อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อิหม่าม อิบนุ กะษีร


อิหม่าม อิบนุ กะษีร
ปราชญ์ชั้นนำของโลกมุสลิม



  อัล อัค เรียบเรียง



            อิหม่าม อิบนุ กะษีร  มีชื่อเต็มว่า อบุล ฟิดาอ์ อิมาดุดดีน อิสมาอีล บิน อุมัร บิน กะษีร อัล กุรอยชี อัล บุสรอวียฺ เดิมท่านเป็นชาวบุศรอ(บัสเราะฮฺ) แต่ได้เติบโต ศึกษาเล่าเรียน และพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองดะมัชกัช (ซีเรีย)

              ท่านเกิดในปีฮิจญเราะฮฺ 701 พ่อของท่านเป็นคอฎีบวันศุกร์ของหมู่บ้าน แต่ได้เสียชีวิตไปขณะที่อิบนุ กะษีร อายุได้เพียง 4 ขวบ พี่ชายของท่านชื่อเชค อับดุล วะฮฺฮาบ ได้เลี้ยงดูท่านและให้การศึกษาแก่ท่าน พร้อมกับนำท่านอพยพไปที่ดามัชกัชในปีฮ.ศ.706 ขณะนั้นท่านอายุได้ 5 ขวบ  

             ท่านได้เติบโตด้วยการศึกษาวิชาการรอบด้าน ได้ศึกษาเล่าเรียนกับครูบาอาจารย์หลายท่าน หนึ่งในครูคนสำคัญของท่านคือชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ

              ที่ค่อนข้างแปลกสำหรับคนทั่วไปก็คือ ท่านสังกัดมัซฮับชาฟิอียฺ แต่ท่านเป็นศิษย์คนสำคัญของอีหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ผู้ที่มีชื่อเสียงในแนวอิสระ(แม้จะได้รับการเรียนรู้แบบฮัมบะลียฺ)

             ท่านเมาลานา อบุล ฮะซัน อันนัดวียฺ ได้กล่าวว่าในหนังสือประวัติอิบนุ ตัยมียะฮฺ ว่า  “แม้ว่าท่านอิบนุ กะษีร เป็นผู้อยู่ในมัซฮับ ชาฟิอียฺ แต่ท่านก็รักผูกพันอย่างยิ่งต่อชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ด้วยการยอมรับถึงการเป็นผู้นำของท่าน และได้เป็นศิษย์ของท่าน

            อิบนุ ฮะญัร ได้กล่าวว่า ‘เขาได้ศึกษาอยู่กับอิบนุ ตัยมียะฮฺ ดังนั้น เขาจึงต้องถูกทดสอบจากความรักที่มีต่ออิบนุ ตัยมียะฮฺ และเหตุต่างๆที่เกิดขึ้นกับอิบนุ ตัยมียะฮฺ’ อิบนุ กะษีรได้ให้ความสำคัญกับการกล่าวถึงชีวประวัติของอิบนุ ตัยมียะฮฺอย่างมากมาย ด้วยรายละเอียดและด้วยความรักความผูกพัน ท่านได้ปกป้องอิบนุ ตัยมียะฮฺอย่างเต็มที่ไว้ในหนังสือของท่าน  ‘อัล บิดายะฮฺ วัล นิฮายะฮฺ’ ซึ่งเรา(อบู ฮะซัน อัน นัดวียฺ)ได้เอาประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้หลายๆที่ไว้ในเนื้อหาหนังสือของเราที่เกี่ยวกับชีวิตของชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ....”

            อิหม่ามอิบนุ กะษีร มีชื่อเสียงในฐานะนักวิชาการที่อุทิศตัวเพื่อความรู้ การแต่งหนังสือ และการสอน ท่านอิหม่าม อัซ ซะฮะบียฺ ศิษย์คนสำคัญของอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ (ขณะเดียวกันยังเป็นอาจารย์คนหนึ่งของอิบนุ กะษีร ด้วย) ได้กล่าวว่า “อิบนุ กะษีร เป็นนักนิติศาสตร์ที่แหลมคม เป็นนักฮะดีษที่แยกแยะความถูกต้องได้ เป็นนักอรรถาธิบายอัลกุรอานที่วิเคราะห์เจาะลึก เป็นเจ้าของหนังสือที่ให้ประโยชน์”

          ท่านอัล ฮาฟิซ อิบนุ ฮะญัร อัล อัสกอลานียฺ นักฮะดีษผู้โด่งดัง ได้กล่าวว่า “ท่านได้ผลิตงานมากมาย หนังสือของท่านได้กระจายไปในดินแดนเมื่อท่านมีชีวิตอยู่ และได้ให้ประโยชน์แก่ผู้คนหลังจากท่านได้เสียชีวิตไป”

         ท่านอิหม่ามอิบนุ กะษีร ได้เรียบเรียงหนังสือไว้มากมาย ที่มีชื่อเสียงมากคือ “ตัฟซีร อิบนุ กะษีร” 4 เล่มใหญ่ ซึ่งเป็นคำอธิบายอัลกุรอานที่ถือว่ามีมาตรฐานสูง ตัฟซีรชุดนี้ถูกตีพิมพ์หลายๆครั้ง และได้มีนักวิชาการร่วมสมัยหลายท่านได้สรุปและเรียบเรียงใหม่ รวมทั้งมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ 10 เล่ม โดยสมบูรณ์

        นอกจากนี้ยังมีหนังสือประวัติศาสตร์ที่ท่านเขียนหลายเล่มในชื่อ “อัล บิดายะฮฺ วัล นิฮายะฮฺ” 14 เล่ม อันเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกอ้างอิงอยู่เสมอ

        หนังสือหลายเล่มของท่านยังเรียบเรียงไม่จบ ก็สิ้นชีวิตเสียก่อน เช่น คำอธิบายศอฮีฮฺ บุคอรียฺ , หนังสือฟิกฮฺ(ถึงหมวดฮัจญฺ) เป็นต้น และหลายเล่มเป็นแค่ต้นฉบับ ยังไม่มีการพิมพ์เผยแผ่

        ในบั้นปลายชีวิตท่านได้สูญเสียการมองเห็นไป ท่านได้เสียชีวิตที่ดามัชกัช ปีฮ.ศ. 774

จาก


http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=147&Itemid=33

1 ความคิดเห็น: