อิหม่าม อัน นะวาวียฺ (ค.ศ. 1233-1277 ฮ.ศ.631 , 676)
อิหม่าม อัน นะวาวียฺ |
อิหม่าม อัน นะวาวียฺ
ปราชญ์ผู้อุทิศชีวิตให้การฟื้นฟูศาสตร์แห่งอิสลาม
อัล อัค เรียบเรียง
อิหม่ามอัน นะวาวียฺ ชื่อเต็มว่า มุหฺยิดดีน อบู ซะการียา ยะหฺยา บิน ชะรอฟ อัล ฮิซามียฺ อัน นะวาวียฺ เกิดปี ค.ศ 1233 ที่หมู่บ้านนะวา ทางตอนใต้ของเมืองดะมัสกัช ซีเรีย เนื่องจากท่านมาจากหมู่บ้านนะวา ท่านจึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อัน นะวาวียฺ(ชาวนะวา)
ชีวิตในวัยเด็กและการศึกษา
อิหม่ามอัน นะวาวียฺ ไม่ได้มาจากตระกูลผู้รู้เช่นอุละมาอ์จำนวนมาก พ่อของท่านมีสวนแปลงหนึ่ง ซึ่งได้ปลูกพืชมาเป็นอาหารแก่ครอบครัว ลักษณะสำคัญของครอบครัวนี้ก็คือ ความเคร่งครัดในสิ่งที่ฮะลาล และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะรับประทานในสิ่งที่คลุมเครือ
ในวัยเด็กอิหม่ามอัน นะวาวียฺ ไม่เหมือนเด็กทั่วไป คือไม่ชอบการละเล่นต่างๆ ดังนั้น ตั้งแต่วัยเด็กท่านชอบค้นคว้าศึกษาหาความรู้อย่างเอาจริงเอาจัง ท่านเกลียดกิจกรรมที่ทำให้ท่านห่างจากการท่องจำอัลกุรอาน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พวกเด็กๆในหมู่บ้านบังคับให้ท่านไปเล่น ปรากฏว่าอิหม่ามอัน นะวาวียฺ ถึงกับร้องให้ เพราะเสียดายเวลาที่สูญเสียไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านสามารถท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มตั้งแต่วัยเด็ก
เมื่อท่านอายุได้ 18 ปี พ่อได้นำท่านไปที่นครดามัสกัช เพื่อให้ท่านได้ศึกษาต่อ ที่นั่นท่านได้แสดงถึงความเป็นเลิศในการศึกษา ท่านชำนาญในฟิกฮฺ มัซฮับชาฟิอียฺ ท่านสามารถท่องจำหนังสือต่างๆได้จำนวนมาก
สถานที่ศึกษาแห่งแรกในดามัสกัชของท่านคือโรงเรียน ซารอมียะฮฺ จากนั้นก็ศึกษาต่อที่โรงเรียนรอฮาวียะฮฺ ท่านได้ใช้เวลาในการฟังบรรยายวันละ 12 ชั่วโมง และเมื่ออายุได้ 24 ปี ท่าได้เริ่มสอนหนังสือที่โรงเรียนฟัชรอฟียะฮฺ ความเป็นเลิศทางวิชาการของท่านเป็นที่ยอมรับท่ามกลางนักปราชญ์ทั้งหลาย
บุคลิกภาพ
อิหม่ามอัน นะวาวียฺ เป็นผู้สมถะอย่างยิ่ง ท่านอาศัยอยู่ในห้องพักเล็กๆที่มีหนังสือเต็มห้อง มีว่างเหลือสำหรับนั่งเท่านั้น ท่านได้ใช้เวลาทั้งหมดในแต่ละวันกับการหาความรู้และการสอนหนังสือ ท่านนอนหลับเพียงเล็กน้อยและตื่นขึ้นมาหาความรู้ต่อ ท่านเคยมุมานะในการเรียนจนกระทั่งว่า มีอยู่สองปีที่ท่านไม่ได้ล้มตัวลงนอนหลับ เพียงแต่นั่งหลับเท่านั้น แม้แต่ว่าท่านเดิน ท่านก็ไม่ยอมเสียเวลา จะใช้เวลานี้ท่องจำและทบทวนหนังสือ
ชีวิตของท่านอยู่แบบเรียบง่าย ท่านรับประทานอาหารพื้นๆที่พ่อท่านส่งมาให้จากหมู่บ้านนะวา ท่านไม่ยอมรับประทานอาหารที่ดูมีระดับ ท่านให้เหตุผลว่า นั่นเป็นอาหารของพวกทรราชย์
ท่านได้ถือศีลอดทุกวัน เว้นวันที่ศาสนาห้าม(ในทรรศนะของอัน นะวาวียฺ สามารถือศีลอดได้ทุกวัน ตราบที่ไม่ไปถือในวันที่ศาสนาห้าม เช่น วันอีด) ท่านเคยรับค่าตอบแทนในการสอนปีแรก แต่ท่านได้ใช้มันหมดไปกับการซื้อหนังสือ และต่อมาท่านไม่รับค่าตอบแทนอีกเลย
ชีวิตทีสมถะอย่างยิ่งของอิหม่ามอันนะวียฺ นำไปสู่คำถามมากมายจากนักวิชาการรุ่นหลัง เพราะเป็นการปฏิบัติที่ยากที่ผู้อื่นจะทำได้ สรุปว่านี่เป็นลักษณะพิเศษที่เข้ากับธรรมชาติของท่าน เป็นธรรมชาติของผู้ใฝ่รู้ที่ได้อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความรู้
จุดเด่นของท่านก็คือ การที่ท่านรักหนังสือมาก ท่านได้เก็บสะสมหนังสือดีๆมากมาย รวมทั้งหนังสือหายาก เมื่ออุละมาอ์ที่มีชื่อท่านหนึ่งคือท่านตาญุดดีน อัซ ซุบกียฺ ถูกขอให้ทำการทำการเรียบเรียงหนังสือที่อิหม่ามอัน นะวาวียฺ แต่งไว้ไม่เสร็จ ชื่อหนังสือ “อัล มัจญมูอฺ” ท่านซุบกียฺ ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ท่านไม่มีหนังสืออ้างอิงเท่ากับที่อิหม่ามอัน นะวาวียฺ มีอยู่
คำถามอีกข้อหนึ่งที่มีต่อชีวิตของอิหม่ามอัน นะวาวียฺก็คือ เหตุใดท่านไม่แต่งงาน มีคำอธิบายมากมายจากนักวิชาการรุ่นหลัง แต่ดูเหมือนว่าคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ท่านปราศจากความต้องการความสุขในโลกนี้เช่นคนอื่นๆ ชีวิตของท่านปรารถนาแต่เพียงการแสงหาความรู้และการถ่ายทอดมันให้แก่อุมมะฮฺอิสลามเท่านั้น
ความจริง ครั้งหนึ่งท่านเคยสอนเรื่องแต่งงานว่าเป็นซุนนะฮฺอันยิ่งใหญ่ และท่านบอกว่าบางทีนี่เป็นเพียงซุนนะฮฺที่ท่านไม่สามารถทำได้ ท่านให้เหตุผลว่า “ฉันกลัวว่า ฉันอาจทำตามซุนนะฮฺหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันฉันต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ต้องห้ามอื่นๆ” นั่นคือสิทธิของภรรยา
ผู้ดำเนินตามมัซฮับตามเจตนารมณ์
แม้ว่าอิหม่ามอัน นะวาวียฺ จะสังกัดอยู่กับฟิกฮฺ มัซฮับชาฟิอียฺ แต่ท่านไม่ใช่มุตะอัศศิบ(ผู้คลั่งไคล้มัซฮับ) ดังนั้น จึงพบในงานเขียนของท่านไม่ได้ตามทรรศนะของมัซฮับชาฟิอียฺเสมอไป ดังที่จะพบได้ใหนังสืออัล มัจญมุอฺ และคำอธิบายเศาะฮีฮฺ มุสลิมของท่าน
ท่านอิบนุ อัล อัตตาร ศิษย์คนหนึ่งของอิหม่ามอัน นะวาวียฺ ได้กล่าวว่า “ท่านเป็นผู้รักษาและท่องจำ(ทรรศนะทางฟิกฮฺของ)มัซฮับชาฟิอียฺ ทั้งในหลักหลักการ หลักพื้นฐาน และประเด็นรองๆลงมา แต่ท่านยังเป็นผู้มีความรู้ในทรรศนะของเหล่าเศาะฮาบะฮฺและตาบีอีน ท่านมีความรู้ในสิ่งที่อุละมาอ์เห็นพ้องต้องกันและที่พวกเขาเห็นแตกต่างกัน ด้วยเหตุผลนี้ทั้งหมด ท่านคือผู้ดำเนินตามวิถีทางของอุละมาอ์ยุคแรกของอิสลาม”
ในฟิกฮฺ มัซฮับ ชาฟิอียฺนั้น มีอุละมาอ์ที่โด่งดังในมัซฮับนี้สองท่านที่ถูกเรียกว่า “อัช ชัยคอน” หรือเชคทั้งสอง คืออิหม่ามอัน นะวาวียฺ และอิหม่ามรอฟิอียฺ ทั้งสองท่านมีการให้ทรรศนะบางอย่างที่แตกต่างกัน ผู้เล่าเรียนทางมัซฮับชาฟิอียฺบางท่านชอบอิหม่ามรอฟิอียฺมากกว่า เพราะว่าใกล้เคียงกับวิธีคิดทางฟิกฮฺของมัซฮับชาฟิอียฺมากกว่า แต่ก็มีจำนวนมากที่ชอบทรรศนะของอิหม่ามอัน นะวาวียฺ มากกว่า อันเนื่องจากจากท่านมีความรู้ที่ลึกซึ้งในวิชาฮะดีษมากกว่า
ผู้สร้างสรรค์งานวิชาการ
อิหม่ามอัน นะวาวียฺ ได้ผลิตงานเขียนออกมาอย่างมากมาย หนึ่งในชุดตำราที่ได้รับความชื่อถือตลอดมาก็คือ คำอธิบาย เศาะฮีฮฺ มุสลิม ซึ่งถือว่าเป็นคำอธิบายเศาะฮีฮฺมุสลิมอันดับหนึ่ง คู่กับคำอธิบายเศาะฮีฮฺ บุคอรียฺ ของอิหม่ามอิบนุ ฮะญัร อัล อัสกอลานียฺ(ชื่อฟัตหุล บารียฺ) ท่านได้แต่งหนังสือชุดยิ่งใหญ่นี้ในช่วงท้ายๆของชีวิต ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี ท่านยังได้อธิบายเศาะฮีฮฺ บุคอรียอีกด้วย แต่ไม่เสร็จ ท่านก็เสียชีวิตเสียก่อน
งานเขียนที่ได้รับความนิยมชิ้นต่อมาของท่านคือ “ริยาฎุศ ศอลีฮีน”(อุทยานของคนดี) เป็นการนำอัลกุรอานและฮะดีษมาจัดหมวดหมู่เป็นบทๆในเรื่องเกี่ยวกับความดีงามต่างๆ หนังสือชุดนี้ถูกนำไปอธิบายต่อโดยอุละมาอ์รุ่นหลัง ที่น่าสนใจคือคำอธิบายของ “เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล อุษัยมีน”
สำหรับหนังสือฟิกฮฺที่ชื่อ “อัล มัจญมูอฺ” ของท่าน ได้รับความเชื่อถืออย่างสูง แม้จะเรียบเรียงไม่เสร็จสิ้นก็ตาม หนังสือชุดนี้ถูกถือว่าเป็นหนังสือสารานุกรมทางฟิกฮฺคู่กับหนังสือ “อัล มุฆนียฺ” ของอิบนุ กุดามะฮฺจากมัซฮับฮัมบะลียฺ ซึ่งหนังสือทั้งสองชุดนี้ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่กับมัซฮับของผู้แต่ง แต่เป้าหมายก็คือการนำเสนอสิ่งที่สอดคล้องกับอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ
ส่วนที่แพร่หลายมากที่สุดคือ การนำฮะดีษที่ครอบคลุมคำสอนอิสลามทั้งหมดมาลำดับไว้ เรียกว่า “สี่สิบ ฮะดีษ” หรือรู้จักกันในชื่อ “สี่สิบฮะดีษ นะวาวียฺ”
ผู้กล้าเผชิญหน้ากับผู้ปกครองที่อธรรม
อิหม่านอัน นะวาวียฺ มิได้มีความจริงจังในแง่วิชาการเท่านั้น เมื่อเผชิญกับความอธรรมบนหน้าแผ่นดิน ท่านไม่ยอมเงียบ แต่ได้ยืนขึ้นเพื่อหลักการอิสลาม แม้กระทั่งการตักเตือนผู้ปกครองทั้งหลาย วิธีหนึ่งที่ท่านนิยมทำก็คือการส่งจดหมายไปตักเตือนผู้ปกครองเหล่านั้น บางครั้งท่านได้ร่างจดหมายถึงผู้ปกครอง โดยเซ็นร่วมกับอุละมาอ์ท่านอื่นๆจากสำนักฟิกฮฺต่างๆ
ท่านได้คัดค้านความอยุติธรรมของผู้ปกครองหลายๆครั้ง ครั้งหนึ่ง ซุลฏอน(สุลต่าน)ในเมืองที่ท่านอาศัยอยู่ต้องการให้อุละมาอ์ทุกคนออกฟัตวาเก็บทรัพย์สินกับประชาชนเพื่อต่อสู้กับมองโกล แต่ท่านเป็นอุละมาอ์คนเดียวที่ยังไม่ยอมออกฟัตวาให้ สุลต่านจึงให้นำตัวอิหม่ามอัน นะวาวียฺมาถามถึงเหตุผล ท่านตอบว่า “ฉันรู้ว่า ท่านเคยเป็นทาสของอมีร บันดุการ์ และท่านไม่เคยมีทรัพย์ใดๆมาก่อนเลย แต่แล้วอัลลอฮฺได้ให้ความโปรดปรานกับท่าน และท่านได้กลายเป็นผู้ปกครอง ฉันได้ยินมาว่า ท่านมีทาสชายถึงหนึ่งพันคน และแต่ละคนมีสายรัดด้วยทอง และท่านยังมีทาสหญิงอีกสองพันคน แต่ละคนมีเครื่องประดับที่เป็นทอง หากท่านได้จ่ายมันทั้งหมดและได้ปล่อยทาสชายของท่านด้วยสายรัดผ้าแทนสายรัดทอง และท่านได้ปล่อยทาสหญิงพร้อมเครื่องนุ่งห่มโดยไม่มีเครื่องประดับเพชรนิลจิลดา แล้วฉันจะฟัตวาให้ท่านสามารถเก็บทรัพย์สินจากประชาชนได้”
กรณีนี้ แม้ว่าอิหม่ามอัน นะวะวียฺ จะเห็นด้วยกับการรวบรวมทรัพย์ในการต่อสู้ แต่ท่านเห็นว่าต้องเก็บตามวิธีการที่ถูกต้องเท่านั้น
สุลต่านโกรธแค้นมากและได้ขับไล่ท่านออกจากเมืองดามัสกัช ท่านได้จากไปอยู่หมู่บ้านนะวา เหล่าอะละมาอ์พยายามของให้ท่านกลับมาอีกครั้ง แต่ท่านปฏิเสธ
การคัดค้านใดๆต่อผู้ปกครองที่อธรรมของท่านมีผลกระทบสูงมาก อันเนื่องจากท่านเป็นอุละมาอ์ที่อิสระ ไม่รับเงินเดือนจากใคร มีวีถีชีวิตที่พอเพียง การคัดค้านของท่านจะได้รับการสนับสนุนจากอุละมาอ์และมวลชนมุสลิมเสมอ
วาระสุดท้าย
ท่านอิหม่ามอัน นะวาวียฺ ใช้ชีวิตในหมู่บ้านนะวาในช่วงสั้นๆ ท่านก็ล้มป่วยลง และเสียชีวิตในปี 1277 อายุเพียง 43 ปีเท่านั้น เมื่อข่าวการเสียชีวิตของท่านไปถึงดามัสกัช ผู้คนต่างพากันร้องให้ต่อการจากไปของอุละมาอ์ผู้อุทิศตัวให้แก่วิชาการ การมีชีวิตที่เรียบง่าย และมีความกล้าหาญ
ในหนังสือคำอธิบาย เศาะฮีฮฺ มุสลิม ของท่าน ท่านได้แสดงถึงความต้องการที่ให้หลุมฝังศพของท่านเป็นไปตามแบบอย่างของท่านนบีฯ ไม่ให้มีการสร้างความพิเศษใดๆให้แก่ท่าน และศิษย์ของท่านอิบนุ อัตตาร ได้รายงานว่า เป็นความจริงที่ว่า ทุกครั้งที่ผู้คนได้เข้าไปสร้างโดมเหนือหลุมฝังศพของท่าน มันก็จะพังลงมา จนถึงทุกวันนี้หลุมฝังศพของท่านก็ยังอยู่ในสภาพธรรมดา
อัลลอฮฺ ได้ให้ความต้องการของท่านสำเร็จแล้ว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของอิหม่ามนะวาวียฺ
Al-Minhaj fi Sharh Sahih Muslim - A Commentary on Sahih Muslim
al-Arba'een (ie The Forty Hadeeth)
Riyaad-us-Saliheen
Kitaab-ur-Raudah
Tahdheeb-ul-Asmaa was-Sifaat
Kitaab-ul-Adhkaar
At-Taqreeb fee Ilmil-Hadeeth wal-Irshad feehi
Sharh Sunan Abee Dawood (Incomplete)
Tabaqaat Ash-Shaafi'iyyah
Muhimmatul-Ahkaam
Bustaan-ul-'Aarifeen
Al-Khulaasatu fil-Hadeeth
จาก
http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=27&Itemid=33
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น