อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

หะดิษว่าด้วยการขอดุอาอ์พร้อมยกมือหลังละหมาดฟัรฎู





ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการรายงานหะดิษเกี่ยวกับยกมือขอดุอาอ์หลังละหมาดยี่สิบกว่าคนจากเศาะหาบะฮ์นั้น ถ้าเป็นจริง ก็คงไม่มีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้ของนักวิชาการหรอกครับ

 
แท้จริงหะดิษที่กล่าวถึงเป็นเพียงการยกมือขอดุอาอ์โดยทั่วๆไปไม่ได้เจาะจงเฉพาะหลังละหมาดฟัรฎู หากเป็นการยกมือเป็นการเฉพาะวาระ ก็เป็นกรณีอื่นๆ เช่น กรณีช่วงในพิธีกรรมฮัจญ์ กล่าวคือ (1) ภูเขาเศาะฟา (2) ภูเขามัรฺวะฮฺ (3) ทุ่งอะเราะฟะฮฺ (4) มุซดะลิฟะฮ์ (5) เสาหินต้นแรก และ(6) เสาหินต้นที่สอง และอื่นๆจากการประกอบพิธีหัจญ์ก็คือ การยกมือขอฝน และการยกมือขอดุอาอ์กุนูต และในวาระอื่นๆ

(จากหนังสือ “ตัศฮีหุด ดุอาอฺ” หน้าที่ 115)


เช่น หะดิษที่รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮ์ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) ความว่า

“ท่านรสูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้มุ่งหน้าเข้านครมักกะฮ์ (เมื่อเข้ามักกะฮฺ) ท่านรสูลจึงมุ่งไปยังหินดำ และท่านก็ได้สัมผัสหินดำ จากนั้นท่านก็เฏาะวาฟ (เจ็ดรอบ เมื่อเสร็จจากเฏาะวาฟท่านจึงละหมาดสองร็อกอะฮ์หลังมะกอมอิบรอฮีม) ท่านรสูลจึงมาที่ภูเขาเศาะฟาแล้วขึ้นไปยังภูเขา โดยมองไปยังบัยตุลลอฮ์พร้อมกับยกมือทั้งสองรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮ์ในสิ่งที่ท่านรสูลต้องการจะรำลึกและขอดุอาอฺยังพระองค์”

(บันทึกหะดิษโดยอีหม่ามอบูดาวูด ที่ 1869 อีหม่ามอะหฺมัด เลขที่ 10565 และอีหม่ามบัยหะกีย์ เลขที่ 18782)

 

สำหรับหะดิษที่กล่าวถึงการยกมือขอดุอาอ์หลังละหมาดฟัรฎู ก็ปรากฏที่จะยกขึ้นต่อไปนี้

(1)

จากท่านอนัส บุตรของมาลิก อ้างถึงท่านรสูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

“บ่าวคนใดก็ตามที่ยื่นมือทั้งสองของเขาทุกๆ หลังละหมาดพร้อมกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ พระเจ้าของฉัน...”

(บันทึกโดยอิบนุ สุนนีย์ จากหนังสือ “อะมะลุลเยามิ วัลลัยละติ” เลขที่ 138)

สายสืบหะดิษข้างต้นล้วนมาจากบรรดาผู้ถูกละทิ้ง บรรดาผู้เฎาะอิฟ และบรรดาผู้ซึ่งไม่ถูกรู้จัก

(2)

จากท่านอับดุลลอฮ์ บุตรของซุบัยร์ เล่าว่า

“แท้จริง เขาเห็นชายผู้หนึ่งยกมือทั้งสองของเขา เพื่อขอดุอาอฺก่อนละหมาดเสร็จ ดังนั้นเมื่อเขาละหมาดเสร็จ เขากล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า แท้จริงท่านรสูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะไม่ยกมือทั้งสองของท่าน ยกเว้น หลังละหมาดเสร็จแล้วเท่านั้น” (บันทึกโดยอัฏฏ็อบรอนีย์ ในหนังสือ “อัลมุอฺญะมุล กุบรอ” เล่ม 13 หน้า 129)

ท่านหัยษะมีย์ กล่าวในหนังสือ “มัญมุอุล ซุวาอิด” เล่ม 10 หน้า 169 ไว้ว่า นักรายงานหะดิษข้างต้นถือว่าเชื่อถือได้ แต่ทว่ามีการรายงานที่ขาดตอนระหว่างท่านมุหัมมัด บุตรของอบู ยะหฺยา อัลอัสละมีย์ กับท่านอับดุลลอฮ์ บุตรของอัซซุบัยร์ อีกทั้งนักรายงานที่ชื่ออิบนุ อบู ยะหฺยา ยังเป็นบุคคลที่ไม่ถูกรู้จัก ฉะนั้นถือว่าหะดิษข้างต้นขาดตอน (มุงเกาะฏิอฺ) และฎออีฟ

 

ส่วนหะดิษจากท่านยะซีด บุตรของอัลอัสวัด อัลอามิรีย์ เล่าว่า

“ฉันละหมาดศุบฮฺร่วมกับท่านรสูลุลลอฮฺ(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เมื่อท่านให้สลามท่านก็หันหน้ามา (ยังพวกเรา)”

(บันทึกโดยอีหม่ามอะหฺมัด เล่ม 4 หน้า 160-161, อีหม่ามอบูดาวูด เล่ม 1 หน้า 236, อีหม่ามติริมิซีย์ เล่ม 1 หน้า 140 และท่านอิบนุ อบีย์ ชัยบะฮฺ เล่ม 1 หน้า 306 และเล่ม 14 หน้า 186)


หะดิษข้างต้นไม่ได้บ่งชี้แต่อย่างใดว่าท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ยกมือขอดุอาอ์หลังละหมาดฟัรฎู


ส่วนกรณีท่านมุหัมมัด บุตรของอับดุรฺเราะหฺมาน เขียนในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “ซุนนะฮฺในการยกมือทั้งสองขณะดุอาอ์หลังละหมาดฟัรฎู โดยอ้างหะดิษที่บันทึกโดยอิบนุ อบีชัยบะฮ์ ดังสำนวนที่ว่า

“ฉันละหมาดศุบฮฺร่วมกับท่านรสูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เมื่อท่านให้สลาม ท่านก็หันหน้ามา (ยังพวกเรา) และยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาอ์”

สำนวนที่กล่าวว่า “และยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาอ์” ไม่พบในตัวบทของท่านอิบนุ อบี ชัยบะฮ์ (ดูหะดิษของท่านอิบนุ อบี ชัยบะฮ์ หะดิษที่ 3093) หรือในตัวบทของผู้อื่น ไม่ทราบว่าท่านมุหัมมัดบุตรของอับดุรฺเราะหฺมานนำมาเพิ่มในหนังสือของเขาได้อย่างไร” (หนังสือ “ตัศฮีหุด ดุอาอ์” หน้า 440-441)

หะดิษที่กล่าวเฉพาะเจาะจงให้ยกมือขอดุอาอ์หลังละหมาดฟัรฎู มีอยู่เพียงเท่านี้ และเป็นหะดิษที่ไม่เศาะเฮียะฮ์

ดังนั้นหลักฐานที่กล่าวข้างต้น ล้วนแต่เป็นหะดิษที่ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงให้บรรดาผู้ละหมาดเสร็จแล้วยกมือขอดุอาอ์ อีกทั้งไม่พบหลักฐาแม้เพียงหะดิษเดียวที่อ้างว่าท่านรสูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)ยกมือขอดุอาอ์หรือสั่งใหยกมือขอดุอาอ์ หรือยอมรับการยกมือขอดุอาอฺหลังละหมาดฟัรฎูของบุคคลอื่น

เชคอับดุลอะซีซ บุตรของอับดุลลอฮ์ บุตรของบาซ กล่าวว่า

“ไม่พบ(ตัวบทหลักฐาน) ที่ถูกต้องจากท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าด้วยการยกมือในการขอดุอาอ์หลังละหมาดฟัรฎู และไม่พบ (ตัวบทหลักฐาน) ที่ถูกต้องจากบรรดาเศาะหาบะฮฺ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม) เช่นกันในสิ่งที่รับรู้มา...”

(หนังสือ อัลบิดอุวัลมุหฺดะษาต หน้า 499-500)

 

ส่วนหะดิษต่อไปนี้  ก็ระบุเพียงให้ขอดุอาอ์หลังละหมาด ไม่ได้ระบุให้ยกมือพร้อมขอดุอาอ์หลังละหมาดด้วย

ท่านอบูอุมามะฮ์ เล่าว่า

มีผู้กล่าวถามรสูลว่า “โอ้ท่านรสูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ดุอาอ์ใดที่รับฟังยิ่งกว่า ? ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)กล่าวตอบว่า : ดุอาอ์ในช่วงสุดท้ายของกลางคืน และในช่วงหลังละหมาดฟัรฎู” (บันทึกโดยติรฺมีซีย์ หะดิษที่ 3421 สถานะหะดิษหะซัน)

 

รายงานจากท่านมุอาซ บุตรของญะบัล เล่าว่า

แท้จริง ท่านรสูลุลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้จับมือเขาพลางกล่าวว่า “โอ้มุอาซ ฉันขอสาบานต่อพระองค์อัลลอฮ์ว่า แท้จริง ฉันรักท่าน และท่านรูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวต่อว่า โอ้มุอาซ ฉันขอสั่งเสียท่านว่า ท่านอย่าละทิ้งการกล่าวดุอาอฺทุกๆ เวลาหลังละหมาดว่า...” (บันทึกโดยอบูดาวูด,นะสาอีย์ ที่ 1286 และอะหฺมัด ที่ 21109)


ทั้งสองหะดิษดังกล่าวไม่ได้กล่าวอ้างหรือสนับสนุนให้มีการยกมือขณะขอดุอาอฺหลังละหมาด


สรุป
 1) การขอดุอาอ์พร้อมยกมือโดยทั่วไป และวาระอื่นๆ เช่น ขณะขอดุอาอ์ขอฝน หรือขอดุอาอ์กุนูต มีหลักฐานรองรับ  และเป็นซุนนะฮฺ

2) การขอดุอาอ์หลังละหมาดฟัรฎู มีหลักฐาน และเป็นซุนนะฮ์

3) การยกมือขอดุอาอ์หลังละหมาดฟัรฎู ที่ระเจาะจง มีหะดิษที่ไม่เศาะเฮียะฮ์  นักวิชาการจึงมีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้  นักวิชาการบางท่านว่าไม่ต้องยกมือขณะขอดุอาอ์ บางท่านว่าอนุโลมให้ยกได้ แต่ไม่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ และนักวิชาการบางท่านว่าสนับสนุนให้ยก โดยอาศัยหลักฐานการยกมือขอดุอาอ์โดยทั่วไปครับ 

ท่านมุบาร็อก ปูรีย์ยังได้อ้างหลักฐานจาก หะดีษที่ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์) หลายบท ที่ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยกล่าวถึงเรื่องการยกมือขอดุอาเอาไว้ (โดยมิได้กำหนดหรือจำกัดว่า เป็นดุอาชนิดใด และในกาลเทศะใด) มาสนับสนุนทัศนะนี้ ซึ่งท่านมุบาร็อก ปูรีย์ก็อนุโลมว่า การขอดุอา, ไม่ว่าจะหลังนมาซฟัรฺฎู หรือในกาลเทศะใด ก็ถือว่า เป็นดุอาเหมือนกัน จึงย่อมมีสิทธิ์ที่จะยกมือในการขอได้ ตามนัยกว้างๆของหะดีษที่ถูกต้องเรื่องการยกมือขอดุอาเหล่านั้น ...
แล้วท่านก็ได้กล่าวสรุปเอาไว้ในหนังสือดังกล่าว หน้า 202 ว่า ....

اَلْقَوْلُ الرَّاجِحُ عِنْدِيْ أَنَّ رَفْعَ اْليَدَيْنِ فِى الدُّعَاءِ بَعْدَالصَّلاَةِ جَائِزٌ لَوْفَعَلَهُ أَحَدٌ لاَ بَأْسَ عَلَيْهِ إنْ شَآءَ اللَّـهُ تَعَالَى
.....

ทัศนะที่มีน้ำหนักสำหรับฉันก็คือ การยกมือทั้งสองเพื่อขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎู เป็นที่อนุมัติ, สมมุติถ้ามีผู้ใดปฏิบัติมัน ก็ไม่มีบาปอันใดสำหรับเขา อินชาอัลลอฮ์

 

สรุปแล้ว เรื่องที่ว่า จะอนุญาตให้มีการยกมือขอดุอาหลังนมาซฟัรฺฎูได้หรือไม่ ? จึงเป็นเรื่องการ มองต่างมุมของนักวิชาการ

ท่านเช็ค อัช-เชากานีย์ ได้เสนอ ทางออกไว้ในหนังสือ นัยลุ้ล เอาฎอรฺเล่มที่ 4 หน้า 34 อย่างเป็นกลางๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ -- ในตอนอธิบายหะดีษของท่านอนัส บิน มาลิก ร.ฎ. ที่ว่า ไม่เคยปรากฏว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะเคยยกมือทั้งสองของท่านในดุอาใดๆ นอกจากในการนมาซขอฝน, โดยท่านจะยกมือทั้งสองจนกระทั่งสามารถมองเห็นความขาวของรักแร้ทั้งสองของท่าน” --ว่า .....
وَالظَّاهِرُ اَنَّهُ يَنْبَغِى الْبَقَاءُعَلَى النَّفْيِ الْمَذْكُوْرِعَنْ أَنَسٍ، فَلاَ تُرْفَعُ الْيَدُفِىْ شَئْ ٍمِنَ اْلأدْعِيَِة إلاَّ فِى الْمَوَاضِعِ الَّتِىْ وَرَدَفِيْهَاالرَّفْعُ، وَيُعْمَلُ فِيْمَاسِوَاهَابِمُقْتَضَى النَّفْىِ
...

และตามรูปการณ์แล้วก็คือ ให้คงไว้ซึ่งการปฏิเสธ(การยกมือในการขอดุอาใดๆนอกจากดุอาขอฝน) ดังที่มีกล่าวไว้ในหะดีษของท่านอนัส, ดังนั้น จึงไม่ต้องยกมือในดุอาชนิดใดทั้งสิ้น เว้นแต่ในหลายๆกรณีที่มีรายงานมาว่า( ท่านนบีย์) เคยยกมือในดุอาเหล่านั้น, และให้ปฏิบัติในกรณีที่อื่นจากนี้ (คือ อื่นจากดุอาที่มีหลักฐานชัดเจนว่าท่านนบีย์ยกมือด้วย) ให้เป็นไปตามเป้าหมายแห่งการปฏิเสธนั้น (นั่นคือ ไม่ต้องยกมือในดุอาอื่นใดทั้งสิ้นนอกจากดุอาขอฝน และดุอาอื่นๆที่มีหลักฐานชัดเจนว่าท่านนบีย์เคยยกมือเท่านั้น)


ส่วนหะดิษที่มีการอ้างถึงการลูบ


....وقدروي عن ابن عمر انه قال مامد رسول الله ص يديه في دعاء قط فقبضهما حتى يمسحهماوجهه.... أخرجه الطبراني... แท้จริงเขาได้รายงานจากท่านอุมารว่าท่านรอซูลได้ยื่นสองมือของท่าน..ท่านยึดมันทั้งสองไว้(ไม่เอาลง)จงก่วาท่านได้ลูบหน้าด้วยมือทั้งสอง


หะดิษบทนี้นักวิชาการได้ตรวจสอบแล้วว่า มีข้อบกพร่องดังนี้

1) นักรายงานหะดิษที่ชื่อ หัมมาด บุตรของอีซา บุตรของอุบัยดะฮ์ เป็นบุคคลที่เฎาะอิฟ สถานะของเขาคือตาบิอีนรุ่นเล็ก เผ่าตระกูลอัลญุฮะนีย์ และในหนังสือ “ตักรีบุต ตะฮฺซีบ” กล่าวอย่างนั้นเช่นกัน

2) หนังสือ “ตะหฺฟะตุลอะหฺวะซีย์” เล่ม 9 หน้า 232 หะดิษที่ 3610 อธิบายว่าท่านหัมมาด บุตรของอีซา เป็นบุคคลฏออิฟ

3) อบูหาติม, อบู ดาวูด, หากิม, อัดดารุกุฏนีย์ และอิบนุหินบาน พวกเขากล่าวเกี่ยวกับหะดิษข้างต้นว่าเป็นหะดิษฎออิฟ

4) ชัยคุลหะดิษ มุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลบานีย์ ถือว่าเป็นหะดิษฎออิฟ จากหนังสือ “เกาะอีฟุสุนะนิต ติรฺมิซีย์” หน้า 442 หะดิษที่ 671


หะดิษบทนี้และบทอื่นที่กล่าวเรื่องลูบหน้าหลังขอดุอาอ์ ไม่มีหะดิษที่เศาะเฮียะเลย

ส่วนหะดิษที่เศาะฮ์เฮียะที่กล่าวถึงยกมือขอดุอาอ์ ก็ไม่มีการกล่าวถึงการลูบหน้าสักบทเลย

ดังนักวิชาการได้กล่าวถึงเรื่องนี้บางท่าน คือ

 ท่านมะรูซีย์กล่าวไว้ในหนังสือละหมาดวิตรฺ หน้า 236 ว่า

อิมามมาลิก ร่อหิมะฮุลลอฮฺ เคยถูกถามเกี่ยวกับบุคคลหนึ่งลูบด้วยมือทั้งสองของเขาภายหลังการขอดุอาอ์ อิมามมาลิกปฏิเสธสิ่งดังกล่าว พลางกล่าวว่า ฉันไม่ทราบ(ถึงหลักฐาน)

-ท่านอิมามนะวะวีย์ ร่อหิมะฮุลลอฮฺ (สิ้นชีวิต ฮ.ศ.676) กล่าวว่า

ไม่มีแบบฉบับในเรื่องการลูบภายหลังการขอดุอาอ์เมื่ออยู่นอกละหมาด

วัลลอฮุ อะอฺลัม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น