อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันศุกร์เป็นวันประเสริฐที่สุดแต่ไม่ใช่วันห้ามทำงาน



สำหรับวันศุกร์นั้น อิสลามถือว่าเป็นวันที่ประเสริฐที่สุดในรอบสัปดาห์ ซึ่งจากหลักฐานหะดิษ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงความประเสริฐของวันศุกร์ไว้มากมาย ได้แก่

-วันศุกร์เป็นวันที่พระองค์อัลลอฮฺสร้างมนุษ์คนแรก คือ ท่านนบีอาดัม อะลัยฮิสลาม (บันทึกหะดิษโดยมุสลิม หะดิษเลขที่ 854 รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ)

-วันสิ้นโลกพระองค์อัลลอฮฺจะทรงให้เกิดขึ้นในวันศุกร์(บันทึกหะดิษโดยมุสลิม หะดิษเลขที่ 854 รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ)

-ผู้ที่ออกไปมัสยิดในช่วงแรกๆจะได้รับผลบุญเพิ่มพูนตามช่วงเวลานั้นๆ จนถึงเวลาที่อิมามออกมากล่าวคุฏบะฮฺวันศุกร์ (บันทึกหะดิษโดยอัล-บุคอรีย์ หะดิษเลขที่ 841 รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ)

-มีช่วงเวลาหนึ่งของวันศุกร์หากมุสลิมคนใดขอดุอาอ์ในสิ่งดีๆ อัลลอฮฺจะตอบรับ (บันทึกหะดิษโดยมุสลิม หะดิษเลขที่ 852 รายงานจากอบู ฮุร็อยเราะฮฺ)

-พระองค์อัลลอฮฺจะลบล้างความผิดของบ่าวที่ไปละหมาดวันศุกร์จากศุกร์หนึ่งไปถึงอีกศุกร์หนึ่ง ยกเว้น ความผิดที่เป็นบาปใหญ่(บันทึกโดยอิบนุมายะฮฺ รายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺ)
เป็นต้น

และสำหรับการไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์( صلاة الجمعة )นั้น เป็นวาญิบสำหรับมุสลิมชายที่บรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะทุกคน ยกเว้นผู้ที่กำลังเดินทาง เจ็บป่วย  หรือเป็นทาส

รายงานจากท่านฏอริก อิบนุ ชิฮาบ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"การละหมาดวันศุกร์นั้นเป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน โดยจะต้องกระทำในรูปแบบญะมาอะฮฺ(รวม) ยกเว้น 4 จำพวก คือ ทาสที่อยู่ในครอบครอง สตรี เด็ก(แต่ไม่มีข้อห้ามใดๆ ที่สตรีและเด็กจะไปละหมาดวันศุกร์ โดยมีหลักฐานยืนยันว่าสตีสมัยท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็เคยไปละหมาดวันศุกร์พร้อมกับท่าน) หรือผู้ป่วย"(บันทึกหะดิษโดยอบูดาวูด)
 รายงานจากท่านอุมมุลมุอิมีนีน ท่านหญิงฮัฟเซาะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอัลฮา เล่าว่า ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“การไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์เป็นสิ่งจำเป็นแก่ชายทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะ”(บันทึกหะดิษโดยอิมามอันนะซาอีย์)

รายงานจากท่านอะบิลญะอฺดิ  ร่อฎิยัลลอฮุอัลฮุ เล่าว่า ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ใดละทิ้งการละหมาดวันศุกร์ 3 ศุกร์ อัลลอฮฺจะทรงปิดประทับหัวใจเขา”(บันทึกหะดิษโดยอิมามอัซฮาบิซซุนัน)

แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า วันศุกร์เป็นวันที่ต้องทำอิบาดะฮ์มุ่งหมั่นทำงานเพื่ออาคีเราะฮฺอย่างเดียว โดยละทิ้งเรื่องดุนยา อย่างสิ้นเชิง  ไม่ว่าการประกอบอาชีพหารายได้มาเจือจุนครอบครัว การอุปโภคบริโภค แต่อิสลามให้ผู้ศรัทธาประกอบทำอิบาดะฮฺมากๆในวันศุกร์ ไม่ให้ความสำคัญแก่การทำงานในเรื่องดุนยามากเกินไป และเมื่อใกล้ถึงเวลาไปมัสยิดเพื่อฟังคุฏบะฮฺและละหมาดวันศุกร์(ญุมอัต) ก็เตรียมตัวให้พร้อม โดยหยุดทำงานเรื่องดุนยาไว้ก่อน ให้อาบน้ำชำระร่างกายอย่างเช่นการอาบน้ำญะนาบะฮฺ และแปรงฟัน แต่งตัวให้สวยๆ และใช้น้ำหอม และรีบเร่งให้ไปถึงมัสยิดในช่วงแรกก่อนอิมาม หรือเคาะฏีบขึ้นมิมบัรฺเพื่อฟังคุฏบะฮฺ และละหมาดวันศุกร์


พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِن يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَىٰ ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَٰلِكُمْ خَيْرٌ لَّكُمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ ( 9 ) 

โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ 62:9)


และเมื่อผู้ศรัทธาได้ฟังคุฏบะฮฺและละหมาดวันศุกร์เสร็จแล้ว ก็ไม่เป็นที่ต้องห้ามตามบัญญัติศาสนาที่่จะออกไปทำกิจธุระ กิจกรรมใดๆ หรือประกอบอาชีพของตน ซึ่งเป็นอาชีพสุจริตและเป็นที่อนุมัติตามศาสนบัญญัติ เพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ และขณะที่ผู้ศรัทธากำลังทำกิจกรรมต่างๆ อยู่นั้นก็ให่้รำลึกนึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆ ไม่ว่าการกล่าวซิกรุลลอฮฺ การกล่าวศอลาวาตนบี การขอดุอาอ์ หรือการอ่านอัลกุรอาน โดยเฉพาะสูเราะฮฺอัลกาฟิ(สูเราะฮฺที่ 18) เนื่องจากมีรายงานหะดิษว่าใครอ่านสูเราะฮฺอัลกาฟิในวันศุกร์อัลลอฮฺจะทรงให้รัศมีสว่างแก่เขาผู้นั้นจากวันศุกร์นี้ไปจนถึงอีกศุกร์หนึ่ง(บันทึกหะดิษโดยท่านบัยหะกีย์และท่านหะกิม รายงานจากท่านอบูสะอี๊ด)

พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า

فَإِذَا قُضِيَتِ الصَّلَاةُ فَانتَشِرُوا فِي الْأَرْضِ وَابْتَغُوا مِن فَضْلِ اللَّهِ وَاذْكُرُوا اللَّهَ كَثِيرًا لَّعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ ( 10 ) 

"ต่อเมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺและจงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ"(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ 62:10)

จากอายะฮ์ที่ 9 และอายะฮฺที่ 10 ของสูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ ที่ยกมาข้างต้น พระองค์อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามผู้ศรัทธาที่จะประกอบอาชีพในวันศุกร์ ไม่ว่าอาชีพนั้นจะเป็นอาชีพประจำ หรือชั่วคราวก็ตาม ตราบใดอาชีพนั้นเป็นอาชีพที่สุจริต และเป็นที่อนุมัติ(หะลาล) แต่ให้ละทิ้งการงานของตนไว้ก่อนเมื่อใกล้ถึงเวลาไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ และเมื่อละหมาดวันศุกร์เสร็จแล้ว พระองค์ก็ตรัสว่าให้ต่างแยกย้ายกันไปตามแผ่นดินที่เราประสงค์ นั้นคือ หากเราจะไปทำงานที่เราละทิ้งไว้ก่อนไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ก็ให้กลับไปทำงานนั้นต่อ หากเราจะไปทำธุระใดๆก็ให้ไปตามเจตนารมณ์นั้นเถิด ศาสนาไม่ได้ห้าม แต่ให้รำลึกต่อพระองค์อัลลอฮฺให้มากๆ ขณะที่เราออกไปบนหน้าแผ่นดินนั้น

นอกจากนี้ยังปรากฏชัดจากรายงานหะดิษ อิสลามไม่ได้ห้ามค้าขายในวันศุกร์ และสมัยท่านรสูลุลลอฮฺ  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังมีการค้าขายในวันศุกร์  ซึ่งรายงานว่า

“ประชาชนพากันละทิ้งมัสยิดในขณะที่ท่านนบีกำลังอ่านคุตบะฮฺ ไม่มีผู้คนเหลืออยู่ในมัสยิดนอกจากคนเพียง 12 คน”
และเป็นสาเหตุที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานอัลกุรอาน อายะฮฺที่ 11 ของสูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

وَإِذَا رَأَوْا تِجَارَةً أَوْ لَهْوًا انفَضُّوا إِلَيْهَا وَتَرَكُوكَ قَائِمًا قُلْ مَا عِندَ اللَّهِ خَيْرٌ مِّنَ اللَّهْوِ وَمِنَ التِّجَارَةِ وَاللَّهُ خَيْرُ الرَّازِقِينَ ( 11 ) 
และเมื่อพวกเขาได้เห็นการค้าและการละเล่นพวกเขาก็กรูกันไปที่นั้น และปล่อยเจ้าให้ยืนอยู่คนเดียว จงกล่าวเถิดมุฮัมมัดสิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นดีกว่าการละเล่น และการค้าและอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นเลิศ ยิ่งในหมู่ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ"(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-ญุมุอะฮฺ 62:11)

และจากหลักฐานอัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-เกาะศ็อศ อายะฮ์ ที่ 77 ได้ยืนยันว่า ทุกๆวัน อิสลามให้มุ่งทำงานเพื่ออาคีเราะฮฺที่มีความสำคัญกับผู้ศรัทธาซึ่งพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเตรียมไว้ตอนรับ แต่ก็ไม่ให้ลืมงานและความรับผิดชอบของผูศรัทธาในดุนยา ซึ่งพระอัลลอฮฺทรงสร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เราในดุนยานี้

พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า

وَابْتَغِ فِيمَا آتَاكَ اللَّهُ الدَّارَ الْآخِرَةَ وَلَا تَنسَ نَصِيبَكَ مِنَ الدُّنْيَا وَأَحْسِن كَمَا أَحْسَنَ اللَّهُ إِلَيْكَ وَلَا تَبْغِ الْفَسَادَ فِي الْأَرْضِ إِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ الْمُفْسِدِينَ ( 77 ) 

"และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่เจ้าเพื่อปรโลก และอย่าลืมส่วนของเจ้าแห่งโลกนี้ และจงทำความดี เสมือนกับที่อัลลอฮ์ได้ทรงทำความดีแก่เจ้า และอย่าแสวงหาความเสียหายในแผ่นดิน แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงโปรดบรรดาผู้บ่อนทำลาย"(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-เกาะศ็อศ 28:77)


จึงพอสรุปได้ว่า วันศุกร์นั้นเป็นวันที่ประเสร็จที่สุด แต่วันศุกร์อิสลามไม่ได้ห้ามให้ผู้ศรัทธาที่จะต้องหยุดทำงานประกอบอาชีพตลอดทั้งวัน ไม่ว่าผู้นั้นจะประกอบอาชีพค้าขาย ทำนา ทำไร่ ทำสวน ธุรกิจส่วนตัว งานเอกชน หรืองานของหน่วยงานของรัฐก็ตาม แต่ประเทศมุสลิมบางประเทศได้กำหนดให้วันศุกร์เป็นวันหยุด สำหรับผู้ที่ทำงานประจำ เช่น งานบริษัทเอกชน หรือรับราชการที่ต้องปฏิบัติงานต่อเนื่องจากเช้าจดเย็น เพื่อความสะดวกในการประกอบอิบาดะฮฺ โดยเฉพาะมุสลิมชายที่จำเป็นต้องไปละหมาดวันศุกร์ และสำหรับประเทศไทย ในสถาบันการศึกษาปอเนาะ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนสอนศาสนาบางสถาบันก็กำหนดให้วันศุกร์เป็นวันหยุดเช่นกัน แต่นั้นก็เป็นเพียงประเพณีของมุสลิมในแต่ละพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติศาสนาแต่อย่างใด เพราะหลักฐานศาสนานั้น คือ อัลกุรอาน และอัลหะดิษที่เศาะเฮี๊ยะ และโดยความเข้าใจและตีความของชาวสลัฟเท่านั้น สำหรับแนวคิดทัศนะ หรือการฟัตวาของอุลามาอฺผู้รู้ที่ไม่มีตัวบทหลักฐานจากอัลกุรอานและอัลหะดิษมารองรับ ก็ไม่สามรถนำทัศนะหรือฟัตวานั้นเป็นตัวบทอ่างอิ้งศาสนาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งแม้แต่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านก็ไม่ได้คิดเอง กำหนดกฏเกณฑ์ศาสนาเอาเอง แต่บทบัญญัติศาสนาทั้งหมดถูกวะฮีย์มาจากพระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮานะฮูวะตะอาลาทั้งสิ้น และศาสนาอิสลามไม่ใช่ศาสนาคนใดคนหนึ่งที่จะทำการแก้ไขแต่งปรุงตามใจชอบ แม้แต่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเอง ก็ไม่ไช่เจ้าของ แต่อิสลามเป็นศาสนาของอัลลอฮฺ ศุบฮานาฮูวาตะอาลา เพียงองค์เดียวเท่านั้น

พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า

قُلْ مَا كُنتُ بِدْعًا مِّنَ الرُّسُلِ وَمَا أَدْرِي مَا يُفْعَلُ بِي وَلَا بِكُمْ إِنْ أَتَّبِعُ إِلَّا مَا يُوحَىٰ إِلَيَّ وَمَا أَنَا إِلَّا نَذِيرٌ مُّبِينٌ ( 9 ) 

"จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ฉันมิได้เป็นคนแรกในบรรดาร่อซูล และฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแก่ฉันและแก่พวกท่าน ฉันมิได้ปฏิบัติตามสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ถูกวะฮียฺให้แก่ฉัน และฉันมิใช่ใครอื่นนอกจากเป็นผู้ตักเตือนอันชัดแจ้ง"(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-อะฮฺกอฟ 46:9)

แล้วประชาชาติผู้ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาอย่างเราๆ จะคิดกำหนดกฏเกณฑ์ หรือปรุงแต่งบทบัญญัติศาสนาขึ้นมาใหม่เองได้อย่างไรกัน...?????????? !!!!!!!


والله أعلم بالصواب














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น