อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อะหฺมัด บิน หันบัล


อะหฺมัด บิน หันบัล (ค.ศ. 780 - 855 )
อะหฺมัด บิน หันบัล
บุรุษผู้กำเนิดขบวนการขัดขืนแห่งอิสลาม

โดย อัล อัค
               
เมื่อเข้าสู่ฮิจเราะฮฺศตวรรษที่ 3 แห่งอิสลาม ถือว่าเป็นยุคท้าย ๆ ของยุคสามร้อยปีแรกที่เรียกว่า “ยุคสลัฟ”(ยุคของผู้คนสมัยแรกเริ่ม) อิสลามได้ก้าวไปสู่จุดทดสอบใหม่

บทบาทของการเคลื่อนไหวอิสลามที่โดดเด่นเป็นพิเศษในปลายยุคแรกนั้น คือการเคลื่อนไหวภายใต้การชี้นำของอะหฺมัด บิน หันบัล ปราชญ์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคแรกของอิสลาม และเป็นหนึ่งในสี่ของผู้นำทางนิติศาสตร์อิสลามที่ถูกยอมรับสูงสุดในประวัติศาสตร์อิสลาม
การศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อิสลามถือว่า อะหฺมัด บิน หันบัล เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งทั้งในทางประวัติศาสตร์และการฟื้นฟูอิสลามตลอดทุกยุคทุกสมัย ความเป็นจริงเขาเป็นมากกว่านักนิติศาสตร์ ภูมิหลังของเขาคือการเป็นผู้เชี่ยวชาญในหะดีษ แต่มักถูกกล่าวขานถึงในฐานะนักเทววิทยามากกว่า
ภูมิหลัง
อะหฺมัด บิน หันบัล ชื่อเต็มว่า อะหฺมัด บิน มุฮัมมัด บิน หันบัล บิน ฮิลาล อัล-ชัยบานียฺ เกิดในกรุงแบกแดด ในวันที่ 20 เดือนเราะบิอุล เอาวัล ฮ.ศ. 164 (ธันวาคม ค.ศ. 780) เขาเป็นชาวอาหรับ เผ่าบนี ชัยบาน ซึ่งเป็นเผ่าที่มีบทบาทสำคัญในการพิชิตอิรักและเมืองคอรอซาน ซึ่งแม่ทัพคนสำคัญของอิสลามคนหนึ่งคือ อัล-มุษันนา บิน หาริษะฮฺ ก็สังกัดอยู่กับเผ่านี้
ปู่ของเขาชื่อ หันบัล บิน ฮิลาล เคยเป็นข้าหลวง(วาลี)เมืองสะรัคส์ ในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮฺ  บิดาของเขาชื่อ มุฮัมมัด บิน ฮันบัล เป็นหนึ่งในมุญาหิด(นักญิหาด)และเคยทำงานอยู่ในกองทัพหลวงที่เมืองคอรอซาน ก่อนจะย้ายไปแบกแดด และเสียชีวิตในอีก 3 ปีต่อมา ด้วยอายุเพียง 30 ปี
อะหฺมัด บิน หันบัล เป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เด็ก ๆ อีกทั้งบิดาของเขาจากไปโดยไม่ได้ทิ้งสิ่งใด ๆ ไว้ให้ เขาจึงเติบโตด้วยชีวิตที่ยากลำยาก พร้อม ๆ กับมารดาขอเขาชื่อว่า สารียะฮฺ บินตฺ มัยมูนะฮฺ บินตฺ อับดุล มาลิก อัล-ชัยบานียฺ ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุดในการฝึกอบรมบุตรชายให้เติบโตขึ้นมาเป็นนักฟื้นฟูอิสลามแห่งยุคสมัย
อะหฺมัด บิน หันบัล มีฐานะยากจน ซึ่งท่านมีเพียงบ้านเล็กๆหลังเดียวเท่านั้นชีวิตของอิหม่ามอิบนฺหัมบัลดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ท่านต้องหางานทําเพื่อเลี้ยงชีพด้วยความขยันขันแข็ง ท่านเคยรับจ้างเย็บผ้าบางครั้งท่านก็เก็บของเหลือจากไร่หลังจากเจ้าของได้เก็บเกี่ยวไปแล้ว ซึ่งท่านทำโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของไร่ ท่านเคยทอผ้าขาย และเคยเป็นกรรมกร ท่านเป็นคนที่ไม่เลือกงานหากงานนั้นไม่เป็นที่ห้ามของศาสนา
ชีวิตของอะหฺมัด บิน หันบัล ได้เติบโตขึ้นในแวดวงวิชาการ เขาท่องจำอัล-กุรอานได้ทั้งเล่มตั้งแต่เยาว์วัย และศึกษานิติศาสตร์อิสลาม หะดีษ และไวยากรณ์อาหรับในนครแบกแดด  จากนั้นเข้าร่วมกลุ่มศึกษาของอบู ยูสุฟ สหายคนสำคัญของอบู หะนีฟะฮฺ(หนึ่งในสี่ผู้นำนักนิติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง)
เขาให้ความสำคัญกับการศึกษาวิชาหะดีษ การท่องจำหะดีษ  นอกเหนือจากอบู ยูสุฟ ผู้ที่ถือว่าเป็นครูหะดีษคนแรกของเขาแล้ว เขายังได้รับการศึกษาโดยตรงกับนักหะดีษคนสำคัญร่วมสมัย นั่นคือ ฮะชีม บิน บะชีร บิน อบู หะซิม อัล-วาสิฏียฺ ซึ่งเป็นอิมามหะดีษที่แบกแดด และเป็นอุลามาอฺท่านหนึ่งจากบรรดาตาบีอูน(กลุ่มชนที่ได้เจอกับเศาะหาบะฮฺ) อีกด้วย

ตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นต้นมา เขาได้อุทิศตัวให้กับการศึกษาหะดีษ ทำให้เขาต้องออกเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าอิหร่าน คอรอซาน หิญาซ เยเมน ซีเรีย อิรัก และแม้แต่มัฆริบ(โมร็อคโคปัจจุบัน) เพื่อเสาะหาความถูกต้องของหะดีษ และท่านยังได้ไปทำฮัจญ์ที่มักกะฮฺ 5 ครั้งด้วยกัน

ครูบาอาจารย์ของอะหฺมัด บิน หันบัลที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ อัล-ชาฟิอียฺ เขาได้ศึกษากับอิหม่ามซาฟีอีเป็นครั้งแรกที่นครมักกะฮฺ เมื่ออิบนฺหัมบัลไปบำเพ็ญฮัจญ์ที่นั้นซึ่งในขณะนั้นอิหม่ามซาฟีอีกำลังสอนอยู่ในมัสยิดฮะรอม และอิบนฺหัมบัลยังได้ไปศึกษากับอิบรอฮีม อิบนฺ ซะอด์ ยะฮยา อัล-ก็อฏฏอน
อะหฺมัด อิบนฺ หันบัล ยังมีความตั้งใจที่จะไปศึกษากับมาลิกแต่มาลิกได้เสียชีวิตไปก่อน

อะหฺมัด บิน หันบัล: ทายาทที่แท้จริงของอัล-ชาฟิอียฺ
การที่อะหฺมัด บิน หันบัล ได้มีโอกาสศึกษาอย่างใกล้ชิดกับอัล-ชาฟิอียฺ นักปราชญ์นักฟื้นฟูอิสลามคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักฟื้นฟูแห่งศตวรรษที่สองแห่งอิสลามต่อจากเคาะลีฟะฮฺ อุมัร บิน อับดุล อะซีซ  อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสี่ผู้นำนิติศาสตร์อิสลามที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์อิสลาม เขาจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้มากมายจากอัล-ชาฟิอียฺ
การมีชีวิตที่ใกล้ชิดกับอัล-ชาฟิอียฺทำให้เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอัล-ชาฟิอียฺ ผู้เป็นอาจารย์ของเขา ยิ่งกว่านั้นอัล-ชาฟิอียฺยังเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่เขาอีกด้วย อิสหาก อิบนฺ เราะหะวัยฮฺ เล่าว่า “อะหฺมัด บิน หันบัลได้พบกับฉันที่มักกะฮฺ และกล่าวกับฉันว่า มากับฉันแล้วฉันจะแนะนำให้ท่านรู้จักบุรุษผู้หนึ่งที่ท่านไม่เคยพบเห็นมาก่อน แล้วเขาก็ให้ฉันได้รู้จักกับอัล-ชาฟิอียฺ”
อะหฺมัด บิน หันบัล ให้ความเคารพรักต่ออัล-ชาฟิอียฺอย่างสูงยิ่ง เขาจะไม่กล่าวถึงชื่ออัล-ชาฟิอียฺ โดยไม่กล่าวว่า “ผู้เชื่อถือได้” ต่อหน้าลูกศิษย์ที่รับฟังความรู้ของเขาเลย ครั้งหนึ่งอับดุลลอฮฺ บุตรชายของเขา ได้ถามเขาว่า “อัล-ชาฟิอียฺ เป็นคนเช่นไรกัน? ฉันได้ยินท่านขอดุอาอ์(ขอพร)ให้แก่เขาบ่อย ๆ” เขาตอบว่า “อัล-ชาฟิอียฺ ขออัลลอฮฺให้ความโปรดปรานกับเขา เขาเสมือนตะวันแห่งโลกนี้ เสมือนสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้คน แล้วเจ้าคิดว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทดแทนสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดนี้ได้เล่า?”
เช่นเดียวกัน ศอลิหฺ บุตรชายอีกคนหนึ่งของอะหฺมัด ได้พบกับยะหฺยา อิบนฺ มุอีน ซึ่งเขาได้บอกว่า “พ่อท่านกระทำสิ่งที่น่าอาย” ศอลิหฺ ถามว่า “กระทำสิ่งใดกัน?” เขาบอกว่า “ฉันเห็นเขากับอัล-ชาฟิอียฺ และอัล-ชาฟิอียฺกำลังขี่พาหนะ ส่วนเขาเดินเท้า โดยจับสายบังเหียนพาหนะของอัล-ชาฟิอียฺ”  เมื่อศอลิหฺเล่าเรื่องนี้ให้อะหฺมัด เขากล่าวว่า “ถ้าเจ้าพบเขาอีกครั้ง บอกเขาด้วยว่า ฉันกล่าวว่า ถ้าเขาต้องการได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้เขามาและถืออีกด้านของสายบังเหียนพาหนะของอัล-ชาฟิอียฺ”
อะหฺมัด อิบนฺ หันบัล ได้พัฒนาวิชาการอย่างเป็นระบอบกับอัล-ชาฟิอียฺ และมีความมีความโดดเด่นมากในวิชาหะดีษ เขามีความสามารถจดจำสูงมาก จนเป็นที่ประจักษ์กับผู้คนว่า เขาสามารถจดจำหะดีษได้ถึงล้านหะดีษ ความเชี่ยวชาญในวิชาหะดีษของเขาถูกยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้แต่อัล-ชาฟิอียฺ ผู้เป็นอาจารย์ได้กล่าวกับเขาว่า “ท่านมีความรู้ในหะดีษและในชีวประวัติของนักรายงานหะดีษมากกว่าฉัน ถ้าท่านได้ยินหะดีษเศาะหีหฺ(ถูกต้อง)บทใดช่วยแจ้งให้ฉันรู้ด้วย ... ”
สามารถกล่าวได้ว่า จุดเด่นที่เป็นพื้นฐานในการฟื้นฟูอิสลามที่สำคัญที่สุดของอะหฺมัด บิน หันบัล ก็คือ ความรู้ที่กว้างขวางลึกซึ้งของเขา  อิบรอฮีม อัล-หัรบียฺ กล่าวว่า “ฉันมองเห็นอะหฺมัด ประหนึ่งบุคคลที่อัลลอฮฺได้รวมให้กับเขา ซึ่งความรู้ของบรรดาผู้ที่มาก่อนและผู้ที่ตามมาหลัง” อบู อุบัยดะฮฺ กล่าวว่า “ฉันไม่เคยเห็นบุรุษผู้ใดมีความรอบรู้ในอัล-สุนนะฮฺยิ่งไปกว่าอะหฺมัด”
นอกจาก อะหฺมัด บิน หันบัล เป็นถูกยอมรับจากกว้างขวางในฐานะผู้ที่มีความรู้ที่ลึกซึ้งในเรื่องอิสลามแล้ว เขายังถูกยอมรับในเรื่องการดำเนินชีวิตอยู่บนหลักคุณธรรมอันสูงส่ง ดังการดำเนินชีวิตของคนในยุคของท่านนบี โดยเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสมถะอย่างแท้จริง
ดังนั้น เมื่ออัล-ชาฟิอียฺ ได้จากแบกแดดไปพำนัก ณ กรุงไคโร เขาได้กล่าวถึงทายาทการฟื้นฟูอิสลามของเขาว่า “ฉันได้จากแบกแดดไป และฉันไม่ได้ทิ้งบุรุษใดไว้เบื้องหลัง ที่มีความดีงามยิ่ง มีความรู้ยิ่ง  มีความสมถะยิ่ง และมีความยำเกรงพระเจ้ายิ่งไปกว่า อิบนุ หันบัล”

ขบวนการขัดขืนแห่งอิสลาม
อะหฺมัด บิน หันบัล เริ่มให้ความรู้กับผู้คนเมื่ออายุได้ 40 มีผู้แสวงหาความรู้เข้ารับฟังเขาถึงห้าพันคน  ดังนั้น การเปิดให้มวลชนเข้ารับฟังความรู้ความเข้าใจที่เขากระทำนั้นจึงกลายมาเป็นศูนย์กลางสำคัญในการเคลื่อนไหวทางวิชาการ เป็นสถานที่กระจายศาสตร์ต่าง ๆ ของอิสลาม และเป็นที่หลั่งไหลกันเข้ามาของนักวิชาการรุ่นใหม่ในยุคนั้น
การเคลื่อนไหวในเชิงทฤษฎีของอะหฺมัด อิบนฺ หันบัล ทำให้เขามีศิษย์จำนวนมาก ศิษย์คนสำคัญและเป็นผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางเช่นเดียวกับเขา เช่นอัล-บุคอรียฺ , มุสลิม , อบู ดาวูด  ผู้เป็นนักวิชาการหะดีษชั้นแนวหน้าของโลกมุสลิม  ซึ่งมีหนังสือทางด้านหะดีษที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดประวัติศาสตร์อิสลามที่ผ่านมา
บุคลิกภาพลักษณะสำคัญที่ทำให้อะหฺมัด อิบนฺ หันบัล มีอิทธิพลต่อผู้คนโดยทั่วไปเป็นอย่างกว้างขวาง นั่นคือการที่เขาไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ปกครองและความมั่งคั่งที่ถูกหยิบยื่นใด ๆ ดังนั้น เขาจึงได้ปฏิเสธของขวัญที่ผู้มีอำนาจสมัยนั้นส่งมาให้แก่เขา เพราะเขาตระหนักดีถึงการปกครองที่เต็มไปด้วยสิ่งเคลือบแคลงต่าง ๆ มากมาย
บทบาทสำคัญอันโดดเด่นของ อะหฺมัด บิน หันบัล ไม่ได้จำกัดแค่ทฤษฎีหรือการถ่ายทอดความรู้เท่านั้น แต่เขาได้ยืนหยัดเพื่อสัจธรรมอย่างทรหด การยืนหยัดของท่านนำไปสู่การถูกทดสอบอย่างมากมาย โดยเฉพาะเมื่อเขาขัดแย้งกับเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺ ตั้งแต่สมัยของเคาะลีฟะฮฺมะมูนจนถึงสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-วาษิก
ประเด็นความขัดแย้งนั้นเริ่มจากเคาะลีฟะฮฺอัล-มะอฺมูน เป็นคนที่สนใจในการศึกษาปรัชญากรีกจากตำรับตำราที่แปลมา และเขาได้สนับสนุนแนวคิดของกลุ่มมุอฺตะศิละฮฺ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศึกษาอิสลามที่มีลุ่มหลงในการใช้เหตุผล ยิ่งได้รับความคิดจากกรีกในช่วงหลัง ๆ ทำให้มีการพัฒนาระบอบการใช้เหตุผลจนไปจนไกลลิบ ได้ใช้ระบอบนี้ในการตีความคำสอนอิสลาม จนล่วงล้ำเข้าไปในเนื้อหาที่เป็นอัล-ฆัยบฺ หรือสิ่งพ้นญาณพิสัย
กลุ่มนี้มีการตีความลักษณะของพระเจ้าด้วยการปรับเปลี่ยนความหมายให้สอดคล้องกับระบอบการใช้เหตุผลของพวกเขาจนหมดสิ้น ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาถือว่า อัลลอฮฺเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ในทางกลับกันทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺสร้าง แม้กระทั่งอัล-กุรอานก็เป็นสิ่งถูกสร้าง
ในสายตานักบูรพคดีชาวตะวันตกบางคนเห็นว่าระบอบการใช้เหตุผลนี้มีน้ำหนัก แต่ในทัศนะของอิสลามนั้นใช้บรรทัดฐานจากคนยุคแรกไม่ได้มองเช่นนั้น  ในความเป็นจริงคนในยุคก่อนหน้านี้ไม่ได้นำเอาอัล-กุรอานไปเปรียบในระบอบแห่งการใช้เหตุผลเช่นนั้น เพราะพวกเขาเข้าใจขอบเขตของระบอบของการใช้เหตุผลว่าไม่สามารถกระทำต่อสิ่งที่เร้นลับได้ การกระทำเช่นนี้ของกลุ่มมุอฺตะศิละฮฺได้นำไปสู่การเสื่อมศรัทธาต่ออัล-กุรอาน ทำให้อัล-กุรอานถูกมองว่าเหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมา ดังนั้น ปราชญ์ก่อนหน้านี้ยืนยันหลักการที่ว่า อัล-กุรอานคือกะลามุลลอฮฺหรือพจนารถของอัลลอฮฺ โดยไม่ต้องการเจาะลึกด้วยตรรกวิทยาใด ๆ เพราะไม่มีประโยชน์ใดเลยที่กระทำเช่นนั้น นอกเสียว่าเป็นการลดทอนความสำคัญของอัล-กุรอานลงไป
หากประเด็นเหล่านี้ได้รับการแก้ไขในสนามของวิชาการก็คงไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรมาก แต่เมื่อเคาะลีฟะฮฺอัล-มะอฺมูนลุ่มหลงในแนวทางของกลุ่มมุอฺตะศิละฮฺ เขาได้ประกาศให้เป็นแนวศาสนาทางการของอาณาจักร และบังคับทุกคนให้เชื่อตามนั้น นับเป็นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่สถาบันเคาะลีฟะฮฺเข้ามากำหนดรายละเอียดในทางเทววิทยาและบังคับผู้คนให้ศรัทธาตามนั้น
ในที่สุดก็ได้มีการใช้คำว่า อัล-กรอาน มัคลูก แปลว่า “อัล-กุรอาน คือ สิ่งถูกสร้าง” เพื่อให้ผู้คนในอาณาจักรยอมรับความเห็นเช่นนี้ กระบวนการบังคับทางทัศนะดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการให้ปราชญ์อิสลามประกาศสนับสนุนความเห็นนี้ กระบวนการนี้กระทำกันอย่างกว้างขวาง เรียกกระบวนการนี้ว่า มิหฺนะฮฺ หรือการไตร่สวน
บรรดาอุละมาอฺ(ปราชญ์อิสลาม)จำนวนมากและบรรดาผู้ที่มีความรู้อื่นๆ จำต้องก้มศีรษะยอมรับแนวคิดนั้นด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจ และเกรงกลัวต่อการถูกทรมานหากคัดค้านหรือต่อต้าน
ขณะที่คนอื่น ๆ จำยอมในการไตร่สวนของอัล-มะอฺมูน จนขณะนั้นเหลือปราชญ์เพียงสองคนที่ไม่ยินยอมคือ มุหัมมัด บิน นูหฺ และอะหฺมัด บิน หันบัล  และในเวลานั้นมุหัมมัด บิน นูหฺ ได้เสียชีวิตไปก่อน ทำให้ผู้ที่เผชิญหน้ากับกระบวนการไตร่สวนนี้มีเพียงคนเดียว คืออะหฺมัด บิน หันบัล
การตอบสนองของอะหฺมัด บิน หันบัล ที่มีต่อเคาะลีฟะฮฺอัล-มะอฺมูนนั้นแตกต่างกับผู้อื่นโดยสิ้นเชิง เขาปฏิเสธการกระทำตามคำสั่งใด ๆ ของเคาะลีฟะฮฺ โดยไม่สะทกสะท้าน จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เขา ถูกควบคุมตัวเพื่อนําไปพบกับคอลีฟะฮฺ อัล-มะอฺมูน แต่ในระหว่างการคุมตัวไปนั้นอัล-มะอฺมูนได้เสียชีวิตไปเสียก่อน อะหฺมัด บิน หันบัล จึงตกเป็นผู้ต้องหาที่คอยการพิจารณาจากคอลีฟะฮฺคนใหม่ที่จะขึ้นครองราชย์

ก่อนที่อัล-มะอฺมูนจะเสียชีวิต เขาได้สั่งเสียไว้กับอัล-มุอฺตะศิม น้องชายที่จะขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮฺคนต่อไปให้ยึดตามแนวคิดมุอฺตะศิละฮฺและสนับสนุนนโยบายไตร่สวนต่อไป ดังนั้นเมื่ออัล-มุอฺตะศิมขึ้นครองเป็นคอลีฟะฮฺ ก็บีบบังคับให้อะหฺมัด บิน หันบัล ยอมรับแนวคิดดังกล่าว แต่อะหฺมัดยืนยันทัศนะของท่านไม่เปลี่ยนแปลง จนในที่สุดเขาก็ถูกลงโทษ โดยการเฆี่ยนด้วยแซ่จนกระทั่งสิ้นสติไปหลายครั้ง

แม้ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจทรมาณอย่างไรก็ตาม อะหฺมัด บิน หันบัล ก็ยืนยันอย่างไม่คิดจะยอมแพ้ จนกระทั่งมุอฺตะศิมได้ตายจากไป อัล-วาษิก เคาะลีฟะฮฺคนต่อมาก็ดำเนินนโยบายเช่นเดียวกัน จนอัล-วาษิกได้ตายจากไป สถานการณ์จึงได้เปลี่ยนไป เมื่อเคาะลีฟะฮฺคนใหม่คือ อัล-มุตะวักกิล ได้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว และหันมาสนับสนุนแนวทางของอะหฺมัด บิน หันบัล สภาพต่างๆก็เปลี่ยนไปเช่นนี้ ทำให้อะหฺมัด บิน หันบัล กลับมาได้รับการนับถือยกย่องอย่างสูง พร้อมกับได้มีของขวัญต่างๆหลากหลายชนิดมอบให้แก่เขา แต่เขากลับร้องให้อย่างปวดร้าว โดยกล่าวว่า “มันหนักกับฉัน ยิ่งกว่าการเฆี่ยนและการถูกจองจำเสียอีก”
ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งประวัติศาสตร์
ขบวนการขัดขืนแห่งอิสลามที่นำโดยอิหม่าม อะหฺมัด บิน หันบัน อาจถูกมองข้ามความสำคัญไปจากคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์เพียงผิวเผิน ซึ่งมองว่าเป็นแค่ความขัดแย้งทางทัศนะ แต่ความจริงแล้วนี่คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์อิสลาม
อะหฺมัด บิน หันบัล ไม่ได้เพียงแค่ต่อต้านทัศนะที่บิดเบือนไปเท่านั้น แต่เขากำลังต่อต้านสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่านั้น นั่นคือพลังทำลายล้างที่ดำรงอยู่เบื้องหลังต่างหาก เป็นภัยอันตรายที่จะทำให้คำสอนอิสลามตกอยู่ภายใต้วิธีการใช้เหตุผลที่สุดโต่งของกรีก ซึ่งหากสถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ต่อไป อิสลามที่อ้างอิงกับอัล-วะหฺยฺ หรือการเปิดเผยจากพระเจ้า ก็กลายเป็นอิสลามปรัชญาที่อ้างอิงอยู่กับวิภาษวิธีที่เป็นการถกเถียงกันของมนุษย์
การต่อต้านของอะหฺมัด บิน หันบัลเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ของการเผชิญหน้ากันระหว่างอิสลามที่เป็นสัจธรรมอันมีแหล่งที่มีจากการเปิดเผยของพระเจ้า กับอิสลามที่ถูกตีความโดยระบอบเหตุผลของกรีก เช่นเดียวกับวันที่อบู บักรฺ ต้องเผชิญหน้าระหว่างระหว่างอิสลามที่ท่านนบีนำมา กับอิสลามแบบเผ่าอาหรับที่พร้อมจะดื้อดึงหากสภาวะการเมืองเปลี่ยนไป
ความยิ่งใหญ่ของการต่อสู้ในวันนั้นจึงถูกกล่าวผ่านบุคคลร่วมสมัยของเขา คืออะลียฺ บิน มะดีนียฺ ผู้นำวิชาการด้านหะดีษและเป็นหนึ่งในอาจารย์ของอัล-บุคอรียฺ ได้กล่าวว่า“แท้จริงอัลลอฮฺได้ยกเกียรติของศาสนานี้ด้วยกับอบู บักร ในวันแห่งริดดะฮฺ(การต่อสู้กับเผ่าที่ละทิ้งอิสลาม) และด้วยกับอะหฺมัด บิน หันบัล ในวันแห่งมิหฺนะฮฺ(การไตร่สวน)”
ประวัติศาสตร์ยุคต่อมา ได้กล่าวถึงอะหฺมัด อิบนฺ หันบัล ในฐานะ “ตัวบุคคล” ที่ถูกยอมรับกันว่ามีอิทธิพลต่อบทบาทนักฟื้นฟูอิสลามที่โดดเด่นในยุคหลังอย่างปฏิเสธไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลที่มีต่อขบวนการขัดขืนแห่งอิสลามในยุคสมัยต่อมาและในภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าอบู หะซัน อัล-อัชอารียฺ ในสมัยถัดมา,ชัยคุล อิสลาม  อิบนุ ตัยมียะฮฺ ในยุคกระแสที่ผกผัน, มุฮัมมัด บิน อับดุล วะฮฺฮาบ แห่งคาบสมุทรอาหรับ,ชาฮฺ วาลียุลลอฮฺ อัล-ดะหฺละวียฺ แห่งชมพูทวีป  เป็นต้น
อะหฺมัด อิบนฺ หันบัล เสียชีวิตในปี ค.ศ.855(ฮ.ศ 241)นับเป็นการจากไปของบุรุษที่ถูกนับว่ามีอิทธิพลใกล้เคียงกับอบู บักร เพราะการเคลื่อนไหวของเขาได้ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อประวัติศาสตร์อิสลาม และเป็นแรงบันดาลใจต่อกลุ่มฟื้นฟูตลอดทุกยุคทุกสมัย
บุรุษที่กลายมาเป็นต้นแบบของการขัดขืนแห่งอิสลาม
 
…………………………..
หมายเหตุ
                 บทความนี้เป็นบทความที่ต่อเนื่องจากเรื่องราวของท่านอบู บักร อัล-ศิดดีก ท่านอุมัร บิน อับดุล อะซีซ และสี่อีหม่าม ซึ่งผู้เขียนได้เรียบเรียงเพื่อกล่าวถึงบุรุษที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการต่อสู้เพื่อดำรงไว้ซึ่งสัจธรรมตลอดประวัติศาสตร์อิสลาม ซึ่งการตัดสินว่าใครมีอิทธิพลมากที่สุดนั้น เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของคนอื่น ๆ …
                บุรุษในสมัยถัดจากอะหฺมัด บิน หันบัล ที่ผู้เขียนได้ตัดสินว่ามีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งก็คือ อบุล หะซัน อัล-อัชอารียฺ  ซึ่งจะนำเสนอเป็นคนต่อไป เร็ว ๆ นี้ อินชาอัลลอฮฺ

จาก
http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=232&Itemid=33

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น