อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ (ค.ศ.873 – 935)
อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ
บุรุษผู้สร้างกระบวนการช่วยเหลือสัจธรรม
อัล อัค เรียบเรียง
ช่วงรอยต่อที่สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์อิสลามคือ ช่วงเวลาที่ยุคแห่งชาวสลัฟ(ยุคของคนสามรุ่นแรก)กำลังเคลื่อนไปสู่ยุคแห่งชาวเคาะลัฟ(ยุคหลังคนสามรุ่นแรกของอิสลาม) เป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบที่โลกอิสลามกำลังถูกท้าทายทางปัญญาผ่านกระแสแนวคิดที่ไหลท่วมท้น …
ความพยายามสกัดการเติบโตของกระแสแนวคิดเหล่านี้ได้กระทำผ่านปราชญ์ผู้นำจำนวนมาก อย่างไรก็ตามไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า บุคคลที่สำคัญที่สุดในช่วงแรกของยุคสมัยหลังสลัฟที่หาผู้เปรียบได้ยากยิ่ง นั่นคือ อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺ(ค.ศ.873 - 935 / ฮ.ศ 260-324 ) อัจฉริยบุรุษผู้สามารถรวมเอาความบริสุทธิ์ของคำสอนอิสลามเข้ากับปัญญาอันเป็นเลิศ
กำเนิดอัจฉริยบุรุษ
อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ มีชื่อเต็มว่า อบุล หะสัน อะลียฺ บิน อิสมาอีล อัล-อัชอารียฺ เป็นลูกหลานรุ่นที่เก้าของอบู มูซา อัล-อัชอารียฺ เศาะหาบะฮฺที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด เขาเกิดที่เมืองบัศเราะฮฺ ในปีฮ.ศ. 260 หลังจากบิดาของเขาเสียชีวิตไป มารดาของเขาก็ได้แต่งงานใหม่กับอบู อะลียฺ อัล-ญุบบาอียฺ ซึ่งเป็นปราชญ์ในแนวคิดมุอฺตะซิละฮฺที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น อีกทั้งยังเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญยิ่งของแนวคิดนี้
อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ เติบโตขึ้นมาจากการฝึกอบรมของอัล-ญับบาอียฺ จนกระทั่งมีสถานะรองจากเขาและได้รับความไว้วางใจอย่างสูง เขาจึงสังกัดอยู่กับกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺและปกป้องแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 40 ปี …
จุดพลิกผันชีวิต
แต่แล้วก็เกิดจุดพลิกผันที่สำคัญที่สุด ไม่เพียงแต่ชีวิตส่วนตัวของอบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ แต่กับชีวิตของประชาชาติอิสลามด้วย นั่นก็คือเขาได้เกิดสับสนและการปะทะทางความคิดภายในตัวเอง ระหว่างสิ่งที่แนวคิดที่เขาคร่ำเคร่งมาตลอดชีวิตกับแนวทางอิสลามที่อิงอยู่กับวิธีการเรียบง่ายของคนยุคแรกถูกนำเสนออย่างโดดเด่นโดยอะหฺมัด บิน หันบัล ก่อนหน้าเขา
ความสับสนทางความคิดทำให้อบุล หะซัน อัล-อัชอารียฺ ได้ตัดสินใจทำการอิหฺติกาฟอยู่ในบ้านของเขาเป็นเวลา 15 วัน เพื่อครุ่นคิดใคร่ครวญระบอบความคิดทั้งหมด จนกระทั่งเขาได้สงบนิ่งและมั่นใจ พร้อมกับตัดสินใจประกาศการถอนตัวออกจากกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺในมัสญิดญามิอฺแห่งเมืองบัศเราะฮฺ
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 912 เป็นต้นมา อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺได้กลายมาเป็นผู้ปกป้องวิถีทางแบบอะฮฺลุส สุนนะฮฺ อย่างโดดเด่น โดยใช้วิธีการทางปรัชญาที่เขาเคยได้รับการเรียนรู้มา แม้ว่าเขาจะไม่ใช่คนแรกที่ทำเช่นนี้ แต่วิธีการที่เขาใช้กลับได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
ทายาทการต่อสู้ของอิบนุ ฮัมบัล
การเคลื่อนไหวของอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอารียฺ ถือเป็นงานที่กระทำต่อเนื่องจากอิหม่ามอะหฺมัด บิน หัมบัล ดังปรากฏคำยืนยันของอบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺได้กล่าวยืนยันวิธีวิทยาของตนเองเอาไว้หนังสือ อัล-อิบานะฮฺ อัน อุศูล อัล-ดิยานะฮฺ ว่า
“ทัศนะของเราที่เราจะได้กล่าว ศาสนาของเราที่เราจะประกาศ คือการยึดมั่นต่อคัมภีร์ของพระเจ้าของเรา ต่อแบบฉบับ(ซุนนะฮฺ)ของศาสนทูตของเรา และสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ ตะบิอูน และผู้นำต่าง ๆ แห่งอัล-หะดีษ ด้วยสิ่งเหล่านี้เองที่เรายึดมั่น และด้วยสิ่งที่ อบู อับดุลลอฮฺ บิน อะหฺมัด บิน มุฮัมมัด บิน หันบัล - ขออัลลอฮฺประทานความสว่างไสวแก่ดวงหน้าของเขา ยกฐานะของเขา และตอบแทนรางวัลให้แก่เขา - เราก็มีทัศนะ(เช่นเขา) และด้วยสิ่งที่ขัดแย้งกับทัศนะของเขา เราก็ขัดแย้ง(เช่นเดียวกับเขา) เพราะว่าเขาคือผู้นำ(อีหม่าม)ที่มีคุณธรรม เป็นหัวหน้าที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งอัลลอฮฺได้ทำให้สัจธรรมปรากฏชัดเจนผ่านเขา ได้ขจัดความหลงทางด้วยกับเขา ได้ทำให้วิถีทาง(มันฮัจญฺ)กระจ่างชัดด้วยกับเขา ได้ทรงทำให้อุตริกรรมของบรรดาผู้อุตริทั้งหลาย ความเบี่ยงเบนออกจากสัจธรรมของบรรดาผู้เบี่ยงเบนทั้งหลาย ความสงสัยในสัจธรรมของบรรดาผู้สงสัยทั้งหลาย แตกสลายไปด้วยกับเขา ...” [1]
การเคลื่อนไหวทางทฤษฏี
แนวคิดสำคัญที่อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอารียฺได้แย้งกับความเชื่อของกระแสมุอฺตะศิละฮฺนั้นรับมาจากอิหม่ามอะหฺมัด บิน หันบัล เป็นสำคัญ เช่น การยืนยันลักษณะของอัลลอฮฺ ตามที่ปรากฏอยู่ในตัวบทหลักฐาน การยืนยันว่าอัล-กุรอานเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ ความเข้าใจในเรื่องเกาะดัร(การกำหนดของอัลลอฮฺ)ตามองค์ประกอบที่ถูกต้องด้วยการยอมรับทั้งอำนาจที่สมบูรณ์แบบของอัลลอฮฺและความรับผิดชอบของมนุษย์ การปฏิเสธการใช้เหตุผลกับสิ่งที่เร้นลับ เช่น ในเรื่องสภาพต่าง ๆ ในวันสิ้นโลก การเห็นอัลลอฮฺ การชะฟาะฮฺ(การสงเคราะห์)ของท่านนบีมุฮัมมัด เป็นต้น
อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺ ยังปฏิเสธแนวคิด อัล-มันซิละฮฺ บัยนะ อัล-มันซิละตัยนฺ (สถานะระหว่างสถานะทั้งสอง)ของกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺ ที่ใช้อธิบายสถานะของคนที่ทำบาปใหญ่ว่า มิใช่ทั้งผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธศรัทธา แต่เขาได้ใช้การอธิบายตามวิธีของอะฮฺลุส สุนนะฮฺว่า ยังคงเป็นผู้ศรัทธาที่สมควรจะได้รับการลงโทษด้วยไฟนรก
อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺ ได้เขียนหนังสือนับเป็นร้อยเล่มในการโต้แย้งแนวคิดต่าง ๆ หนังสือเล่มสำคัญของเขามีชื่อว่า อัล-อิบานะฮฺ อัน อุศูล อัล-ดิยานะฮฺ(การอธิบายแจงแจงเกี่ยวกับรากฐานของศาสนา)เป็นงานวิพากษ์ด้วยการนำเสนอการพัฒนาแนวคิดทางเทววิทยาของตัวเขาเองในการโต้แย้งแนวคิดมุอฺตะศิละฮฺ
ประเด็นสำคัญของการโต้แย้งของอัล-อัชอารียฺต่อแนวคิดมุอฺตะซิละฮฺนั้นเป็นประเด็นทางญาณวิทยา(ทฤษฎีความรู้) โดยที่อัล-อัชอารียฺเป็นผู้มีความเชื่อมั่นต่อแหล่งที่มาของความรู้เกี่ยวกับอภิปรัชญาและสิ่งเร้นลับต่าง ๆ ว่าถูกกำหนดมาจากอัล-กุรอานและอัล-ซุนนะฮฺโดยตรง ตามแนวทางของอะฮฺลุส สุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ เขาชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในญาณวิทยาของกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺด้วยวิธีการทางปัญญา
อัล-อัชอารียฺเรียกร้องให้เข้าใจอภิปรัชญาในอิสลามด้วยการยอมรับตัวบทก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นให้ปฏิเสธคำถามในการทำให้ความหมายของตัวบทถูกตีความไปสู่ความหมายที่รองรับแนวคิดเชิงอุปมาที่กลุ่มมุอฺตะซิละฮฺใช้อยู่ ...
อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ เป็นเอกชนที่กล้าเผชิญหน้ากับอำนาจของพวกมุอฺตะซิละฮฺที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและกำลังหยั่งรากลึกลงใจกลางประชาชาติอิสลามอย่างไม่หวั่นเกรง เพราะมันไม่ได้เป็นสำนักคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีความรู้ของอิสลาม ยิ่งกว่านั้นมันกำลังเปิดทางนำพาผู้คนไปสู่การดูหมิ่นดูแคลนต่ออะกีดะฮฺอิสลามอันบริสุทธิ์
ไม่เฉพาะกับกลุ่มมุอฺตะศิละฮฺเท่านั้น อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ ยังได้ตอบโต้แนวบิดเบือนต่าง ๆ อีกมามาย ไม่ว่าพวกนักปรัชญา พวกพราหมณ์ ยะฮูดียฺ นะศอรอ และแนวคิดต่าง ๆ ที่ไหลทะลักเข้ามาสู่ใจกลางโลกมุสลิม
ชัยชนะของอะฮฺลุส สุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ
การเคลื่อนไหวในเชิงทฤษฎีของอบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ มีความโดดเด่นอย่างสูงในแง่การอิจญติฮาดเพื่อค้นวิธีการต่าง ๆ เพื่อตอบโต้แนวคิดที่บิดเบือนสัจธรรมซึ่งวิธีการที่อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺได้พัฒนาขึ้นนี้ได้มีปราชญ์จำนวนมากได้เข้าร่วมและดำเนินตามมาอีกหลายศตวรรษและได้รับการตอบรับจากมวลชนมุสลิมจึงนับว่ากระบวนการของเขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายจากผู้คน
ผลของการนำนักปราชญ์ทั้งหลายเข้าต่อสู้กับกระแสมุอฺตะซิละฮฺของอบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺได้หยุดยั้งกลุ่มนี้ลงเกือบจะสูญหายไป ทั้งที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมและสนับสนุนจากสถาบันเคาะลีฟะฮฺด้วยซ้ำไป อิทธิพลครั้งนี้ได้ทำให้แนวอะฮฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ ได้รับความนิยมอย่างเปิดเผยต่อผู้คนโดยทั่วไป
นับตั้งแต่คริสตศวรรษที่ 5 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน วิธีการของอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺได้รับความนิยมอย่างสูง William Montgomery Watt [2]ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า“ความต่อเนื่องของเทววิทยาแบบอัชอารียะฮฺ(Ash‘rite)ได้เติบโตอีกหลายศตวรรษหลังจากอิมาม อัล-ฆอซาลียฺ และความจริงมันยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าในระยะหลัง ๆ นักเทววิทยาเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้เรียกตัวเองว่าอัชอารียะฮฺ(Ash‘rite)อีกแล้ว …” [3]
การจากไปของผู้ช่วยเหลือสัจธรรม
การเผชิญหน้ากับแนวคิดที่เบี่ยงเบนของกลุ่มต่าง ๆ ไม่เพียงทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของปราชญ์ที่โดดเด่นแห่งยุคสมัยดังเช่น อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺ เท่านั้น แต่ยังได้มีนักฟื้นฟูร่วมสมัยคนอื่น ๆ อีกด้วย ที่สำคัญก็คือ อบู มันศูร อัล-มาตูรีดียฺ(เสียชีวิต ปี ค.ศ. 944 / ฮ.ศ. 333) แห่งเมืองมาตูริด ในแคว้นสมัรคันด์แห่งเอเชียกลาง เขามีผลงานและวิธีการที่คล้ายคลึงกับอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺ มาก แตกต่างกันในบางประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการใช้คำศัพท์ [4] นอกจากนี้ผู้ดำเนินตามอัล-มาตูริดียฺเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในมัซฮับฟิกฮฺของหะนะฟียฺเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอะฮฺลุส สุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺที่ไม่ได้ใช้วิธีการแบบอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรียฺ และอบู มันศูร อัล-มาตูรีดียฺ ก็ยังมีอยู่เรียกว่า อัล-อาษะรียฺ(ผู้นิยมในตัวบท) ซึ่งหลีกเลี่ยงการตอบโต้กลุ่มบิดเบือนด้วยวิธีการอื่น ๆ เว้นแต่ใช้ตัวบท วิธีการแบบนี้ได้รับความนิยมในผู้คนที่ปฏิบัติตามมัซฮับหัมบะลียฺ
วิธีการเหล่านี้เป็นผลจากการที่นักต่อสู้เพื่อผดุงสัจธรรมได้อิจญติหาด(การวินิจฉัย)ตามกระบวนการฟื้นฟูในสนามความรู้ ย่อมไม่ได้รับประกันความถูกต้องสมบูรณ์แบบ และระหว่างพวกเขาก็ยังมีความแตกต่างกันในรายละเอียดระหว่างกันอยู่ เช่นเดียวกันวิธีการของอบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ ก็เกิดขึ้นมาจากการอิจญติหาด(การวินิจฉัย)ตามกระบวนการต่อสู้เพื่อให้สัจธรรมกระจ่างชัดเหนือความเท็จ จึงไม่จำเป็นต้องยึดถือวิธีการว่าเป็นตัวสัจธรรมเสียเอง
ถ้าหากคนยุคหลังสามารถหวนนึกถึงบรรยากาศในสมัยนั้น ย่อมตระหนักถึงประโยชน์แห่งยุคสมัยที่อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺได้ทุ่มเทอุตสาหะ จนสามารถทลายฐานที่แข็งแกร่งของแนวคิดตรงกันข้ามได้ จนนำมาซึ่งความเข้มแข็งแก่ผู้คนแห่งสัจธรรมตลอดมาอีกหลายศตวรรษ
อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺเสียชีวิตในปี ค.ศ. 935 (ฮ.ศ. 324) ที่บัฆดาดในวันนั้นได้มีผู้กล่าวขึ้นท่ามกลางพิธีญะนาซะฮฺของเขาว่า “ วันนี้ ผู้ช่วยเหลือสุนนะฮฺ(นาศิรุส สุนนะฮฺ)ได้เสียชีวิตลงแล้ว”
…………..………………………………..………..
หมายเหตุ
มุมมองที่ผู้เขียนมีต่ออบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ นั้น อ้างอิงจากทัศนะของเมาลานา อบุล หะสัน อัน-นัดวียฺ เป็นสำคัญ เป็นมุมมองที่ผู้เขียนมองว่าสมดุล คือสามารถมองเห็นความดีงามของอบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺได้อย่างสมฐานะของท่าน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธฐานะความเป็นมนุษย์และนักปราชญ์ที่มีทั้งวินิจฉัยถูกและผิดได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดกับปราชญ์ทุกท่าน อย่างไม่มีใครได้รับการยกเว้น ...
อบุล หะสัน อัล-อัชอารียฺ และผู้ที่ดำเนินตามวิธีการแบบเดียวกับท่านจำนวนมาก ควรได้รับการกล่าวถึงอย่างยุติธรรม โดยเฉพาะผลงานในการปกป้องแนวทางอะฮฺลุส สุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ อย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ – วัลลอฮุ อะอฺลัม
..............................................................................
[1] อัล-อิบานะฮฺ อัน อุศูล อัล-ดิยานะฮฺ หน้า 5
[2] William Montgomery Watt (ค.ศ. 1909-2006) นักบูรพคดีชาวอังกฤษ
เป็นศาสตราจารย์ภาษาอาหรับและอิสลามศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยในตะวันตก
และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถือว่าเป็นกุญแจประวัติศาสตร์อิสลามในโลกตะวันตก
[3] A Short History of Islam หน้า 122
[4] ริญาลุล ฟิกฮฺ วัล ดะอฺวะฮฺ ฟิล อิสลาม เล่ม 1 หน้า128 ของเมาลานา อบุล หะสัน อลี อัน-นัดวียฺ
จาก
http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=251&Itemid=33
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น