อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันที่หนึ่งมุฮัรร็อม


             เมื่อคืนวันที่ 1 เดือนมุฮัรร็อม ได้มีการอ่านสูเราะฮฺยาซีน และขอดุอาอ์ที่มัสยิด เพื่่อต้อนรับวันปีใหม่ของฮิจเราะฮฺศักราช

แล้วพิธีกรรมดังกล่าว มีหลักฐานจากกีตาบุลลอฮฺ และสุนนะฮฺ จากท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล ที่เจาะจงให้อ่านยาซีน และกล่าวดุอาอ์ ในวันนี้ เป็นกรณีพิเศษไปจากวันอื่นๆบ้างไหม?

คำตอบ คือ ไม่มีสักบทเดียว ที่เป็นหลักฐานชี้ชัดให้ทำการเฉลิมฉลอง หรือมีการทำพิธกรรมในวันนี้เลย

ที่มาของฮิจเราะฮฺศักราชนั้น เริ่มต้นจากการที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ถูกชาวมักกะฮฺ รุกราน คุกคามเอาชีวิต จนต้องอพยพหนีออกจากมักกะฮฺบ้านเกิดเมือง นอน หนีเอาชีวิตรอด มาอาศัยที่มะดีนะฮฺ เป็นคนพลัดถิ่น หลังจากยุคท่านนบี อบูบักร จนถึงยุคของอุมัร มะดีนะฮฺ กลายเป็นนครรัฐ มีอารยธรรม มีการค้า การทูตและความเจริญ ประกอบกับการสานต่อนโยบายของท่านนบีใน การขยายพื้นที่เผยแพร่ ที่ต้องติดต่อกับต่างเมืองต่างประเทศ ติดต่อกับราชา กษัตริย์ มีการส่งหนังสือหรือคำสั่ง จากส่วนกลางไปให้ตามเขตปกครองต่าง ๆ มีรายงานว่า ท่านยะอฺลาบินอุมัยยะฮ์ ข้าหลวงของท่านนบีประจำ เมืองเยเมนในสมัยนั้นเริ่มใช้ปีศักราชแล้ว บ้างก็บอกว่าในต้นยุคของอบูบักร มีข้าหลวงจำนวนหนึ่งใช้การวะฟาต ของนบีเป็นต้นปีศักราช แต่ยังไม่เป็นทางการ


ถึงยุคของท่านอุมัร ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ อาณาจักรอิสลามขยายดินแดนอาณาเขต มีเมืองและนครในปกครองมากขึ้น การติดต่อราชการ กับต่างแดนก็เพิ่มขึ้น เกิดมีปัญหาขึ้นในเรื่องการบันทึกและการทำรายงาน รายรับรายจ่าย มีความสับสนเรื่องเดือน และปี บางทีรู้เดือนแต่ไม่รู้ปี จัดระบบการบริหารราชการแผ่นดิน การเงิน การคลัง ให้เป็นระเบียบ มีการทำสำมะโน ประชากร มีการทำบันทึกรายได้รายจ่ายของรัฐอย่างเป็นระบบ จึงพบปัญหาว่าไม่สามารถระบุวันที่ได้แน่นอน เกิดความสับสนในการบันทึกเอกสารต่าง ๆ บางทีเดือนเดียวกันแต่ไม่ทราบว่าเป็นปีใด

อุมัรเรียกบรรดาซอฮาบะฮฺเข้าปรึกษา บางท่านเสนอ

1 ใช้ศักราชของโรมัน
2 ใช้ศักราชของเปอร์เซีย
3 ใช้ ค.ศ.
4 ใช้วันเกิดของนบี (ค.ศ.พระเยซูเกิด)
5 ใช้วันตาย ( พ.ศ. พระพุทธเจ้าปริณิภาณ)
6 ใช้วันเบี๊ยะษะฮ์
7 ใชวันอพยพ

อุมัรไม่เห็นด้วยกับการใช้วันเกิด วันตาย และการตามศักราชของศาสนาอื่น อารยธรรมอื่น ๆ อุมัรเห็นชอบให้ใช้ การอพยพ เนื่องจากเป็นนิมิตหมายถึงความสำเร็จในการสถาปนารัฐอิสลามของท่านนบี และมีใช้บ้างแล้วใน บางเมือง และให้นับเดือนมุหัรรอมเป็นเดือนแรกของศักราช

เมื่อ การใช้ปี ฮ.ศ.พึ่งเริ่มใช้เมื่อยุคฆอลีฟะฮฺอุมัร ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ โดยให้นับแต่วันอพยพของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากเมืองมักกะฮฺไปยังเมืองมาดีนะฮฺ (ยัษริบ) เป็นปีแรกของฮิจเราะฮฺศักราช โดยให้เดือนมุฮัรร็อมเป็นเดือนแรก ของฮิจเราะฮฺศักราชนั้น

                 !!!!!!! แล้วพิธีกรรมดังกล่าว ใครเป็นผู้ค้นคิด ในเมื่อไม่มีในอิสลาม แล้วเราตามใคร ในเมื่อท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านรสูล หรือแม้ชนต่อจากนั้นไม่ได้ทำ หรือแม้แต่สั่งใช้แต่อย่างใดเลย...???


والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿


1 ความคิดเห็น: