อาจารย์อาลี(สันติ) เสือสมิง |
อาจารย์อาลี(สันติ) เสือสมิง ท่านผู้นี้ เป็นคนบ้านป่า ซอยพัฒนาการ 20 หรือซอยสวนหลวง ท่านจบการศึกษาคณะอัลหะดิษ จากเมืองไคโร ประเทศอียิปต์ ท่านสังกัดอยู่ในมัซฮับชาฟีอีเต็มตัว ท่านสนับสนุนการจัดงานเมาลิดนบี แต่ท่านก็ไม่ได้มีอคติกับผู้ที่ถูกเรียกว่า "วะฮาบีย์" เหมือนอย่างมุสลิมบ้านเราบางคน ซึ่งท่านอาจารย์อาลี เสือสมิง ได้มีทัศนะเกี่ยวกับ "วะฮาบีย์" ที่มุสลิมบ้านเราควรศึกษาทำความเข้าใจให้ท่องแท้ ดังนี้
ที่มาและความหมาย "วะฮาบีย์"
วะฮฺฮาบียะฮฺ (وَهَّابِيَّة) เป็นกลุ่มสำนักทางความคิดในศาสนา
อิสลามที่มีความนิยมในอุดมคติแบบชาวสะลัฟ มีเป้าหมายในการชำระหลักศรัทธาในเรื่องเอกานุภาพและหลักชะรีอะฮฺให้บริสุทธิ์จากสิ่งเจือปนทั้งหลาย มีมุฮำหมัด อิบนุ อับดิลวะฮฺฮ๊าบ เรียกร้องไปสู่แนวทางดังกล่าว โดยอ้างถึงหลักคำสอนของอิหม่ามอะฮฺหมัด อิบนุ ฮัมบัล (ร.ฮ.) และอิบนุตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) เป็นสำคัญ มีมุฮำหมัด อิบนุ สุอูด เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแพร่หลายสำนักความคิดนี้ในคาบสมุทรอาหรับ แต่กลุ่มนี้มักเรียกตัวเอง อัซซะละฟียะฮฺ (السَّلَفِيَّة) คนทั่วไปเรียกคนที่นิยมในแนวทางนี้ว่า วะฮฺฮาบีย์ (وَهَّابِيّ) หรือ (سَلَفِيّ) สะละฟีย์
ในปัจจุบันผู้ที่นิยมในแนวทางนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลกอิสลามและมีบทบาทในการฟื้นฟูหลักคำสอนที่เน้นตัวบทเป็นสำคัญทำให้มีการตื่นตัวในแวดวงวิชาการขนานใหญ่ รวมถึงในบ้านเราเช่นกันซึ่งแนวความคิดของคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเข้ามาจากอินโดนีเซีย และนักศึกษาจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางโดยตรงและมีการจัดตั้งกลุ่มของตนซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มมีทั้งในรูปมูลนิธิ, สมาคม และกลุ่มชมรม มีนักวิชาการในสังกัดตลอดจนมีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาในการเผยแผ่ความคิด และแนวทางของกลุ่มอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีเครือข่ายและสายสัมพันธ์กับกลุ่มองค์กรหลักในกลุ่มประเทศอาหรับอีกด้วย
วะฮาบีย์นั้นจริง ๆ แล้วคือผู้ที่สังกัดมัซฮับฮัมบะลีย์ และอะฮฺลุลหะดีษ ถือตามแนวทางของสะลัฟในเรื่องหลักความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) พวกเขาเรียกตัวเองว่า อัสสะละฟียะฮฺ มิใช่ วะฮาบีย์ เพราะคำว่าวะฮาบีย์เป็นการใช้คำเรียกขานในแง่ลบและเป็นการโจมตี
หลักอะกีดะฮฺตามแนวทางอะฮฺลิสซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺนั่นแหล่ะ อาจจะมีประเด็นรายละเอียดบางเรื่องเท่านั้นที่มีทัศนะและความเห็นต่างกัน เช่นเรื่องเกี่ยวกับซีฟาต การตีความ (ตะอฺวีล) เป็นต้น ตามความแตกต่างระหว่างสะลัฟกับค่อลัฟ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องข้อปลีกย่อยในการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกรอบของสำนักความคิดหรือมัซฮับทั้ง 4 นั่นแหล่ะ ไม่ได้พิสดารหรือพิลึกพิลั่นแต่อย่างใด
ผู้ที่ถูกเรียกว่า"วะฮาบีย์" หรือคณะใหม่ หรือโกมมุดอ
วะฮาบีย์หรือคณะใหม่ที่มุสลิมบ้านเราควรทำความเข้าใจ |
คำว่า อัส-สุนนะฮฺ มีความหมายตามรากศัพท์ว่าแนวทาง ส่วนความหมายตามอิศฏิลาฮียฺ หมายถึง แนวทางของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ทั้งที่เป็นคำพูด การกระทำ และการรับรองของท่าน
ส่วนคำว่า อัล-ญะมาอะฮฺ หมายถึง หมู่คณะหรือกลุ่มชน อันหมายถึงบรรดาศ่อฮาบะฮฺและชนในยุคสะลัฟที่ดำเนินตามแนวทางของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ดังมีปรากฏในอัล-ฮะดีษว่า (مَاأَنَاعَلَيْهِ وَأَصْحَابِيْ) “สิ่งซึ่งฉัน (นบี) และเหล่าศ่อฮาบะฮฺของฉันดำรงอยู่บนสิ่งนั้น”
คำ 2 คำนี้คือคำว่า อัส-สุนนะฮฺ กับ อัล-ญะมาอะฮฺ เวลากล่าวแยกกันโดดๆ ก็จะมีนัยและความหมายรวมถึงคำอีกคำหนึ่ง แต่ถ้านำมากล่าวรวมกันก็จะมีนัยและความหมายโดยเฉพาะ เรียกว่า เมื่อรวมกันก็จะแยก เมื่อแยกกันก็จะรวม ผู้ที่ดำเนินตามแนวทางของท่านนบี เรียกว่า อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ โดยเรียกสั้นๆว่า อะฮฺลุสสุนนะฮฺ ก็ได้ หรือ อะฮฺลุ้ลญะมาอะฮฺก็ได้ หรือจะเรียกยาวอย่างที่ว่ามาก็ได้ คือ กลุ่มชนเดียวกัน
ส่วนคณะใหม่กับคณะเก่านั้นไม่มีนิยามตามหลักวิชาการระบุเอาไว้และไม่มีหลักฐานให้เรายึดคณะหนึ่งคณะใดไม่ว่าจะเป็นคณะเก่าหรือคณะใหม่ เป็นเพียงชื่อเรียกที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งในทัศนะความเห็นของมุสลิมในภูมิภาคนี้ซึ่งหมายถึงชาวมลายูโดยส่วนใหญ่ เรียกกลุ่มที่ยึดแนวทางในมัสฮับ อัช-ชาฟิอีย์ว่า โกมตุวอ คือ กลุ่มหัวเก่าหรือคณะเก่า และเรียกพวกที่ไม่ยึดมัสฮับเป็นหลักว่าพวกโกมมุดอ คือ คณะใหม่
ซึ่งทั้งสองกลุ่มก็ถือเป็นอะฮฺลิสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นคำว่าคณะใหม่ คณะเก่าจึงเป็นเพียงการเรียกขานคนที่มีความเห็นและการปฏิบัติในข้อปลีกย่อยไม่เหมือนกันตามประสาคนที่ชอบแบ่งพรรคแบ่งพวกหรือตะอัศศุบนั่นเอง
การแต่งงานกับวะฮาบีย์
หากจะแต่งงานกับคนวะฮะบีย์ต้องให้เขาเข้ากะลีมะฮฺซะฮาดะฮฺใหม่ เพราะหลักอะกีดะฮฺของเขาไม่ถูกต้อง ดูจะรุนแรงเกินไป อย่ากระนั้นเลย! คิดเอาง่ายๆ ว่า ถ้าวะฮาบีย์ผิดเพี้ยนถึงขั้นต้องเข้ากะลิมะฮฺใหม่ ก็แสดงว่าก่อนเข้ากะลีมะฮฺใหม่เข้ามิใช่มุสลิมกระนั้นหรือ? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลและองค์กรศาสนาในประเทศซาอุดิอาระเบีย มหาวิทยาลัยมะดีนะฮฺและมหาวิทยาลัยคิงส์ อับดุลอะซีซ หรือมหาวิทยาลัยอิหม่าม ที่ริยาฎ หรือมหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอ ที่นครมักกะฮฺ ไม่เป็นกุฟร์กันไปหมดหรือ?
การละหมาดตามวะฮาบีย์
อาจารย์อาลี เสือสมิง กับ อาจารย์ ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข |
การละหมาดตามหลังวะฮาบีย์นั้นถือว่าใช้ได้ (เซาะฮฺ) ลองคิดดูง่าย ๆ ว่า ถ้าการละหมาดตามหลังวะฮาบีย์ใช้ไม่ได้ คนที่ละหมาด ณ มัสญิดหะรอมทั้งสองแห่งจะเป็นเช่นไร? และนักเรียนไทยที่ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิสลามียะฮฺ นครม่าดีนะฮฺเป็นเวลาหลายปี ละหมาดของพวกเขาจะเป็นอย่างไร?
วะฮาบีย์นำละหมาดอยู่ทีมัสยิดหะรอม นครมักกะฮฺ และนครม่าดีนะฮฺ วะฮาบีย์ดูแลมัสยิดทั้งสองและดำเนินการในเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮฺ แถมยังพิมพ์อัลกุรอานแจกไปทั่วโลก มิหนำซ้ำนักเรียนมักกะฮฺนักเรียนมะดีนะฮฺที่จบมาเป็นนักวิชาการในบ้านเราก็มีพะเรอพะรึก อ.อรุณ บุญชม อ.ชะรีฟ ศรีเจริญ อ.ยะฮฺยา ลาตีฟี (ร.ฮ.) อ.ทวี เด็ดดวง อ.กอเซ็ม มั่นคง อ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข ฯลฯ จะมีสถานภาพเช่นไรเล่า? เพราะท่านเหล่านี้ไปเรียนเป็นลูกศิษย์วะฮาบีย์ที่มหาวิทยาลัย อัล-อัสลามียะฮฺ นครม่าดีนะฮฺ ทั้งน้าน... หากจะบอกว่า ท่านเหล่านี้มิใช่วะฮาบีย์ มันก็แน่อยู่แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าวะฮาบีย์ผิดเพี้ยนสุดกู่ถึงขั้นเป็นกุฟรฺ ต้องเข้ากะลิมะฮฺใหม่ แล้วไปเรียนกับเขาได้อย่างไร?
والله أعلم بالصواب
ตรวจสอบจากเว็บของท่านอาจารย์อาลี เสือสมิง ได้ คลิก 1 , 2 หรืิอ 3
ควรจะให้นิยาม วะฮาบีย์ ให้ครอบคลุมกว่านี้นะคับ
ตอบลบคณะไหนก็ได้ครับ ถ้าตามท่านนบี
ตอบลบ