อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุษมาน


อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุษมาน (ค.ศ.572-634)

อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุษมาน
บุรุษผู้เหวี่ยงอิสลามลงสู่หน้าประวัติศาสตร์


โดย อัล อัค

           ถ้ามีคนถามว่าใครคือคนที่มีมีอิทธิพลมากที่สุดต่อประวัติศาสตร์อิสลาม คงไม่มีกล้าแย้งว่า คนนั้นจะไม่ใช่ท่านนบีมุฮัมมัดของเรา ยิ่งกว่านั้นมีปัญญาชนตะวันตกบางคนได้จัดให้ท่านเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติด้วยซ้ำไป

แต่คำถามของผมก็คือ ใครคือคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อประวัติศาสตร์อิสลามหลังจากท่านนบี คราวนี้คำตอบอาจจะมีเสียงที่แตกต่างกันออกไป ชื่อของท่านอุมัร อิบนิ อัล-ค็อฏฏอบ และท่านอลี อิบนิ อบี ฏอลิบ ก็ปรากฏขึ้นมาต้น ๆ อย่างแน่นอน และก็อาจจะได้ยินเสียงแว่วไกล ๆ เป็นชื่อของฮุจญตุล อิสลาม อบู ฮะมีด อัล-ฆอซาลี  ดังที่นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าเป็นมุสลิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรองจากท่านนบีเลยทีเดียว
แต่คำตอบส่วนตัวของผมมิใช่ชื่อเหล่านี้ทั้งหมด ผมคิดว่า คนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในอิสลามถัดจากท่านนบีควรจะเป็นคนดีที่สุดถัดจากท่านนบี โดยมีตัวบทหลักฐานยืนยันด้วยว่า เขาเป็นคนดีที่สุดถัดจากท่านนบี เขาคนนี้เป็นใครไปไม่ได้ เขาก็คือ ท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของอุษมาน
ท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของอุษมานคือคนที่เพื่อนที่สนิทที่สุดที่สุดตั้งแต่วัยเด็กของท่านนบี อ่อนวัยกว่าท่านนบี 2 ปี ท่านเป็นคนเพียงคนเดียวที่ถูกเลือกให้อพยพร่วมกับท่านนบีไปสู่นครมะดีนะฮฺ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย ท่านเป็นคนที่เวลาท่านนบีป่วยจะได้รับหน้าที่นำละหมาดญะมาอะฮฺแทนท่านนบี ท่านได้เคยบริจาคทรัพย์ทั้งหมดไปในสงครามครั้งหนึ่ง ท่านเป็นที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดที่สุดของท่านนบีและได้รับการไว้วางใจสูงสุด และท่านก็คือเคาะลีฟะฮฺคนแรกที่สืบอำนาจการปกครองต่อจากท่านนบี ท่านก็คือผู้ที่ถูกรู้จักกันแพร่หลายในชื่อฉายานามว่า อบู บักร อัศ-ศิกดีก นั่นเอง
ท่านอบู บักรฺ อัล-ศิดดีกฺ คือคนที่ผมยืนยันว่าทรงอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์อิสลามมากที่สุดในตลอดหน้าประวัติศาสตร์พันปีที่ผ่านมาก คำพูดของผมอาจทำให้บางคนรีบพลิกไปอ่านหนังสือประวัติของท่าน แล้วก็พบว่า ท่านเป็นเคาะลีฟะฮฺเพียงแค่ 2 ปี กับ 10 วันเท่านั้นเอง (ค.ศ. 632-634 / ฮ.ศ. 11-13)

ช่วงเวลาที่สั้นหรือยาวของการปรากฏตัวอยู่ในตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่ตัวกำหนดอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ แต่มันคือสิ่งที่ส่งผลกระทบไปตลอดประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน แม้ว่าอบูบักรจะเสียชีวิตไปแล้วกว่าพันปีก็ตาม

อิทธิพลที่อบู บักรได้ส่งไปสู่ประวัติศาสตร์อิสลามนั้น กระทำผ่าน 3 เรื่องใหญ่ ๆ ในสมัยการปกครองของท่าน
เรื่องแรก:  เริ่มจากทันทีที่ท่านนบีเสียชีวิต รัฐอิสลามที่ครอบคลุมคาบสมุทรอาหรับต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่วิกฤติต่อความเป็นความตายมากที่สุด นั่นคือมุสลิมที่รายล้อมอยู่ในดินแดนรอบ ๆ ศูนย์กลางอิสลามเดิม ก็คือมักกะฮฺ มะดีนะฮฺและฏออีฟ ได้ก่อปฏิกิริยาขึ้นจากเผ่าต่าง ๆ ที่รับอิสลามแบบผิวเผิน กลุ่มหนึ่งปฏิเสธที่จะจ่ายซะกาต พวกนี้ได้ทำให้อิสลามกลายมาเป็นอิสลามแบบเผ่าเบดูอีน ไม่ใช่อิสลามที่เน้นความเป็นอุมมะฮฺสากล คือพร้อมที่จะแยกตัวออกไปแบบสังคมทั้งหลาย อีกกลุ่มหนึ่งได้ทำลายหลักการการเป็นนบีคนสุดท้ายของมุฮัมมัด ได้มีผู้ตั้งตัวเป็นศาสนทูตคนใหม่ ซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุด
สถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการที่รัฐอิสลามยังติดพันในการทำศึกกับโรมัน(ไบแซนตีน) ส่วนเปอร์เซียมหาอำนาจอีกด้านหนึ่งก็แสดงท่าทีในการเป็นศัตรูที่เปิดเผย พร้อมที่จะบดขยี้มุสลิม
ดูเหมือนว่า อิสลามจะสูญสลายไปแล้วในวันนั้น แต่แล้วการตัดสินใจของอบู บักร ได้พลิกวิกฤตเหล่านี้ อันดับแรกอบู บักร ยืนยันหนักแน่นที่จะส่งกองทัพที่ท่านนบีได้จัดไว้ ภายใต้การนำของอุสามะฮฺ อิบนิ ซัยดฺ ไปทำศึกกับโรมันทันที มองดูผิวเผินนี่เป็นการเสี่ยงเกินไปท่ามกลางกบฏที่ก่อตัวห้อมล้อมและกำลังถาโถมใส่ใจกลางของรัฐอิสลาม แต่ก็ไม่มีใครหยุดการตัดสินใจที่เด็ดขาดครั้งนั้นได้ แล้วกองทัพอิสลามก็เคลื่อนออกไปทำศึกกับโรมันที่ชายแดนและประสบชัยชนะอย่างงดงาม
นี่คือการตัดสินใจที่ส่งผลอย่างมหาศาลต่อยุทธศาสตร์ เพราะหากท่านอบู บักร ไม่ตัดสินใจส่งกองทัพไปทันที เท่ากับเป็นการแสดงความอ่อนแอให้กับ กลุ่มกบฏที่ไม่จ่ายซะกาตและพวกตกมุรตัด(สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม) และช่วยเป็นข้อมูลให้พวกเขากล้าเข้าตีเมืองหลวงได้  ประวัติศาสตร์บันทึกว่า กองทัพอิสลามที่เดินทัพไปทำศึกกับโรมันนั้นได้ผ่านเผ่าพวกนี้ไป เป็นการตอกย้ำว่ากองทัพอิสลามไม่ได้อ่อนแอลง นอกจากนี้ยังเป็นการสยบเผ่าที่เอาใจออกห่าง และสร้างมั่นใจแก่ผู้ดำเนินตามอบูบักรว่า ท่านจะใช้นโยบายเดียวกันท่านนบี สิ่งที่ท่านนบีสั่งไว้ก่อนเสียชีวิตทั้งหมดจะได้รับการปฏิบัติ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม
จากนั้นอบู บักรฺ ก็หันมาจัดการกับกลุ่มที่กบฏทั้งสองประเภท ประเภทที่ปฏิเสธการจ่ายซะกาตนั้น ท่านอบูบักรยืนยันว่า จะไม่ยอมให้มีการแยกละหมาดออกจากซะกาต ซึ่งถือว่าเป็นการแยกอิสลามที่เป็นชำระล้างทางจิตวิญญาณออกจากอิสลามที่เป็นความยุติธรรมทางสังคม การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องทำลายอิสลามที่แท้จริง จะเหลือแค่อิสลามที่เป็นพิธีกรรม  อบูบักรจึงเปิดศึกกับเผ่าต่าง ๆ ที่ไม่จ่ายซะกาต จนเผ่าต่าง ๆ เหล่านี้ยอมกลับมาอยู่ในพันธะของอุมมะฮฺอิสลาม
จากนั้นก็หันไปจัดการกับกบฏประเภทที่มีผู้นำประกาศตัวเป็นศาสนทูตคนใหม่ เรียกว่า สงครามริดดะฮฺ(ริดดะฮฺหมายถึงการสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม) การศึกครั้งนี้เป็นการเดิมพันอนาคตระหว่างอิสลามกับศาสนาใหม่ที่เผ่าต่าง ๆ ประกาศขึ้น ว่าฝ่ายใดกันแน่คือสัจธรรม  ในที่สุดพายุแห่งสงครามก็โหมพัดอย่างรุนแรงลุกลามไปในหลายแคว้น หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน ฝ่ายศาสนทูตปลอมก็ถูกปราบปรามจนสิ้นซาก
ศึกสงครามนี้ถือว่าเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของประวัติศาสตร์อิสลาม การทำศึกครั้งนี้ได้สร้างความมั่นใจแก่มุสลิมผู้ศรัทธาต่ออุดมการณ์อิสลาม และภายใต้การนำของอบู บักร คาบสมุทรอาหรับทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายมุสลิมโดยบริบูรณ์
เรื่องที่สอง: ไม่เพียงแค่อบู บักร สามารถทำให้รัฐอิสลามอยู่ในภาวะ “นิ่ง” เท่านั้น ท่านยังได้จัดเตรียมกองทัพปลดปล่อยจากมหาอำนาจสมัยนั้น และได้ส่งไปทำศึกกันหลายครั้ง จนสามารถแผ่ขยายดินแดนอิสลามไปอย่างกว้างขวาง
ท่านอลี ได้กล่าวถึงความสำเร็จในสมัยของท่านอบูบักรและท่านอุมัร โดยถือว่ายุคสมัยที่อัลลอฮฺได้สัญญากับมุสลิมไว้โดยตรงในอัล-กุรอานที่ว่า“อัลลอฮฺทรงสัญญากับบรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้กระทำความดีทั้งหลายว่า แน่นอนพระองค์จะทรงให้พวกเขาเป็นตัวแทนสืบช่วงในแผ่นดิน  ….” (4: 55)
อิบนุ กะษีร ได้อธิบายอายะฮฺนี้ผ่านประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างเห็นภาพชัดเจนว่า“...นี่คือคำสัญญาจากอัลลอฮฺที่ให้ไว้แก่ผู้นำสาส์นของพระองค์(คือท่านนบีมุฮัมมัด )ว่า พระองค์จะทำให้ประชาชาติของท่านนั้นได้สืบทอดอำนาจบนหน้าบนแผ่นดิน นั่นคือ พวกเขาจะได้เป็นผู้นำและผู้ปกครองมนุษยชาติ ด้วยพวกเขานี่เองที่พระองค์จะฟื้นสภาพของโลกนี้ให้ดีงาม และด้วยพวกเขานี่เองที่ทำให้ผู้คนยอมจำนน(ต่อพระองค์) ดังนั้น พวกเขาจะได้รับความปลอดภัยหลังจากความหวาดกลัว นี่คือสิ่งที่อัลลอฮฺกระทำอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงไม่ได้ให้ผู้นำสาส์ของพระองค์เสียชีวิตไป จนกว่าพระองค์ได้ให้ท่านมีชัยชนะเหนือมักกะฮฺ คอยบัรฺ บะหฺรอยนฺ คาบสมุทรอาหรับทั้งหมดและเยเมน ... หลังจากท่านเราะซูล เสียชีวิตไป อบู บักรฺ อัล-ศิดดีกฺก็ได้รับช่วงอำนาจต่อ และได้สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อุมมะฮฺ(ประชาติอิสลาม) โดยป้องกันการแตกแยก อบู บักรฺ ได้ควบคุมคาบสมุทรอาหรับทั้งหมด และได้ส่งกองทัพอิสลามสู่เปอร์เซีย ภายใต้การนำของคอลิด อิบนฺ อัล-วาลิด ซึ่งเขาได้พิชิตบางส่วนและได้สังหารบางคนของดินแดนนั้น ต่อมาท่านได้ส่งอีกกองทัพ ภายใต้การนำของอบู อุบัยดะฮฺ และผู้บัญชาการคนอื่น ๆ หลังเขา ให้เข้าไปในดินแดนซีเรีย จากนั้นท่านได้ส่งกองทัพที่สาม ภายใต้การนำของอัมรฺ อิบนฺ อัล-อาส เข้าไปในอิยิปต์ แล้ว อัลลอฮฺ ก็ได้ให้กองทัพที่ส่งไปซีเรียสามารถพิชิตเมืองบุสรอ และดามัสกัส รวมทั้งจังหวัดต่างๆของมัน ยังได้พิชิตดินแดนเฮารอนและพื้นที่รอบๆ อัลลอฮฺ ได้เลือกแก่อบูบักร ด้วยการให้เกียรติแก่เขาด้วยกับพระองค์เอง...”
เรื่องที่สาม:  งานอันยิ่งใหญ่ของอบู บักรอีกงานหนึ่ง  คือการรวบรวมอัล-กุรอานเป็นเล่ม(มุศหัฟ)  เพื่อเผยแผ่ไปสู่มวลชน สาเหตุที่ทำให้มีการรวบรวมอัล-กุรอานก็คือ บรรดาผู้ท่องจำอัล-กุรอานจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิตไปในสงครามริดดะฮฺ และผู้หลงเหลือจำนวนหนึ่งกำลังสู้รบกับอาณาจักรเปอร์เซียและโรมัน(ไบแซนตีน) ดังนั้น จึงได้มีการรวบรวมอัล-กุรอานเป็นรูปเล่ม ดังที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้
ภารกิจทั้งสามประการนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นและกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สืบทอดกันมาของประชาชาติอิสลาม ภารกิจอันแรกของท่าน ได้สะท้อนถึงความเข้าใจอิสลามที่แท้จริงและการไม่ยินยอมให้กับความผิดที่ชัดเจนซึ่งจะส่งผลอันตรายต่อการดำรงอยู่ของประชาชาติ เป็นภารกิจพื้นฐานเพื่อนำความมั่นใจ ความภาคภูมิใจ และความอุ่นใจกลับคืนมาสู่อุมมะฮฺ
                อิบนุ อิสฮาก นักประวัติศาสตร์ ได้บรรยายบรรยากาศช่วงนั้นเอาไว้ว่า “เมื่อท่านเราะซูลได้เสียชีวิตลง ก็มีกลุ่มที่ละทิ้งศาสนา(ริดดะฮฺ) ศาสนานัศรีนียฺและศาสนายะฮูดียฺก็เชิดหัวขึ้นมา การตะลบตะแลงได้เกิดขึ้น มุสลิมก็เป็นเหมือนแกะที่หลบอยู่ท่ามกลางคืนฝนตกอันหนาวเหน็บ เพราะท่านนบีได้จากโลกนี้ไปเสียแล้ว และสภาพเช่นนั้นได้ดำเนินไป จนกระทั่งอัลลอฮฺได้รวบรวมพวกเขาไว้ภายใต้การเป็นผู้นำของอบู บักรฺ”
การสลายวิกฤติครั้งนั้นจึงทำให้อิสลามหยั่งรากลึก พลังงานภายในถูกสะสมถึงขีดสุด พร้อมที่จะทะยานออกไปทั่วทุกสารทิศ
ภารกิจประการที่สองของท่าน คือความพยายามทำให้ส่วนต่าง ๆ ของโลกเข้าอยู่ภายใต้อิสลามให้มากที่สุด การจัดความพร้อมทางยุทธศาสตร์และการวางนโยบายที่ยอดเยี่ยมของท่านกลายเป็นจุดเริ่มต้นการก้าวไปข้างหน้าของอิสลามตลอดไปอย่างปฏิเสธไม่ได้
ยุทธศาสตร์การขยายตัวของดินแดนอิสลามที่จัดวางโดยอบูบักร กลายเป็นจุดเปลี่ยนของแผนที่โลกอย่างขนานใหญ่ เพียงไม่ถึงร้อยปีหลังจากสิ้นสุดการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่าน  ดินแดนอิสลามได้กลายเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่กว่าอาณาจักรโบราณก่อนหน้านี้ทุกอาณาจักร มีอาณาเขตการปกครองครอบคลุมทั้ง 3 ทวีป ทอดตัวยาวตั้งแต่ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและเทือกเขาพิเรนนิสในยุโรปตะวันตกเฉียงใต้และแอฟริกาเหนือทั้งหมด ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดียและเขตแดนจักรวรรดิจีน
ซัยยิด อบุล ฮะซัน อัน-นัดวียฺ กล่าวว่า “..ชัยชนะต่าง ๆ ที่ได้รับหลังจากนั้น(หลังจากสมัยของอบูบักร) ไม่ว่าจะเป็นสมัยของเคาะลีฟะฮฺอุมัร  และอุษมานหรือในสมัยราชวงศ์อุมะวียะฮฺ ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความพยายามของอบู บักรฺ ที่ได้ทำไว้ขณะมีชีวิต เพราะอบูบักรฺ  นี้เองที่อิสลามได้ก้าวไปไกลถึงจุดที่ไกลที่สุดของโลก”

ภารกิจชิ้นที่สามของอบู บักร คือการเริ่มต้นการแพร่กระจายอัล-กุรอานไปสู่ผู้คนอย่างเป็นระบอบ ท่านได้จึงตัดสินใจให้รวบรวมเป็นรูปเล่ม(มุศหัฟ) วิธิการนี้จะทำให้เกิดการแพร่กระจายได้สะดวกที่สุด  งานนี้ได้รับการสืบสานในสมัยของอุษมาน อิบนฺ อัฟฟาน โดยได้มีการทำสำเนาจ่ายแจกไปในดินแดนต่าง ๆ
แท้จริงงานนี้เป็นจุดเริ่มต้นการแพร่หลายของอัล-กุรอาน ทั้งในรูปตัวหนังสือและความทรงจำ การตัดสินใจของอบูบักรในวันนั้น ถูกกล่าวถึงในฐานะข้อต่อการส่งผ่านสัจธรรมที่สำคัญที่สุดภายหลังการจากไปของท่านนบีมุฮัมมัด และทำให้สัจธรรมแพร่หลายไปสู่ผู้คนอย่างไม่มีวันจบสิ้น
ท่านอบู บักรฺ ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแค่สองปี แต่งานที่ท่านได้ทำได้ก่อเกิดอิทธิพลที่ส่งผ่านไปยังคนรุ่นรุ่นแล้วรุ่นเล่าในประวัติศาสตร์ ความจริงภารกิจของอบู บักร เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์บางคนเรียกว่า การเหวี่ยงอิสลามลงสู่หน้าประวัติศาสตร์ ทั้งการขยายตัวของดินแดนอิสลามและการแพร่กระจายสัจธรรม อันเป็นภารกิจที่โดยไม่มีใครสามารถหยุดมันได้อีกแล้ว

นี่คือเหตุผลที่เราจำเป็นต้องยอมรับว่า ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุษมาน ซึ่งมีฉายาว่า อบู บักร อัล-ศิดดีก คือคนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์อิสลามถัดจากท่านนบีของเรา

จาก
http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=229&Itemid=33

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น