อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ชาฮ์ วาลียุลลอฮฺ อัล-ดะฮฺลาวีย


ชาฮ์ วาลียุลลอฮฺ อัล-ดะฮฺลาวีย (ค.ศ.1703 – 1763)

ชาฮ์ วาลียุลลอฮฺ อัล-ดะฮฺลาวียฺ
นักฟื้นฟูอิสลามแห่งชมพูทวีป

อัล อัค เรียบเรียง
                ชาฮ์ วาลียุลลอฮฺ อัล-ดะฮฺลาวียฺ หรืออะหฺมัด บิน อับดุร เราะฮีม เกิดในเมืองเดลฮี ปี ค.ศ.1703  สี่ปีก่อนการตายของกษัตริย์เอารังเซ็บแห่งราชวงศ์โมกุล ท่านเกิดในครอบครัวของอุละมาอ์  ปู่ของท่านคือชาฮฺ วาญีฮุดดีน ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของกษัตริย์เอารังเซบเป็นผู้หนึ่งที่เคยมีตำแหน่งสำคัญในกองทัพของชาฮ์จาฮันและได้สนับสนุนเอารังเซ็บให้ขึ้นสู่อำนาจ

           ส่วนบิดาของท่านชื่อว่าชาฮฺ อับดุล เราะฮีม เป็นปราชญ์ผู้ทรงความรู้อิสลาม และเป็นผู้ช่วยของกษัตริย์โอรังเซบในการเรียบเรียบหนังสือชื่อว่า “ฟัตวา-อิ-อลามฆีรี” ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายอิสลาม แต่บิดาของท่านใช้เวลาไปกับการสอนหนังสือที่สถาบันที่บิดาท่านได้จัดตั้งขึ้นมา ชื่อว่า มัดเราะซะฮฺ เราะฮีมียะฮฺ ซึ่งต่อมาเป็นแหล่งวิชาการสำคัญที่ได้ผลิตนักฟื้นฟูอิสลามจำนวนมากให้แก่อินเดีย
            ชาฮ์ วาลียุลลอฮฺ เป็นอัจฉริยะบุคคล ในวัยเด็กท่านได้รับการศึกษาจากพ่อของท่าน และจากอุละมาอ์ท่านอื่นๆในเมืองเดลฮี ท่านจดจำอัลกุรอานทั้งเล่มตั้งแต่อายุได้ 7 ปี ท่านได้ศึกษาวรรณกรรมอาหรับและเปอร์เซีย ศึกษาความรู้อิสลามด้านต่างๆ ประวัติศาสตร์อิสลาม ปรัชญา กฎหมาย และตรรกวิทยา ชาฮฺวาลียุลลอฮฺสนใจศึกษาแม้กระทั่งสังคมวิทยารวมไปถึงการเมืองด้วย นี่คือเหตุผลว่าทำไมงานเขียนของท่านจึงเป็นการวิเคราะห์ที่แหลมคม ทั้งปัญหาการเมืองของอินเดียและของโลกมุสลิม
                บิดาของท่านเสียชีวิตในช่วงที่ท่านอยู่ในวัยรุ่น อายุประมาณ 16-17  ปี ท่านจึงได้เริ่มสอนหนังสือให้แก่สถาบันที่บิดาของท่านได้ก่อตั้งมา  ต่อมาท่านได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และศึกษาเล่าเรียนที่มักกะฮฺและมดีนะฮฺ  โดยครูคนสำคัญของท่านคือเชคอบู ฏอฮิร อิบนฺ อิบรอฮีมแห่งมดีนะฮฺ  ซึ่งท่านได้รับสะนัดจากครูท่านนี้
หลังจากนั้นในปีค.ศ.1732 ก็ได้กลับมายังอินเดีย และได้สอนหนังสืออีกครั้งหนึ่ง พร้อมๆกันนั้นท่านได้เรียบเรียงตำรับตำรามาตรฐานไว้จำนวนมาก
                ในปีค.ศ 1737 ท่านได้แปลความหมายอัลกุรอานมาเป็นภาษาเปอร์เซียเป็นครั้งแรกในอินเดีย(เปอร์เซียเป็นภาษาราชการของราชวงศ์โมกุล ส่วนอูรดูเป็นภาษาประชาชนทั่วไป) ส่งผลให้อุละมาอ์แห่งเดลฮีรณรงค์ต่อต้านท่าน ทำให้ท่านต้องละทิ้งถิ่นฐานจากเดลฮีลไปชั่วระยะหนึ่ง นอกจากนั้นบุตรชายของท่านชาฮ์ อับดุล เกาะดีร ได้แปลความหมายอัลกุรอานไปเป็นภาษาอูรดูเป็นครั้งแรกในอินเดียอีกเช่นกัน
ชาฮ์ วาลียุลลอฮฺได้เห็นความเหลวแหลกของราชวงศ์โมกุล ท่านได้ทำการวิจารณ์พวกที่อยู่ในอำนาจทั้งหลายอย่างเอาจริงเอาจัง ท่านได้ประณามผู้ปกครองแห่งราชวงศ์โมกุลว่าไม่แตกต่างอะไรกับจักรพรรดิแห่งโรมันและแซสซานิด
ท่านยังได้เรียกร้องให้ประชาชนปรับปรุงชีวิตเสียใหม่ ท่านได้ประณามประเพณีที่ไม่ใช่อิสลามแต่ได้เข้ามาอยู่ในสังคมมุสลิม เช่น การไม่ยอมให้แม่หม้ายแต่งงานใหม่ ท่านได้คัดค้านความสิ้นเปลืองในการจัดงานแต่งงาน พิธีศพคนตาย เป็นต้น
แนวคิดของท่านเป็นการฟื้นฟูอิสลามแบบดั้งเดิมให้เกิดขึ้นท่ามกลางหมู่ผู้คน ท่านเป็นผู้สานงานต่อของนักฟื้นฟูคนสำคัญแห่งอินเดียคือ ชัยคฺ อะหมัด ซิรฮินดียฺ และรับแนวคิดจากชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ในการทำงานฟื้นฟู
                ชาฮ์วาลียุลลอฮฺได้พบกับสถานการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยของท่าน ทั้งภายในที่มาจากความอ่อนแอของมุสลิม และภายนอกที่เกิดจากการขยายอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ท่านต้องลุกขึ้นมาปลุกเร้าชาวมุสลิมให้รู้จักการต่อสู้ดิ้นรนในหนทางของอัลลอฮฺ
                ในเวลานั้น จึงไม่มีอุละมาอ์คนใดในอินเดียเหมือนกับท่าน ท่านได้รณรงค์ให้ความรู้กับผู้คนในเรื่องการตัฟซีร อัลกุรอาน การอธิบายฮะดีษ อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันท่านได้ให้คำอธิบายที่ถูกต้องในเรื่องญิฮาดและเร่งเร้าให้มุสลิมในอินเดียต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหง
                ชาฮ์วาลียุลลอฮฺได้ผลิตศิษย์จำนวนมากที่ดำเนินงานท่านต่อ จนถึงรุ่นหลานของท่านได้มีบทบาทสำคัญมากในการฟื้นฟูสังคมมุสลิมแห่งอินเดีย คือชัยคฺอิสมาอีล ชะฮีด ผู้เป็นหลานชายของท่าน และเป็นปราชญ์คนสำคัญในขบวนการของซัยยิด อะหฺมัด ชะฮีด (1777-1831) ผู้นำการญิฮาดและผู้สถาปนารัฐบาลอิสลามในอินเดียได้ระยะหนึ่ง
                ชาฮ์วาลียุลลอฮฺ อยู่ในยุคร่วมสมัยกับอิหม่าม มุฮัมมัด บิน อับดุล วะฮฺฮาบ(ค.ศ.1703-1787) แห่งคาบสมุทรอาหรับ แต่ก็ไม่เคยพบหรือเคยรู้จักกันแต่ประการใด อย่างไรก็ตามงานของท่านมีความละม้ายคล้ายคลึงกับงานของอิหม่ามมุฮัมมัด อับดุล วะฮฺฮาบ ในแง่ของการต่อสู้กับชิรกฺและอุตริกรรม โดยชาฮ์วลียุลลอฮฺได้ต่อสู้คัดค้านประเพณีฮินดูที่เข้ามามีอยู่ในชีวิตประจำวันของมุสลิมอย่างแข็งขัน จนฝ่ายศัตรูในรุ่นหลังเรียกท่านและขบวนการของท่านว่าวะฮาบียฺแห่งอินเดีย
                อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการบางท่านได้จัดให้งานของชาฮ์วลียุลลอฮฺมีความลึกซึ้งและครอบคลุมกว่างานของอีหม่าม มุฮัมมัด บิน อับดุล วะฮฺฮาบ โดยงานของชาฮ์ วลียุลลอฮฺครอบคลุมศาสตร์ต่างๆหลายสาขา อาทิเช่น การเรียกร้องมุสลิมนำอัลกุรอานมาเป็นศูนย์กลางของชีวิต ดังการแปลอัลกุรอานของท่านเป็นภาษาเปอร์เซียเท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดในการนำอัลกุรอานไปให้คนสามัญสามารถศึกษาได้
 ต่อมาท่านเน้นการเรียกร้องให้กลับไปสู่ซุนนะฮฺ ซึ่งจำเป็นสำหรับการเข้าใจอัลกุรอานอย่างแท้จริง ท่านได้ทำการอธิบายฮะดีษจำนวนมาก ทั้งเป็นภาษาอาหรับและเปอร์เซีย ดังการอธิบายตำราฮะดีษ “อัลมุวัฏเฏาะฮฺ” ของอิหม่ามมาลิก ความเป็นนักฮะดีษอันโดดเด่นของท่าน ทำให้ท่านมีอิทธิพลกับนักฮะดีษยุคใหม่ในปัจจุบันของอินเดียทั้งหมด
นอกจากนี้มีงานด้านอื่นๆ ไม่ว่าด้านการปฏิรูปซูฟี การชี้แจงคลี่คลายปัญหาลัทธินอกรีตทั้งหลาย รวมไปถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองอีกด้วย
            อิทธิพลงานของชาฮ์วาลียุลลอฮฺนั้นปรากฏอย่างลึกซึ้งมาก ในด้านหนึ่งอิทธิพลของชาฮฺ วาลียุลลอฮฺส่งผ่านตำรับตำรามากมาย ดังหนังสือที่โด่งดังของท่านในชื่อ ฮุจญะตุลลอฮฺ อัล บาลิเฆาะฮฺ และหนังสืออื่นๆอีกมากมาย ท่านเขียนหนังสือทั้งภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย ในอีกด้านหนึ่งอิทธิพลของท่านได้ส่งผ่านลูกศิษย์และมวลชนเคลื่อนไหวที่ได้ก่อเกิดทั้งขบวนการทางปัญญาและการญิฮาดที่กว้างขวาง

เป็นที่ยอมรับกันว่า ขบวนการของชาฮฺ วาลียุลลอฮฺ มีอิทธิพลอย่างสูงต่อขบวนการฟื้นฟูอิสลามในชมพูทวีปแทบทั้งหมดในทุกวันนี้
            หากจะเปรียบงานฟื้นฟูอิสลามของชาฮฺ วาลียุลลอฮฺ ให้ได้ใกล้เคียง ก็สามารถเปรียบได้กับงานของ ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ   นั่นเอง
                ชาฮ์ วาลียุลลอฮฺ เสียชีวิตในปีค.ศ 1763 ถือว่าเป็นการจากไปของบุรุษไม่กี่คนที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการขับเคลื่อนประวัตศาสตร์การฟื้นฟูอิสลาม ท่านถูกถือว่าเป็นมุสลิมคนแรกที่ตระหนักถึงภัยคุกคามของแนวคิดตะวันตก และได้อุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อการปกป้องอิสลามทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ

จาก
http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=224&Itemid=33

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น