เมื่อถามมุสลิมบ้านเรา ว่าสังกัดมัซฮับไหน ต่างก็ตอบตรงกันว่า มัซฮับชาฟิอีย์ แต่แล้วใยมุสลิมบ้านเรา ถึงปฏิบัติตรงข้ามกับที่อิมามชาฟีอีย์ ที่กล่าวไว้โดยสิ้นเชิง
ในที่นี้ขอกล่าวกรณีจัดเลี้ยงเมื่อมีการเสียชีวิตของมุสลิมคนใดเกิดขึ้น ครอบครัวผู้ตายก็จะมีการจัดเลี้ยงเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย(จริงๆแล้วอิสลามไม่มีการอุทิศบุญแก่ผู้ตาย แต่มีการทำแทนเท่านั้น) โดยมีการกำหนดเฉพาะเจาะจงวันจัดเลี้ยง ไม่ว่าวันที่ 1, 2 ,3 , 7 ,40 หรือวันที่ 100 นับแต่วันที่เสียชีวิตของผู้ตาย
ซึ่งมันตรงกันข้ามกับสุนนะฮฺ และคำกล่าวของอิมามชาฟิอีย์ ที่มุสลิมบ้านเราสังกัดทัศนะของท่านโดยสิ้นเชิง
ท่านอิมามชาฟิอีย์ กล่าวว่า ท่านเกลียดงานศพต่างๆ นั้นหมายรวมถึงการที่ญาติของผู้ตายจัดเลี้ยงอาหารแก่โต๊ะลาแบ(โต๊ะะลาใบ) หรือแก่ผู้คนในชุมชน และให้พวกเขาทำพิธีต่างๆ แล้วมีการอุทิศผลบุญนั้นแก่ผู้ตาย เพราะการกระทำเช่นนั้นท่านอิมามชาฟิอีย์เห็นว่า มันทำให้เกิดการเศร้าโศกขึ้นมาใหม่ และจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายอันไม่จำเป็น
ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อมุสลิมคนใดในบ้านเราเสียชีวิตลง ก็ต้องออกค่าใช้จ่ายด้วยการไปติดหนี้ยืมสินมากมาย เพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดเลี้ยงทำบุญอุทิศคนตาย อันดับแรก ก็ต้องนำเงินไปซื้อข้าวสาร ซื้อไข่ไก่ แล้วนำมาแจก พร้อมซองเงิน แก่ผู้ที่มาละหมาดญานะซะฮฺ ซึ่งขึ้นอยู่ว่ามีผู้มาละหมาดญานะซะฮฺมากน้อยเพียงใด หลังจากนั้น ก็นำค่าใช้จ่ายมาจัดเลี้ยงอาหารที่บ้านของญาติผู้ตายตามวันที่กำหนดเฉพาะเจาะจงไว้
แน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจน หรือขัดสน ต้องเป็นหนี้สินเขาอย่างหลีกเลี้ยงไม่ได้ เพื่อให้เป็นไปตามที่คนมุสลิมบ้านเราทำกัน โดยมุสลิมบางคนเข้าใจว่า นั้นเป็นบทบัญญัติศาสนา เป็นแบบอย่างท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บรรดาศอฮาบะฮฺ และอิมามชาฟีอีย์ วางเอาไว้ เพราะได้มีการกระทำเช่นนี้สืบกันมาแต่ตั้งแต่บรรพบุรุษ และโต๊ะลาแบก็ได้บอกและให้กระทำเช่นนั้น
แต่มันตรงข้าม กันอย่างสิ้นเชิง เมื่อมุสลิมคนใดเสียชีวิตลง ท่านนบี ศ็อลลัลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำชับให้เราชำระหนี้สินของผู้ตายให้หมดสิ้น และทรัพย์สินของผู้ตายนั้นถือเป็นมรดกเป็นสิทธิของทายาทที่เขาจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเขา แต่เรากลับไปเพิ่มหนี้สิน มันตรงข้ามกับคำสอนศาสนาอย่างสิ้นเชิง
เราลองมาดูคำพูดของท่านอิมามชาฟิอีย์ กล่าวไว้ในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ท่านอิมามนะวะวีย์ (ท่านสังกัดมัซฮับชาฟิอีย์ สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.676) กล่าวไว้อัลมัจญมัวอ์ (5/306) ว่า
"ส่วนการไปนั่งเพื่อการปลอบใจนั้น อิมามชาฟิอีย์ อัลมุศ็อนนิฟ และสหายท่านอื่นๆ ก็ได้ตราไว้ถึงความน่าเกลียดของการนั้น พวกเขากล่าวว่า หมายถึงไปนั่งเพื่อการปลอบใจ โดยที่ครอบครัวของผู้ตายจะไปชุมนุมในบ้านหนึ่ง แล้วผู้ที่ต้องการปลอบใจจะมุ่งไปหาพวกเขา พวกเขากล่าวว่า หากแต่ว่า สมควรที่พวกเขาจะเลิกราไปธุระต่างๆ ของพวกเขา แล้วผู้ใดได้พบพวกเขา ก็ให้เขาปลอบใจพวกเขา และไม่มีความแตกต่างระหว่างบรรดาผู้ชาย และผู้หญิง ในการเป็นที่น่าเกลียดของการไปนั่งเพื่อการปลอบใจ"
อิมามชาฟิอีย์ ที่อิมามนะวะวีย์ได้ชี้ถึง ได้ตราไว้ในหนังสืออัลอุมมฺ(1/248) ไว้ว่า
"และฉันเกลียดงานศพต่างๆ และมันก็คือหมู่คณะ ถึงแม้จะไม่มีการร้องไห้ให้แก่พวกเขาก็ตาม เพราะว่า การกระทำเช่นนั้น มันทำให้เกิดความเศร้าโศกใหม่ และทำให้ต้องมีค่าใช้จ่าย พร้อมกับสิ่งที่มันได้ผ่านไปในนั้น จากร่องรอย"
เหมือนกับว่าท่านอิมามชาฟีอีย์ชี้ถึงหะดิษของท่านญะรีรฺ บุตรของอับดุลลอฮฺ อัลบะญะลีย์ ที่ว่า
รายงานจากท่านญะรีรฺ บุตรของอับดุลลอฮฺ อัลบะญะลีย์ กล่าวว่า
كُنَّا نَعُدُّ اْلإِجْتِمَاعَ إِلَى أَهْلِ الْمَيِّتِ وَصُنْعَةَ الطَّعَامِ بَعْدَ دَفْنِهِ مِنَ النِّيَاحَةِ
“พวกเราถือว่าการรวมตัวกันยังบ้านผู้ตายและทำอาหาร(ที่บ้านของผู้ตายนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการนิยาหะฮฺ”(นิยาหะฮฺ หมายถึงการแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจ เช่นการตีอกชกหัว ฉีกเสื้อผ้า ตีโพยตีพาย ครวญคราง ขีดขวนใบหน้าเสมือนคนขาดสติ ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม){บันทึกหะดิษโดยอิบนุ มาญะฮฺ หะดิษเลขที่ 1612 บทว่าด้วย ห้ามการร่วมชุมนุมกันที่บ้านของผู้ตาย และทำอาหาร(ที่บ้านผู้ตาย) และท่านอะหฺมัด หะดิษเลขที่ 6866)
และท่านอิมามนะวะวีย์ กล่าวว่า
"และมุศ็อนนิฟ และคนอื่นๆ ได้อ้างหลักฐานยืนยันให้ด้วยอีกหลักฐานหนึ่ง ซึ่งมันก็เป็นอุตริกรรม"เช่นเดียวกับท่านอิบนฺ อัลฮุมามได้ตราไว้ในซัรหุลฮิดายะฮฺ (1/473) ในการเป็นสิ่งที่น่าเกลียดของการจัดหาอาหารจากครอบครัวของผู้ตายในรับรอง และกล่าวว่า มันเป็นอุตริกรรมที่น่าเกลียด ซึ่งเป็นแนวทางของพวกฮัมบะลีย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในอัลอินศ้อฟ (2/565)
ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺ” เล่มที่ 5 หน้า 320 ว่า…
قَالَ صَاحِبُ الشَّامِلِ وَغَيْرُهُ : وَأَمَّا إِصْلاَحُ أَهْلِ الْمَيِّتِ طَعَامًا وَجَمْعُ النَّاسِ عَلَيْهِ فَلَمْ يُنْقَلْ فِيْهِ شَىْءٌ وَهُوَ بِدْعَةٌ غَيْرُ مُسْتَحَبَّةٍ …..
“ท่านเจ้าของหนังสือ “อัช-ชามิล” (มีชื่อว่า อบูนัศรฺ, มะห์มูด บิน อัล-ฟัฎล์ อัล-อิศบะฮานีย์, มีชื่อรองว่า อิบนุ ศ็อบบาค เป็นชาวเมือง อิศฟาฮาน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 512) และนักวิชาการท่านอื่นๆกล่าวว่า…
อนึ่ง การที่ครอบครัวผู้ตายได้จัดปรุงอาหารขึ้น และเชิญชวนผู้คนให้มาร่วมรับประทานกัน พฤติกรรมนี้ ไม่เคยปรากฏมีรายงานหลักฐานมาแต่ประการใด, ดังนั้น มันจึงเป็นบิดอะฮ์ที่ไม่ชอบตามหลักการศาสนา”
>>>>แต่ตรงกันข้าม ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ กลับสนับสนุนให้เพื่อนบ้านของผู้ตาย หรือญาติใกล้ชิดของผู้ตายทำอาหารให้แก่ครอบครัวผู้ตายต่างหาก..
อิหม่ามอัชชาฟิอีย์ ได้กล่าวไว้ในตำราเมาซูอะฮฺ อัลอิหม่าม อัชชาฟิอีย์ ; อัลกิตาบอัลอุมฺม์ ; ด๊ารฺกุตัยบะฮฺ เล่มที่ 3 หน้า 416-417 หนังสือตุหฺฟะตุล อะหฺวะซีย์ เล่ม 4 หน้า 38 และหนังสือ มิรฺกอตุลมะฟาตีหฺ เล่ม 4 หน้า 223 ว่า
“ฉันชอบให้เพื่อนบ้านของผู้เสียชีวิตหรือผู้เป็นเครือญาติของผู้เสียชีวิตทำอาหารที่ให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้อิ่มในวันและค่ำคืนที่เขาเสียชีวิตลง ซึ่งอาหารที่ยังความอิ่มหนำแก่พวกเขา เพราะแท้จริงสิ่งดังกล่าวเป็นซุนนะฮฺและเป็นการรำลึกที่ประเสริฐ และเป็นการปฏิบัติของเหล่าชนแห่งความดีทั้งก่อนและหลังพวกเรา"หลังจากนั้นท่านอิมามชาฟิอีย์ ท่านได้นำหะดิษที่รายงานจากท่านจากท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของยะอฺฟัรฺ มากล่าว โดยท่านกล่าวว่า
"ทั้งนี้เพราะเมื่อมีข่าวการเสียชีวิตของท่านญะอฺฟัร มาถึงท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวว่า : "พวกท่านทั้งหลายจงทำอาหารแก่ครอบครัวของญะอฺฟัรเถิด เพราะแท้จริงได้มีเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาต้องยุ่ง (สาละวน) มายังพวกเขา"หะดิษดังกล่าว รายงานดังนี้
จากท่านญะอฺฟัรฺ บุตรของคอลิด จากพ่อของเขา จากท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของยะอฺฟัรฺ(เกิดที่ดินแดนหะบะชะฮฺ สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. ที่ 80) เล่าว่า
" เมื่อข่าวการสิ้นชีวิตของท่านญะอฺฟัรฺรู้ถึงท่านรสูลุลลอฮ์ ท่านรสูล กล่าวว่า “พวกท่านจงทำอาหารให้แก่ครอบครัวของญะอฺฟัรเถิด เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก (หมายถึงความเศร้าโศกเสียใจ) มาประสบกับพวกเขา”(บันทึกโดยอบูดาวูด หะดิษเลขที่ 3130 บทว่าด้วยการทำอาหารให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย , ติรฺมีซีย์ หะดิษเลขที่ 998 บทว่าด้วยการทำอาหารให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย , อิบนุ มาญะฮฺ หะดิษเลขที่ 1610 บทว่าด้วยการทำอาหารให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย , หากิม หะดิษเลขที่ 1377 บทว่าด้วยญะนาวะฮฺ , อะหฺมัด หะดิษเลขที่ 1754 อบูยะอฺลา หะดิษเลขที่ 6801 อับดุรฺเราะซาก หะดิษเลขที่ 6670 บทว่าด้วยการทำอาหารให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย บัยหะกีย์ หะดิษเลขที่ 7197 บทว่าด้วยการจัดเตรียมอาหารอาหารให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย และดารุ กุฏนีย์ หะดิษเลขที่ 11 บทว่าด้วยญะนาวะฮฺ)
!!!สิ่งที่ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ รอฎียัลลอฮุอันฮุ ระบุว่าเป็นสิ่งที่ท่านชอบให้กระทำเพราะเป็นสุนนะฮฺอันประเสริฐเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าและส่วนใหญ่ในบ้านเราตามทัศนะท่านอิหม่ามชาฟิอีย์จำต้องช่วยกันรณรงค์ฟื้นฟูซุนนะฮฺข้อนี้ซึ่งจวนเจียนจะจางหายไปจากสังคมบ้านเราอยู่รอมร่อ.....!!!
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น