อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ


ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ค.ศ. 1263 - 1328  ฮ.ศ.661-728)
ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ 

ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ
ผู้นำการฟื้นฟู ณ จุดพลิกผันแห่งประวัติศาสตร์



อัล อัค เรียบเรียง


                ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ มีชื่อเต็มว่า ตะกียุดดีน อะหฺมัด บิน อับดุลฮะลีม เกิดที่เมืองฮัรรอน(ตอนเหนือของอิรักในปัจจุบัน) วันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1263(ประมาณ 150 ปี หลังจากการเสียชีวิตของอีหม่ามฆอซาลี)  ท่านเกิดในครอบครัวของผู้รู้ พ่อของท่านชื่อว่า อับดุล ฮะลีม อาชื่อว่า ฟัครุดดีน และปู่ชื่อว่า มัจญดุดดีน ล้วนแต่เป็นอุละมาอ์คนสำคัญของมัซฮับฮัมบะลียฺ และได้เขียนหนังสือไว้จำนวนมาก
                ในปี 1269 ครอบครัวของท่านถูกบังคับให้ออกจากที่อยู่อาศัย ก่อนที่กองทัพมองโกลจะเข้ามายึดครอง ทำให้ครอบครัวของท่านต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องอพยพไปอยู่นครดามัสกัส ตอนนั้นท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ อายุได้ 7 ขวบ
                พ่อของท่านคือ อับดุล ฮะลีม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์และเป็นหัวหน้าของมัดรอซะฮฺ ซุกกะรียะฮฺ ในดามัสกัส ในตอนนี้เองที่อิบนุ ตัยมียะฮฺได้รับการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าการท่องจำอัลกุรอานและอัลฮะดีษ การศึกษาทุกสาขาของวิชาฟิกฮฺ ตรรกวิทยาและคณิตศาสตร์ ด้วยสติปัญญาที่เฉียบแหลมและด้วยความจำทีดีเลิศ ท่านสามารถครอบครองศาสตร์ต่างๆเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้ง
               ครูของอิบนุ ตัยมียะฮฺ มีมากกว่า 200 ท่าน ในจำนวนนี้มีครูที่มีชื่อ ซึ่งท่านได้ศึกษาอยู่หลายปี นั่นคือ ท่านซัยนุดดีน อัล มุก็อดดีซียฺ ท่านนัจญมุดดีน อะซากิร และปราชญ์ที่เป็นสตรีท่านซัยนับ บินติ มักกียฺ            
            ด้วยวัยเพียง 17 ปี อิบนุ ตัยมียะฮฺ จึงมีความสามารถในการฟัตวา และเปิดการเรียนการสอนวิชาการต่างๆได้แล้ว ท่านจึงถูกจัดให้เป็นอุละมาอ์ชั้นนำคนหนึ่งของนครดะมัสกัชตั้งแต่วัยหนุ่ม
            แม้ว่า อิบนุ ตัยมียะฮฺ จะได้รับการฝึกฝนทางความรู้มากับมัซฮับ(สำนักฟิกฮฺ) ฮัมบะลียฺ แต่ความรู้ของท่านได้ก้าวข้ามมัซฮับที่ท่านสังกัดไปสู่มัซฮับอื่นๆ(ในกลุ่มอะหฺลุซซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ) จุดเด่นที่ยากจะหาจากอุละมาอ์ท่านอื่นๆก็คือ ท่านไม่อคติกับมัซฮับฮะนาฟี ชาฟิอี และมาลิกี  การฟัตวาของท่านยังอ้างอิงถึงมัซฮับอื่นๆอีกด้วย งานเขียนของท่านยังยกทรรศนะมาจากมัซฮับทั้งสี่อยู่บ่อยๆ วิธีการของท่านเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับนักวิชาการในทุกวันนี้ แต่สำหรับยุคนั้นกลายเป็นเรื่องที่แปลกอยู่ไม่น้อย จนบางครั้งนำไปสู่การบิดเบือนให้ร้ายต่อท่าน
                นอกจากนี้ ท่านยังเข้าไปศึกษาตำรับตำราของกลุ่มบิดเบือนต่างๆและแนวคิดที่มิใช่อิสลามอย่างมากมาย จนเป็นที่มาของความปราดเปรื่องในการเข้าถึงวิธีคิดที่หลากหลายรูปแบบของท่าน เมื่ออายุได้ 30 ปี ท่านถูกเสนอให้เป็นผู้พิพากษาใหญ่จากทางการ แต่ท่านปฏิเสธ เนื่องจากไม่ต้องการให้การทำงานของท่านถูกจำกัดด้วยทางการ

               อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่วิกฤติของโลกมุสลิม ด้านหนึ่งศัตรูภายนอกอย่างพวกตาร์ตาร์กำลังรุกรานโลกมุสลิม อีกด้านหนึ่งกลุ่มบิดเบือนกำลังเติบโตภายในโลกมุสลิมเช่นกัน
               ด้วยเหตุนี้ ความเป็นเลิศทางวิชาการของท่านจึงไม่จำกัดอยู่ในสนามทางความคิดอีกต่อไป ท่านได้เข้าไปสู่กิจกรรมทางการเมืองและปัญหาของโลกมุสลิม ท่านไม่กำหนดตัวเองเป็นเพียงนักวิชาการ นักเขียน หรือนักพูด แต่ได้ก้าวไปสู่การเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและนักรบในสมรภูมิญิฮาดอีกด้วย
               ในปี 1300 พวกมองโกล ภายใต้การนำของกษัตริย์ฆอซาน ได้รุกรานซีเรีย  ท่ามกลางนักวิชาการที่ได้ลี้ภัยไปอยู่อิยิปต์ ท่านอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ออกไปปราศรัยเรียกร้องประชาชนสู่สมรภูมิญิฮาด โดยท่านได้ออกเดินทางปลุกเร้าไปตามเมืองต่างๆ และเมื่อถึงเวลามองโกลบุกซีเรีย ท่านได้นำนักรบเข้าปะทะกับกองทัพมองโกลอย่างกล้าหาญที่สมรภูมิชักฺฮับ และกองทัพมุสลิมก็มีชัยในสงครามครั้งนั้น สงครามครั้งนี้สามารถหยุดกองทัพมองโกลในการรุกรานโลกมุสลิมได้สำเร็จ
             นอกจากนี้ อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ยังได้เข้าร่วมกับสงครามย่อยๆกับกองทัพของพวกมัมลูก(กลุ่มผู้ปกครองมุสลิมแห่งอิยิปต์)อีกหลายครั้ง

             ตลอดเวลา ท่านอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ใช้เวลาไปกับการฟื้นฟูคำสอนอิสลาม การสอนหนังสือของท่านมีทั้งโวหารที่ดึงดูดใจคน และการอ้างอิงหลักฐานที่คมชัด ท่านได้ใช้ความรู้ในการคัดค้านความหลงผิดต่างๆ จนถูกผู้ปกครองอธรรมจับคุมขังหลายครั้ง
            ท่านเมาลานา ซัยยิด อบุล ฮะซัน อลี อัน นัดวียฺ ได้เขียนถึงอิบนุ ตัยมียะฮฺ ในแง่มุมต่างๆไว้ในหนังสือเล่มใหญ่ของท่านชื่อว่า “อัล ฮาฟิซ อะหฺมัด อิบนุ ตัยมียะฮฺ” โดยท่านได้กล่าวถึงหลักการในการฟื้นฟูอิสลามของอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ไว้ว่ามี 4 ประการ สรุปได้ดังต่อไปนี้
             1.การฟื้นฟูแก่นแท้ของคำสอนอิสลาม ได้แก่ การฟื้นฟูเตาฮีด และขจัดแนวคิดชิรกฺ            
             2.การวิพากษ์แนวคิดที่ครอบงำโลกมุสลิม ได้แก่ การวิพากษ์ตรรกวิทยาและปรัชญาของกรีก พร้อมๆกับนำเสนอวิธีการของอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺเข้าแทนที่ทุกสนามของอิสลาม            
             3.การใช้วิธีการทางวิชาการชี้แจงกลุ่มที่ออกนอกกรอบคำสอนอิสลาม เป็นการตอบโต้กลุ่มบิดเบือนต่างๆ และคัดค้านแนวคิดและอิทธิพลของมัน              
             4.การฟื้นฟูศาสตร์ต่างๆของอิสลาม และการนำแนวคิดอิสลามกลับมาใหม่

            การเป็นครูที่อุทิศตัวของท่าน ทำให้ท่านมีลูกศิษย์มากมาย ตั้งแต่ซีเรียถึงอิยิปต์ และที่ไกลออกไปจากนี้ก็มีมาก ที่สำคัญกลุ่มศิษย์ของท่านได้เข้าร่วมการสอนและพัฒนาแนวทางการฟื้นฟูของท่าน กล่าวได้ว่าจุดเด่นของท่านคือการที่มีศิษย์ที่มีความสามารถมากมายร่วมงานด้วย คนที่สำคัญคนแรกคือ ท่านอิบนุ กอยยิม อัล เญาซียะฮฺ(ตายปี 1350) นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ นักปฏิรูปแนวทางซูฟีให้อยู่ในแนวทางสลัฟ ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์ที่สะท้อนแนวคิดของอาจารย์ได้มากที่สุด            

           ศิษย์ที่โดดเด่นคนอื่นๆ เช่น ท่าน อิบนุ อับดุล ฮาดียฺ(ตาย1343) เสียชีวิตเมื่ออายุได้เพียง 40 ปี มีความรอบรู้มาก และได้ทิ้งงานเขียนที่มีค่าไว้ชุดหนึ่ง, ท่านอิบนุ กะษีร(ตาย 1373)เป็นศิษย์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง เป็นนักประวัติศาสตร์(งานที่โด่งดังด้านนี้คือ อัล บิดายะฮฺ วัล นิฮายะฮฺ)และเป็นนักตัฟซีร(ตัฟซีร อิบนุ กะษีร อันโด่งดัง) ท่านผู้นี้สังกัดมัซฮับชาฟิอียฺ(โดยไม่อคติกับมัซฮับอื่นเช่นครูของท่าน), ท่านฮาฟิซ อัซ ซะฮาบียฺ(ตาย 1348) โดดเด่นทางด้านฮะดีษ โดยได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่มในสาขานี้, ท่านมุฮัมมัด บิน มุฟลิหฺ(ตาย 1362) นักเขียนหนังสือหลายเล่ม, ท่านอบู ฮัฟซฺ อัล บัซซาร(ตาย 1349) เป็นผู้เขียนประวัติอิบนุตัยมียะฮฺ, ท่านอิบนุ อัล วัรดี(ตาย 1348) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมและไวยากรณ์อาหรับ, ท่านกอฎียฺ อิบนุ ฟัฎลุลลอฮฺ(ตาย 1349)นักเขียนผู้โด่งดัง เป็นต้น          

           ท่านอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ไม่เพียงผลิตศิษย์ที่ได้สร้างสรรค์งานวิชาการอย่างมากมาย ตัวท่านเองได้เขียนหนังสือไว้เป็นจำนวนมากกว่า 500 เล่ม แต่ว่าส่วนใหญ่จะสูญหายไป คงเหลือ 64 เล่ม งานฟัตวา 37  เล่มใหญ่ของท่านเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ถูกรวบรวมไว้ในชื่อ “มัจญมูอฺ ฟะตาวา” ซึ่งเป็นงานที่เป็นเหมือนคลังความรู้ให้แก่นักวิชาการรุ่นหลัง

          ท่านซัยยิด อบุล อะอฺลา อัล เมาดูดียฺ ได้กล่าวไว้ ในหนังสือ  A Short History of the Revivalist Movement in Islam ถึงความสามารถในการเป็นนักฟื้นฟูที่โดดเด่นของอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ไว้ด้วยผลงาน 4 ประการ  ซึ่งมีทั้งสนามทางความคิดและสนามการต่อสู้ พอที่จะสรุปได้ดังต่อไปนี้          
          1.ความสามารถในการวิพากษ์ตรรกวิทยาและปรัชญาของกรีกที่ครอบงำวิชาการด้านอะกีดะฮฺอิสลาม แม้ว่าอีหม่ามฆอซาลียฺจะทำไว้ก่อนหน้านี้ แต่อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ ทำได้จริงจังและหนักแน่นกว่า และส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง              
          2.การนำเสนออะกีดะฮฺอิสลามและกฎเกณฑ์อิสลาม พร้อมข้อโต้แย้งที่หนักแน่นและสมเหตุสมผล โดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอิสลาม ด้วยการนำเสนอจากอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺที่บริสุทธิ์โดยตรง              
          3.ความสามารถในการ อิจญติฮาด(การวินิจฉัยตัวบทเข้ากับความเป็นจริง) พร้อมๆกับการเข้าถึงสำนักนิติศาสตร์ที่หลากหลาย และยังแสดงให้เห็นถึงวิธีใช้อิจญติฮาดอย่างแม่นยำ            
          4.การลงไปสู่สนามแห่งการปฏิบัติ ด้วยการคัดค้านชิรกฺและประเพณีที่หลงผิดต่างๆ ความกล้าหาญของท่านในเรื่องนี้ทำให้ท่านต้องถูกจำคุกหลายครั้ง นอกจากนี้ ท่านยังได้ประกาศญิฮาดกับพวกตาร์ตาร์ที่รุกรานโลกมุสลิม โดยท่านได้เป็นผู้นำคนหนึ่งในการต่อสู้อย่างกล้าหาญ            

          ท่านอิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ เสียชีวิตในป้อมปราการอันเป็นที่คุมขังท่านในเมืองดามัสกัส เมื่อวันที่ 26 กันยายน 1328 หลังจากถูกจับขังกว่าสองปีสามเดือน อันเป็นการจับกุมครั้งสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านี้ท่านถูกจับมาแล้วหลายครั้งจากผู้ปกครองมุสลิมที่อธรรม ซึ่งรวมเวลาอยู่ในคุกแล้วมากกว่าห้าปี            

         วันที่ท่านเสียชีวิต ผู้คนจำนวนมาก ทั้งผู้เห็นด้วยกับท่านและผู้ไม่เห็นด้วยกับท่าน ได้ร่วมในพิธีศพของท่านอย่างล้นหลาม              

         เป็นที่ยอมรับกันว่า อิหม่ามอิบนุ ตัยมียะฮฺ มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งกับนักฟื้นฟูอิสลามรุ่นหลัง ทั้งในคาบสมุทรอาหรับ แอฟริกาเหนือ จนถึงอินเดีย ตลอดจนถึงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสลามจำนวนมากในทุกวันนี้


จาก
h ttp://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=115&Itemid=33

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น