อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บิดอะฮ์ตามหลักภาษา ทำแล้วได้บุญไหม





ก็ต้องพิจารณาดูก่อนว่า  บิดอะฮ์หรือ "สิ่งประดิษฐ์ใหม่" ตามหลักภาษาที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ดีหรือเลว  ถ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ดีมีประโยชน์แก่มนุษย์และไม่ขัดหลักการศาสนา เช่นประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์,  ประดิษฐ์คอมพิวเตอร์,  ประดิษฐ์เครื่องคิดเลข ฯลฯ เหล่านี้ก็น่าจะได้รับผลบุญ  แต่ถ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เลวหรือเป็นพิษภัยแก่มนุษย์และขัดหลักการศาสนา เช่น ผลิตยาบ้า, ผลิตอุปกรณ์การพนันในรูปแบบต่างๆ,  ริเริ่มตั้งบ่อนกาสิโน ฯลฯ ผมว่าเป็นบาปแน่  วัลลอฮุ อะอฺลัม

เนื่องจากบิดอะฮ์ตามหลักภาษา ตามมุมมองในแง่ภาษา, ไม่ว่าสิ่งใด คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา(อิบาดะฮ์) หรือเรื่องทางโลก (อาดะฮ์)ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเป็นเรื่องเลว เมื่อมันไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อน แล้วมีผู้มากระทำทีหลัง ก็สามารถใช้คำว่า “บิดอะฮ์” กับสิ่งนั้น. ตามหลักภาษา ได้ทั้งสิ้น

ขณะที่ในมุมมองของบทบัญญัติ  บางครั้ง อาจไม่ถือว่าสิ่งนั้น เป็นบิดอะฮ์ ก็ได้

เช่น กรณีที่ท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ได้สั่งให้ท่านซัยด์ บิน ษาบิต ร.ฎ.ทำการบันทึกและเก็บรวมรวมอัล-กุรฺอ่านเข้าเป็นเล่ม หลังจากก่อนหน้านั้น  คือในสมัยของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม อัล-กุรฺอ่านเคยแต่เพียงถูกท่องจำหรือถูกบันทึกกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ
การรวมรวมอัล-กุรฺอ่านเป็นเล่มของท่านซัยด์ บิน ษาบิต ร.ฎ. ตามหลักภาษาเรียกว่า “เป็นบิดอะฮ์”ที่ถูกพ่วงท้ายด้วยคำว่า “หะสะนะฮ์” หมายถึงบิดอะฮ์ที่ดี
ที่เรียกว่า “เป็นบิดอะฮ์” เพราะเป็นการกระทำในสิ่งที่ไม่มีใคร แม้กระทั่งท่านนบีย์ จะเคยกระทำมาก่อน
ที่เรียกว่า “หะสะนะฮ์” หรือดี ก็เพราะเป็นการป้องกันอัล-กุรฺอ่านจากการสูญหายอันเนื่องมาจากผู้ท่องจำอัล-กุรฺอ่าน ถูกสังหารในสงครามเป็นจำนวนมาก
แต่ขณะเดียวกัน การรวบรวมอัลกุรฺอ่านดังกล่าวนั้น ในแง่ของบทบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นบิดอะฮ์

และในบางกรณี, ในแง่ของภาษาอาจจะมองการกระทำบางอย่างว่าเป็น “บิดอะฮ์ดี” แต่ตามนัยของบทบัญญัติ กลับเป็นตรงกันข้าม, คือมองสิ่งนั้นว่า “เป็นบิดอะฮ์ที่ถูกตำหนิ”

และในบางกรณี, การกระทำ “สิ่งใหม่” บางอย่าง มีความสอดคล้องกันทั้งมุมมองในแง่ภาษาและมุมมองในแง่ศาสนาว่า เป็นบิดอะฮ์ที่ต้องห้าม อย่างเช่นการประดิษฐ์วิธีการเรื่องการพนันแบบใหม่ๆ เช่น ลอตเตอรี่ ขึ้นมา เป็นต้น

ถ้าสิ่งที่ถูกปฏิบัติขึ้นมาใหม่ในสิ่งที่ไม่มีแบบอย่างในยุคของท่านศาสดา แต่มีหลักการขั้นพื้นฐานของศาสนารองรับ ก็จะไม่เรียกสิ่งนั้นว่า เป็นบิดอะฮ์ (ตามบทบัญญัติ) ....
ตัวอย่างเช่น การสร้างโรงเรียนสอนศาสนาในระบบปัจจุบัน หรือการสร้างโรงเรียนปอเนาะในยุคก่อนๆ ... สิ่งเหล่านี้ แม้จะไม่เคยปรากฏในยุคของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่การปรากฏมีสิ่งเหล่านี้ในยุคปัจจุบัน ไม่เรียกว่า บิดอะฮ์ตามบทบัญญัติ เพราะมีหลักการขั้นพื้นฐานของศาสนามารองรับ, ... นั่นคือ เป็นสถานที่เพื่อการสั่งสอนวิชาการศาสนา และปกป้องศาสนาจากการสูญหาย ซึ่งการสั่งสอนวิชาการและปกป้องศาสนาจากการสูญหายนี้ เป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น (วาญิบ) ของอิสลาม อันเป็นมติเอกฉันท์ของนักวิชาการ

ส่วนการที่เคาะลีฟะฮ์หลายท่านของท่านศาสดา ได้กระทำในสิ่งที่ท่านศาสดาเองมิได้กระทำมาก่อน อันเป็นเรื่องของศาสนา . อย่างเช่น การที่ท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ได้สั่งให้มีการรวบรวมอัล-กุรฺอ่านทั้งหมดเข้าด้วยกันก็ดี, การที่ท่านอุมัรฺ อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. ได้สั่งให้ประชาชน นมาซตะรอเวี๊ยะห์รวมกัน (ญะมาอะฮ์) ก็ดี,  หรือการที่ท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน ร.ฎได้เพิ่มการอะซานครั้งแรกในการนมาซวันศุกร์ก็ดี
นักวิชาการจะเรียกการกระทำในลักษณะดังกล่าวของบรรดาเคาะลีฟะฮ์เหล่านั้นว่า “มะศอลิห์ มุรฺซะละฮ์” ( اَلْمَصَالِحُ الْمُرْسَـلَةُ )
มะศอลิห์มุรฺซะละฮ์หมายถึง “สิ่งดีๆที่ (ท่านศาสดา) ได้ละไว้ หรือปล่อยวางไว้”

ด้วยมีสาเหตุหลักมาจากข้อใดข้อหนึ่ง จาก 2 ประการดังต่อไปนี้ คือ
1. เพราะท่านมี “อุปสรรค” จนไม่สามารถปฏิบัติสิ่งดีๆเหล่านั้นได้  หรือ
2. ไม่มีประเด็นส่งเสริม (ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่) ให้ต้องกระทำสิ่งดีนั้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้มองในทางภาษาจะเป็นบิดอะฮ์ (หะซานะฮ์)  แต่ทางบทบัญญัติ ไม่เป็นบิดอะฮ์

หากเรื่องใดเป็นบิดอะฮ์ตามบทบัญญัติศาสนาแล้ว ก็เป็นบิดอะฮ์ฎอลาละฮ์
ส่วนเรื่องใดเป็นเรื่องทางโลก(อาดะฮ์) กระทำได้จนกว่ามีหลักฐานห้าม เช่น การแข่งขันนกเขาในสมัยใหม่ หากไม่เข้าข่ายการพนันขันต่อ หรือข้อห้ามอื่นๆ ก็กระทำได้ เรื่องอาดะฮ์จึงมีทั้งบิดอะฮ์ดีและเลว

ท่านเช็คอะลีย์ มะห์ฟูศ ได้สรุปคำพูดของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์นักวิชาการฟิกฮ์แห่งมัษฮับชาฟิอีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 974) ที่เขียนไว้ในหนังสือ “อัล-ฟะตาวีย์” มาระบุไว้ในหนังสือ “อัล-อิบดาอฺฯ” หน้า 39 เอาไว้ว่า
فَإنَّ الْبِدْعَـةَ الشَّرْعِـيَّةَ ضَلاَلَـةٌ كَمَا قَالَ رَسُوْلُ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلّمَ وَمَنْ قَسَّمَهَامِنَ الْعُلَمَاءِ إلَى حَسَنٍ وَغَيْرِحَسَنٍ فَإنَّمَاقَسَّمَ الْبِدْعَـةَ اللُّغَوِيَّـةَ، وَمَنْ قَالَ كُلُّ بِدْعَـةٍ ضَلاَلَـةٌ فَمَعْنَاهُ الْبِدْعَـةُ الشَّرْعِيَّةُ .....
“แน่นอน สิ่งบิดอะฮ์ (ทุกอย่าง) ตามนัยของบทบัญญัตินั้น เป็นความหลงผิด .. ดังคำกล่าวของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, ..และนักวิชาการท่านใดที่แบ่งมันออกเป็นบิดอะฮ์ดีหรือบิดอะฮ์ไม่ดี ก็มิใช่อื่นใดนอกจากเป็นการแบ่งมันตามนัยของภาษาเท่านั้น, และผู้ใดที่กล่าวว่า ทุกๆบิดอะฮ์คือความหลงผิด ความหมายของมันก็คือ สิ่งบิดอะฮ์ตามนัยของบทบัญญัติ”

วัลลอฮุ อะอฺลัม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น