ในเรื่องนี้นักวิชาการได้มีทัศนะแตกต่างกันดังนี้
ทัศนะที่หนึ่ง
อนุญาตให้ละหมาดรวมระหว่างดุฮฺริกับฮัศริ และระหว่างมักริบกับอิชาฮฺ ในระหว่างเดินทาง และรวมได้ทั้งในเวลาแรก และรวมในเวลาหลัง
ทัศนะนี้เป็นทัศนะของอิมามมาลิก อิมามชาฟิอีย์ และอิมามอะหฺมัด
ทัศนะที่สอง
อนุญาตให้ทำการรวมละหมาดเฉพาะในขณะที่กำลังเดินทาง แต่ในขณะอยู่ที่พัก(ระหว่างการเดินทาง) ให้ละหมาดย่อโดยไม่ต้องทำการรวมละหมาด ท่านอบุล อับบ๊าส อัลกุรฏุบีย์ ถือว่าทัศนะนี้เป็นทัศนะส่วนมากของชนรุ่นแรก และนักปราชญ์ชาวฮิญาซ รวมทั้งนักวิชาการด้านหะดิษและด้านวิชาฟิกฮฺ
ทัศนะที่สาม
ห้ามทำการรวมละหมาดในระหว่างการเดินทาง แต่อนุญาตให้รวมละหมาดดุฮฺริกับละหมาดอัศริ ณ ทุ่งอะรอฟะฮฺ และทำการรวมละหมาดมักริบกับละหมาดอิชาอฺ ณ ทุ่งมุซดะลิฟะฮฺเท่านั้น ทัศนะนี้เป็นทัศนะของอิมามอบูฮะนีฟะฮฺ
สำหรับหลักฐานการรวมละหมาดสองเวลา ระหว่างการเดินทางนั้น ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ปฏิบัติไว้แบบอย่างดังนี้
รายงานจากท่านนะเฟียะอฺ ว่า ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร เล่าว่า
“ปรากฏว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม นั้น เมื่อรีบที่จะออกเดินทางต่อไป (จากที่พำนักอยู่ระหว่างเดินทาง) ท่านจะรวมระหว่างละหมาดมักริบกับละหมาดอิชาอฺ” (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรีย์ มุสลิม และท่านอิมามมาลิก)
รายงานจากท่านอนัส อิบนิ มาลิก ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า
“ปรากฏว่าท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เมื่อท่านเคลื่อนย้าย (ออกจากที่พักในระหว่างเดินทาง) ก่อนดวงอาทิตย์คล้อย(ไปทางทิศตะวันตก) ท่านจะเลื่อนะลหมาดดุฮฺริไปจนถึงเวลาละหมาดอัศริ แล้วท่านก็จะแวะลงพัก ณ ที่หนึ่งที่ใด และท่านก็ได้ละหมาดรวมระหว่างดุฮฺริกับอัศริ” (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรีย์ มุสลิม อบูดวูด)
อิมามอัลบัยฮะกีย์ ท่านกล่าวว่า
“การรวมระหว่างละหมาดสองเวลา อันเนื่องจากการเดินทางนั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ซึ่งมีการปฏิบัติกันในหมู่ศอหาบะฮฺและตาบิอีน”
บรรดาหะดิษในบทว่าด้วยการรวมละหมาดระหว่างเดินทาง บางหะดิษที่กล่าวลักษณะครอบคลุมทั่วไป ที่อนุญาตให้ละหมาดรวมระหว่างสองเวลา ไม่ว่าจะรวมมำในเวลาก่อนหรือเวลาหลัง บางรายงานระบุว่าอนุญาตให้ทำการรวมละหมาดตลอดการเดินทาง แม้นจะอยู่ในที่พักก็ตาม
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น