อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อิหม่าม อิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ


อิหม่าม อิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ (ค.ศ. 1292 - 1350  , ฮ.ศ.691-751 )
อิหม่าม อิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ

อิหม่าม อิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ
อุละมาอ์นักฟื้นฟูมิติภายในแห่งอิสลาม



อัล อัค เรียบเรียง

             อิหม่าม อิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ มีชื่อเต็มว่า ชัมซุดดีน มุฮัมมัด บิน อบูบักร บิน กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ เกิดในปีค.ศ. 1292 ที่อัล ซุรียฺ หมู่บ้านเล็กๆห่างจากดามัสกัสไปประมาณ 55 ไมล์ พ่อของท่านคือครูใหญ่โรงเรียน อัล เญาซียะฮฺ ซึ่งเป็นสถาบันไม่กี่แห่งที่เป็นศูนย์กลางในการศึกษาฟิกฮฺ ฮัมบะลียฺ ดังนั้น ชื่อของท่านที่เรียกว่า อิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ จึงหมายถึง “บุตรชายของครูใหญ่โรงเรียนเญาซียะฮฺ”
       
          อิหม่ามอิบนุ กอยยิม จึงได้รับการศึกษาจากพ่อของท่าน และหลังจากผ่านโรงเรียนอัล เญาซียะฮฺแล้ว ท่านได้มาศึกษาต่อกับเชคต่างๆในมัสญิดหลายแห่งในเมือง ในช่วงเวลานั้นอิบนุ กอยยิม ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวคิดมุอฺตะซีละฮฺ(แนวคิดที่ถือเหตุผลแบบสุดโต่ง)และซูฟีบางสาย ท่านได้กล่าวถึงช่วงเวลานั้นของท่านว่า “...ฉันได้ตกลงสู่ตาข่าย คล้ายดังนกที่ไม่รู้ว่าจะบินไปที่ไหนดี”

          อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานั้นก็ได้จบลงในปีค.ศ. 1312 เมื่อท่านอายุได้ 21 ปี ด้วยการพบกับชายคนหนึ่งที่ได้ปรับทิศทางแนวคิดของท่านเสียใหม่ ชายคนนั้นคือตะกียุดดีน อะหฺมัด อิบนุ ตัยมียะฮฺ ซึ่งเพิ่งกลับมาจากอิยิปต์ สู่นครดามัสกัช หลังจากที่ถูกกักขังไว้ที่นั่น ชายสองคนก็ได้ร่วมงานกันอีก 16 ปีต่อจากวันนั้น จนท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺได้จากโลกนี้ไปก่อน

          ในปี 1312 นี้เอง อิหม่ามอิบนุ กอยยิม ได้แต่งงานและมีบุตรชายสามคน ท่านได้ใช้ชีวิตในการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนอัล เญาซียะฮฺ

          ในปี 1326 เมื่อผู้ปกครองแห่งดามัสกัชสั่งจับกุมอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ และศิษย์ของท่าน อิหม่ามอิบนุ กอยยิม ก็ถูกจับกุมไปด้วย และท่านเป็นคนเดียวที่ถูกเลือกให้ไปอยู่ข้างครูของท่านในคุก

         หลังจากอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ เสียชีวิตในคุก อิหม่ามอิบนุ กอยยิม เป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ออกมาจากคุกเพื่อร่วมพิธีศพของครูท่าน จากนั้นเป็นต้นมาท่านได้ทำหน้าที่สืบทอดการฟื้นฟูอิสลามต่อจากครูของท่าน

        ชื่อของอิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ จึงมิอาจแยกจากชื่อของนักฟื้นฟูผู้เป็นครูของท่านคืออิหม่าม อิบนุ ตัยมียะฮฺ เป็นความจริงว่าท่านคือผู้รวบรวมและเรียบเรียงงานเขียนของอิบนุ ตัยมียะฮฺ และยังเป็นความจริงอีกว่าทรรศนะของอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ส่งอิทธิพลให้กับอิบนุ กอยยิม ที่มาเป็นศิษย์และเป็นสหาย แม้ว่าท่านจะไม่เห็นสอดคล้องกันในทุกเรื่องก็ตาม

        อย่างไรก็ตาม บทบาทในการฟื้นฟูอิสลามของอิบนุ กอยยิม กลับมีความคล้ายคลึงกับอิหม่ามฆอซาลียฺ(ตายปี 1111)มาก นั่นก็คือการปฏิรูปตะเศาวุฟให้อยู่ในกรอบคำสอนอิสลาม อันเนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดจากอิทธิพลที่มาจากงานเขียนของอิบนุ อะเราะบียฺ(ซูฟีผู้ทรงอิทธพลในดินแดนแอนดาลูเซียหรือสเปนปัจจุบัน)

        งานเขียนจำนวนมากของอิบนุ กอยยิม ได้รับความนิยมอย่างสูงและมีการตีพิมพ์หลายๆครั้ง ผู้สัมผัสงานของท่านจะได้รับรสชาติของการมิติภายในของคำสอนอิสลามอย่างลึกซึ้ง ในแบบที่อ้างอิงสู่คำสอนที่บริสุทธิ์จากยุคแรกของอิสลามอยู่เสมอ

         หนึ่งในหนังสือที่โดดเด่นในมิติคำสอนอิสลามด้านในของอิสลามคือหนังสือชุดที่ชื่อว่า มะดาริจญฺ อัส สาลีกีน(ขั้นต่างๆของเหล่าผู้เดินทาง) ส่วนหนังสือชุดอื่นๆที่ท่านเขียนในมิติด้านใน เช่น ฏอรีก อัล ฮิจญเราะตัยนฺ(วิถีของการอพยพทั้งสอง), มิฟตาหฺ ดาริส สอาดะฮฺ(กุญแจดินแดนแห่งความสุข) เป็นต้น

         สำหรับหนังสือชุดใหญ่ที่ถูกกล่าวถึงมากชุดหนึ่งก็คือ “ซาดุล มาอาด ฟี ฮัดยิ คอยริล อิบาด” เป็นหนังสือที่ประกอบด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้งอะกีดะฮฺ ฟิกฮฺ ตัซกียะฮฺ อย่างครอบคลุมกว้างขวาง ท่านเมาลานา อบุล ฮะซัน อันนัดวียฺ ได้กล่าวถึงหนังสือชุดนี้ว่า “ฉันเชื่อว่าไม่มีหนังสือที่ถูกรวบรวมเพื่อการปฏิบัติและการฟื้นฟูความดีงามหลังจากหนังสือ อิหฺยาอ์ ของอิหม่ามฆอซาลียฺ(นอกจากหนังสือชุดนี้) ยิ่งกว่านั้น มันยังเหนือกว่าในแง่การตรวจทานความถูกต้อง สายรายงาน และการนำไปใช้ ระหว่างอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ ...”


       อิหม่ามอิบนุ กอยยิม ยังมีการปฏิบัติและบุคลิกภาพที่สะท้อนคำสอนอิสลามจากมิติภายในออกมา ท่านทำอิบาดะฮฺย่างมากมาย ท่านละหมาดยามค่ำคืนเป็นประจำ ชีวิตของท่านมากด้วยการซิกรฺ ทั้งหมดได้สะท้อนถึงชีวิตที่ความผูกพันลึกซึ้งต่ออัลลอฮฺ

อิบนุ กะษีร ผู้เป็นศิษย์ของอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ และเป็นศิษย์ของท่านด้วย ได้กล่าวถึงท่านไว้ว่า “ท่านอ่านอัลกุรอานได้ไพเราะ ท่านเป็นที่รักของผู้คนจำนวนมากมาย ท่านไม่มีทั้งอิจฉาหรือทำอันตรายใครๆ ท่านไม่เคยพยายามที่จะหาข้อตำหนิของคนอื่น ท่านไม่มีความอาฆาตต่อผู้ใด มีคนเพียงน้อยนิดที่เหมือนกับท่าน ท่านเปี่ยมไปด้วยความดีงามและธรรมชาติที่ทรงคุณค่า”

        อิบนุ เราะญับ เป็นศิษย์ของอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ และเป็นศิษย์ของท่านอีกผู้หนึ่งได้กล่าวว่า “...ท่านทำการอุทิศตัวเพื่ออัลลอฮฺในระดับที่ฉันไม่เคยพบเห็นในคนอื่นเลย อีกทั้งฉันไม่เคยเห็นใครที่มีการเรียนรู้ที่กว้างขวางและมีความรู้อย่างยิ่งต่อความหมายของอัลกุรอาน ซุนนะฮฺ และความแท้จริงภายในของความศรัทธา ฉันรู้ว่าไม่มีใครไม่ผิดพลาด กระนั้น ฉันก็ไม่เคยเห็นใครที่มีความใกล้เคียงกับความหมายที่กล่าวมานี้เลย”

       อิบนุ กอยยิมเสียชีวิตในปี 1350 พิธีญะนาซะฮฺถูกจัดขึ้นที่มัสญิดอุมัยยะฮฺ ในดามัสกัช เป็นการจบชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง แต่ได้ทิ้งไว้ซึ่งอิทธิพลทางความคิดอย่างลึกซึ้งต่อกลุ่มฟื้นฟูอิสลามรุ่นต่อๆมา

จาก
http://www.blogger.com/blogger.g?blogID=274689943464920552#editor/target=post;postID=4418798375702765911

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น