื่อถือได้และความมีเหตุผลของกฎดังกล่าวด้วยพยานหลักฐานจากชะรีอะฮฺ กรุณาดูหนังสือ "ฟัตวาร่วมสมัย" ของข้าพเจ้าเล่มที่สอง
· เชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติม เป็นของบุคคลที่ถูกระบุไว้ในวงเล็บ ได้แก่ บรรณาธิการ(ฉบับแปลภาษาอังกฤษ), ผู้แปล(คือแปลเป็นภาษไทย), อัลอัค (ผู้อธิบายเพิ่มเติม) ส่วนที่ไม่ได้ระบุไว้นั้นเป็นของชัยคฺ ยูซุฟ อัล-เกาะเราะฎอวียฺ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น